

การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร, การรับรองบุตร, ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์
• การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามกฎหมายไทย • คำพิพากษาศาลฎีกา เรื่องการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร • สิทธิและหน้าที่ของบิดาในการรับรองบุตร • พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 • ค่าอุปการะเลี้ยงดูและการรับรองบุตรตามกฎหมายไทย 1.การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามกฎหมาย: พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 อนุญาตให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องเพื่อบันทึกคำพิพากษาที่ศาลกำหนดว่าใครเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย โดยไม่จำเป็นต้องให้ฝ่ายจำเลยยินยอม ซึ่งหมายความว่านายทะเบียนสามารถดำเนินการได้เมื่อมีสำเนาคำพิพากษาถึงที่สุดที่รับรองถูกต้อง 2.ข้อเท็จจริงในคดี: โจทก์และจำเลยมีความสัมพันธ์แบบสามีภริยา โดยที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส หลังจากโจทก์ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน ทั้งสองแยกทางกัน ต่อมาโจทก์ได้ให้กำเนิดบุตร โดยจำเลยยินยอมให้บุตรใช้นามสกุลและให้ความอุปการะเป็นครั้งคราว อย่างไรก็ตามโจทก์ต้องดูแลบุตรตามลำพังและโจทก์ขอให้ศาลพิพากษาว่าเด็กเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย รวมถึงให้จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเป็นรายเดือน 3.คำพิพากษาของศาลชั้นต้นและอุทธรณ์: ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เด็กหญิงเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลยและให้จำเลยจดทะเบียนรับรองบุตร ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ได้แก้ไขให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 4.การวินิจฉัยของศาลฎีกา: ศาลฎีกาพิจารณาว่าข้อเท็จจริงต่าง ๆ ชี้ชัดว่าเด็กหญิงเป็นบุตรของจำเลย อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีการสั่งให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว มาตรา 20 เนื่องจากผู้มีส่วนได้เสียสามารถยื่นคำร้องเพื่อบันทึกคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 สั่งให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา ไม่สอดคล้องกับกฎหมาย เนื่องจากผลบังคับการเป็นบุตรตามกฎหมายเริ่มตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด (ตามกฎหมายเดิม) 5. ศาลฎีกาวินิจฉัยดังนี้ ศาลฎีกาแก้ไขให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูตั้งแต่วันที่อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา พร้อมทั้งยกคำขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรเนื่องจากใช้คำพิพากษาอันถึงที่สุดแทนไดั
นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุด คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4141/2535 ตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20ได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้วผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ แสดงว่า การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วได้ โดยไม่จำต้องอาศัยการแสดงเจตนาของจำเลยดังนั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1557(3) ซึ่งสำหรับคดีนี้ต้องเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไป คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยา โดยมิได้จดทะเบียนสมรสตั้งแต่เดือนกันยายน 2527 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2529จนโจทก์ตั้งครรภ์ได้ประมาณ 4 เดือน จึงแยกทางกัน ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2529 โจทก์คลอดบุตรคือเด็กหญิง...โดยจำเลยให้คำรับรองว่า เป็นบุตรของจำเลยและให้ความอุปการะเลี้ยงดูเป็นครั้งคราวไม่สม่ำเสมอ แต่ยินยอมใช้นามสกุลของจำเลย การที่จำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูอย่างจริงจัง ทำให้โจทก์ได้รับความลำบากยากแค้นต้องบากบั่นหางานทำเลี้ยงดูบุตรตามลำพัง โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแล้วแต่จำเลยเพิกเฉย ทั้งละเลยไม่จดทะเบียนรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของจำเลย ขอให้พิพากษาว่า เด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของจำเลย หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดู เดือนละ 5,000 บาทนับแต่วันที่ศาลพิพากษาจนกว่าจะบรรลุนิติภาวะ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยรับรองว่าเด็กเป็นบุตรของจำเลยขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า เด็กหญิง... ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลย ให้จำเลยจดทะเบียนรับรองว่าผู้เยาว์เป็นบุตรหากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเด็กและเยาวชนพิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจนกว่าผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะอีกส่วนหนึ่งด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงที่โจทก์จำเลยนำสืบและตามรายงานของพนักงานคุมประพฤติฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยเคยร่วมประเวณีกับโจทก์ และเมื่อวันที่ 28มิถุนายน 2529 โจทก์คลอดเด็กหญิง..บุตรผู้เยาว์ ต่อมาวันที่ 15ธันวาคม 2529 โจทก์ได้ไปแจ้งการเกิดของผู้เยาว์ ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยนายทองปอน นายทะเบียนท้องถิ่นเทศบาลเมืองอุบลราชธานี เป็นผู้สอบสวนพยานหลักฐานไว้ตามเอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2...ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าการที่โจทก์ไปแจ้งเกิดผู้เยาว์จึงอยู่ในความรู้เห็นยินยอมของจำเลย ซึ่งเมื่อฟังประกอบกับข้อเท็จจริงที่ได้วินิจฉัยมาแล้วว่าโจทก์จำเลยได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอย่างเปิดเผยในระยะเวลาที่โจทก์อาจตั้งครรภ์เด็กหญิง....ได้แล้วเห็นว่าพยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า เด็กหญิง... เป็นบุตรของโจทก์ที่เกิดกับจำเลย ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยข้อสุดท้าย คือเรื่องค่าอุปการะเลี้ยงดูควรจะเป็นจำนวนเท่าใด โจทก์เบิกความว่า หลังจากคลอดเด็กหญิง...ได้ 2 เดือนเศษ จำเลยให้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูเป็นครั้งคราวครั้งละ 1,000 บาทเศษ โดยจำเลยให้คนสนิทคือนายวิชัยนำเงินมาให้ครั้งสุดท้ายจำเลยนำเงินมาให้ 1,000 บาท เมื่อเดือนกันยายน 2531จำเลยมีรายได้เดือนละ 20,000 บาทเศษ และนางมะลัยพยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยให้เงินโจทก์ประมาณ 10 ครั้ง ๆ ละ 1,000 บาทเศษจำเลยเบิกความว่า มีตำแหน่งเป็นผู้จัดการห้างหุ้นส่วนจำกัด...ซึ่งค้าขายรถ จำเลยมีเงินเดือน เดือนละ 7,500 บาท พิเคราะห์แล้วได้ความจากนายวิชัยตอบทนายโจทก์ถามค้านว่าพยานทำงานอยู่กับจำเลยมา 10 ปีเศษ จำเลยมีธุรกิจการค้าหลายอย่าง เช่น กิจการโรงแรม....ซึ่งแสดงว่าจำเลยมีรายได้อื่น ๆ อีก นอกจากเงินเดือนในห้างหุ้นส่วนจำกัด... ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง...เป็นเงินเดือนละ 1,500 บาท จึงพอสมควรเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งกรณีแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง...เป็นบุตร หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นั้น เห็นว่าตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 20 ได้บัญญัติถึงการจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายไว้เป็นพิเศษว่า เมื่อศาลได้พิพากษาว่าผู้ใดเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายแล้ว ผู้มีส่วนได้เสียจะยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วมาให้บันทึกในทะเบียนก็ได้ แสดงว่า การจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายนั้น นายทะเบียนสามารถจดทะเบียนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียที่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดซึ่งรับรองถูกต้องแล้วได้ โดยไม่จำต้องอาศัยการแสดงเจตนาของจำเลยแต่อย่างใด ดังนั้น ศาลจึงไม่จำต้องสั่งคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนรับเด็กหญิง...เป็นบุตรหากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูเด็กหญิง...นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา นั้น ก็เห็นว่าการเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายตามคำพิพากษาของศาลมีผลนับแต่วันมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1557(3) ซึ่งสำหรับคดีนี้ต้องเริ่มนับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นต้นไปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ที่พิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกาศาลฎีกาแผนกคดีเด็กและเยาวชนก็เห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้" พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ผู้เยาว์ตั้งแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาและให้ยกคำขอในส่วนที่บังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตร หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 |