

กฎหมายเรื่อง,ฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร, ฟ้องหย่า, อำนาจปกครองบุตร,
กฎหมายเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 บัญญัติไว้ว่า บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว แต่เฉพาะผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้ มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้วบิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้ ตามกฎหมายแล้วบิดาและมารดาย่อมมีหน้าที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเริ่มคลอดจนกระทั่งเด็กบรรลุนิติภาวะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564 หากบิดาหรือมารดาไม่อุปการะเลี้ยงดูบุตรตามหน้าที่ ฝ่ายที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรอยู่ฝ่ายเดียว สามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูได้ตามกฎหมาย โดยเรียกเอาจากบิดาหรือมารดาที่ไม่ทำหน้าที่ส่งเสียหรืออุปการะเลี้ยงดูบุตร แม้บุตรที่บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่หากบุตรเป็นผู้พิการหรือเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ กรณีนี้บิดามารดายังมีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรอยู่แม้บุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ว่า โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ขอให้เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองของจำเลย และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองฝ่ายเดียว จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่ได้ทำการเป็นปรปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา โจทก์ไม่อาจฟ้องหย่าได้ จำเลยยังประสงค์อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ และแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องแย้งว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดกัน ขอให้บุตรทั้งสองอยู่ในการอุปการะเลี้ยงดูของจำเลย และให้จำเลยมีอำนาจปกครองบุตร โดยให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ทั้งสองนั้น แสดงให้เห็นถึงเจตนาแท้จริงตามฟ้องแย้งของจำเลยว่า จำลยเองไม่ประสงค์หย่าขาดกับโจทก์และยืนยันว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 1564 วรรคหนึ่งในเรื่องการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร โจทก์ในฐานะบิดามารดามีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ และปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่ว่าโจทก์จำเลยยังคงเป็นสามีภริยาหรือหย่าขาดกันแล้วหรือไม่
|