

ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐว่าความอย่างทนายความ ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐว่าความอย่างทนายความ ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นทนายความว่าความอย่างทนายความให้แก่บุคคลอื่น ก็มีข้อยกเว้นให้กระทำได้ถ้ากระทำในฐานะเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ แต่เมื่อศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ คำพิพากษาฎีกาที่ 1816/2547 การที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ได้จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย ดังนั้นเมื่อไม่มีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลได้หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิที่จะว่าความอย่างทนายความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 แต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องเป็นข้าราชการในสังกัดเทศบาลตำบลปากแพรกได้รับแต่งตั้งจากต้นสังกัดให้เป็นผู้แทนว่าต่างอรรถคดีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2546 ผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีแทนหน่วยงานต้นสังกัดตามที่ได้รับแต่งตั้ง ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ 278/2546 ของศาลชั้นต้น โดยผู้ร้องได้ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ผู้ร้องมีอำนาจว่าความอย่างทนายความได้เนื่องจากผู้ร้องเป็นผู้แทนนิติบุคคลหรือเป็นข้าราชการจึงมีอำนาจว่าความอย่างทนายความ แต่ศาลชั้นต้นยกคำแถลงโดยวินิจฉัยว่าผู้ร้องเป็นผู้รับมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทนเทศบาล ไม่มีกฎหมายให้เจ้าหน้าที่ของเทศบาลว่าความอย่างทนายความ ผู้ร้องจึงไม่มีอำนาจว่าความอย่างทนายความได้ ผู้ร้องเห็นว่าเทศบาลเป็นนิติบุคคลย่อมมีสิทธิหรืออำนาจที่จะว่าความอย่างทนายความได้เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา เมื่อไม่มีกฎหมายห้ามเจ้าหน้าที่ของเทศบาลว่าความอย่างทนายความแทนเทศบาล ผู้ร้องก็ย่อมมีสิทธิกระทำได้ ตามพระราชบัญญัติทนายความพ.ศ. 2528 มาตรา 33 ที่บัญญัติห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้เป็นทนายความว่าความอย่างทนายความให้แก่บุคคลอื่น ก็มีข้อยกเว้นให้กระทำได้ถ้ากระทำในฐานะเป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ จากบทกฎหมายดังกล่าวมีเจตนารมณ์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐมีอำนาจว่าความอย่างทนายความให้แก่ตนเองในคดีของทางราชการได้ ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้แทนของนิติบุคคลมิใช่ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องจึงมีอำนาจว่าความอย่างทนายความได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 60 วรรคหนึ่ง หรือในฐานะข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ขอให้ศาลมีคำสั่งวินิจฉัยและมีคำสั่งในประเด็นดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า กรณีตามคำร้องขอของผู้ร้องไม่มีกฎหมายบัญญัติสนับสนุนหรือรับรองให้ใช้สิทธิทางศาลได้ และไม่ปรากฏว่าผู้ร้องถูกโต้แย้งสิทธิอย่างไรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า ผู้ร้องมีสิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งตามคำร้องขอของผู้ร้องหรือไม่พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่บุคคลใดจะใช้สิทธิทางศาลโดยเสนอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 55 ได้นั้น จะต้องมีกฎหมายสารบัญญัติสนับสนุนว่าเป็นกรณีจำเป็นต้องร้องขอต่อศาลเพื่อรับรองหรือคุ้มครองสิทธิของตนที่มีอยู่ด้วย กรณีของผู้ร้องในคดีนี้ ไม่มีกฎหมายสารบัญญัติบทใดสนับสนุนให้ผู้ร้องมาใช้สิทธิทางศาลได้ หากผู้ร้องเห็นว่าผู้ร้องมีสิทธิที่จะว่าความอย่างทนายความได้ตามบทบัญญัติของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 60 วรรคหนึ่ง และพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้างแต่ศาลชั้นต้นที่พิจารณาคดีนั้นไม่อนุญาตให้ผู้ร้องว่าความอย่างทนายความ ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องจะต้องดำเนินการต่อไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความ ผู้ร้องจะยื่นคำร้องขอเป็นคดีไม่มีข้อพิพาทเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตเป็นอีกคดีหนึ่งหาได้ไม่ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของผู้ร้องอีกต่อไปอุทธรณ์ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน พระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. 2528 มาตรา 33 ห้ามมิให้ผู้ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนและรับใบอนุญาต หรือผู้ซึ่งขาดจากการเป็นทนายความหรือต้องห้ามทำการเป็นทนายความว่าความในศาล หรือแต่งฟ้อง คำให้การ ฟ้องอุทธรณ์ แก้อุทธรณ์ ฟ้องฎีกา แก้ฎีกา คำร้อง หรือคำแถลงอันเกี่ยวแก่การพิจารณาคดีในศาลให้แก่บุคคลอื่น ทั้งนี้เว้นแต่จะได้กระทำในฐานะเป็นข้าราชการผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐ องค์การของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ผู้ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือมีอำนาจหน้าที่กระทำได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความหรือกฎหมายอื่น |