-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont
-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE
ทำสัญญาประนีประนอมแทนผู้เยาว์ต้องขออนุญาตศาล
ทำสัญญาประนีประนอมแทนผู้เยาว์ว่าไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลตกเป็นโมฆะ
เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์และผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทน เมื่อมีการประนีประนอมยอมความกัน ผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ การที่โจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของผู้เยาว์ โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลจึงตกเป็นโมฆะ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 533/2552
เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขอนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา 1574(12) เมื่อ ช.บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของ ช. โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีก เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่ ช.ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะและไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป
เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่ง ป.พ.พ.ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลไม่ และค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 446 วรรคหนึ่ง
มาตรา 446 ในกรณีทำให้เขาเสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ผู้ต้องเสียหายจะเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความที่เสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินด้วยอีกก็ได้ สิทธิเรียกร้องอันนี้ไม่โอนกันได้ และไม่ตกสืบไปถึงทายาท เว้นแต่สิทธินั้นจะได้รับสภาพกันไว้โดยสัญญาหรือได้เริ่มฟ้องคดีตามสิทธินั้นแล้ว
อนึ่ง หญิงที่ต้องเสียหายเพราะผู้ใดทำผิดอาญาเป็นทุรศีลธรรมแก่ตนก็ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทำนองเดียวกันนี้
มาตรา 1574 นิติกรรมใดอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ดังต่อไปนี้ ผู้ใช้อำนาจปกครองจะกระทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต
(1) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
(2) กระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งทรัพยสิทธิของผู้เยาว์อันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์
(3) ก่อตั้งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพยสิทธิอื่นใดในอสังหาริมทรัพย์
(4) จำหน่ายไปทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งสิทธิเรียกร้องที่จะให้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้ หรือสิทธิเรียกร้องที่จะให้ทรัพย์สินเช่นว่านั้นของผู้เยาว์ปลอดจากทรัพยสิทธิที่มีอยู่เหนือทรัพย์สินนั้น
(5) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
(6) ก่อข้อผูกพันใด ๆ ที่มุ่งให้เกิดผลตาม (1) (2) หรือ (3)
(7) ให้กู้ยืมเงิน
(8) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่จะเอาเงินได้ของผู้เยาว์ให้แทนผู้เยาว์เพื่อการกุศลสาธารณะ เพื่อการสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา ทั้งนี้ พอสมควรแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์
(9) รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้โดยเสน่หา
(10) ประกันโดยประการใด ๆ อันอาจมีผลให้ผู้เยาว์ต้องถูกบังคับชำระหนี้หรือทำนิติกรรมอื่นที่มีผลให้ผู้เยาว์ต้องรับเป็นผู้รับชำระหนี้ของบุคคลอื่นหรือแทนบุคคลอื่น
(11) นำทรัพย์สินไปแสวงหาผลประโยชน์นอกจากในกรณีที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1598/4 (1) (2) หรือ (3)
(12) ประนีประนอมยอมความ
(13) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยให้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า เมื่อมีผู้กระทำละเมิดต่อผู้เยาว์ อันมีผลให้ผู้เยาว์มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนนั้น เป็นการที่ผู้เยาว์จะได้มาซึ่งทรัพย์สินอย่างหนึ่ง หากมีการประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งผู้ใช้อำนาจปกครองจะต้องทำสัญญาแทนผู้เยาว์ ผู้ใช้อำนาจปกครองในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมก็ชอบที่จะต้องขออนุญาตศาลเสียก่อน เพราะเป็นการทำสัญญาประนีประนอมยอมความอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ตามที่บังคับไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1574 (12) เมื่อได้ความว่า นายโชติอุทัยบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของโจทก์กับจำเลยได้ทำข้อตกลงเรื่องค่าเสียหายและค่ารักษาพยาบาลของโจทก์กับของนายโชติอุทัย โดยไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาจากจำเลยอีกตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิด จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ การที่นายโชติอุทัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลยตามลำพัง โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลย่อมเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะ และไม่มีผลผูกพันโจทก์แต่ประการใด สิทธินำคดีมาฟ้องเรียกค่าสินไหมทดแทนของโจทก์จึงไม่ระงับไป ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยไว้ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายชอบหรือไม่ เห็นว่า เมื่อโจทก์ต้องเสียความสามารถในการมองเห็น เนื่องจากโจทก์เสียตาข้างซ้ายทำให้ไม่สามารถมองภาพได้ละเอียดและกว้างเท่าคนปกติถือว่าเป็นค่าเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 446 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ผู้ทำละเมิดจึงต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายดังกล่าว หาใช่ต้องกำหนดเป็นค่ารักษาพยาบาลดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 400,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กำหนดค่าเสียหายที่โจทก์ต้องเสื่อมสุขภาพอนามัย ต้องเสียโฉม ได้รับความเจ็บปวดทรมานเป็นเงิน 100,000 บาท สูงเกินไปนั้น เห็นว่า ค่าเสียหายดังกล่าวเป็นค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์
( วีระวัฒน์ ปวราจารย์ - มนตรี ศรีเอี่ยมสะอาด - ฐานันท์ วรรณโกวิท )