

เปลี่ยนสิทธิดูแลบุตรจากมารดาเป็นบิดา
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ ระหว่างบิดากับมารดา ใครมีสิทธิดูแลบุตรมากกว่ากัน หากมีคำถามว่า ระหว่างบิดา กับมารดา ใครมีสิทธิดูแลบุตรมากกว่ากันคำตอบคือ ตามกฎหมาย บิดาและมารดามีสิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรอย่างเท่าเทียมกัน โดยหลักการแล้ว ทั้งสองฝ่ายมีอำนาจปกครองบุตรร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บิดาและมารดาแยกทางหรือหย่าร้างกัน ศาลจะพิจารณาและตัดสินว่าใครควรมีอำนาจปกครองบุตร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของบุตรเป็นสำคัญ ปัจจัยที่ศาลพิจารณาในการตัดสินเรื่องอำนาจปกครองบุตรมีอะไรบ้าง คำตอบได้แก่ ประเด็นแรกคือ อายุและความต้องการของบุตร: เช่นหากบุตรยังอ่อนวัย ศาลมักพิจารณาให้มารดาเป็นผู้เลี้ยงดูบุตร เนื่องจากมารดามีความสามารถในการดูแลบุตรในวัยนี้ได้ดีกว่าบิดา ประเด็นที่ 2 คือ ความต่อเนื่องในการเลี้ยงดู: หากบุตรอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาเป็นเวลานาน ศาลก็อาจพิจารณาให้บุตรอยู่กับฝ่ายนั้นต่อไป เพื่อรักษาความต่อเนื่องและเสถียรภาพในชีวิตของบุตรผู้เยาว์ ประเด็นที่ 3 คือ พฤติกรรมและความประพฤติของบิดาและมารดา: ศาลจะพิจารณาว่าฝ่ายใดมีพฤติกรรมที่เหมาะสมและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อบุตร ประเด็นที่ 4 คือ ความสามารถในการเลี้ยงดู: ในเรื่องนี้ศาลจะพิจารณาความสามารถทางการเงินและสภาพแวดล้อมในการเลี้ยงดูของแต่ละฝ่าย เพื่อให้บุตรได้รับการดูแลและการศึกษาที่เหมาะสม ดังนั้น ไม่มีการกำหนดว่าบิดาหรือมารดามีสิทธิมากกว่ากันหรือดีกว่ากันในการเลี้ยงดูบุตร แต่ศาลจะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของบุตรเป็นสำคัญ
เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์
เปลี่ยนอำนาจปกครองให้บิดาดูแล, เปลี่ยนผู้ดูแลจากมารดาเป็นบิดา
บิดามารดาจดทะเบียนหย่าโดยมีข้อตกลงกันว่าให้มารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวต่อมามารดาไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรผู้เยาว์ต่อไปเนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นบิดาของผู้เยาว์ ประกอบกับบิดาผู้เยาว์รับราชการเป็นทหารสามารถเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่บุตรได้ ย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8161/2543
บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) ที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ ในการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองมิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาล แสดงว่าประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท และทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาท ฉะนั้นเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาของเด็กหญิง ป. อ้างในคำร้องขอว่า ร. มารดาเด็กหญิง ป. ไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิงป. เนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหาร สามารถอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิง ป. ได้ หากเป็นจริงย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิง ป. เป็นสำคัญหาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่แม้ผู้ร้องสอดเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอศาลก็รับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องกับนางรัชนก เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือเด็กหญิงศนิชาหรือปุษยา เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 ผู้ร้องและนางรัชนกได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา โดยตกลงให้นางรัชนกเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงปุษยา เมื่อต้นเดือนมกราคม 2542นางรัชนกแจ้งแก่ผู้ร้องว่าไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิงปุษยาได้เนื่องจากไม่ได้ประกอบอาชีพใด ๆ ผู้ร้องประกอบอาชีพรับราชการทหารมีเงินเดือนและสวัสดิการ สามารถเลี้ยงดู ให้การศึกษา ให้ความอบอุ่นแก่เด็กหญิงปุษยาได้ ขอให้มีคำสั่งให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเด็กหญิงปุษยาจากนางรัชนกเป็นผู้ร้อง ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งว่า ไม่ใช่กรณีที่ผู้ร้องจะใช้สิทธิทางศาลยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 วินิจฉัยว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องในอันที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธินำคดีมาสู่ศาลเพื่อให้วินิจฉัยตามคำร้อง พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่า มีกฎหมายให้สิทธิแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเด็กหญิงปุษยายื่นคำร้องขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงปุษยาจากนางรัชนกผู้เป็นมารดาเป็นผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องขอของผู้ร้องปรากฏว่าผู้ร้องกับนางรัชนกสามีภริยายินยอมจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยทำเป็นหนังสือตกลงกันให้นางรัชนกแต่ผู้เดียวเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองของเด็กหญิงปุษยาจึงเป็นกรณีที่ทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566(6) เมื่อตกลงกันตามบทบัญญัติดังกล่าวแล้ว หากจะมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้ใช้อำนาจปกครองศาลเท่านั้นที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) แต่การที่ศาลจะใช้อำนาจเปลี่ยนแปลงได้นั้นจะต้องปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติตนไม่สมควรหรือภายหลังพฤติการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปเข้ามาสู่ความรู้ของศาล กล่าวคือ จะต้องมีคดีมาสู่ศาลโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องเสนอคดีของตนต่อศาลโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาท เมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ประการหนึ่งกับทำเป็นคำร้องขอเมื่อบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาลอีกประการหนึ่งเนื่องจากมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(5) เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลเพื่อคุ้มครองสิทธิและประโยชน์ของผู้เยาว์ การที่มาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(1) มิได้กำหนดวิธีการที่คดีจะมาสู่ศาลประการใดดังที่มีบัญญัติไว้ในมาตราอื่น แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 แสดงว่าบทบัญญัติดังกล่าวประสงค์จะให้คดีขึ้นสู่ศาลได้ ทั้งการเสนอคดีโดยทำเป็นคำฟ้องอย่างคดีมีข้อพิพาทและทำเป็นคำร้องขอแบบคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อเป็นการคุ้มครองและรักษาประโยชน์ของผู้เยาว์ดังกล่าว เมื่อผู้ร้องอ้างในคำร้องขอว่านางรัชนกไม่สามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่เด็กหญิงปุษยาเนื่องจากมิได้ประกอบอาชีพ ประสงค์จะให้เปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้ร้อง ทั้งผู้ร้องรับราชการเป็นทหารสามารถเลี้ยงดูให้การศึกษาและความอบอุ่นแก่เด็กหญิงปุษยาได้ หากเป็นจริงตามคำร้องขอย่อมถือได้ว่ามีพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในภายหลังแล้ว ศาลจึงมีอำนาจสั่งเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองได้โดยคำนึงถึงความผาสุกและประโยชน์ของเด็กหญิงปุษยาเป็นสำคัญตามมาตรา 1521 ประกอบมาตรา 1566(1) ดังนั้น ศาลชั้นต้นชอบที่จะสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้องไว้พิจารณาได้ หาใช่เป็นเรื่องไม่มีกฎหมายบัญญัติให้ผู้ร้องจะต้องใช้สิทธิทางศาลไม่ ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งและคำพิพากษาต้องกันให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาผู้ร้องฟังขึ้น" พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 และคำสั่งศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับคำร้องขอของผู้ร้อง แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี
หมายเหตุน่ารู้
ในกรณีที่บิดา หรือ มารดา ฟ้องขอเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร หรือสิทธิในการดูแลบุตรผู้เยาว์นั้น บิดาหรือมารดาอยู่ต่างประเทศจะสามารถมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปดำเนินการแทนได้หรือไม่? คำตอบคือ ในเรื่องการเปลี่ยนตัวผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรนั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ใช้อำนาจปกครองจึงไม่สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนให้ได้
|