ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




คดีฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมปลอมและถูกกำจัดมิให้รับมรดก

คดีฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมปลอมและถูกกำจัดมิให้รับมรดก

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 มีผลบังคับ และให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่ง ผู้ตาย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน 

โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ณ. ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้บังคับตามพินัยกรรมฉบับที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ณ. และ ก. คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์

จดหมายท้ายคำร้องที่โจทก์ทั้งสามยื่นต่อศาลให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากมีการสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้นับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9752/2558

จดหมายท้ายคำร้องที่โจทก์ทั้งสามอนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากมีการสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้นับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง

คดีนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และ ณ. ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้บังคับตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ณ. และ ก. คนละ 1 ส่วนเท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์

โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาเพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 มีผลบังคับ และให้จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่ง ผู้ตาย

จำเลยทั้งสี่ให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์ทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายณรงค์ ซึ่งเดิมชื่อนายดำรงค์ เป็นบุตรของนายบุญส่ง ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2550 กับนางแฉล้ม ส่วนจำเลยที่ 4 เป็นภริยาของนายณรงค์ นายณรงค์ถึงแก่ความตายแล้วเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2553 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2555 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งต่อศาลชั้นต้นโดยอ้างในคำร้องขอว่านายบุญส่งไม่ได้ทำพินัยกรรมและมีที่ดินโฉนดเลขที่ 8184 และ 8185 ตำบลลาดกระบัง (คลองประเวศบุรีรมย์) อำเภอลาดกระบัง (แสนแสบ) กรุงเทพมหานคร เป็นทรัพย์มรดกของนายบุญส่งเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 135/2555 โดยนางสาวจีริสุมัย ทนายความของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ที่ 1 ทราบตามหนังสือลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 ในวันนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 2 เมษายน 2555 โจทก์ที่ 1 ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า ตามที่โจทก์ที่ 1 อ้างในคำร้องขอว่านายบุญส่งไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้นั้นแท้จริงนายบุญส่งทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ที่เขตลาดกระบัง และโจทก์ที่ 1 ประสงค์ขอให้ตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งตามสำเนาคำแถลง ศาลจึงให้เลื่อนการไต่สวนคำร้องไปเพื่อรอฟังผลพินัยกรรม ในวันเดียวกันโจทก์ทั้งสามกับจำเลยทั้งสี่พร้อมนางแฉล้มไปที่สำนักงานเขตลาดกระบัง แล้วเจ้าหน้าที่ได้เปิดพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่ง ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่มีข้อความระบุว่า เมื่อนายบุญส่งถึงแก่ความตายแล้ว ขอยกที่ดินโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 พร้อมบ้าน 1 หลัง ให้แก่บุตร 8 คน คนละ 1 ส่วน กับให้ตั้งโจทก์ที่ 1 ซึ่งเดิมชื่อ นางนันทนา เป็นผู้จัดการมรดกตามสำเนาพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองซึ่งนำมาอ่านให้ทายาทของนายบุญส่งฟัง ครั้นถึงวันที่ 21 พฤษภาคม 2555 อันเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องที่เลื่อนมาโจทก์ที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำคัดค้านเป็นขอให้ตั้งโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่งฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ส่วนจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องขอฉบับเดิมเป็นขอให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งตามพินัยกรรมของนายบุญส่ง ฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่า เพิ่งทราบว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้ 2 ฉบับ คือพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง ฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 กับพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ซึ่งให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดก ศาลมีคำสั่งให้เลื่อนคดีเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายฟ้องคดีแบบมีข้อพิพาทกันแล้วถอนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อไป สำหรับพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่จำเลยที่ 1 อ้างดังกล่าว คือ พินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งมีคู่ฉบับเป็นพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 มีลายมือชื่อนายอภิชาติกับนางสาวศิริวรรณ เป็นพยานในพินัยกรรม โดยมีข้อความในพินัยกรรมระบุว่ายกที่ดินโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 ตามเนื้อที่เท่ากันในลักษณะแปลงที่กำหนดไว้ในแผนที่สังเขปแนบท้ายพินัยกรรมให้แก่บุตร 6 คน โดยไม่มีชื่อโจทก์ที่ 1 และนางสาวกุลตลา ซึ่งปรากฏตามบัญชีเครือญาติ ว่าหายสาบสูญไปเมื่อปี 2537 เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมด้วย กำหนดให้ผู้รับมรดกทุกคนมีหน้าที่ออกค่าใช้จ่ายการบำรุงรักษาบ้านเลขที่ 34 (ภายหลังเปลี่ยนเลขที่บ้านใหม่เป็นเลขที่ 1459) กับสิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่ในที่ดินโดยมีสิทธิใช้ประโยชน์ร่วมกันตลอดชีวิต และระบุให้ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม โจทก์ที่ 1 แต่งงานแล้วแยกครอบครัวไปอยู่กับสามีตั้งแต่ปี 2531 นางแฉล้มเคยร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่โจทก์ที่ 1 ในข้อหายักยอกทรัพย์ เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2543 โดยกล่าวหาว่าโจทก์ที่ 1 ยักยอกเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของนางแฉล้มไป 3,800,000 บาทเศษ โจทก์ที่ 1 คืนเงินให้นางแฉล้มประมาณ 1,700,000 บาท แล้วนางแฉล้มถอนคำร้องทุกข์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2543 ปัจจุบันนางแฉล้มยังมีชีวิตและพัก อยู่ที่บ้านเลขที่ 1459 ซึ่งตั้งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 ระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้นส่งเอกสารที่มีลายมือชื่อนายบุญส่งที่แท้จริงหลายฉบับกับพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ไปตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตามที่โจทก์ทั้งสามขอเพื่อตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อนายบุญส่งที่ปรากฏว่าเป็นของบุคคลคนเดียวกันหรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญของศาลประจำสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ตรวจพิสูจน์แล้วมีความเห็นว่าเป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวกันตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์พยานเอกสารรายงานที่ รพ. 070/2556 ลงวันที่ 25 กันยายน 2556

พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเป็นประการแรกว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 เป็นพินัยกรรมปลอมหรือไม่ โจทก์ทั้งสามมีพยาน 2 ปาก คือโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เบิกความตรงกันว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 3 เชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 เป็นพินัยกรรมปลอมเพราะไม่มีเหตุผลใดที่นายบุญส่งจะตัดโจทก์ที่ 1 มิให้มีส่วนได้รับมรดกของนายบุญส่งด้วย เนื่องจากนายบุญส่งไม่เคยโกรธหรือเกลียดโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 1 ก็ช่วยดูแลนายบุญส่งเรื่อยมา โดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า ในช่วงปี 2540 ถึง 2547 พยานโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของนายบุญส่งเดือนละ 2,000 ถึง 5,000 บาท ทุกเดือนตามใบฝากเงินธนาคารออมสิน พยานเป็นผู้พานายบุญส่งไปรักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาลรามคำแหงตลอดมาโดยตามสำเนาประวัติการรักษานายบุญส่ง หน้าหลังก็ปรากฏชื่อพยานเป็นผู้รับยา นางสาวจีริสุมัยแจ้งว่าเมื่อศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งแล้วก็จะมีการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่พยานและทายาทอื่นต่อไป จำเลยทั้งสี่ไม่เคยบอกพยานว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมตัดพยานมิให้ได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 ด้วย จำเลยที่ 1 ส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ต่อศาลโดยไม่มีซองที่บรรจุปิดผนึกลงลายมือชื่อนายบุญส่งกำกับ ส่วนพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 ที่พยานขอให้ศาลมีคำสั่งเรียกมาจากนายอภิชาตก็ไม่มีการบรรจุซองปิดผนึกลงลายมือชื่อนายบุญส่งกำกับไว้เช่นกัน ลายมือชื่อนายบุญส่งในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 มีลายเส้นและมีหมึกแตกต่างกันตลอดจนใช้กระดาษที่แตกต่างกัน พยาน เชื่อว่าจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำปลอมพินัยกรรมดังกล่าว และโจทก์ที่ 3 เบิกความว่า พยานมีภูมิลำเนาอยู่ที่บ้านเลขที่ 1459 หรือ 34 เดิม ซึ่งเป็นบ้านนายบุญส่งและนางแฉล้ม พยานกับนายอภิชาติเป็นเพื่อนกันตั้งแต่ศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลังจากจบการศึกษาแล้วพยานบวชเป็นพระภิกษุตั้งแต่ปี 2534 แล้วสึกในปี 2544 จากนั้นพยานมาพักอยู่ที่บ้านเลขที่ 34 บ้าง และไปพักอาศัยที่บ้านเพื่อนบ้างโดยยังติดต่อกับนายอภิชาติ ประมาณปี 2548 นายอภิชาติชวนพยานไปพักที่บ้านนายอภิชาตและช่วยทำงานที่สำนักงานทนายความของนายอภิชาติซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จ ในสำนักงานทนายความนั้นมีนางสาวจีริสุมัยเป็นทนายความประจำอยู่ด้วย ต่อมาปี 2553 พยานออกจากบ้านนายอภิชาตไปอยู่กับภริยานอกสมรสที่จังหวัดสระบุรี นายอภิชาติไม่เคยบอกพยานว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้ ส่วนจำเลยทั้งสี่มีพยาน 4 ปาก คือ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นางสาวศิริวรรณและนายอภิชาติ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่า นายบุญส่งและนางแฉล้มจดทะเบียนสมรสกันเมื่อประมาณปี 2489 และมีบุตรด้วยกัน 8 คน โดยพยานเป็นบุตรคนโต พยานยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งโดยเข้าใจว่านายบุญส่งไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ หลังจากวันที่ 2 เมษายน 2555 แล้วพยานทราบจากจำเลยที่ 2 ว่าเพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ในห้องที่เคยเป็นห้องนอนนายบุญส่ง จากนั้นระหว่างการพิจารณาในคดีนี้จึงทราบว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 มีคู่ฉบับเป็นพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 อยู่ที่นายอภิชาติ พยานและจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ไม่ได้ปลอมพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 นายอภิชาติเป็นเพื่อนของโจทก์ที่ 3 และเคยมาพักอาศัยที่บ้านเลขที่ 34 เมื่อประมาณปี 2530 ถึง 2533 นายอภิชาตรู้จักคุ้นเคยกับนายบุญส่งและนางแฉล้มดี จำเลยที่ 2 เบิกความว่า เดิมพยานไม่เคยทราบว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้ พยานเป็นผู้พบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ในห้องนอนนายบุญส่ง เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 พยานกับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่ได้ปลอมพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 นางสาวศิริวรรณเบิกความว่า พยานเป็นผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ขณะนั้นพยานเป็นทนายความอยู่ที่สำนักงานทนายความของนายอภิชาติ พยานเคยเห็นนายบุญส่งไปปรึกษาเรื่องการทำพินัยกรรมกับนายอภิชาตที่ สำนักงานทนายความของนายอภิชาติ แต่พยานไม่ได้ร่วมฟังด้วย ต่อมาพยานไปที่บ้านนายบุญส่งกับนายอภิชาติ นายอภิชาติอ่านข้อความในพินัยกรรมที่นายอภิชาติจัดพิมพ์ไปให้นายบุญส่งฟัง นายบุญส่งพูดว่าตรงตามที่พูดคุยกันแล้วจึงมีการลงลายมือชื่อในพินัยกรรม 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งเก็บไว้ที่นายบุญส่ง ส่วนอีกหนึ่งฉบับเก็บไว้ที่นายอภิชาติ พยานลาออกจากสำนักงานทนายความของนายอภิชาติมาประมาณ 8 ถึง 9 ปี แล้ว และนายอภิชาติเบิกความว่า พยานรู้จักสนิทสนมกับนายบุญส่งและนางแฉล้ม เนื่องจากพยานเป็นเพื่อนโจทก์ที่ 3 และเคยไปพักอาศัยอยู่ที่บ้านของบุคคลทั้งสองในช่วงปี 2529 ถึง 2532 ในปี 2544 นายบุญส่งมักมาปรับทุกข์กับพยานว่าบุตรของนายบุญส่งไม่ค่อยสามัคคีกันและนายบุญส่งไม่ต้องการให้บุตรแบ่งแยกทรัพย์สินกัน พยานเป็นผู้จัดทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ตามรายละเอียดที่นายบุญส่งเขียนมาให้ทำพินัยกรรม นายบุญส่งพูดเปรยให้พยานฟังว่า "อุ๊" ซึ่งเป็นชื่อเล่นของโจทก์ที่ 1 เอาเงินจำนวนหลักล้านของนางแฉล้มไปทำอะไรก็ไม่ทราบ เมื่อพยานจัดทำพินัยกรรมเสร็จแล้วจึงนำไปอ่านให้นายบุญส่งฟังกับให้นายบุญส่งอ่านเองที่บ้านนายบุญส่ง จากพยานโจทก์ทั้งสามและพยานจำเลยทั้งสี่ข้างต้น ตามที่โจทก์ทั้งสามฎีกาโต้แย้งคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่ามิได้พิจารณาถึงเหตุผลจากกรณีแวดล้อม และความพิรุธแห่งการกระทำของฝ่ายจำเลยทั้งสี่ประกอบการวินิจฉัยให้แก่ฝ่ายโจทก์ทั้งสาม โดยที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีกาว่า ทางนำสืบฝ่ายจำเลยทั้งสามปรากฏว่านางสาวศิริวรรณเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ในวันที่ไปลงลายมือเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 นางสาวศิริวรรณพบนายบุญส่งกับนางแฉล้มอยู่ที่บ้านนายบุญส่งเพียงสองคน นอกนั้นนางสาวศิริวรรณไม่เห็นผู้ใดอีก แต่นายอภิชาตผู้พิมพ์พินัยกรรมและเป็นพยานในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 อีกคนหนึ่งกลับเบิกความตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า วันดังกล่าวมีโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคนหูหนวกกับนางแฉล้มอยู่ที่บ้านนายบุญส่งด้วย พยานจำเลยทั้งสามในส่วนนี้เป็นพิรุธ นั้น เห็นว่า จากคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณที่ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามติงได้ความว่า การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมกระทำกันที่บริเวณริมน้ำโดยเวลานั้นนางแฉล้มอยู่ในบ้าน ซึ่งทนายโจทก์ทั้งสามมิได้ถามค้านนายอภิชาตให้ได้ ความชัดเจนว่านายอภิชาติเห็นโจทก์ที่ 2 ที่จุดใดและขณะนั้นนางสาวศิริวรรณมีโอกาสเห็นโจทก์ที่ 2 ด้วยหรือไม่ จึงยังถือไม่ได้ว่าคำเบิกความของนางสาวศิริวรรณกับนายอภิชาติในส่วนนี้มีข้อแตกต่างในสาระสำคัญที่เป็นพิรุธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีกาว่า จำเลยที่ 1 เบิกความถึงเวลาที่มีการพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ว่าจำเลยที่ 2 นำพินัยกรรมดังกล่าวที่พบไปให้ดูครั้งแรกในเดือนเมษายน 2555 แต่จำเลยที่ 2 กลับเบิกความว่าหลังจากพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 แล้ว จำเลยที่ 2 แจ้งให้นางแฉล้มทราบเป็นคนแรก ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2555 จำเลยที่ 2 จึงแจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบ คำเบิกความของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แตกต่างกันดูเป็นพิรุธ จึงรับฟังไม่ได้ นั้น เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำพยานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในส่วนนี้แล้ว ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ซักถามว่า "ภายหลังจากวันที่ 2 เมษายน 2555 ข้าฯ ทราบจากนางสาวไอรดา จำเลยที่ 2 ว่า เพิ่งพบพินัยกรรมของนายบุญส่งอีกฉบับในห้องนอนของนายบุญส่งก่อนถึงแก่กรรม...รายละเอียดปรากฏตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1" แล้วจำเลยที่ 1 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า "พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 2 เป็นผู้พบและนำมาให้ข้าฯ ดูครั้งแรกวันที่เท่าใดจำไม่ได้ แต่เดือนเมษายน 2555 อยู่ในซองสีน้ำตาลแต่ถูกเปิดไว้แล้ว ไม่ได้ปิดผนึกไว้ แต่ไม่มีลายเซ็นของเจ้ามรดกเซนต์กำกับไว้ที่ซอง และบริเวณหน้าซองก็ไม่มีข้อความใดปรากฏอยู่" โดยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ถามติงว่า ในวันราชการเปิดทำการจำเลยที่ 1 พักอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราชที่จำเลยที่ 1 รับราชการเป็นที่ปรึกษาคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล จำเลยที่ 1 กลับมาพักที่บ้านเลขที่ 1459 เฉพาะวันหยุดราชการเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 2 ตอบทนายจำเลยทั้งสี่ซักถามว่า "เมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 ข้าฯ พบพินัยกรรมของนายบุญส่งฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 เอกสารหมาย ล.1 ในห้องนอนของนายบุญส่ง" แล้วจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ทั้งสี่ถามค้านว่า "หลังจากที่ข้าฯ พบพินัยกรรม ข้าฯ แจ้งให้มารดาของข้าฯทราบเป็นคนแรก ต่อมาเดือนพฤษภาคม 2555 จึงแจ้งให้กับจำเลยที่ 1 ทราบซึ่งขณะนั้นข้าฯ แจ้งให้จำเลยที่ 1 ทราบทางโทรศัพท์ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จึงเดินทางมาที่บ้าน" การเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว มีลักษณะเป็นการประมาณเวลาว่าพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 เมื่อเดือนพฤษภาคมอันเป็นเดือนที่ถัดมาจากเดือนเมษายน มิได้ยืนยันแน่นอนว่าพบพินัยกรรมในเดือนพฤษภาคม 2555 คำเบิกความของจำเลยที่ 2 จึงไม่แตกต่างขัดแย้งกับคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ให้ดูเป็นพิรุธ ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ตามที่นางแฉล้มไปยื่นคำขอออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 4185 เนื่องจากโฉนดที่ดินฉบับผู้ถือสูญหายต่อเจ้าพนักงานที่ดินในวันที่ 1 กรกฎาคม 2554 โดยได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า ก่อนหน้านั้นนางแฉล้มกับจำเลยที่ 2 ซึ่งทราบดีว่านายบุญส่งเก็บเอกสารไว้ที่ใดบ้างช่วยกันค้นหาโฉนดที่ดินเลขที่ 4185 แล้วไม่พบ ซึ่งการค้นดังกล่าวหากพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 มีอยู่จริง จำเลยที่ 2 ก็ต้องพบในช่วงเวลานั้นแล้ว ข้อนำสืบของจำเลยทั้งสี่ที่ว่าจำเลยที่ 2 เพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ในภายหลังจึงมีข้อสงสัย นั้น เห็นว่า ทนายโจทก์ทั้งสามไม่ได้ถามค้านจำเลยที่ 2 ให้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นางแฉล้มและจำเลยที่ 2 ค้นหาโฉนดที่ดินในห้องนอนของนายบุญส่งด้วยหรือไม่ การค้นหาดังกล่าวได้ตรวจดูเอกสารอื่นของนายบุญส่งหรือไม่ และจำเลยที่ 2 พบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ตรงจุดใดในห้องนอนของนายบุญส่ง กรณีจึงอาจเป็นไปได้ว่าบริเวณที่นายบุญส่งเคยเก็บเอกสารไว้ มิได้อยู่ในห้องนอนของนายบุญส่งจึงไม่มีการตรวจค้นหาในห้องนอนของนายบุญส่งกัน หรืออาจเป็นไปได้ว่าการค้นหาดังกล่าวมุ่งตรวจหาแต่โฉนดที่ดินซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัวโดยไม่สนใจดูรายละเอียดเอกสารอื่นด้วย ลำพังข้อเท็จจริงในคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่มีอยู่จึงไม่พอให้สรุปได้อย่างแน่ชัดว่าการที่จำเลยที่ 2 พบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ในภายหลังเป็นเรื่องผิดปกติที่มีข้อควรสงสัย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสี่เกรงว่าหากโจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่งฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 แล้ว โจทก์ที่ 1 จะรื้อฟื้นเรื่องผลประโยชน์ที่ได้มาจากค่าเช่าร้านอาหารและพื้นที่เต็นท์ขายรถในที่ดินมรดกของนายบุญส่งด้านหน้าเดือนละ 90,000 บาท โดยไม่เคยแบ่งให้ฝ่ายโจทก์ทั้งสามมาก่อน จึงเป็นสาเหตุให้ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำปลอมพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ขึ้นมาอ้าง นั้น เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ทั้งสามไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าฝ่ายโจทก์ทั้งสามเคยทวงถามผลประโยชน์ได้ค่าเช่าจากฝ่ายจำเลยทั้งสี่มาก่อน ซึ่งได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ว่า เดิมจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้เก็บค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านซึ่งรวมถึงค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ตลอดจนค่าดูแลรักษาพยาบาลของนายบุญส่งกับนางแฉล้ม และแบ่งใช้คืนค่าถมดินให้แก่จำเลยที่ 3 และได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านว่า หลังจากนายบุญส่งถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยที่ 2 เป็นผู้เก็บค่าเช่ามาเป็นค่าใช้จ่ายในบ้านส่วนหนึ่ง และคืนเป็นค่าลงทุนทำร้านกับค่าถมดินให้แก่จำเลยที่ 3 อีกส่วนหนึ่ง จำเลยที่ 2 ไม่แบ่งเงินให้โจทก์ทั้งสามเพราะโจทก์ทั้งสามไม่เคยมาดูแลนายบุญส่งเลย ดังนี้ การใช้จ่ายผลประโยชน์จากรายได้ค่าเช่าดังกล่าวเป็นเรื่องที่ทั้งสองฝ่ายไม่เคยโต้แย้งพิพาทกัน ทั้งนางแฉล้มก็ย่อมรับทราบการใช้จ่ายของจำเลยที่ 2 ตลอดมา ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้จึงไม่มีเหตุผลให้รับฟัง ที่โจทก์ทั้งสามอ้างว่า นายบุญส่งเคยมีจดหมายลงวันที่ 3 กันยายน 2545 ถึงโจทก์ที่ 1 กล่าวถึงที่ดินที่จะยกให้ตามจดหมายท้ายคำร้องขอส่งเอกสารลงวันที่ 4 กันยายน 2556 ของโจทก์ทั้งสาม จึงเป็นไปไม่ได้ที่นายบุญส่งจะทำพินัยกรรมตัดโจทก์ที่ 1 มิให้ได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 นั้น เห็นว่า จดหมายท้ายคำร้องดังกล่าวที่โจทก์ทั้งสามขออนุญาตให้รวมไว้ในสำนวนโดยอ้างว่าเพิ่งพบหลังจากมีการสืบพยานโจทก์ทั้งสามและสืบพยานจำเลยทั้งสี่เสร็จสิ้นแล้ว เป็นเอกสารที่ศาลชั้นต้นไม่ได้รับไว้เป็นพยานเอกสารของฝ่ายโจทก์ทั้งสาม และฝ่ายจำเลยทั้งสี่ไม่มีโอกาสนำสืบหักล้าง ข้อเท็จจริงที่โจทก์ทั้งสามยกขึ้นอ้างนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ที่โจทก์ทั้งสามอ้างทำนองว่า ฝ่ายจำเลยทั้งสี่ นายอภิชาติและนางสาวจีริสุมัย ซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายความของจำเลยทั้งสี่ในคดีนี้ด้วยมีพฤติการร่วมกันวางแผนดำเนินการติดต่อตลอดมา โดยนางสาวจีริสุมัยเคยเป็นลูกน้องนายอภิชาติมาก่อน อันเป็นหนังสือให้ความยินยอมจากทายาทให้จำเลยที่ 1 มายื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งมีลายมือชื่อนายอภิชาติเป็นพยานอยู่ด้วย ซึ่งหากนายบุญส่งทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ไว้จริง นายอภิชาติก็น่าจะต้องแจ้งให้จำเลยที่ 1 และทายาทอื่นทราบในเวลานั้นว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมไว้ในปี 2544 และมอบพินัยกรรมคู่ฉบับให้นายอภิชาตเก็บรักษาเพื่อนางสาวจีริสุมัยจะได้ทำคำร้องขอให้ศาลตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งได้ถูกต้องตามความจริง ครั้นความปรากฏว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองไว้ในปี 2533 ฝ่ายจำเลยทั้งสี่จึงมาอ้างว่าเพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเป็นพิรุธนั้น เห็นว่า แม้คำเบิกความของนายอภิชาติที่ตอบทนายโจทก์ทั้งสามถามค้านถึงเหตุที่ไม่ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 หรือนางแฉล้มทราบว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมในปี 2544 ไว้ เพราะนายบุญส่งเคยปรับทุกข์ว่า "อยากให้ลูก ๆ รักใคร่กัน" อันมีความหมายทำนองว่านายอภิชาติไม่ต้องการให้บุตรของนายบุญส่งทะเลาะเบาะแว้งกันเพราะการแบ่งทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมจึงไม่เปิดเผยว่านายบุญส่งได้ทำพินัยกรรมไว้เป็นเหตุผลที่ไม่หนักแน่น และดูน่าสงสัยก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 และนางสาวจีริสุมัยก็ดำเนินการยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายบุญส่งต่อศาลตั้งแต่แรกอย่างเปิดเผยโดยมีการแจ้งให้โจทก์ที่ 1 และทายาทอื่นทราบทั้งนายอภิชาตินางสาวจีริสุมัย และนางสาวศิริวรรณเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนได้เสียในกองทรัพย์มรดกของนายบุญส่ง การร่วมมือกับฝ่ายจำเลยทั้งสี่ปลอมพินัยกรรมเพื่อหักล้างพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนายบุญส่งที่ทำไว้ในปี 2533 เพียงต้องการให้เหลือทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดก 6 คน จากจำนวนเต็มที่มี 8 คน และให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกกับเป็นผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมเป็นเรื่องที่นายอภิชาติ นางสาวจีริสุมัย และนางสาวศิริวรรณต้องกระทำผิดต่อจรรยาบรรณในวิชาชีพทนายความกับต้องเสี่ยงกับการต้องโทษคดีอาญา จึงไม่น่าเชื่อว่าบุคคลทั้งสามจะกล้ากระทำเช่นนั้น ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้เป็นเรื่องโจทก์ทั้งสามคาดเดาเอาเองโดยปราศจากหลักฐานที่มั่นคงสนับสนุน จึงรับฟังไม่ได้ และส่วนโจทก์ทั้งสามอ้างว่า ลายมือชื่อของนายบุญส่งในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 มีข้อพิรุธ โดยมีลักษณะคล้ายใช้ปากกาหมึกซึมในการลงลายมือชื่อ แต่ปรากฏร่องรอยกระดาษนูนด้านหลังคล้ายถูกกดขณะลงลายมือชื่ออย่างแรง อันเป็นการผิดปกติวิสัยของการลงลายมือชื่อ ด้วยปากกาหมึกซึม ลายมือชื่อของนายบุญส่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการลอกลายมือของนายบุญส่งลงในพินัยกรรมก่อนแล้วจึงนำปากกาหมึกซึมไปลากเส้นตามลายที่ลอกไว้ ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญจึงไม่มีผลให้รับฟังได้ นั้น เห็นว่า ศาลฎีกาใช้แว่นขยายส่องดูประกอบการใช้นิ้วสัมผัสด้านหลังกระดาษพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ตรงบริเวณที่มีลายมือชื่อนายบุญส่งอยู่ 6 จุด แล้ว ปรากฏว่ามีรอยนูนเล็กน้อยที่สม่ำเสมอกันเกือบทั้งหมด แต่ละเส้นหมึกที่เขียนอยู่ด้านหน้าไม่ใช่ลายเส้นหมึกปากกาหมึกซึม เนื่องจากเมื่อใช้น้ำแตะแล้วไม่มีรอยเลอะเปื้อนซึมขยายออก การลงลายมือชื่อทั้งหกจุดนั้นมีลักษณะเป็นการใช้ปากกาลูกลื่นหรือปากกาอื่นที่ไม่ใช่ปากกาหมึกซึมโดยผู้ลงลายมือชื่อกดปากกาขณะลงลายมือชื่อ ซึ่งหากเป็นการลงลายมือชื่อด้วยวิธีลอกลายดังที่โจทก์ทั้งสามอ้าง ผู้เชี่ยวชาญผู้ทำการตรวจพิสูจน์ด้วยหลักวิชาการทางด้านวิทยาศาสตร์และฟิสิกส์ย่อมตรวจพบข้อพิรุธและตั้งข้อสังเกตไว้ในรายงานการตรวจพิสูจน์ แต่ตามรายงานผลการตรวจพิสูจน์พยานเอกสารที่ส่งมาผู้เชี่ยวชาญผู้รับผิดชอบสำนวนพร้อมองค์คณะผู้ตรวจสอบมีความเห็นว่า ลายมือชื่อในเอกสารที่ส่งไปตรวจพิสูจน์เป็นลายมือชื่อของบุคคลคนเดียวโดยไม่มีข้อสังเกตแต่อย่างใด ข้ออ้างของโจทก์ทั้งสามในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น ฉะนั้น เมื่อภาระการพิสูจน์ในประเด็นข้อพิพาทตกแก่โจทก์ทั้งสาม แต่โจทก์ทั้งสามมีเพียงคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่าบุคคลทั้งสองเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 เป็นพินัยกรรมปลอมโดยเหตุผลแวดล้อมกรณีที่โจทก์ทั้งสามอ้างในฎีการับฟังไม่ได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้น ส่วนจำเลยทั้งสี่มีนายอภิชาติกับนางศิริวรรณ ผู้เป็นพยานในพินัยกรรมมายืนยันว่านายบุญส่งทำพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 ไว้จริง สนับสนุนคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ที่ว่า เพิ่งพบพินัยกรรมเอกสารหมาย ล.1 ที่ห้องนอนของนายบุญส่งเมื่อประมาณเดือนพฤษภาคม 2555 ประกอบกับพยานผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นในการตรวจพิสูจน์ว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมในพินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 เป็นลายมือชื่อของนายบุญส่งจริง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสี่มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสาม จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย จ.6 และ ล.1 เป็นพินัยกรรมที่นายบุญส่งผู้ตายทำไว้จริง กรณีไม่มีเหตุที่จะต้อง วินิจฉัยว่าจำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่งหรือไม่อีกต่อไป ฎีกาของโจทก์ทั้งสามข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามเป็นประการสุดท้ายว่า ตามที่ศาลชั้นต้นประเมินราคาที่ดินมรดกตามโฉนดเลขที่ 4184 และ 4185 เป็นเงิน 74,766,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาว่า โจทก์ทั้งสามต้องเสียค่าขึ้นศาลตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดชั้นศาลละ 224,766 บาท เป็นการถูกต้องหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอ้างในฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามควรต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียงชั้นศาลละ 200,000 บาท ขอให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เรียกเกินนั้น เห็นว่า คดีนี้ โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2544 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ที่ 2 และที่ 3 กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และนายณรงค์ซึ่งมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่โดยโจทก์ทั้งสามอ้างว่าเป็นพินัยกรรมปลอม ให้พินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ที่ระบุยกทรัพย์มรดกที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ทั้งสาม จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นายณรงค์และนางสาวกุลตลา คนละ 1 ส่วน เท่า ๆ กัน กับขอให้พิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่เป็นบุคคลต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของนายบุญส่งผู้ตาย คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นคดีที่ฟ้องขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ โดยจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทต้องพิจารณาจากผลได้ประโยชน์ของฝ่ายโจทก์ทั้งสามประกอบผลเสียประโยชน์ของฝ่ายจำเลยทั้งสี่หากโจทก์ทั้งสามชนะคดีเป็นเกณฑ์ ซึ่งหากโจทก์ทั้งสามชนะคดีโดยจำเลยทั้งสี่ถูกกำจัดมิให้ได้รับทรัพย์มรดกของนายบุญส่งตามฟ้อง ทายาทผู้มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกตามพินัยกรรมฉบับลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2533 ก็จะหายไป 4 คน และเหลืออยู่ 4 คน จำนวนอัตราส่วนเฉลี่ยที่โจทก์ทั้งสามและนางสาวกุลตลามีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกจะเพิ่มขึ้นอีกคนละ 1 ส่วน ใน 8 ส่วน เป็นได้รับคนละ 1 ใน 4 ส่วน โดยทรัพย์มรดกที่ทายาททั้งสี่ได้รับเพิ่มมีราคา 37,380,000 บาท ทั้งนี้คำฟ้องของโจทก์ทั้งสามเป็นการฟ้องให้ทรัพย์มรดกราคา 37,380,000 บาท ดังกล่าว ตกแก่ทายาท 4 คน ที่เหลือโดยมิได้ขอให้ตกแก่ตนจำนวนคนละเท่าใด จึงต้องถือว่าคดีนี้มีข้อพิพาทกันในทุนทรัพย์จำนวน 37,380,000 บาท

อนึ่ง หากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ไม่ร่วมฟ้องมาด้วย โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ก็ย่อมได้ประโยชน์จากคำฟ้องของโจทก์ที่ 1 โดยอัตโนมัติอยู่แล้ว การจะคิดแยกเก็บค่าขึ้นศาลจากโจทก์ที่ 2 และที่ 3 อีกจึงเป็นเรื่องซ้ำซ้อนกัน จึงสมควรเรียกเก็บค่าขึ้นศาลโจทก์ทั้งสามรวมกันจากทุนทรัพย์ 37,380,000 เป็นค่าขึ้นศาลชั้นศาลละ 200,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาในส่วนนี้มานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทั้งสามในข้อนี้ฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้คืนค่าขึ้นศาลที่เรียกเก็บเกินมาทั้งสามศาลให้แก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ




คดีมรดก ร้องศาลตั้งผู้จัดการมรดก

พินัยกรรมของผู้ตายที่ห้ามโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตกเป็นโมฆะ, ข้อห้ามในพินัยกรรมเป็นโมฆะ, ผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรม
ถอนผู้จัดการมรดก, การปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว, การจัดการศาลจ้าวไม่เป็นมรดก, ศาลจ้าวใต้เซียฮุดโจ๊วเป็นกุศลสถาน
ที่ดินของรัฐ มรดกของผู้ตาย, ที่ดินนิคมสหกรณ์, สิทธิทำประโยชน์ในที่ดิน, สิทธิเหนือพื้นดิน, การเพิกถอนโฉนดที่ดิน,
การโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในกองมรดก, การเพิกถอนนิติกรรมในทรัพย์มรดก, การขายทรัพย์มรดกเพื่อชำระหนี้, ผู้จัดการมรดกกับสิทธิและหน้าที่
มรดกตกทอด, การเพิกถอนการสละมรดก, อายุความในการฟ้องคดีมรดก, สิทธิเรียกร้องแทนลูกหนี้
หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในเงินทุนเรือนหุ้นของสหกรณ์ไม่ถือเป็นพินัยกรรม, เงินสงเคราะห์สมาชิกสหกรณ์, สิทธิผู้รับโอนประโยชน์ในเงินสงเคราะห์
นิติกรรมซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นคนต่างด้าว, คดีมรดกที่ดินของคนต่างด้าว, อายุความคดีมรดก, การยักยอกทรัพย์มรดก
พินัยกรรมยกมรดกให้พี่น้องร่วมบิดามารดา, สิทธิของผู้สืบสันดานในการรับมรดกแทนที่, การฟ้องเรียกค่าเช่าจากทรัพย์สินมรดก
การกำจัดทายาทมิให้รับมรดก, สิทธิรับมรดกของผู้สืบสันดานเมื่อทายาทถูกกำจัด, การเพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดก
เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดก, การฟ้องแบ่งมรดกของผู้ตาย, การยกอายุความในคดีมรดก, สินสมรสและสินส่วนตัวในกองมรดก
ผู้จัดการมรดกและการโอนทรัพย์มรดก, พินัยกรรมด้วยวาจา ป.พ.พ. มาตรา 1663, การครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท
สิทธิทายาทในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง, ทายาทตายก่อนแบ่งมรดก, รับมรดกแทนที่ มาตรา 1639,
สิทธิการฟ้องขอแบ่งมรดกของทายาท, การเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินมรดก, สินสมรสหลังคู่สมรสเสียชีวิต
สัญญาประกันชีวิต, สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก, ผู้ทำประกันชีวิตและผู้รับผลประโยชน์ตายพร้อมกัน
การจัดการหนี้สินในกองมรดก, สิทธิของเจ้าหนี้กองมรดก, ที่ดินมรดกและการบังคับคดี
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดก
ผู้จัดการมรดกปฏิบัติผิดหน้าที่-ทายาทผู้มีสิทธิฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกได้
ผู้จัดการมรดกร่วมถึงแก่ความตายต้องทำอย่างไร, ฟ้องซ้อน คืออะไร, แต่งตั้งผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่เพียงทำการอันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป
ทายาทฟ้องทายาทให้แบ่งทรัพย์มรดก
การจัดการทรัพย์มรดกในฐานะผู้จัดการมรดกตามหน้าที่ที่จำเป็น
คำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกปิดบังทรัพย์มรดกมีผลอย่างไร
ทายาทมิได้ฟ้องเรียกร้องมรดกภายใน 1 ปี
ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้มีส่วนได้เสีย
สามีไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้มีส่วนได้เสียเป็นผู้จัดการมรดกได้
ทรัพย์มรดกยังไม่ได้แบ่งให้แก่ทายาททุกคน-การจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น
บุคคลผู้ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตาย
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร?
ฟ้องผู้จัดการมรดกนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงเกินห้าปีขาดอายุความ
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลถูกเพิกถอนได้
อายุความคดีมรดก เจ้าหนี้ฟ้องคดีมรดกเกินหนึ่งปี
คดีของโจทก์ขาดอายุความการจัดการมรดก
บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย
บุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดาน
มารดาขายที่ดินซึ่งผู้เยาว์มีส่วนแบ่งไม่ต้องขอศาล
นายอำเภอคือผู้มีอำนาจจัดทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
ความรับผิดของผู้จัดการมดกภายหลังการเสียชีวิต
ผู้จัดการมรดกร่วมนำทรัพย์มรดกหาประโยชน์แก่ตน
ผู้สืบสันดาน คือใคร? ต่างกับทายาท อย่างไร?
คู่สมรสและการแบ่งมรดกของคู่สมรส | การสมรสเป็นโมฆะ
อายุความคดีมรดก และอายุความเกี่ยวกับการจัดการมรดก
เหตุอันจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก
การปันมรดกเสร็จสิ้นลงแล้วการถอนผู้จัดการมรดกย่อมพ้นกำหนดเวลา
สามีมิได้จดทะเบียนสมรสไม่ถือเป็นทายาทของภริยาผู้ตาย
อำนาจหน้าที่จัดการศพพระภิกษุผู้มรณภาพไม่มีทรัพย์สิน
สามีไม่จดทะเบียนสมรสขอถอนผู้จัดการมรดก มีกรรมสิทธิ์รวม
ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำหน้าที่ผู้จัดการมรดก
อำนาจฟ้องขอแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตาย
ทายาททุกคนมอบหมายให้ครอบครองที่ดินแทนทายาททุกคนเพื่อประโยชน์ร่วม
ผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300
ทายาทโดยธรรมย่อมมีสิทธิเป็นเจ้าของรวมในทรัพย์มรดกตามส่วนที่จะพึงได้
สิทธิรับมรดกที่ยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาห้ามยกเป็นข้อต่อสู้ผู้รับโอนโดยสุจริต
การจัดการมรดกและผู้จัดการมรดก, สินสมรสและสินส่วนตัวในคดีมรดก, อายุความคดีมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733
ผู้จัดการมรดกทำนิติกรรมซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดก
ฟ้องขอให้แบ่งทรัพย์มรดกเมื่อล่วงพ้นกำหนดอายุความแล้ว
ผู้คัดค้านไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการขอจัดการมรดก
ทายาทมีส่วนเท่ากันออกค่าใช้จ่ายจัดการทำศพ
ความเหมาะสมในการเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาทอื่น
สิทธิของบิดาไม่ชอบด้วยกฎหมายในการรับมรดกของบุตรนอกกฎหมาย
หนังสือสัญญาแบ่งมรดกตกเป็นโมฆะหรือไม่?
อำนาจและหน้าที่ในการจัดการทำศพและลำดับก่อนหลัง
พินัยกรรมมีเงื่อนไขบังคับก่อน
ผู้จัดการมรดกฟ้องแทนทายาทโดยธรรมอื่น
คู่สมรสที่จดทะเบียนหย่าแล้วเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่
การสละมรดกมีผลย้อนหลังไปถึงเวลาเจ้ามรดกตายจึงขาดความเป็นผู้มีส่วนได้เสีย
แม้กองมรดกมีผู้จัดการมรดกแล้วทายาทก็ยังมีสิทธิฟ้อง
พินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไม่ได้ทำต่อหน้าพยานตกเป็นโมฆะ
บุตรนอกสมรสและบิดานอกกฎหมายมีสิทธิรับมรดกต่อกันอย่างไร
ผู้จัดการมรดก | ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก
ผู้จัดการมรดกเรียกให้เจ้าของรวมส่งมอบโฉนดที่ดิน
การจัดการมรดกยังไม่สิ้นสุดลงอายุความ 5 ปียังไม่เริ่มนับ
สิทธิรับมรดกก่อนหลัง
คำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ
อายุความฟ้องคดีแพ่งอันเนื่องจากคดียักยอกทรัพย์มรดก
เมื่อแบ่งมรดกเสร็จแล้วความเป็นทายาทสิ้นสุดลง-อายุความมรดก
การแบ่งมรดกที่ดินมือเปล่าไม่มีเอกสารสิทธิ
คดีมรดกต้องเป็นคดีที่ทายาทด้วยกันพิพาทกันเรื่องสิทธิในส่วนแบ่งมรดก
ขอให้ศาลสั่งถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ความรับผิดของผู้ตาย
แสดงบัญชีเครือญาติเป็นเท็จปิดบังจำนวนทายาท
อายุความคดีมรดกสะดุดหยุดลง การแบ่งทรัพย์มรดกไม่ชอบ
ไม่มีกฎหมายบังคับให้ฟ้องเอาทรัพย์มรดกจากทายาทอื่นที่ครอบครองแทนใน 1 ปี
สัญญาว่าจ้างติดตามทรัพย์กองมรดกเรียกส่วนแบ่งเป็นโมฆะ
โจทก์ฟ้องให้แบ่งทรัพย์มรดกได้แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความหนึ่งปี
ผู้จัดการมรดกแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งปีนับแต่วันฟังคำสั่งศาล
คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกอายุความ 5 ปี
การแจ้งการเกิดของเด็กในทะเบียนคนเกิดเองว่าเป็นบุตรของตน
ผู้เสียหายรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด
โจทก์เป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว
การที่จะเป็นการครอบครองทรัพย์มรดกไว้แทนทายาทอื่น
พินัยกรรมเอกสารลับทำผิดแบบเป็นโมฆะ
การจัดการมรดกไม่ชอบไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว