

เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดก, การฟ้องแบ่งมรดกของผู้ตาย, การยกอายุความในคดีมรดก, สินสมรสและสินส่วนตัวในกองมรดก ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ เพิกถอนนิติกรรมการโอนมรดก, การฟ้องแบ่งมรดกของผู้ตาย, การยกอายุความในคดีมรดก, สินสมรสและสินส่วนตัวในกองมรดก *ศาลฎีกาเพิกถอนการโอนมรดกไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิในฐานะภริยาและทายาทโดยธรรม ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย ศาลพิพากษาคืนทรัพย์มรดกบางส่วนสู่กองมรดกตามกฎหมาย* โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอเพิกถอนการโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยระบุว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า: 1.สถานะทรัพย์สิน: oที่ดินโฉนดเลขที่ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ตามหนังสือยกให้โดยไม่มีค่าตอบแทน oบ้านเลขที่ 4 ถูกสร้างใหม่หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย ถือเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 oที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตายที่ได้รับจากบิดาก่อนสมรส 2.สถานะทายาท: จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย เนื่องจากไม่มีหลักฐานรับรองตามกฎหมาย 3.อายุความมรดก: จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่อาจอ้างอายุความมรดกต่อสู้ได้ เพราะไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย 4.คำพิพากษา: ศาลให้เพิกถอนการโอนที่ดินบางส่วนกลับคืนกองมรดก พร้อมยืนยันสิทธิจำเลยที่ 1 ในฐานะภริยาและทายาทโดยธรรม โดยคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองชอบด้วยเหตุผลทางกฎหมาย สรุปสาระสำคัญ: การโอนทรัพย์สินที่เป็นมรดกต้องเป็นไปตามสิทธิของทายาทที่ชอบด้วยกฎหมาย และทรัพย์สินที่ได้มาในลักษณะส่วนตัวจะไม่ถูกแบ่งปันในฐานะมรดก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1023/2566 การฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด หากพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (2) เมื่อส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ศาลย่อมพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายได้ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นย่อมตกทอดแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 จำเลยที่ 1 จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเอง รวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตายกลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ถือว่าจำเลยที่ 1 ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย จึงไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกผู้ตาย อยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะสินสมรสกึ่งหนึ่ง และในฐานะทายาทผู้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งรวมเป็นสามในสี่ส่วนของที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายทั้งแปลง และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ซึ่งเป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 252
คำถามที่ 1: กรณีใดที่ศาลสามารถพิพากษาให้โจทก์ได้รับเพียงส่วนแบ่งในทรัพย์สินที่เป็นมรดก แม้โจทก์จะฟ้องเรียกร้องให้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของตน? คำตอบ: ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) ศาลสามารถพิพากษาให้โจทก์ได้รับเพียงส่วนแบ่งในทรัพย์สินมรดก หากศาลเห็นว่าโจทก์ควรได้เพียงส่วนแบ่งนั้น ตัวอย่างเช่น ในกรณีที่ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดิน ศาลอาจพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายได้ แม้โจทก์จะเรียกร้องให้ทรัพย์สินทั้งหมดเป็นของตนเอง คำถามที่ 2: จำเลยที่ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายสามารถอ้างอายุความเพื่อคัดค้านการฟ้องขอเพิกถอนการโอนมรดกได้หรือไม่? คำตอบ: จำเลยที่ไม่ใช่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมายไม่สามารถอ้างอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ เนื่องจากตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย การที่จำเลยที่ไม่ใช่ทายาทได้รับโอนทรัพย์มรดกโดยไม่ชอบ โจทก์สามารถฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ และคดีมรดกนี้จะไม่ขาดอายุความในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของทายาทโดยชอบด้วยกฎหมาย
****โจทก์ฟ้องขอบังคับให้กำจัดจำเลยที่ 1 จากการรับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 22874, 24990, 60 และ 123 พร้อมสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 4 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินทั้งสี่แปลงและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง ระหว่างการพิจารณา นางยุพา พี่ร่วมบิดามารดาของผู้ตายยื่นคำร้องสอดขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม โจทก์และจำเลยทั้งสามไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นอนุญาต ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกของผู้ตายในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874, 24990, 60 และ 123 พร้อมบ้านเลขที่ 4 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันไปจดทะเบียนเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874, 24990, 60 และ 123 พร้อมบ้านเลขที่ 4 รวม 4 แปลง โดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม กับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์และโจทก์ร่วม โดยกำหนดค่าทนายความแก่โจทก์และโจทก์ร่วมคนละ 20,000 บาท จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 และวันที่ 9 มีนาคม 2561 ตามลำดับ กึ่งหนึ่ง กลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตาย ให้ยกคำขอของโจทก์และโจทก์ร่วมที่ให้กำจัดจำเลยที่ 1 ไม่ให้รับมรดกของผู้ตาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์ที่เสียเกินมาแก่จำเลยทั้งสาม 200 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ โจทก์และจำเลยทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติได้ว่า โจทก์ โจทก์ร่วม และนายธนโชค ผู้ตายเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ซึ่งผู้ตายจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 วันที่ 27 มกราคม 2520 โดยรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาเลี้ยงดูในฐานะบุตรและได้แจ้งเกิด เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ตายถึงความตาย จากนั้นวันที่ 30 สิงหาคม 2560 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 ให้แก่จำเลยที่ 2 ทั้งยังจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 ให้แก่จำเลยทั้งสามถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันทางมรดก ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2561 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 60 และ 123 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยที่ 2 ทางมรดก รายงานผลการตรวจวิเคราะห์ความสัมพันธ์ทางสายเลือดของหน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทย์ศาสตร์ ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 123 บ้านเลขที่ 4 และที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 เป็นทรัพย์สินส่วนตัวของผู้ตายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีหนังสือสัญญาให้ที่ดินระบุว่า โจทก์ยกที่ดินโฉนดเลขที่ 123 ดังกล่าวให้แก่ผู้ตายโดยเสน่หาไม่มีค่าตอบแทนแต่อย่างใด และโจทก์เบิกความยืนยันว่า ยกที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่ผู้ตายเพื่อตอบแทนที่ผู้ตายดูแลมารดา แม้ว่าผู้ตายจะได้ที่ดินดังกล่าวมาในระหว่างสมรส แต่ไม่ปรากฏว่าหนังสือยกให้ระบุเป็นสินสมรส จึงต้องฟังว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ 123 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย สำหรับบ้านเลขที่ 4 ในที่ดินดังกล่าว โจทก์เบิกความว่า ก่อนหน้าที่นายดำรงจะรื้อถอนบ้านเลขที่ 6 ซึ่งอยู่ติดกับบ้านเลขที่ 4 จำเลยที่ 1 ได้ก่อสร้างอาคารขึ้นใหม่เป็นการก่อสร้างชิดแนวเขตทำให้ผนังด้านที่ติดกับบ้านนายดำรงไม่มีการฉาบด้านนอก ภายหลังจากที่นายดำรงรื้อถอนอาคารยังไม่แล้วเสร็จ จำเลยที่ 1 ต้องการให้ช่างฉาบปูนด้านนอกอาคารดังกล่าว เหตุที่นายดำรงรื้อถอนอาคารไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากเกิดปัญหาการรื้อเสาตอม่อของอาคารจำเลยที่ 1 รุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนายดำรง การรื้อถอนจึงยากลำบากเพราะอาคารของจำเลยที่ 1 จะทรุดตัวได้ แต่ตกลงกันไม่ได้ทางฝ่ายจำเลยที่ 1 จึงยื่นฟ้องเมื่อปี 2561 ให้นายดำรงยอมให้ช่างของจำเลยที่ 1 เข้าไปในที่ดิน และเรียกค่าเสียหาย แสดงว่าบ้านเลขที่ 4 หลังดังกล่าวได้ถูกรื้อไปและจำเลยที่ 1 ก่อสร้างอาคารใหม่แล้วในระยะเวลาที่ไม่นานภายหลังจากที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายไปแล้วเมื่อปี 2559 ทั้งยังไม่ปรากฏว่าโจทก์ โจทก์ร่วมหรือทายาทอื่นทักท้วงถือว่าเป็นการให้ความยินยอม และไม่ได้ความว่าโจทก์หรือทายาทอื่นออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารหลังใหม่ ประกอบกับแบบบันทึกการสอบสวนขอจดทะเบียนโอนมรดก ข้อ 4 ระบุว่า โอนมรดกเฉพาะที่ดิน ไม่เกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้าง เมื่ออาคารปลูกขึ้นใหม่ ดังนี้บ้านเลขที่ 4 เดิมที่จะต้องถูกบังคับให้เพิกถอนการโอนมรดกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 จึงไม่มีอยู่แล้ว ดังนั้น จึงต้องฟังว่า บ้านเลขที่ 4 ที่ปลูกสร้างขึ้นมาใหม่ มิใช่สินส่วนตัวของผู้ตาย แต่เป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 1 ที่ปลูกสร้างขึ้นมาเองในภายหลัง สำหรับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 24990 ปรากฏตามใบไต่สวนว่าผู้ตายได้รับการให้ที่ดินมาจากบิดาเมื่อประมาณปี 