

นิติกรรมซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นคนต่างด้าว, คดีมรดกที่ดินของคนต่างด้าว, อายุความคดีมรดก, การยักยอกทรัพย์มรดก ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ นิติกรรมซื้อขายที่ดินซึ่งเป็นคนต่างด้าว, คดีมรดกที่ดินของคนต่างด้าว, อายุความคดีมรดก, การยักยอกทรัพย์มรดก *ศาลฎีกาวินิจฉัย: สิทธิผู้จัดการมรดกในคดีที่ดินพิพาท ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดก เพื่อแบ่งให้ทายาทตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม จำเลยซึ่งเป็นทายาทร่วมยังมีสิทธิใช้สอยที่ดินตามส่วนจนกว่าการแบ่งจะเสร็จสิ้น และการฟ้องร้องของโจทก์ไม่ขาดอายุความเนื่องจากเป็นการจัดการมรดก มิใช่การเรียกร้องทรัพย์สินคืนจากทายาท* **คำวินิจฉัยศาลฎีกาสรุปได้ดังนี้: นาย ล. ผู้ตายเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีน มีบุตร 10 คนกับภริยาเดิม และอีก 1 คนกับภริยาใหม่ ทรัพย์สินรวมถึงที่ดินพิพาทถูกโต้แย้งในฐานะทรัพย์มรดกของผู้ตาย หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและฟ้องจำเลยเพื่อบังคับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเข้าสู่กองมรดก ทว่า จำเลยโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดิน โดยยืนยันว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของตนเอง ศาลพิจารณาว่าคดีนี้เกี่ยวเนื่องกับคำพิพากษาคดีอาญาที่วินิจฉัยแล้วว่าพยานหลักฐานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอที่จะพิสูจน์ข้อกล่าวหายักยอกได้ และไม่ได้ชี้ขาดแน่นอนว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ศาลจึงไม่ได้ถือข้อเท็จจริงจากคดีอาญาดังกล่าว ในส่วนอายุความ ศาลวินิจฉัยว่ากรณีที่โจทก์ฟ้องเพื่อแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความใช้บังคับ นอกจากนี้ ศาลยืนยันว่าจำเลยมีสิทธิในฐานะทายาทร่วมในการใช้สอยที่ดินพิพาทจนกว่าจะแบ่งทรัพย์เสร็จสิ้น และศาลไม่มีอำนาจบังคับให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดิน สุดท้าย ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ดินเข้าสู่กองมรดกเพื่อแบ่งให้แก่ทายาทตามกฎหมาย โดยยึดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1180/2563 คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5172/2547 ของศาลแขวงสมุทรปราการซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าการกระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท มีประเด็นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของจำเลย และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตาม ป.วิ.อ. มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่คดีแพ่งจะต้องถือตามนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยไว้ในคดีอาญาแล้ว คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้เท่านั้น ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแน่นอนว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือของจำเลย จึงรับฟังเป็นยุติในคดีนี้ไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่ผูกพันให้การพิพากษาคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริงดังที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าวเมื่อที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตายแก่กองมรดกได้ แต่เมื่อจำเลยเป็นทายาทของผู้ตายคนหนึ่งซึ่งยังมีสิทธิรับมรดกตามส่วนเช่นเดียวกับทายาทคนอื่น จำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับทายาทอื่นและมีอำนาจใช้สอยที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1360 ประกอบมาตรา 1336 จนกว่าจะมีการแบ่งกันเสร็จสิ้น โจทก์จึงมีสิทธิเพียงบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้กลับคืนกองมรดกของผู้ตายเท่านั้น หาอาจให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเสียเลยไม่ กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่เจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกนั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเข้าสู่กองมรดกของผู้ตายเพื่อแบ่งให้แก่ผู้เป็นทายาททุกคนซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน จะนำอายุความมรดก 1 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ต้องแบ่งที่ดินและอาคารตึกแถวพิพาทหรือไม่ แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเข้าสู่กองมรดก เพื่อจัดการแบ่งมรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกต่อไป จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกและคดีขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นข้ออ้างที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้และไม่ได้ฟ้องแย้งทั้งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นการฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์และไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 (เดิม)แม้ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทผู้ตายเป็นคนต่างด้าว แล้วให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วย ป.ที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินพิพาทมาก็หาใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะผู้ตายยังมีสิทธิได้รับผลตามบทบัญญัติมาตรา 94 แห่ง ป.ที่ดิน ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หรืออธิบดีกรมที่ดินอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ กรณีต้องถือว่าตราบใดที่ผู้ตายหรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือนำไปจำหน่ายตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 แล้วนำเงินมาแบ่งแก่ทายาทได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 เป็นการบังคับโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกให้ขายที่ดินพิพาทของผู้ตายซึ่งเป็นคนต่างด้าวตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 และกรณีที่ดินพิพาทตกทอดแก่ทายาทโดยทางมรดกนั้น ถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่ายที่ดินตามเจตนารมณ์ ป.