

หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา, คดีหมิ่นประมาทในเฟซบุ๊กและยูทูบ, สิทธิการฟื้นฟูชื่อเสียงตามกฎหมาย ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • คำพิพากษาศาลฎีกา 976/2567 • หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา • ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 • การโฆษณาคำพิพากษาในสื่อออนไลน์ • คดีหมิ่นประมาทในเฟซบุ๊กและยูทูบ • สิทธิการฟื้นฟูชื่อเสียงตามกฎหมาย • การใช้ดุลพินิจศาลตาม ป.อ. มาตรา 332 (2) สรุปย่อ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2567 ดังนี้ คำพิพากษาฉบับนี้สรุปได้ว่า จำเลยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทโจทก์ผ่านการเผยแพร่ภาพและข้อความทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการโฆษณาในที่สาธารณะ ศาลพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยมีลักษณะพาดพิงถึงโจทก์ชัดเจน แม้จำเลยจะพยายามยืนยันว่าไม่ได้กล่าวถึงใครโดยตรง แต่ถ้อยคำที่ใช้ในรายการแสดงให้เห็นว่าจำเลยมุ่งให้ผู้ฟังเข้าใจว่าโจทก์เป็นบุคคลที่ถูกกล่าวถึงในทางเสียหาย ซึ่งทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และอาจถูกเกลียดชัง ศาลชั้นต้นตัดสินให้จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทตาม ป.อ. มาตรา 328 โดยให้โทษจำคุก 1 ปี ปรับ 100,000 บาท ลดโทษเหลือจำคุก 9 เดือน ปรับ 75,000 บาท และรอการลงโทษไว้ 2 ปี พร้อมให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาตัดสินว่าการเผยแพร่ดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาและให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลาย โดยจำเลยเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย และพิพากษากลับให้จำเลยมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 328 ลงโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน ปรับ 150,000 บาท ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 112,500 บาท และรอการลงโทษไว้ 2 ปี หลักกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) กล่าวถึงอำนาจของศาลในการกำหนดวิธีการชดเชยความเสียหายในคดีหมิ่นประมาท โดยเฉพาะในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิด ศาลมีอำนาจสั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดหรือบางส่วนในหนังสือพิมพ์หรือสื่อสาธารณะอื่น ๆ ตามที่ศาลเห็นสมควร โดยให้จำเลยเป็นผู้รับผิดชอบค่าโฆษณา หลักการในมาตรานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูชื่อเสียงของผู้เสียหายที่ถูกหมิ่นประมาท โดยการเผยแพร่คำพิพากษาหรือคำตัดสินในสื่อสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนรับทราบถึงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและเป็นการคืนความเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย การโฆษณาดังกล่าวช่วยลดผลกระทบด้านลบต่อชื่อเสียงของผู้เสียหายที่อาจถูกมองในแง่ร้ายจากการถูกหมิ่นประมาท ในบทความนี้ ศาลพิจารณาให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาผ่านหนังสือพิมพ์และเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ เนื่องจากพฤติการณ์แห่งคดีคือการหมิ่นประมาทผ่านสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งการเผยแพร่คำพิพากษาจึงเป็นการเยียวยาที่เหมาะสมตามหลักเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรานี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 976/2567 ป.อ. มาตรา 332 (2) เป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ได้เองตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ และคำว่า "หนังสือพิมพ์" ย่อมปริวรรตไปตามยุคสมัย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นโดยใช้กระดาษ แต่ยังมีความหมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารเป็นตัวหนังสือที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ ซึ่งเผยแพร่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย คดีนี้จำเลยกระทำผิดด้วยการเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเลยเผยแพร่ได้เป็นจำนวนมาก และอาจมีการเผยแพร่ซ้ำหรือเผยแพร่ต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง การเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อทำให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีด้วยการเผยแพร่คำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย จึงเห็นสมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ด้วย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ***โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 กับขอให้จำเลยนำคำพิพากษาหรือคำขอขมาเผยแพร่และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในเว็บไซต์เฟซบุ๊กบัญชีของจำเลยและเว็บไซต์ยูทูบ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 30 วัน กับให้โจทก์สามารถนำคำพิพากษาหรือคำขอขมาของจำเลยเผยแพร่และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ในทุกช่องทาง โดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย *ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะข้อหาหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ให้ประทับฟ้องในข้อหาดังกล่าว ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง *จำเลยให้การปฏิเสธ *ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 1 ปี และปรับ 100,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง กรณีมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสี่ คงจำคุก 9 เดือน และปรับ 75,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 1 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกันโดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก *โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ *ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง *โจทก์ฎีกา *ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีชื่อเล่นว่าโบว์ ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากรอบรมด้านบุคลิกภาพ และเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม ที่เผยแพร่ข้อมูลด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการละเมิดสิทธิมนุษยชน จำเลยทำงานด้านสื่อสารมวลชน เคยเป็นผู้สื่อข่าวของสถานีโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ ขณะเกิดเหตุเป็นนักวิชาการอิสระและจัดรายการเกี่ยวกับข่าวการเมืองอยู่สำนักข่าว ว. เผยแพร่ภาพรายการทางระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านเว็บไซต์ยูทูบชื่อ "V." ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กชื่อ "ท." หรือ "V." ในวันเวลาเกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยจัดรายการเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กตามแผ่นวีดิทัศน์ มีข้อความตามคำฟ้องและตามคำถอดเทป สำหรับความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (1) ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง คู่ความไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น *คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สามอันจะเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 นั้น จะต้องได้ความว่า การใส่ความดังกล่าวได้ระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าผู้ถูกใส่ความเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง ก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ และต้องพิจารณาถ้อยคำที่ผู้ใส่ความกล่าวถึงทั้งหมดรวมกัน โดยจะพิจารณาเพียงถ้อยคำเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ เมื่อพิจารณาข้อความที่จำเลยกล่าวในรายการของจำเลยตามคำถอดเทปแล้ว แม้จำเลยไม่ได้กล่าวระบุโดยตรงว่า โจทก์เป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากองค์กรต่างชาติเพื่อดำเนินการแบ่งแยกประเทศ แต่ในการจัดรายการครั้งดังกล่าว ช่วงต้นรายการจำเลยเปิดคลิประหว่างโจทก์กับนายวัฒนา โดยเรียกโจทก์ว่า นักประชาธิปไตยสาวอย่างน้องโบว์ ซึ่งจำเลยก็เบิกความรับว่า จำเลยกล่าวถึงโจทก์ในเรื่องคลิปช่วงต้นของรายการจริง จากนั้นจำเลยกล่าวข้อความเน้นย้ำทำนองว่า พฤติกรรมของโจทก์กับนายวัฒนาตามคลิปเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ประเด็นที่จำเลยให้ความสนใจโดยจำเลยกล่าวถึงประเด็นที่จำเลยสนใจเป็นใจความว่า มีคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างว่าเป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหว มีความเกี่ยวข้องกับนักโกงเมือง และได้รับการสนับสนุนเงินจากคนในต่างประเทศและจากมูลนิธิของพ่อมดทางการเงินเพื่อแบ่งแยกประเทศ การกล่าวพาดพิงถึงโจทก์ตั้งแต่ช่วงต้นรายการเช่นนี้ย่อมแสดงให้เห็นว่าโจทก์คือบุคคลที่จำเลยต้องการจะกล่าวถึงในช่วงต่อไป โดยเฉพาะในการดำเนินรายการนั้น จำเลยจัดรายการต่อเนื่องไปตลอด โดยมิได้แบ่งการดำเนินรายการเป็นช่วง ๆ เพื่อแบ่งแยกให้เห็นว่า