

ละเมิดเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนของบิดามารดา ละเมิดเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนของบิดามารดา ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 เป็นกรณีผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โจทก์ร่วมเป็นบิดามารดาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ภายใต้ปกครองของโจทก์ร่วม บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิมอบหมายให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานในครัวเรือนตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป เมื่อโจทก์ร่วมมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่ผู้ตายถูกจำเลยทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้โจทก์ร่วมต้องขาดแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ร่วม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 939/2563 ค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 445 เป็นกรณีผู้ทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือนหรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดาผู้ตายซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ภายใต้ปกครองของโจทก์ร่วมทั้งสองตามมาตรา 1566 ซึ่งตามมาตรา 1567 กำหนดให้บิดามารดาผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิมอบหมายให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานในครัวเรือนตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป เมื่อโจทก์ร่วมทั้งสองมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่ผู้ตายถูกจำเลยทำละเมิดจนถึงแก่ความตาย ย่อมทำให้โจทก์ร่วมทั้งสองต้องขาดแรงงาน จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่โจทก์ร่วมทั้งสอง โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43, 157 จำเลยให้การรับสารภาพ ระหว่างพิจารณา นาย ว. โจทก์ร่วมที่ 1 และนาง ส. โจทก์ร่วมที่ 2 บิดามารดาของนายวชิรวิทย์ผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และยื่นคำร้องขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพ 22,100 บาท ค่าใช้จ่ายในการจัดงานศพ 196,560 บาท ค่ารักษาพยาบาลก่อนเสียชีวิต 30,000 บาท ค่าขาดไร้อุปการะโจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 1,320,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,080,000 บาท ค่าขาดแรงงานโจทก์ร่วมที่ 1 จำนวน 600,000 บาท โจทก์ร่วมที่ 2 จำนวน 600,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,848,600 บาท จำเลยให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 43 (4) (ที่ถูก มาตรา 157) การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา (ที่ถูก มาตรา 291) อันเป็นบทหนักที่สุด (ที่ถูก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90) จำคุก 2 ปี จำเลยให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 1 ปี ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนประกอบกับจำเลยได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บางส่วน เห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดี และทำมาหากินมาใช้หนี้โจทก์ร่วมทั้งสอง โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี และให้คุมความประพฤติจำเลยมีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวกับพนักงานคุมประพฤติทุก 4 เดือน และให้ทำงานบริการสังคมตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรมีกำหนด 12 ชั่วโมง กับให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเงิน 2,017,660 บาท โจทก์ร่วมทั้งสองและจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายอันจำเป็นแก่การจัดงานศพ 218,660 บาท และค่าขาดไร้อุปการะแก่โจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 360,000 บาท โดยให้หักเงินที่บริษัทประกันภัยจ่ายให้โจทก์ร่วมทั้งสอง 300,000 บาท ออกก่อนด้วย พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินหลังจากหักชำระแล้วนับแต่วันละเมิดคือวันที่ 25 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ คำขออื่นของโจทก์ร่วมทั้งสองนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ร่วมทั้งสองได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ร่วมทั้งสองขอค่าขาดไร้อุปการะเพิ่มเติม และค่าขาดแรงงานในครัวเรือน ได้หรือไม่ สำหรับค่าขาดไร้อุปการะที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเวลา 10 ปี และให้รับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองคนละเดือนละ 3,000 บาท รวมเป็นค่าเสียหายที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 360,000 บาท นั้น เมื่อพิจารณาจากฐานะของโจทก์ร่วมทั้งสอง และขณะเกิดเหตุ โจทก์ร่วมที่ 1 อายุ 47 ปี โจทก์ร่วมที่ 2 อายุ 51 ปี มีอาชีพมีหลักฐานมั่นคง ประกอบกับขณะผู้ตายถึงแก่ความตายกำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย ยังมิได้ประกอบอาชีพ หากมีชีวิตอยู่ยังต้องศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยและหลังจบการศึกษาแล้ว ยังต้องหางานทำและหากมีครอบครัวยังมีภาระต้องดูแลตัวเองและครอบครัวอีก เห็นว่า ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองในค่าอุปการะเลี้ยงดูที่โจทก์ร่วมอาจได้รับเป็นเวลา 10 ปี และกำหนดให้รับผิดต่อโจทก์ร่วมทั้งสองคนละเดือนละ 3,000 บาท มานั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต่อไปว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดแรงงานในครัวเรือนได้หรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหายในส่วนนี้เพราะ โจทก์ร่วมทั้งสองมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่โจทก์ร่วมทั้งสองได้จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ผู้ตายเดือนละ 10,000 บาท ลักษณะเช่นนี้เปรียบเสมือนเป็นการจ้างแรงงาน ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 ว่าด้วยการใช้แรงงานในครัวเรือนให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอก นั้น เห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 445 บัญญัติว่า “ในกรณีทำให้เขาถึงตาย ฯลฯ ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรือ อุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอก เพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย” เป็นเรื่องผู้ทำละเมิดต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอก แต่คดีนี้ โจทก์ร่วมทั้งสองเรียกร้องให้จำเลยผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหายค่าขาดแรงงานในครัวเรือน โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นบิดามารดาของผู้ตาย ซึ่งเป็นผู้เยาว์อยู่ใต้อำนาจปกครองของโจทก์ร่วมทั้งสอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1566 และมาตรา 1567 บัญญัติว่า “ผู้ใช้อำนาจปกครองมีสิทธิ (1) ฯลฯ (3) ให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูป (4) ฯลฯ” ตามบทกฎหมายดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นว่า หากบิดาหรือมารดาซึ่งเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองได้มอบหน้าที่ให้บุตรผู้เยาว์ทำการงานอันใดอันหนึ่งในครัวเรือนแล้วปรากฏว่ามีบุคคลใดทำละเมิดต่อบุตรผู้เยาว์ซึ่งมีความผูกพันตามกฎหมายที่จะต้องทำการงานให้แก่บิดามารดาจนถึงแก่ความตาย ผู้ทำละเมิดจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ ค่าขาดแรงงานในครัวเรือนให้แก่บิดามารดาที่ต้องขาดแรงงานอันนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์เห็นว่า โจทก์ร่วมทั้งสองไม่มีสิทธิได้ค่าเสียหายส่วนนี้นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ร่วมทั้งสองขอให้ศาลฎีกาย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมีสิทธิเรียกค่าขาดแรงงานในครัวได้เพียงใด เนื่องจากโจทก์ร่วมทั้งสองอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในเรื่องค่าเสียหายในส่วนนี้ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้พิพากษา เห็นว่า เพื่อมิให้เป็นการล่าช้า ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในปัญหานี้ไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยก่อน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 252 เมื่อพิจารณาจากคำร้องขอค่าขาดแรงงานในครัวเรือนของโจทก์ร่วมทั้งสองที่อ้างและนำสืบว่า โจทก์ร่วมทั้งสองมอบหมายให้ผู้ตายช่วยดูแลกิจการการหอพักและกิจการฟาร์มเลี้ยงสุกรในเวลาเลิกเรียนและวันหยุด แต่โจทก์ร่วมทั้งสองได้จ่ายเงินเป็นค่าตอบแทนการทำงานให้แก่ผู้ตายเดือนละ 10,000 บาท นั้นเห็นว่า เงินดังกล่าวที่โจทก์ร่วมทั้งสองจ่ายให้แก่ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรมีลักษณะเป็นการตอบแทนการทำงานส่วนหนึ่งและเป็นการอุปการะเลี้ยงดูอีกส่วนหนึ่ง เมื่อคำนึงถึงขณะผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ตายอายุ 17 ปี 10 เดือน กำลังศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ยังไม่เข้ามหาวิทยาลัย มีโอกาสช่วยทำงานให้โจทก์ร่วมทั้งสองอีก 2 ปี 2 เดือน ก็บรรลุนิติภาวะ ดังนั้น ในระหว่างที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะและยังไม่ได้ทำงาน ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าแรงงานในส่วนนี้ให้โจทก์ร่วมทั้งสองคนละ 1,500 บาท ต่อเดือนนั้นเหมาะสมแล้ว แต่ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าขาดแรงงานในส่วนนี้แก่โจทก์ร่วมทั้งสองเป็นเวลาคนละ 5 ปี นั้น เป็นการไม่ชอบศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดให้เป็นเวลาคนละ 2 ปี 2 เดือน เป็นเงินคนละ 39,000 บาท ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยชำระเงินค่าขาดแรงงานในครัวเรือนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง คนละ 39,000 บาท รวมเป็นเงิน 78,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
|