ที่ดิน มาตรา 94 เมื่อต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ตายมีอยู่ขณะถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้ตายด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599, 1600 และเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกในอันต้องดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1719 ประกอบกับบทบัญญัติตาม ป.ที่ดิน มาตรา 94 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าวและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนนี้จึงชอบแล้ว *ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีอำนาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับเข้าสู่กองมรดก แม้นิติกรรมซื้อขายเดิมระหว่างนาย ล. ผู้ตาย ซึ่งเป็นคนต่างด้าว และจำเลยจะขัดต่อประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่ทรัพย์สินดังกล่าวยังถือเป็นมรดกของผู้ตาย และต้องดำเนินการตามมาตรา 94 เพื่อจำหน่ายและแบ่งให้ทายาท ศาลยืนยันว่าโจทก์ต้องจัดการแบ่งทรัพย์มรดกตามกฎหมาย โดยคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คำถามที่ 1: ศาลฎีกาวินิจฉัยอย่างไรเกี่ยวกับสิทธิของโจทก์ในการบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก? คำตอบ: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีสิทธิบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดก เนื่องจากที่ดินดังกล่าวถือเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย อย่างไรก็ตาม จำเลยในฐานะทายาทที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกันกับทายาทคนอื่น ยังมีสิทธิใช้สอยที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 และ 1336 จนกว่าการแบ่งทรัพย์มรดกจะเสร็จสิ้น โจทก์จึงไม่สามารถบังคับให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินดังกล่าวได้ คำถามที่ 2: ศาลฎีกาให้ความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการใช้บทบัญญัติเรื่องอายุความมรดกในกรณีนี้? คำตอบ: ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การฟ้องร้องของโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกเพื่อบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดกนั้น ไม่อยู่ภายใต้บทบัญญัติเรื่องอายุความมรดก 1 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 เนื่องจากการฟ้องดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดการและแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน กรณีนี้จึงไม่ใช่การเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์สิน การฟ้องร้องของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
****โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6912 และ 6941 ให้แก่กองมรดกของผู้ตาย โดยให้จำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมการโอน ถ้าจำเลยไม่ไปจดทะเบียนโอน ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทได้ ให้จำเลยชดใช้เงิน 200,000,000 บาท แก่กองมรดกของผู้ตายพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและอาคารเลขที่ 12 ห้ามมิให้จำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก กับให้มีคำสั่งกำจัดมิให้จำเลยรับมรดกทั้งหมดของผู้ตาย จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6912 และ 6941 มาเป็นชื่อโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดก หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยและให้โจทก์จำหน่ายที่ดินพิพาทภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนดเพื่อนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาท หากไม่ปฏิบัติตามให้อธิบดีกรมที่ดินมีอำนาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ตามกฎหมาย โดยให้โจทก์ซึ่งถือกรรมสิทธิ์ไปจดทะเบียนโอนจำหน่ายให้ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของโจทก์ ให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้เป็นยุติว่า นาย ล. ผู้ตายเป็นคนต่างด้าวสัญชาติจีนได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากับนางเตียง มีบุตรด้วยกัน 10 คน คือ โจทก์ จำเลย นางมัทนา นางสาวเปรมจิต นางเยาวลักษณ์ นายวันชัย นายประยุทธ นางสุมาลี นายประเสริฐ และนายแสงชัย ผู้ตายให้การรับรองว่าทุกคนเป็นบุตร ผู้ตายประกอบอาชีพค้าขายวัสดุก่อสร้างภายใต้ชื่อร้าน ฉ. โดยเช่าที่ดินของผู้อื่นในการประกอบกิจการค้าและอยู่อาศัย บุตรทุกคนของผู้ตายพักอาศัยอยู่ในบ้านเดียวกันเพื่อช่วยเหลือดูแลกันทั้งในกิจการค้าขาย งานบ้านและเรื่องส่วนตัวโดยผู้ตายเป็นผู้มีอำนาจจัดการแต่ผู้เดียวรวมทั้งนำรายได้มาเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัวและให้ค่าตอบแทนของบุตรแต่ละคน เมื่อปี 2507 นางเตียงถึงแก่ความตาย ผู้ตายได้ภริยาคนใหม่ชื่อนางทองใบ และมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนายสุชัย แต่ผู้ตายก็ยังประกอบกิจการค้าขายในลักษณะเป็นกงสีต่อไปเช่นเดิม ผู้ตายส่งจำเลยไปเรียนในต่างประเทศแต่ภายหลังจำเลยได้กลับมาช่วยเหลือในกิจการค้าของผู้ตายด้วย ต่อมาในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2518 ผู้ตายก่อตั้งและจดทะเบียนเป็นบริษัท ฉ. เพื่อค้าขายวัสดุก่อสร้างและผลิตอิฐบล็อกจำหน่ายต่อเนื่องจากร้าน ฉ. วันที่ 28 พฤษภาคม 2519 จำเลยและนายวันชัยลงลายมือชื่อทำสัญญาและจดทะเบียนซื้อขายที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 6912 และ 6941 ซึ่งติดต่อเป็นแปลงเดียวกันมีเนื้อที่รวม 11 ไร่เศษ จากนางชื่นสุข โดยมีชื่อจำเลยและนายวันชัยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน หลังจากนั้นโจทก์ จำเลย และพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันรวม 7 คน ได้เข้าชื่อเป็นผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัท ค. และมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นจนบริษัทได้รับจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2520 และมีการปลูกสร้างตึก 4 ชั้น ในที่ดินพิพาทเป็นบ้านเลขที่ 12 ใช้เป็นที่ทำการของบริษัท ค. ต่อมาในวันที่ 2 ตุลาคม 2542 ผู้ตายถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โดยระบุว่าที่ดินพิพาท พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ศาลมีคำสั่งลงวันที่ 11 กันยายน 2543 ตั้งโจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกมีหนังสือบอกกล่าวทายาททุกคนให้ส่งมอบทรัพย์มรดกของผู้ตายที่แต่ละคนครอบครองซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่กองมรดกเพื่อจัดการแบ่งปันแก่ทายาท นายวันชัยแสดงเจตนาส่งมอบที่ดินพิพาทพร้อมผลประโยชน์ในที่ดินคืนแก่กองมรดก แต่จำเลยปฏิเสธไม่ยอมส่งมอบให้ โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้หมายเรียกจำเลยมาสอบถามถึงสาเหตุที่ไม่ส่งมอบทรัพย์มรดก แต่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้มีคำสั่งยกคำร้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาลงวันที่ 6 ธันวาคม 2545พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นในคดีดังกล่าวออกหมายเรียกจำเลยมาสอบถามตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 5 กันยายน 2544 เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2545 ก่อนศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแขวงสมุทรปราการเป็นคดีอาญาข้อหายักยอก ตามสำนวนคดีอาญาหมายเลขดำที่ 4430/2545 ซึ่งต่อมาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 5172/2547 โดยกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2545 จำเลยเบียดบังเอาที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายเป็นของตนเองหรือของผู้อื่นโดยทุจริต ศาลแขวงสมุทรปราการพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่ากรณีเป็นการโต้แย้งกันในทางแพ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท พยานหลักฐานของโจทก์ไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามฟ้อง ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 5121/2549 โจทก์ฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งที่ 7411/2554 โดยวินิจฉัยว่า ฎีกาของโจทก์ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกตามฟ้อง เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลล่างได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าว โดยชอบด้วยเหตุผลแล้วและไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำวินิจฉัยของศาลล่าง ฎีกาของโจทก์จึงไม่เป็นสาระอันควรแก่การพิจารณา ศาลฎีกาไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 219 วรรคสอง และพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง ศาลแขวงสมุทรปราการ อ่านคำสั่งศาลฎีกาให้คู่ความฟังในวันที่ 6 มีนาคม 2555 คดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5172/2547 ของศาลแขวงสมุทรปราการจึงถึงที่สุด โจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า ในการพิพากษาคดีนี้ศาลต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5172/1547 ของศาลแขวงสมุทรปราการ ซึ่งถึงที่สุดแล้วหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้กับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5172/2547 ของศาลแขวงสมุทรปราการซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่ากระทำความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกที่ดินพิพาท มีประเด็นเป็นเรื่องเดียวกัน คือ ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือเป็นของจำเลย และคดีอาญาดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว กรณีจึงเป็นคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่คดีแพ่งจะต้องถือตามนั้น ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยไว้ในคดีอาญาแล้ว คดีส่วนอาญาดังกล่าวถึงที่สุดโดยศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า คำเบิกความของนายวันชัยพยานโจทก์เป็นพิรุธทำให้ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธและนำสืบว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว ตามรูปคดีจึงเป็นการโต้แย้งกันในทางแพ่งเกี่ยวกับกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาททั้งสองแปลง ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องอีกหลายฝ่าย รวมทั้งผู้ถือหุ้นในบริษัท ฉ. พยานหลักฐานโจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ตามฟ้อง จึงเท่ากับว่าคดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้เท่านั้น ยังไม่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแน่นอนว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายหรือของจำเลย จึงรับฟังเป็นยุติในคดีนี้ไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทไม่ได้เป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย จึงไม่ผูกพันให้การพิพากษาคดีนี้ต้องถือข้อเท็จจริง ดังที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาดังกล่าว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1674/2512 จำเลยอ้างมาในฎีกาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายที่วินิจฉัยไม่ตรงกับคดีนี้ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารตึกแถวพิพาทห้ามจำเลยเกี่ยวข้องได้หรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายดังที่ศาลฎีกาวินิจฉัยมาแล้ว