เรื่องคลิประหว่างโจทก์กับนายวัฒนาและถ้อยคำที่จำเลยกล่าวต่อมาในภายหลังถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อ้างเป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหว และไปรับการสนับสนุนเงินจากคนต่างประเทศหรือองค์กรในต่างประเทศเพื่อมาดำเนินการให้มีการแบ่งแยกประเทศนั้นเป็นคนละเรื่องกัน จำเลยกล่าวถึงเรื่องดังกล่าวกับเรื่องคลิประคนปนกันไปจนเป็นเรื่องเดียวกันในลักษณะเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า นักประชาธิปไตยที่จำเลยกล่าวถึงนั้นหมายถึงโจทก์ เพราะไม่มีเหตุผลใดที่จำเลยจะต้องนำคลิประหว่างโจทก์กับนายวัฒนามาเปิดในช่วงต้นของรายการก่อนกล่าวถึงเรื่องการรับเงินสนับสนุนเพื่อแบ่งแยกประเทศ หากไม่ต้องการที่จะสื่อให้ผู้ฟังเข้าใจว่า บุคคลในคลิปมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องการรับเงินสนับสนุนเพื่อแบ่งแยกประเทศ แม้จำเลยพยายามกล่าวในรายการหลายครั้งว่า จำเลยมิได้ระบุถึงบุคคลใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ผู้ที่ได้รับฟังถ้อยคำของจำเลยเข้าใจว่าเป็นคนอื่นไปได้ นอกจากเข้าใจว่าจำเลยหมายถึงโจทก์นั่นเอง บุคคลที่จำเลยพูดถึงในรายการจึงหมายถึงโจทก์ทั้งสิ้น เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถึงโจทก์ว่า "...กลุ่มคนกลุ่มคนหนึ่งแล้วกัน... ที่อ้างประชาธิปไตย เป็นนักประชาธิปไตยเป็นนักเคลื่อนไหว... แต่ปรากฏว่าสุดท้ายก็เกี่ยวข้องกับใครละ เกี่ยวข้องกับนักโกงเมือง... สะท้อนให้เห็นว่าใครอยู่เบื้องหลัง...ขบวนการเหล่านี้...เรียกร้องประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ... แต่ประเด็นองค์กรเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนนอกจากจะคนจากต่างประเทศแล้ว ยังได้รับการสนับสนุนเงินจากมูลนิธิของพ่อมดทางการเงิน ซึ่งมีเครือข่ายในเอเชียหลายจังหวัด ทั้งพม่า บังกลาเทศ เขมร ลาว และก็ในประเทศที่เป็นฝั่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข องค์กรต่างชาตินี้มาสนับสนุนเงินคนภายในประเทศหลาย ๆ ประเทศ ผ่านมูลนิธิของฝรั่ง หรือพ่อมดทางการเงินฉายาเค้า เพื่ออะไร ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงนี้ เพื่อที่จะแบ่งแยกประเทศนั้น ๆ ..." ยิ่งชี้ชัดว่า จำเลยมุ่งประสงค์ให้ วิญญูชนที่ฟังถ้อยคำของจำเลยแล้วเข้าใจว่า โจทก์เป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหวที่รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อดำเนินการให้มีการแบ่งแยกประเทศ อันเป็นการใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามว่า โจทก์เป็นคนไม่ดี ไม่รักแผ่นดินเกิด อ้างตัวเป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหวเพื่อรับเงินสนับสนุนจากองค์กรต่างชาติมาดำเนินการแบ่งแยกประเทศและล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นการกระทำความผิดทางอาญาทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง เมื่อรายการของจำเลยเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กและยูทูบ อันเป็นการกระจายภาพและเสียงไปสู่สาธารณชนหรือประชาชนทั่วไป การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณา แต่ขณะเดียวกันจำเลยกลับพูดจาออกตัวย้ำหลายครั้งว่า จำเลยไม่ได้พูดถึงใครย่อมเป็นเรื่องยากที่จะให้โจทก์ออกมากล่าวแก้ต่อสาธารณชนเพราะโจทก์อาจถูกมองว่าเป็นผู้บ่อนทำลายชาติตามที่จำเลยกล่าว จำเลยมุ่งหวังให้โจทก์เสียหายแต่ฝ่ายเดียว จึงมิใช่เป็นการแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต กรณีไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น *ส่วนปัญหาที่ว่าสมควรลงโทษจำเลยสถานใดนั้น เห็นว่า จำเลยหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาผ่านเว็บไซต์เฟซบุ๊กและยูทูบ ทำให้ข้อความหมิ่นประมาทแพร่หลายสู่สาธารณชนอย่างกว้างขวางและรวดเร็ว เป็นที่เสียหายแก่โจทก์อย่างยิ่ง พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยนับว่าร้ายแรง อย่างไรก็ดี ยังมีถ้อยคำของจำเลยบางส่วนที่แสดงออกถึงความห่วงใยปัญหาบ้านเมืองแสดงให้เห็นเจตนาที่ดีของจำเลยอยู่บ้าง จำเลยไม่เคยรับโทษจำคุกมาก่อน ความประพฤติไม่มีข้อเสื่อมเสีย ทั้งยังมีการศึกษาสูงและมีประสบการณ์ในการทำงานหลายด้าน สมควรที่จำเลยจะใช้ความรู้ความสามารถให้เป็นประโยชน์แก่สังคมยิ่งกว่าการถูกจำคุกในระยะสั้น ที่ศาลชั้นต้นให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีโดยรอการลงโทษมานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา แต่เพื่อให้จำเลยหลาบจำ จึงตั้งกำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลยเสียใหม่ให้เหมาะสมแก่ความผิด และแม้โจทก์จะไม่อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 1 ฉบับ เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 332 (2) ก็ตาม แต่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 332 บัญญัติว่า "ในคดีหมิ่นประมาทซึ่งมีคำพิพากษาว่าจำเลยมีความผิด ศาลอาจสั่ง... (2) ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมด หรือแต่บางส่วนในหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับหรือหลายฉบับ ครั้งเดียวหรือหลายครั้ง โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา" บทบัญญัติมาตรานี้จึงเป็นบทกฎหมายที่ให้อำนาจศาลใช้ดุลพินิจสั่งให้โฆษณาคำพิพากษาในหนังสือพิมพ์ได้เองตามความเหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดี ไม่ว่าโจทก์จะมีคำขอหรือไม่ และคำว่า "หนังสือพิมพ์" ย่อมปริวรรตไปตามยุคสมัย มิได้จำกัดอยู่แต่เฉพาะหนังสือพิมพ์ที่พิมพ์ขึ้นโดยใช้กระดาษ แต่ยังมีความหมายรวมถึงข้อมูลข่าวสารเป็นตัวหนังสือที่ประชาชนทั่วไปสามารถอ่านเข้าใจได้ซึ่งเผยแพร่อยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ด้วย คดีนี้จำเลยกระทำผิดด้วยการเผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ผ่านทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊กซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเลยเผยแพร่ได้เป็นจำนวนมาก และอาจมีการเผยแพร่ซ้ำหรือเผยแพร่ต่อไปอีกอย่างกว้างขวาง การเยียวยาความเสียหายแก่โจทก์ตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย จึงต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทที่ศาลพิพากษาลงโทษจำเลย เพื่อทำให้ชื่อเสียงของโจทก์กลับคืนดีด้วยการเผยแพร่คำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์อีกช่องทางหนึ่งด้วย จึงเห็นสมควรให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ด้วย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ****พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 จำคุก 1 ปี 4 เดือน และปรับ 150,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ตามมาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสี่ คงจำคุก 1 ปี และปรับ 112,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟังตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และ 30 กับให้โฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน กับให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ด้วย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา ตามมาตรา 332 (2) คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ตัวอย่างร่างคำฟ้องและคำขอท้ายคำฟ้องอาญา + แพ่ง: คำฟ้อง 1.โจทก์ประกอบอาชีพอาจารย์พิเศษ วิทยากรด้านบุคลิกภาพ และเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคม โดยเผยแพร่ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิทธิมนุษยชน จำเลยเป็นบุคคลที่ทำงานด้านสื่อสารมวลชนและจัดรายการเกี่ยวกับข่าวการเมืองทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊ก 2.ในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ จำเลยได้เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวและข้อความเสียงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเว็บไซต์ยูทูบและเฟซบุ๊ก โดยมีข้อความที่กล่าวถึงโจทก์ในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าโจทก์เป็นนักประชาธิปไตยหรือนักเคลื่อนไหวที่ได้รับการสนับสนุนจากต่างประเทศเพื่อทำลายความมั่นคงของประเทศ อันเป็นการใส่ความต่อบุคคลที่สาม ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง 3.การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 คำขอท้ายคำฟ้อง ขอให้ศาลพิพากษาดังต่อไปนี้ 1.พิพากษาว่าจำเลยกระทำการหมิ่นประมาทโจทก์โดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328 2.สั่งให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาโดยย่อในหนังสือพิมพ์ที่แพร่หลาย 2 ฉบับ เป็นเวลา 3 วันติดต่อกัน และโฆษณาผ่านทางเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่แพร่หลายอีก 2 เว็บไซต์ โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าโฆษณา 3.สั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่ศาลเห็นสมควร ลงชื่อโจทก์
หมายเหตุ: ตัวอย่างนี้เป็นแนวทางในการศึกษาและประยุกต์ใช้กฎหมาย ผู้ใช้ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายหากต้องการใช้ในทางปฏิบัติ |
![]() ![]() |