

อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวมีได้ในกรณีใดบ้าง อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวมีได้ในกรณีใดบ้าง มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดามารดา อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้ (1) มารดาหรือบิดาตาย (2) ไม่แน่นอนว่ามารดาหรือบิดามีชีวิตอยู่หรือตาย (3) มารดาหรือบิดาถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ (4) มารดาหรือบิดาต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเพราะจิตฟั่นเฟือน (5) ศาลสั่งให้อำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดา (6) บิดาและมารดาตกลงกันตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ให้ตกลงกันได้ ในกรณีที่บิดา มารดาจดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมายผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้แก่บิดา และมารดามีอำนาจปกครองบุตรร่วมกัน แต่หากบิดาเสียชีวิตอำนาจปกครองย่อมตกอยู่กับมารดาแต่เพียงผู้เดียว หากต่อมามารดามีสามีใหม่อำนาจปกครองก็ยังอยู่กับมารดากล่าวคือแม้มารดาจดทะเบียนสมรสใหม่ก็ไม่มีกฎหมายให้สามีใหม่มีสิทธิเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้ เมื่อมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียวแล้วจะขอสละอำนาจปกครองให้บิดา มารดา(ตา ยาย) ของเราปกครองแทนก็ไม่ได้เพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ในทางกลับกันหากมารดาเสียชีวิตลงผู้เยาว์ก็ต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของบิดาและบิดาก็เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว แม้ต่อมาบิดาสมรสใหม่กับหญิงอื่น คู่สมรสของบิดาก็ไม่มีสิทธิเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ได้เพราะไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ หากกรณีที่บิดาออกไปจากภูมิลำเนาโดยไม่ทราบแน่นอนว่ายังมีชีวิตอยู่หรือไม่ มารดาย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว หรือกรณีที่ต่อมาบิดาหรือมารดา คนใดคนหนึ่งถูกศาลมีคำสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือไร้ความสามารถ บิดา หรือมารดาที่ยังปกติอยู่ย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียว หรือในกรณีที่บิดา มารดา ฝ่ายใดป่วยต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาอาการป่วยเพราะจิตฟั่นเฟือนก็ให้ฝ่ายที่ยังใช้ชีวิตปกติอยู่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรได้แต่เพียงผู้เดียว หรือในกรณีที่บิดา มารดาจดทะเบียนหย่ากันแต่ไม่สามารถตกลงกันได้ก็ต้องนำคดีสู่ศาลให้ศาลมีคำสั่งให้ฝ่ายใดเป็นผู้เหมาะสมที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร แต่กรณีบิดามารดาจดทะเบียนหย่าโดยความสมัครใจและบิดามารดาสามารถตกลงกันได้ว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร ก็ให้ทำบันทึกข้อตกท้ายทะเบียนการหย่าว่าฝ่ายใดจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวหรือจะตกลงกันให้บิดาและมารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวก็ได้ แล้วกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกัน ในเรื่องอำนาจปกครองกฎหมายรับรองไว้อย่างไร กรณีที่เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชายกฎหมายให้ถือว่าเด็กที่เกิดมานั้นเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของฝ่ายมารดาหมายความว่า เป็นบุตรนอกสมรสของบิดา เมื่อเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาก็มีความหมายว่ามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียว แต่อย่างไรก็ตามกฎหมายก็ยังเปิดช่องทางไว้ว่าบุตรนอกสมรสจะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาได้นั้นก็มีได้ 3 ประการคือ 1. บิดามารดไปจดทะเบียนสมรสกันในภายหลังเด็กเดิดมาแล้วไม่ว่าเด็กนั้นจะอายุเท่าใดกฎหมายก็ไม่ได้กำหนดไว้ดังนั้นแม้เด็กหรือบุตรจะมีอายุมากกว่า 20 ปีบริบูรณ์หรือบรรลุนิติภาวะแล้วก็เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายได้ และการจดทะเบียนสมรสกันในภายหลัง 2. บิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร หมายความว่าบิดาไปขอจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ว่าเด็กเป็นบุตรโดยมารดาและบุตรให้ความยินยอมด้วย กรณีนี้บุตรที่ให้ความยินยอมต้องโตพอที่จะรู้ว่าการให้ความยินยอมคืออะไรปกติที่สามารถรับรู้และลงชื่อให้ความยินยอมได้ซึ่งจะมีอายุประมาณ 8 ปีขึ้นไปและเป็นดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ด้วย 3. ศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร หมายความว่าบิดานำคดีขึ้นสู่ศาลให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรอาจเกิดจากกรณีมารดาไม่ยินยอมไปให้ความยินยอมต่อเจ้าหน้าที่ให้จดทะเบียนรับรองบุตร หรือเด็กอายุยังน้อยไร้เดียงสาไม่อยู่ในฐานะที่จะให้ความยินยอมได้ จะทำเป็นคำฟ้อง หรือคำร้องขอฝ่ายเดียวก็ได้แล้วศาลพิพากษาให้เด็กเป็นบุตร ซึ่งใน 3 กรณีข้างต้นเรื่องอำนาจปกครองบุตรเป็นดุลพินิจของศาลว่าผู้ใดสมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์โดยปกครองในกรณีที่ไม่มีข้อพิพาทระหว่างบิดา มารดารุนแรงก็จะได้เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรร่วมกันโดยผลของกฎหมายแต่หากเป็นคดี 2 ฝ่ายและแต่ละฝ่ายประสงค์จะให้ศาลพิพากษาชี้ขาดว่าฝ่ายใดมีความเหมาะที่จะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองแต่เพียงผู้เดียวศาลย่อมมีดุลพินิจกำหนดได้ |