โจทก์ย่อมมีสิทธิบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินพิพาทส่วนที่ตนถือกรรมสิทธิ์แทนผู้ตายแก่กองมรดกได้ แต่เมื่อจำเลยเป็นทายาทของผู้ตายคนหนึ่งซึ่งยังมีสิทธิรับมรดกตามส่วนเช่นเดียวกับทายาทคนอื่น จำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทร่วมกับทายาทอื่นและมีอำนาจใช้สอยที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1360 ประกอบมาตรา 1336 จนกว่าจะมีการแบ่งกันเสร็จสิ้น โจทก์จึงมีสิทธิเพียงบังคับให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้กลับคืนแก่กองมรดกของผู้ตายเท่านั้น หาอาจให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทเสียเลยไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินและอาคารตึกแถวพิพาทห้ามจำเลยเกี่ยวข้องด้วยนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยต่อไปว่า คดีขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า กำหนดอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ที่บัญญัติห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก นั้น ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน แต่คดีนี้โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกฟ้องคดีนี้เพื่อขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเข้าสู่กองมรดกของนาย ล. เพื่อแบ่งให้แก่ผู้เป็นทายาททุกคนซึ่งมีสิทธิได้รับมรดกต่อไป ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 กรณีดังกล่าวไม่มีบทบัญญัติเรื่องอายุความในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน จะนำอายุความมรดก 1 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับไม่ได้ ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยต่อไปว่า โจทก์ต้องแบ่งที่ดินและอาคารตึกแถวพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อในโฉนดที่ดินพิพาทเข้าสู่กองมรดกของนาย ล. เพื่อจัดการแบ่งให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกของนาย ล. เจ้ามรดกต่อไป จำเลยให้การต่อสู้ว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนาย ล. และคดีขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้เป็นข้ออ้างที่จำเลยไม่ได้ให้การไว้และไม่ได้ฟ้องแย้งทั้งเป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เป็นการฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นข้อพิพาท ทั้งมิใช่ข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ และไม่เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 (เดิม) ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีอำนาจเรียกให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทเข้ากองมรดกของนาย ล. เพราะนิติกรรมซื้อขายที่ดินพิพาทของนาย ล. ซึ่งเป็นคนต่างด้าวมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะหรือไม่ และโจทก์ต้องจำหน่ายที่ดินพิพาทตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทนาย ล. ผู้ตายเป็นคนต่างด้าวแล้วให้จำเลยเป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์แทน ถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินพิพาทมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 86 แต่การได้ที่ดินพิพาทมาก็หาใช่จะไม่มีผลใด ๆ เสียเลย เพราะนาย ล. ยังมีสิทธิได้รับผลตามบทบัญญัติมาตรา 94 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินพิพาทนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกรมที่ดินกำหนด หรืออธิบดีกรมที่ดินอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ กรณีต้องถือว่าตราบใดที่ผู้ตายหรืออธิบดีกรมที่ดินยังไม่ได้จำหน่ายที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทจึงยังเป็นของผู้ตาย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย โจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงมีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่โจทก์หรือนำไปจำหน่ายตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 แล้วนำเงินมาแบ่งปันแก่ทายาทได้ และที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่มีอำนาจบังคับให้โจทก์ขายที่ดินพิพาทนั้น แม้โจทก์ไม่ฎีกาในปัญหาข้อนี้ แต่เมื่อคำพิพากษาดังกล่าวกระทบถึงสิทธิของจำเลยในที่ดินพิพาท จำเลยจึงเป็นคู่ความที่เกี่ยวข้องมีสิทธิยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง (เดิม) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ดังกล่าวเป็นการบังคับโจทก์ในฐานะผู้จัดการมรดกให้ขายที่ดินพิพาทของผู้ตายซึ่งเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 และกรณีที่ดินพิพาทตกทอดแก่ทายาทโดยทางมรดกนั้นถือไม่ได้ว่าเป็นการจำหน่ายที่ดินตามเจตนารมณ์ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 เมื่อต้องจำหน่ายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นหน้าที่ตามกฎหมายที่ผู้ตายมีอยู่ขณะถึงแก่ความตายย่อมเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทของผู้ตายด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599, 1600 และเป็นหน้าที่อย่างหนึ่งของโจทก์ในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกในอันต้องดำเนินการเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 ประกอบกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 94 เป็นกฎหมายที่จำกัดสิทธิการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของคนต่างด้าวและเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายนี้ได้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ส่วนนี้จึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างและห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องอีกต่อไป นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท |