

ครอบครองโดยสำคัญผิดได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์หรือไม่? ครอบครองโดยสำคัญผิดได้กรรมสิทธิ์โดยปรปักษ์หรือไม่? ในคดีนี้เป็นเรื่องการซื้อขายที่ดินที่ผู้ซื้อได้ซื้อที่ดินจากผู้ขายรายหนึ่งซึ่งมีสภาพรั้วรอบขอบชิดและมีการถมดินสูงกว่าที่ดินข้างเคียง หลังจากได้ซื้อขายและโอนกรรมสิทธิ์กันเรียบร้อยแล้วก็เข้าทำประโยชน์ ด้วยความสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ เกิน 10 ปี ต่อมาที่ดินข้างเคียงไปขอรังวัดสอบเขตที่ดินปรากฏว่าที่ดินของตนหายเข้าไปในที่ดินของผู้ซื้อรายนี้ถึง 16 ตารางวาเศษ โดยเข้าใจว่าที่ดินที่ล้อมรั้วนั้นคือที่ดินที่ซื้อมาทั้งหมด ถามว่าอย่างนี้เป็นการครอบครองปรปักษ์โดยสำคัญผิดจะได้กรรมสิทธิ์ตาม มาตรา 1382 หรือไม่? มาตรา 1382 บุคคลใดครอบครองทรัพย์สินของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ถ้าเป็นอสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ถ้าเป็นสังหาริมทรัพย์ได้ครอบครองติดต่อกันเป็นเวลาห้าปีไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นได้กรรมสิทธิ์ จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ซึ่งเดิมเป็นของนายนิวัตร์ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2534 นายนิวัตร์ให้โจทก์ทั้งสองถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าว และเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2542 นายนิวัตร์ขายที่ดินส่วนของตนให้แก่โจทก์ทั้งสอง ที่ดินของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดกับที่ดินของจำเลยทั้งสองโฉนดเลขที่ 27254 โดยซื้อจากนางสาวสัยรัตน์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 แล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวรวมทั้งที่ดินพิพาทเนื้อที่ 16.6 ตารางวาของโจทก์ทั้งสอง โดยความสงบและโดยเปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน จึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้องและไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายขอให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสอง และให้จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองในที่ดินส่วนที่พิพาทโฉนดเลขที่ 17146 เนื้อที่ 16.6 ตารางวา ห้ามโจทก์ทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง ให้จำเลยทั้งสอง (ที่ถูกโจทก์ทั้งสอง) ยื่นคำร้องขอแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนที่พิพาทออกจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสองอยู่ติดกันมีเพียงต้นมะพร้าวเป็นแนวแบ่งเขต แต่หาหลักหมุดไม่พบ โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนแล้วเพิ่งรู้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองรุกล้ำแนวเขตที่ดินพิพาทเมื่อปลายปี 2544 จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครอง ขอให้ยกฟ้องแย้ง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองพร้อมบริวารขนย้ายออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 17146 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ในส่วนที่รุกล้ำเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 1,500 บาท นับตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2546 ซึ่งเป็นวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองให้ยกเสีย จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุผลสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริง ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2551 จำเลยทั้งสองยื่นคำแก้ฎีกา และคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาอ้างเหตุว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้อาศัยอยู่ที่ภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้งเนื่องจากจำเลยที่ 2 รับราชการอยู่จังหวัดสุรินทร์ จำเลยทั้งสองจึงไปอยู่ประจำด้วยกันที่จังหวัดสุรินทร์โดยปิดบ้านไว้ไม่มีคนเฝ้า นานๆจะกลับสักครั้ง เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2541 ช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์จำเลยทั้งสองกลับบ้านและเพิ่งได้รับหมายนัดและสำเนาฎีกาในวันดังกล่าว มิได้จงใจไม่ยื่นคำแก้ฎีกาภายในกำหนด ศาลชั้นต้นส่งสำเนาคำร้องพร้อมสำเนาคำแก้ฎีกาแก่โจทก์ทั้งสองโดยวิธีปิดหมายแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองยื่นคำคัดค้าน ศาลชั้นต้นให้รวบรวมสำนวนส่งศาลฎีกาโดยไม่ได้สั่งคำร้องขออนุญาตยื่นคำแก้ฎีกาและคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสอง ดังนั้นศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยสั่งคำร้องและคำแก้ฎีกาดังกล่าวไปโดยไม่จำต้องย้อนสำนวน เห็นว่า เจ้าพนักงานศาลส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาของโจทก์ทั้งสองไปยังภูมิลำเนาของจำเลยทั้งสอง ซึ่งเป็นแห่งเดียวกับที่ใช้ในคำให้การและฟ้องแย้ง และที่ใช้ในชั้นอุทธรณ์โดยวิธีปิดหมาย จึงเป็นการส่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว หากจำเลยทั้งสองย้ายภูมิลำเนาไปอยู่ที่อื่น ย่อมต้องแจ้งต่อศาลเพื่อให้ส่งหมายยังภูมิลำเนาแห่งใหม่ แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่ได้แจ้ง แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีความประสงค์ให้ส่งหมายหรือเอกสารไปยังภูมิลำเนาตามคำให้การและฟ้องแย้ง ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าไปอยู่ที่จังหวัดสุรินทร์ไม่ทราบเรื่องการส่งหมายนัดและสำเนาฎีกาเป็นเรื่องส่วนตัวของจำเลยทั้งสอง ไม่ใช่เหตุสุดวิสัยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 23 จึงไม่รับคำแก้ฎีกาของจำเลยทั้งสองแต่ให้รับเป็นคำแถลงการณ์ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสองและที่ดินของจำเลยทั้งสองอยู่ติดกัน ที่ดินพิพาทแนวเส้นสีแดงเนื้อที่ 16.6 ตารางวา ตามแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 อยู่ในเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสอง จำเลยทั้งสองได้ครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หรือไม่ โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า จำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ ย่อมไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสอง เห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากทางนำสืบของจำเลยทั้งสองว่า เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2531 จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 27254 ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น จากนางสาวสัยรัตน์ ในสภาพมีรั้วล้อมรอบและถมดินสูงกว่าที่ดินของโจทก์ทั้งสองแล้วจำเลยทั้งสองได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี ไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน โดยเข้าใจว่าเป็นของจำเลยทั้งสอง ด้วยการปลูกต้นมะพร้าวตามแนวรั้วที่รุกล้ำตามภาพถ่ายหมาย ล.3 และแผนที่พิพาทเอกสารหมาย ล.7 โดยไม่เคยรังวัดตรวจสอบแนวที่ดินเพราะเป็นการซื้อทั้งแปลง แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองดำเนินการรังวัดจึงทราบว่าแนวรั้วกับต้นมะพร้าวรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสองเนื้อที่ 16.6 ตารางวา หากจำเลยทั้งสองรู้ว่าแนวรั้วรุกล้ำที่ดินพิพาทจำเลยทั้งสองก็จะไม่ซื้อ จากข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวแสดงถึงเจตนาอันแท้จริงของจำเลยทั้งสองว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาจะครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งล้อมรั้วรวมเป็นแปลงเดียวกับที่ดินของจำเลยทั้งสองอย่างเป็นเจ้าของ เมื่อได้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี แม้จำเลยทั้งสองจะครอบครองโดยสำคัญผิดว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง ก็ถือไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของจำเลยทั้งสองเอง หากแต่ต้องถือว่าจำเลยทั้งสองครอบครองที่ดินของบุคคลอื่น ดังนี้ จำเลยทั้งสองย่อมได้กรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 หาจำต้องเป็นการครอบครองโดยจำเลยทั้งสองต้องรู้ว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ทั้งสองด้วยไม่ และโจทก์ทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์ทั้งสองอ้างข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของโจทก์ทั้งสองฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เป็นวิธีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นวิธีหนึ่ง ส่วนในเรื่องที่ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่นหรือไม่ ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นได้ครอบครองที่ดินครบตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 1382 คือได้ครอบครองที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องก็ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครอง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2546/2540 การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่จำเป็นว่าผู้ครอบครองจะต้องไม่รู้ว่าทรัพย์สินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2512 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ 12 ตารางวา นับตั้งแต่ผู้ร้องซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวแล้ว ผู้ร้องได้เข้าครอบครองทำประโยชน์ติดต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยได้ขุดดินล้อมรอบที่ดินทั้งแปลงและเข้าทำประโยชน์โดยปลูกมะพร้าว มะม่วง ต้นกล้วยและไม้ล้มลุกอื่น ๆ และได้ยินยอมให้นายอยู่ โพธิสุภาพ ปลูกบ้านอยู่อาศัยและให้ดูแลที่ดินแทนผู้ร้อง ผู้ร้องได้เข้าครอบครองในที่ดินดังกล่าวโดยสงบ เปิดเผย ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วโดยไม่มีผู้ใดคัดค้าน ปัจจุบันที่ดินเนื้อที่เปลี่ยนแปลงไปคงเหลือประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา ต่อมาเมื่อประมาณเดือนมิถุนายน 2536ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอออกโฉนดในที่ดินดังกล่าว แต่เจ้าพนักงานที่ดินแจ้งว่าที่ดินของผู้ร้องเป็นที่ดินส่วนหนึ่งของที่ดินโฉนดเลขที่ 970 ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ (ศีรษะจรเข้) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นของนางระพี ศรีสนั่น นายกฤษดาศรีสนั่น นางสาวนุสราหรือประภัสรา ศรีสนั่น และพลโทโสภณ ศรีสนั่น ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ขอให้มีคำสั่งแสดงว่า ผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์บางส่วนด้านทิศตะวันตกของที่ดินโฉนดเลขที่ 970 ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ (ศีรษะจรเข้) อำเภอบางพลี (บางพลีใหญ่) จังหวัดสมุทราปราการ เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ 1 งาน 92 ตารางวา ผู้คัดค้านทั้งสี่ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องทราบดีว่านางกิมเลี้ยงครอบครองที่ดินพิพาทแทนผู้คัดค้านทั้งสี่ ผู้ร้องไม่เคยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกคำร้องขอ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ที่ดินบางส่วนด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 970 ตำบลศีรษะจรเข้ใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ภายในบริเวณเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสาวน้อย แซ่ลี้ ผู้ร้อง ผู้คัดค้านทั้งสี่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องครอบครองที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลากว่า 10 ปี ส่วนที่ผู้คัดค้านทั้งสี่ฎีกาว่า ในการครอบครองปรปักษ์ การใช้สิทธิครอบครองจะต้องใช้สิทธิโดยสุจริตคือครอบครองโดยไม่รู้ว่าเป็นที่ดินของผู้อื่น แต่ผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริต จึงมิใช่การยึดถือเพื่อตนนั้น เห็นว่า การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 เป็นวิธีการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินของผู้อื่นวิธีหนึ่ง ในกรณีที่ทรัพย์สินเป็นที่ดิน ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ตนครอบครองเป็นของผู้อื่นหรือไม่ ไม่สำคัญ ข้อสำคัญอยู่ที่ว่าผู้นั้นได้ครอบครองที่ดินครบตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 1382 คือได้ครอบครองที่ดินกรรมสิทธิ์ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ร้องได้ครอบครองที่ดินพิพาทครบตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 1832 ดังได้วินิจฉัยมาแล้ว ผู้ร้องจึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้ว" พิพากษายืน |