

ความแตกต่างของทางจำเป็นกับภาระจำยอม ความแตกต่างของทางจำเป็นกับภาระจำยอม 1. ทางจำเป็นเกิดขึ้นกรณีมีที่ดินตาบอดอยู่ตรงกลางออกสู่ทางสาธารณะไม่ได้เพราะที่ดินนั้นถูกล้อมลอบอยู่ มาตรา 1349 ให้สิทธิเจ้าของที่ดินถูกล้อมรอบอยู่นั้นออกไปสู่ทางสาธารณะได้ 2. ภาระจำยอม ที่เกี่ยวกับทางเดินนั้นอาจจะเกิดขึ้นจากกรณีใด ๆ ก็ได้แม้จะมีทางออกสู่ทางสาธารณะอยู่แล้ว ก็อาจจะตกลงกันให้มีภาระจำยอมหรือว่าได้สิทธิโดยอายุความ 3. ทางจำเป็น เป็นข้อจำกัดสิทธิของคู่กรณีอย่างหนึ่ง 4. แต่ภาระจำยอม อาจจะเป็นการได้มาโดยที่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องมาตกลงกันคือเจ้าของสามยทรัพย์ได้ตกลงกับเจ้าของที่ดินภารยทรัพย์ หรือได้ภาระจำยอมมาโดยอายุความ 5. ทางจำเป็น ผู้มีสิทธิผ่านจะต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่ 6. ภาระจำยอม อาจมีค่าทดแทนหรือไม่ก็ได้ 7. ทางจำเป็น นั้นดูถึงทางสาธารณะเป็นสำคัญว่า จากที่ดินตาบอดออกไปสู่ทางสาธารณะเพื่อที่จะให้คนในที่ดินตาบอดใช้ที่ดินของตนนั้นได้ 8. ส่วนภาระจำยอมมีหลายรูปแบบเป็นทางเดินก็ได้หรืออย่างอื่นก็ได้ 9. ทางจำเป็น เป็นข้อจำกัดสิทธิของเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องยอมรับภาระในทางจำเป็นนั้นอันเป็นข้อจำกัดสิทธิตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องมีการจดทะเบียนตาม มาตรา 1338 10. แต่ภาระจำยอมปกติแล้วต้องมีการจดทะเบียน มิฉะนั้นไม่บริบูรณ์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13760/2556 แม้ที่ดินของโจทก์ทางด้านทิศตะวันตกจะติดกับแม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 แต่ปัจจุบันแม่น้ำท่าคอยไม่ได้ใช้เป็นทางสัญจรไม่มีเรือโดยสารหรือเรือสินค้าสัญจรผ่านไปมาคงมีแต่เรือหาปลาและในหน้าแล้งจะมีผักตบชาขึ้นเต็มหนาแน่นเช่นนี้ แม่น้ำท่าคอยหรือคลองระบายสายใหญ่สามชุก 1 จึงหาใช่ทางสาธารณะที่จะใช้เป็นทางออกของที่ดินโจทก์ตามความหมายของ ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคหนึ่ง แต่หมายความว่าที่ดินโจทก์มีทางออกสาทางสาธารณะได้แต่ต้องข้ามสระ บึง ทะเล หรือในสภาพยากลำบากอื่นทำนองเดียวกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสอง เมื่อเจ้าของที่ดินเดิมของโจทก์และโจทก์เคยใช้ทางพิพาทที่มีอยู่ในที่ดินของจำเลยเป็นทางผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอเปิดทางพิพาทเป็นทางจำเป็นเพื่อผ่านที่ดินจำเลยออกสู่ทางสาธารณะได้ สิทธิในทางจำเป็นย่อมเกิดขึ้นโดยอำนาจของกฎหมายตามสภาพความเป็นจริงของที่ดินในขณะยื่นฟ้อง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคสาม จะพิจารณาแต่ในทางที่โจทก์มีความประสงค์ใช้เส้นทางแล้วพิพากษาให้ตามที่โจทก์ขอหาได้ไม่ ต้องพิจารณาคำนึงถึงฝ่ายจำเลยด้วยว่า การเปิดทางนี้ทำให้จำเลยเสียหายแต่น้อยที่สุดหรือไม่ และการที่จะให้โจทก์ใช้ทางสาธารณะ อันจะเป็นการกระทบสิทธิในที่ดินของบุคคลอื่นอีกย่อมไม่สมควรกระทำ เมื่อศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุผลว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทางจำเป็น แม้จะยกฟ้องแย้งของจำเลยด้วย เมื่อศาลฎีกาเห็นว่า ทางพิพาทเป็นทางจำเป็น ซึ่งจำเลยเจ้าของที่ดินที่มีทางพิพาทตั้งอยู่มีสิทธิเรียกร้องให้ผู้มีสิทธิผ่านทางจำเป็นใช้ค่าทดแทนได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย ศาลฎีกาย่อมวินิจฉัยให้เสร็จสิ้นไปได้เอง โดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยตามลำดับชั้นศาลก่อน จะถือว่าฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกค่าทดแทนเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพราะจำเลยมิได้อุทธรณ์หาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11428 - 11429/2556 ที่ดินเลขที่ดิน 106 และ 107 มีสิ่งปลูกสร้างเป็นอาคารบนที่ดินจนเต็มพื้นที่ โจทก์ทั้งสองไม่สามารถใช้เป็นทางเข้าออกได้ หากจะใช้ทางดังกล่าวย่อมก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก ขณะที่ใช้ทางผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับเป็นการสะดวกมากกว่า เพราะที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นที่ดินว่างเปล่า และมีระยะทางออกสู่ทางสาธารณะใกล้ที่สุด ทำให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เสียหายน้อยที่สุด โจทก์ทั้งสองมีสิทธิเรียกร้องขอผ่านที่ดินของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ และเนื่องจาก ป.พ.พ. มาตรา 1349 วรรคท้าย บัญญัติให้ผู้มีสิทธิจะผ่านทางจำเป็นต้องใช้ค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินที่ล้อมอยู่เพื่อความเสียหายอันเกิดแต่เหตุที่มีทางผ่านนั้น ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรกำหนดให้โจทก์ทั้งสองใช้ค่าทดแทนแก่จำเลยที่ 3 ในคราวเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ด้วย แม้จำเลยที่ 3 จะไม่ได้ให้การและฟ้องแย้งในเรื่องค่าทดแทนไว้ก็ตาม มิฉะนั้นจำเลยที่ 3 ก็คงต้องไปฟ้องเป็นคดีใหม่ และโจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 3 ก็จะต้องนำสืบถึงข้อเท็จจริงซ้ำในเรื่องที่เคยนำสืบมาแล้ว ซึ่งหาชอบด้วยความยุติธรรมไม่
|