

พินัยกรรมยกมรดกให้พี่น้องร่วมบิดามารดา, สิทธิของผู้สืบสันดานในการรับมรดกแทนที่, การฟ้องเรียกค่าเช่าจากทรัพย์สินมรดก ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ พินัยกรรมยกมรดกให้พี่น้องร่วมบิดามารดา, สิทธิของผู้สืบสันดานในการรับมรดกแทนที่, การฟ้องเรียกค่าเช่าจากทรัพย์สินมรดก *ศาลฎีกาวินิจฉัยให้โจทก์มีสิทธิในมรดกที่ดินและเงินค่าเช่าจำนวนครึ่งหนึ่งของทรัพย์สินทั้งหมด รวม 717,500 บาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี หลังโจทก์เรียกร้องในฐานะทายาทร่วมบิดามารดา โดยไม่อาจบังคับให้จำเลยส่งมอบทรัพย์ทั้งหมดได้ ศาลแก้ไขคำพิพากษาเพื่อความถูกต้องตามกฎหมาย *ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ นายหยุด และนางบุญเยี่ยมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน นางบุญเยี่ยมยกที่ดินและห้องแถวให้แก่นายหยุดตามพินัยกรรม ต่อมาเมื่อทั้งสองถึงแก่ความตายโดยไม่มีพินัยกรรมใหม่ ทรัพย์สินดังกล่าวตกแก่ทายาทตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่า 1,435,000 บาท และกรรมสิทธิ์ในที่ดินทั้งหมด แต่ศาลตัดสินว่าโจทก์มีสิทธิในทรัพย์สินเพียงครึ่งเดียว โดยไม่อาจบังคับให้จำเลยเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือส่งมอบสำเนาทะเบียนบ้านได้ ศาลฎีกาแก้ไขคำพิพากษาให้เหมาะสมตามกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1483/2563 นางบุญเยี่ยม, นายหยุด และโจทก์ เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันนางบุญเยี่ยม ทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินพร้อมบ้านและตึกแถวให้แก่นายหยุด เมื่อนางบุญเยี่ยม ถึงแก่ความตายทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกทอดแก่นายหยุด ต่อมานายหยุด ถึงแก่ความตายโดยไม่มีภริยาและบุตร ทรัพย์สินดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทโดยธรรม คือ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน คือ โจทก์ และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรของนางบุญเยี่ยม ที่รับมรดกแทนที่นางบุญเยี่ยม แม้จะเป็นทรัพย์สินเดียวกันก็ตาม โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินและเงินค่าเช่า 1 ใน 2 ส่วน
คำถามที่ 1: พินัยกรรมของนางบุญเยี่ยมส่งผลให้ทรัพย์สินตกทอดอย่างไร และใครมีสิทธิในมรดกของนายหยุด? คำตอบ: พินัยกรรมของนางบุญเยี่ยมยกที่ดินพร้อมบ้านและห้องแถวให้แก่นายหยุด เมื่อทั้งนางบุญเยี่ยมและนายหยุดถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินตกทอดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 แก่ทายาทโดยธรรม โจทก์และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้สืบสันดานของนางบุญเยี่ยมมีสิทธิในมรดกนี้ โดยโจทก์ได้รับสิทธิในทรัพย์สิน 1 ใน 2 ส่วน คำถามที่ 2: ศาลฎีกามีคำพิพากษาแก้ไขอย่างไรเกี่ยวกับการเรียกค่าเช่าและการจดทะเบียนเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ที่ดินของโจทก์? คำตอบ: ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาให้โจทก์มีสิทธิในค่าเช่าทรัพย์สินเพียง 1 ใน 2 ส่วน จำนวน 717,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนที่ดินให้โจทก์ในสัดส่วนดังกล่าว โดยไม่บังคับให้จำเลยส่งมอบสำเนาทะเบียนบ้านแก่โจทก์ เพราะโจทก์ไม่มีสิทธิในกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมด
****โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,435,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 และให้ส่งมอบสำเนาทะเบียนบ้านหรือจดแจ้งชื่อโจทก์ในสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 52 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง *ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ณ สำนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ (สาขาพระประแดง) และส่งมอบสมุดสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 52 แก่โจทก์ สำหรับคำขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยจดแจ้งชื่อโจทก์ในทะเบียนนั้น โจทก์สามารถขอคัดสำเนาคำพิพากษาที่รับรองถูกต้องไปดำเนินการได้อยู่แล้ว จึงไม่บังคับให้ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก ยกฟ้องจำเลยที่ 2 โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,435,000 บาท คืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561) (ที่ถูก 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ นายหยุด และนางบุญเยี่ยม เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน จำเลยที่ 1 เป็นสามีนางบุญเยี่ยม มีบุตรด้วยกันคือจำเลยที่ 2 เดิมนางบุญเยี่ยมเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 กับห้องแถวเลขที่ 96/1 ถึง 96/3 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 นางบุญเยี่ยมทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินและห้องแถวดังกล่าวให้แก่นายหยุด ต่อมาวันที่ 15 กันยายน 2541 นางบุญเยี่ยมถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญเยี่ยม หลังจากนั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 นายหยุดถึงแก่ความตาย โดยนายหยุดไม่ได้ทำพินัยกรรม นายหยุดไม่ได้สมรสและไม่มีบุตร บิดามารดาของนายหยุดได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของนายหยุด เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2548 เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรปราการ สาขาพระประแดง ออกใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 28653 พร้อมกับจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงสารบัญจดทะเบียนระบุชื่อจำเลยที่ 1 ในช่องผู้รับสัญญาในฐานะผู้จัดการมรดกของนางบุญเยี่ยม หลังนายหยุดถึงแก่ความตาย จำเลยทั้งสองร่วมกันเก็บค่าเช่าบ้านเลขที่ 52 ดังกล่าว จากผู้เช่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนกันยายน 2559 เป็นเงิน 1,048,000 บาท และค่าเช่าห้องแถวเลขที่ 96/1 ถึง 96/3 ดังกล่าวจากผู้เช่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2548 ถึงเดือนกรกฎาคม 2559 รวมเป็นเงิน 387,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1,435,000 บาท ต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2559 นายอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เปิดพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองของนางบุญเยี่ยม *คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองต้องคืนเงินค่าเช่า 1,435,000 บาท ให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพินัยกรรมของนางบุญเยี่ยม ที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 กับห้องแถวเลขที่ 96/1 ถึง 96/3 ตกเป็นของนายหยุด เมื่อนายหยุดถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2548 โดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ที่ดินและห้องแถวดังกล่าวจึงตกแก่ทายาทของนายหยุดทันทีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง ค่าเช่าที่ดินและห้องแถวดังกล่าว 1,435,000 บาท นับแต่นายหยุดถึงแก่ความตายเป็นดอกผลนิตินัย ย่อมตกแก่ทายาทของนายหยุดด้วย แม้หากว่านายหยุดจะมอบหมายให้จำเลยทั้งสองเก็บค่าเช่า แต่จำเลยทั้งสองก็ไม่อาจนำมาอ้างเป็นเหตุให้มีสิทธิในเงินค่าเช่าดังกล่าว ส่วนที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นทายาทของนายหยุดด้วยนั้น เห็นว่า ข้อนี้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ แต่อย่างไรก็ตามคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าดังกล่าวในฐานะทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหยุด ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องด้วยว่านางบุญเยี่ยมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์และนายหยุด นางบุญเยี่ยมถึงแก่ความตายก่อนนายหยุด โดยจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางบุญเยี่ยม ดังนี้ ตามฟ้องโจทก์จึงเป็นกรณีที่โจทก์ นายหยุด และนางบุญเยี่ยม เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน โดยโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหยุดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) และเมื่อนางบุญเยี่ยมเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหยุดด้วย ซึ่งหากมีชีวิตอยู่ก็เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของนายหยุดเช่นเดียวกับโจทก์ แต่เมื่อนางบุญเยี่ยมถึงแก่ความตายไปก่อนนายหยุด จำเลยที่ 2 เป็นบุตรของนางบุญเยี่ยมและเป็นผู้สืบสันดานของนางบุญเยี่ยม ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางบุญเยี่ยมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 ดังนี้ มรดกของนายหยุดจึงตกแก่โจทก์และทายาทของนางบุญเยี่ยม โจทก์จึงมีสิทธิในเงินค่าเช่า 1 ใน 2 ส่วน จำนวน 717,500 บาท เท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญเยี่ยมและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นทายาทของนางบุญเยี่ยมร่วมกันชำระเงินค่าเช่าทั้งหมดแก่โจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน *อนึ่ง คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าเช่าดังกล่าวและที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 ในฐานะทายาทประเภทพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหยุด แต่นางบุญเยี่ยมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายหยุดมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกแทนที่ด้วยดังวินิจฉัยข้างต้น โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญเยี่ยมนำที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียงผู้เดียว และไม่อาจถือได้ว่าการที่สมุดสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 52 อยู่ที่จำเลยที่ 1 เป็นการขัดต่อสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่อาจบังคับให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบสมุดสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 52 แก่โจทก์เพียงผู้เดียวได้ เพราะโจทก์มีสิทธิในที่ดิน 1 ใน 2 ส่วน เท่านั้น ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความอุทธรณ์และฎีกาในปัญหานี้ ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 252 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 28653 โดยให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 1 ใน 2 ส่วน จำเลยที่ 1 ไม่ต้องส่งมอบสมุดสำเนาทะเบียนบ้านเลขที่ 52 แก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 717,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
|