2499 ก่อนสมรสกับจำเลยที่ 1 ส่วนการที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าได้ที่ดินมาในระหว่างสมรสโดยผู้ตายไม่ได้บอกว่าได้มาจากบิดามารดา เพียงแต่บอกให้ช่วยกันทำเพื่อใช้หนี้ธนาคาร เมื่อพิจารณาสารบัญจดทะเบียนโฉนดที่ดินด้านหลังได้ความว่า ผู้ตายได้ทำสัญญาจำนองที่ดินดังกล่าวกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2531 จึงเป็นหนี้ที่ก่อขึ้นภายหลังจากที่ผู้ตายได้รับการให้ที่ดินดังกล่าว เพียงแต่เพิ่งได้รับเอกสารสิทธิ์เป็นโฉนดภายหลังจากสมรสแล้วเท่านั้น ดังนั้น จึงต้องฟังว่าที่ดินตามโฉนดเลขที่ 24990 เป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามต่อไปว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1546 บัญญัติ "เด็กเกิดจากหญิงที่มิได้มีการสมรสกับชาย ให้ถือว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของหญิงนั้น เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" มาตรา 1547 บัญญัติว่า "เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร" และมาตรา 1555 บัญญัติว่า "ในคดีฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเด็กเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของชาย เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้... (7) เมื่อมีพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรพฤติการณ์ที่รู้กันทั่วไปตลอดมาว่าเป็นบุตรนั้น ให้พิจารณาข้อเท็จจริงที่แสดงความเกี่ยวข้องฉันบิดากับบุตรซึ่งปรากฏในระหว่างตัวเด็กกับครอบครัวที่เด็กอ้างว่าตนสังกัดอยู่ เช่น บิดาให้การศึกษา ให้ความอุปการะเลี้ยงดู หรือยอมให้เด็กนั้นใช้ชื่อสกุลของตนหรือโดยเหตุประการอื่น..." ทั้งนี้การที่จะเป็นบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ประการแรก จะต้องเป็นบุตรนอกกฎหมาย ซึ่งหมายถึง เด็กที่เกิดจากบิดามารดาที่มิได้จดทะเบียนสมรสกัน แต่ทางนำสืบจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การไปแจ้งสูติบัตร ผู้ตายเป็นผู้ไปแจ้งเพียงลำพัง และนำเด็กมามอบให้แก่จำเลยที่ 1 โดยบอกว่าเป็นบุตรของผู้ตาย ทั้งตามเอกสารดังกล่าวช่องหมายเลข 2 ปรากฏชื่อมารดาว่าวราพร (จำเลยที่ 1) ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะหากฟังข้อเท็จจริงดังที่จำเลยที่ 1 เบิกความย่อมรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ไม่ใช่มารดาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 และผู้ตายมีหญิงอื่นจนเกิดบุตรทั้งสองคนย่อมเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิตครอบครัวที่จำเลยที่ 1 ผู้เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายจะยอมรับบุตรของภริยาน้อยอย่างง่ายดายดังที่เบิกความ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะเป็นบุตรของผู้ตายกับหญิงอื่นที่มิได้จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายอันจะเป็นกรณีที่ผู้ตายรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่โจทก์และโจทก์ร่วมนำสืบมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสาม คดีฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรหรือบุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสที่โจทก์และโจทก์ร่วมจะสามารถขอให้เพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายให้กลับคืนสู่กองมรดกได้หรือไม่ เห็นว่า การฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมด หากพิจารณาได้ความว่าโจทก์ควรได้แต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) ทั้งนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 9 เห็นว่า ส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายมีเพียงกึ่งหนึ่งในที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ศาลย่อมพิพากษาเพิกถอนเฉพาะส่วนที่ดินกึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตายนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 ต้องถูกกำจัดไม่ให้รับมรดกของผู้ตายหรือไม่ พิจารณาจากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับผู้ตายตั้งแต่ปี 2520 ร่วมทำมาหากินประกอบอาชีพทำสวนครอบครองที่ดินพิพาททั้งสี่แปลงตลอดมา ผู้ตายแจ้งการเกิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่าผู้ตายเป็นบิดา จำเลยที่ 1 เป็นมารดา เลี้ยงดูให้ความรักใคร่เอ็นดูอย่างมาก โดยมีฐานะทางทะเบียนราษฎรว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตร จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตายนานกว่า 30 ปี โจทก์ โจทก์ร่วม และญาติทุกคนให้การยอมรับ ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกิจกรรมของครอบครัวตลอดมา ดูแลมารดาของโจทก์ และโจทก์ร่วมในช่วงชราและเจ็บป่วย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายก็ไม่ปรากฏว่าทายาทคนใดติดตามสอบถามถึงทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นเวลานาน ทำให้จำเลยที่ 1 เข้าใจว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายควรตกแก่บุคคลในครอบครัวของผู้ตาย จึงได้ดำเนินการโอนที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินโดยแสดงเอกสารหลักฐานตามที่ได้รับทราบจากเจ้าพนักงานที่ดิน มีการประกาศให้โต้แย้ง เจ้าพนักงานที่ดินไม่ได้สอบถามว่าเป็นแม่ลูกกันหรือไม่ จึงไม่ได้บอก และไม่เคยมีผู้ใดกล่าวอ้างว่า ใบสูติบัตรเป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้องแต่อย่างใด ฟังว่าจำเลยที่ 1 เข้าใจคลาดเคลื่อนไปว่าทรัพย์มรดกเป็นของผู้ตายซึ่งให้การยอมรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุตรตลอดมา 30 กว่าปี จึงเป็นการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ที่ดิน และขั้นตอนทางราชการแล้วสามารถโอนมรดกได้โดยชอบ จึงน่าเชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไปดำเนินการโอนที่ดินพิพาทตามความเข้าใจของตน เป็นการจัดการแบ่งทรัพย์ของผู้ตาย โดยเข้าใจว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีสิทธิได้รับทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยชอบ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินของผู้ตายต่อให้แก่บุคคลอื่น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 จึงยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 จงใจยักย้ายทรัพย์มรดกของผู้ตายโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์แก่โจทก์ โจทก์ร่วมและทายาทอื่นอันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยนั้นชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามข้อสุดท้ายว่า คดีโจทก์และโจทก์ร่วมขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 เมื่อจำเลยที่ 1 ได้จัดการโอนมรดกทั้งหมดให้ตนเองรวมทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอก จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์และโจทก์ร่วมฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการรับโอนมรดกของผู้ตายที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แสดงว่าโจทก์มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทรัพย์มรดกของผู้ตาย กลับคืนกองมรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายระหว่างทายาท จึงเป็นคดีมรดก เมื่อได้ความว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ยังมิได้แบ่งปันกันโดยชอบ การที่จำเลยที่ 1 มีชื่อในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ดังกล่าว จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ได้ครอบครองแทนทายาทคนอื่นด้วย ส่วนจำเลยที่ 2 ซึ่งมีชื่อถือในโฉนดที่ดินเลขที่ 22874, 24990, 60 และเลขที่ 123 ซึ่งจำเลยที่ 2 รับโอนมาจากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มีชื่อถือในโฉนดที่ดินเลขที่ 24990 ซึ่งรับโอนมาจากจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นบุคคลภายนอก จึงเป็นการครอบครองแทนเช่นกัน ไม่อาจอ้างการครอบครองขึ้นต่อสู้โจทก์และโจทก์ร่วมได้ คดีของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น อนึ่ง จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกผู้ตาย จึงอยู่ในฐานะทายาทโดยธรรมที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคสอง ประกอบมาตรา 1635 (2) ที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ซึ่งฟังว่าเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับจำเลยที่ 1 นั้น จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในฐานะสินสมรสกึ่งหนึ่ง และในฐานะทายาทผู้รับมรดกอีกกึ่งหนึ่งของกองมรดกผู้ตาย ดังนั้น จำเลยที่ 1 มีสิทธิได้รับสามในสี่ส่วนของที่ดินดังกล่าว สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งฟังว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งของที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ซึ่งเป็นสินส่วนตัวของผู้ตายทั้งแปลง และเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 เป็นสินสมรสของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 กึ่งหนึ่ง จึงไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความมิได้ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 225 และมาตรา 252 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 22874 และ 60 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 และวันที่ 9 มีนาคม 2561 ตามลำดับ หนึ่งในสี่ส่วน และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 24990 และ 123 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยทั้งสามซึ่งทำเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2560 และระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ซึ่งทำเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2561 ตามลำดับ กึ่งหนึ่งกลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตาย ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้เพิกถอนการโอนสิ่งปลูกสร้างบ้านเลขที่ 4 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ |