มารดาได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยคำสั่งให้บุตรเป็นคนสาบสูญ มารดาได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ นาง ม. มีบุตร 3 คนคือโจทก์และจำเลยทั้งสอง นาง ม. ยื่นคำร้องขอให้โจทก์เป็นคนสาบสูญและยื่นคำร้องเป็นผู้จัดการมรดกของโจทก์แล้วจดทะเบียนโอนที่ดินของโจทก์เป็นของนาง ม. ต่อมาโจทก์กลับมาหานาง ม. และนาง ม. ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาและจำเลยทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกของนาง ม. เมื่อโจทก์ทราบเรื่องจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญแล้วแจ้งให้จำเลยทั้งสองโอนคืนที่ดินของโจทก์คืนแก่โจทก์จำเลยทั้งสองอ้างว่าคดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องเอาคืนฐานลาภมิควรได้ เพราะนาง ม. ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วศาลเห็นว่าการถอนคำสั่งแสดงความสาบสูญของโจทก์ไม่กระทบกระเทือนถึงความสมบูรณ์แห่งการทั้งหลายอันได้ทำไปโดยสุจริตในระหว่างเวลาตั้งแต่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญจนถึงเวลาถอนคำสั่งนั้นการที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญต้องถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนา และโดยผลของกฎหมายที่ดินซึ่งถือเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนด 5 ปี ข้อเท็จจริง นาง ม. ได้กระทำการไปโดยสุจริตที่ดินของโจทก์จึงตกเป็นของนาง ม. และได้กรรมสิทธิ์ที่ดินโดยผลของกฎหมายทันที ดังนั้นจะถือว่านาง ม. ครอบครองปรปักษ์ที่ดินของโจทก์ไม่ได้เพราะต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น ที่จำเลยอ้างว่านาง ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์นั้นฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4656/2566 ตามบทบัญญัติมาตรา 62 ป.พ.พ. การที่ศาลมีคำสั่งแสดงว่าโจทก์เป็นคนสาบสูญถือว่าโจทก์ถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาห้าปีนับแต่วันที่โจทก์ได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่โดยไม่มีใครรู้แน่ว่าโจทก์ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และโดยผลของมาตรา 1602 ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นมรดกของโจทก์ย่อมตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่า ม. ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของโจทก์ได้กระทำไปโดยไม่สุจริต ที่ดินพิพาทย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ ม. ทันทีเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ม. จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยผลของกฎหมายนับแต่นั้น กรณีไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์การครอบครองปรปักษ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 ซึ่งต้องเป็นการครอบครองปรปักษ์ทรัพย์สินของผู้อื่น จำเลยที่ 2 จะอ้างว่า ม. ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์หาได้ไม่ ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ การฟ้องเรียกทรัพย์คืนฐานลาภมิควรได้ ซึ่งโจทก์ฟ้องพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกคืนหรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เวลาที่สิทธินั้นได้มีขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 419 ประกอบมาตรา 63 หรือไม่ นั้น โดยผลของมาตรา 62 บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาที่บัญญัติไว้ในมาตรา 61 แม้โจทก์จะกลับมาเมื่อปี 2557 และทราบว่า ม. ได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของ ม. ไปแล้วก็ตาม แต่ตราบใดที่ศาลยังมิได้มีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญก็ต้องถือว่าโจทก์ยังเป็นบุคคลที่ถึงแก่ความตายไม่อาจใช้สิทธิใด ๆ ตามกฎหมายได้ เมื่อปรากฏว่าศาลเพิ่งมีคำสั่งถอนคำสั่งให้โจทก์เป็นคนสาบสูญเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2563 ซึ่งมีผลทำให้โจทก์กลับเป็นบุคคลผู้มีสิทธิตามกฎหมาย รวมทั้งสิทธิในการใช้สิทธิทางศาลได้ดังเดิม จึงต้องถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันที่โจทก์รู้ว่าตนมีสิทธิเรียกที่ดินพิพาทคืน อายุความ 1 ปี ตาม ป.พ.พ.มาตรา 419 จึงต้องเริ่มนับแต่วันดังกล่าว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ 22 มิถุนายน 2563 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนมรดกที่ดิน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนและส่งมอบที่ดิน คืนแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายืน มาตรา 1602 เมื่อบุคคลใดต้องถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา 62 แห่งประมวลกฎหมายนี้ มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท ถ้าพิสูจน์ได้ว่าบุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ หรือตายในเวลาอื่นผิดไปจากเวลาดังระบุไว้ในคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 63 แห่งประมวลกฎหมายนี้บังคับแก่ทายาทของบุคคลนั้น
|