

การถอนอำนาจปกครองบิดา ตั้งน้าสาวเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แทน
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์
การถอนอำนาจปกครอง,ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร การถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ มารดาผู้เยาว์ตายอำนาจปกครองกลับมาอยู่กับบิดาชอบด้วยกฎหมายแม้บุตรจะพักอยู่กับน้าสาวแต่บิดาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ ถือได้ว่าประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลมีอำนาจให้ถอนอำนาจปกครองบิดาและตั้งน้าสาวเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ได้ บันทึกข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าระบุให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในอำนาจปกครองของมารดาแต่เพียงผุ้เดียว ต่อมามารดาได้ถึงแก่ความตายอำนาจปกครองของมารดานั้นย่อมกลับมาอยู่กับบิดาชอบด้วยกฎหมายแม้บุตรผู้เยาว์จะพักอยู่กับน้าสาวก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า พฤติการณ์ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด และไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของน้าสาว กรณีถือได้ว่า บิดาของผู้เยาว์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาถึงแก่ความตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของน้าสาวตลอดมา การตั้งน้าสาวเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า
มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีที่ผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง แม้ว่าบิดามารดาจะแยกทางและตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครอง แต่การถอนอำนาจปกครองต้องอาศัยเหตุและอำนาจศาล เมื่อมารดาเสียชีวิต อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่กับบิดาเพียงผู้เดียว และไม่สามารถตั้งผู้ปกครองอื่นได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิเข้าขอเป็นผู้ปกครอง
อย่างไรก็ตาม ตามมาตรา 1582 ศาลมีอำนาจถอนอำนาจปกครองหากผู้ปกครองประพฤติชั่ว ศาลเห็นว่าบิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังและไม่ได้เลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง ศาลจึงตัดสินให้ถอนอำนาจปกครองของบิดาเนื่องจากประพฤติชั่ว และตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองแทน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2563/2544 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง การที่มารดาตาย ส่วนบิดายังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครอง แม้บิดามารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามมาตรา 1520วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6) เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะถอนอำนาจปกครองจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาล ดังนั้น อำนาจปกครองจึงกลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นน้าผู้เยาว์จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลถอนอำนาจปกครองได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าว แม้ผู้ร้องไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอถอนอำนาจปกครองของบิดาผู้เยาว์ แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่าที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติดและไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้องถือได้ว่าบิดาประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดายินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครอง ศาลจึงตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นน้องของนางจิรัฐธิกา นางสาวหทัยชนก อายุ 18 ปี ผู้เยาว์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางจิรัฐธิกา กับนายสุรศักดิ์ ต่อมานางจิรัฐธิกากับนายสุรศักดิ์ได้จดทะเบียนหย่าโดยให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของมารดาเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2543 นางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรมด้วยอุบัติเหตุ ทำให้ผู้เยาว์ไม่มีผู้ปกครอง ผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์มีความประสงค์จะขอเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของนางสาวหทัยชนก ผู้เยาว์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่าผู้ร้องมีสิทธิยื่นคำร้องขอเป็นผู้ปกครองของนางสาวหทัยชนก ผู้เยาว์หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ความตามสำนวนว่า ผู้ร้องเป็นน้าของผู้เยาว์ซึ่งเป็นบุตรของนางจิรัฐธิกา กับนายสุรศักดิ์ ต่อมานางจิรัฐธิกาและนายสุรศักดิ์จดทะเบียนหย่าจากการเป็นสามีภริยาและมีข้อตกลงให้บุตรผู้เยาว์อยู่ในความปกครองของมารดา ตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่า หลังจากนั้นนางจิรัฐธิกาถึงแก่กรรม ส่วนนายสุรศักดิ์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจังหวัดอุตรดิตถ์เกี่ยวกับเรื่องจำหน่ายยาเสพติดให้โทษเห็นว่า การจะตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์นั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ให้ตั้งได้เฉพาะกรณีผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดาหรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสีย ข้อเท็จจริงในคดีนี้ได้ความว่า มารดาของผู้เยาว์ถึงแก่กรรมส่วนบิดาของผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่และมิได้ถูกถอนอำนาจปกครองแต่อย่างใด แม้บิดาและมารดาจะจดทะเบียนหย่าโดยตกลงให้มารดาเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์แต่ฝ่ายเดียวก็เป็นเรื่องการตกลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1520 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 1566 วรรคสอง (6)เท่านั้น มิใช่เป็นกรณีที่บิดาถูกถอนอำนาจปกครองเพราะการจะเพิกถอนอำนาจปกครองนั้นจะต้องมีเหตุตามมาตรา 1582 และเป็นอำนาจของศาลดังนั้น เมื่อมารดาของผู้เยาว์ซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์แต่เพียงผู้เดียวตามที่ตกลงขณะจดทะเบียนหย่าถึงแก่กรรม อำนาจปกครองผู้เยาว์ก็กลับมาอยู่แก่บิดาฝ่ายเดียวตามมาตรา 1566 วรรคสอง (1) เมื่อผู้เยาว์ยังมีบิดาซึ่งยังไม่ถูกถอนอำนาจปกครองจึงไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ตั้งผู้ปกครอง แต่อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1582วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้" แสดงให้เห็นว่าในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายได้ให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้อง ผู้ร้องจะไม่มีอำนาจยื่นก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่า พฤติการณ์ที่บิดาของผู้เยาว์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเกี่ยวกับการจำหน่ายยาเสพติด และไม่ได้อุปการะเลี้ยงดูผู้เยาว์ โดยให้อยู่ในความดูแลของผู้ร้อง กรณีถือได้ว่า บิดาของผู้เยาว์ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้ถอนอำนาจปกครองบิดาผู้เยาว์และเมื่อผู้เยาว์ไม่มีผู้ใช้อำนาจปกครองเนื่องจากมารดาถึงแก่ความตายและบิดาถูกถอนอำนาจปกครองประกอบกับผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องตลอดมา ทั้งบิดาของผู้เยาว์ยินยอมให้ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ การให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า" พิพากษากลับ ให้ถอนอำนาจปกครองผู้เยาว์จากนายสุรศักดิ์ บิดาและตั้งนางสาวจุฬารัตน์ ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองของผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1585 วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1566 บุตรซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะต้องอยู่ใต้อำนาจปกครองของ บิดามารดาอำนาจปกครองอยู่กับบิดาหรือมารดาในกรณีดังต่อไปนี้ มาตรา 1582 ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอ ให้ถอนอำนาจปกครอง เสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอน อำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้ มาตรา 1585 บุคคลที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและไม่มีบิดามารดาหรือ บิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครองเสียแล้วนั้น จะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้น ในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ก็ได้ ในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจปกครองถูกถอนอำนาจปกครองบางส่านตาม มาตรา 1582 วรรค 1 ศาลจะตั้งผู้ปกครองในส่วนที่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองถูกถอนอำนาจปกครองนั้นก็ได้ หรือในกรณีที่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองถูกถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินตาม มาตรา 1582 วรรค 2 ศาลจะตั้งผู้ปกครองเพื่อจัดการทรัพย์สินก็ได้ บันทึกท้ายทะเบียนหย่าเรื่องอำนาจปกครอง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4681/2552) สามีภิริยากันต่อมาจดทะเบียนหย่ากันโดยบันทึกท้ายทะเบียนการหย่าว่าให้บุตรผู้เยาว์ทั้งสองอยู่ในอำนาจปกครองของภริยาแต่ผู้เดียว ให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเดือนละ 60,000 บาท สามีเคยนำเงินฝากเข้าบัญชีของภริยาเพื่อประโยชน์ของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเป็นเงิน 500,000 บาท แต่ภริยาก็ถอนเงินไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวจนหมด พฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไปไม่สมควรจะเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองอีกต่อไป ขอให้ถอนอำนาจปกครอง และแต่งตั้งสามีเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองกับทั้งให้มีอำนาจหากศาลมีคำสั่งให้สามีเป็นฝ่ายออกเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูต่อไปเช่นเดิม ขอให้มีคำสั่งแก้ไขค่าอุปการะเลี้ยงดูเหลือเดือนละ 20,000 บาท ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้สามีจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองในระหว่างเรียนชั้นอนุบาลและชั้นประถมคนละเดือนละ 10,000 บาท ในระดับชั้นมัธยมศึกษาคนละเดือนละ 15,000 บาท ในระดับชั้นอุดมศึกษาคนละเดือนละ 20,000 บาท จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ฎีกาของภริยาว่าที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า ศาลมีอำนาจแก้ไขในเรื่องดังกล่าวได้เมื่อพฤติการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาให้ลดค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองมานั้น จึงเหมาะสมแล้ว จดทะเบียนรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากมารดาของเด็ก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 875/2518 ผู้รับบุตรบุญธรรมยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้ง บ. บุตรเขยเป็นผู้ปกครองบุตรบุญธรรมซึ่งเป็นผู้เยาว์ เมื่อผู้ร้องไม่ใช่ญาติหรือเป็นพนักงานอัยการ จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 เมื่อผู้รับบุตรบุญธรรมยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมหรือถูกถอนอำนาจปกครอง ทั้งมารดาผู้เยาว์ยังมีชีวิตอยู่แม้ไม่ทราบที่อยู่ไม่อาจติดต่อได้ ก็ไม่ใช่กรณีที่จะจัดให้มีผู้ปกครองผู้เยาว์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1555 เมื่อไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้การตั้งผู้ปกครองหลายคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1559 จึงไม่อาจทำได้ บ. ยังไม่ได้รับความยินยอมจากมารดาผู้เยาว์ ย่อมรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า นางเรียม มารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กชายบัณฑิต ได้จดทะเบียนยกผู้เยาว์ให้เป็นบุตรบุญธรรมของผู้ร้องต่อมาผู้ร้องได้มอบให้นายบรรเทือง บุตรเขยอุปการะผู้เยาว์แทนผู้ร้องนายบรรเทือง จะรับผู้เยาว์ เป็นบุตรบุญธรรม แต่นางเรียม ไปต่างประเทศไม่ทราบที่อยู่ไม่อาจติดต่อได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งนายบรรเทืองเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ เฉพาะให้มีอำนาจไปจดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมระหว่างผู้ร้องกับผู้เยาว์ กับให้มีอำนาจจดทะเบียนรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมต่อไปจนเสร็จการ ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของผู้ร้องว่า เป็นกรณีที่ผู้ร้องมีอำนาจดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1583, 1588 ได้อยู่แล้ว ไม่ใช่กรณีต้องใช้สิทธิทางศาล ไม่รับคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นผู้ปกครองผู้เยาว์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1586 ประกอบด้วยมาตรา 1537 ไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกถอนอำนาจปกครอง ผู้เยาว์จึงมิใช่ผู้ที่ไม่มีผู้ปกครองอันอาจจะจัดให้มีผู้ปกครองขึ้นตามมาตรา 1555 และขัดต่อมาตรา 1559 ซึ่งบัญญัติให้มีผู้ปกครองได้คราวหนึ่งเพียงคนเดียว พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ผู้ร้องไม่ใช่ญาติของผู้เยาว์หรือเป็นพนักงานอัยการ จึงไม่มีอำนาจยื่นคำร้องขอดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1556 ผู้ร้องจดทะเบียนรับเด็กชายบัณฑิตเป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย ยังไม่ได้จดทะเบียนเลิกการรับบุตรบุญธรรมหรือถูกถอนอำนาจปกครอง เด็กชายบัณฑิตมีมารดาที่แท้จริงยังมีชีวิตอยู่ จึงมิใช่ผู้ไม่มีผู้ปกครองอันจะจัดให้มีผู้ปกครองระหว่างเป็นผู้เยาว์ตามมาตรา 1555 เมื่อเด็กชายบัณฑิตมีมารดาอยู่ดังกล่าว นายบรรเทือง จะจดทะเบียนรับเด็กชายบัณฑิตเป็นบุตรบุญธรรมได้ก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอมจากมารดาของเด็กชายบัณฑิตก่อน ตามมาตรา 1583 วรรคแรกเมื่อยังไม่ได้รับความยินยอม นายบรรเทืองก็รับเด็กชายบัณฑิตเป็นบุตรบุญธรรมไม่ได้ เมื่อกรณีไม่อาจตั้งผู้ปกครองได้ดังกล่าวการตั้งผู้ปกครองหลายคนตามมาตรา 1559 จึงไม่อาจทำได้ด้วย ศาลล่างไม่รับคำร้องของผู้ร้องไว้ไต่สวนชอบแล้ว พิพากษายืน |