

ผู้จัดการมรดกและการโอนทรัพย์มรดก, พินัยกรรมด้วยวาจา ป.พ.พ. มาตรา 1663, การครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ ผู้จัดการมรดกและการโอนทรัพย์มรดก, พินัยกรรมด้วยวาจา ป.พ.พ. มาตรา 1663, การครอบครองทรัพย์มรดกแทนทายาท *ศาลวินิจฉัยที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาท แม้นาย พ. เคยสั่งเสียจะยกที่ดินให้จำเลย แต่ไม่เป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย ที่ดินจึงตกเป็นทรัพย์มรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต้องแบ่งปันที่ดินให้แก่ทายาทโดยธรรม.* *โจทก์และจำเลยเป็นบุตรของนายเพาะ ซึ่งเสียชีวิตโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ โดยนายเพาะมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทในขณะเสียชีวิต ต่อมาจำเลยได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกและจดทะเบียนโอนที่ดินให้ตนเอง ปัญหาสำคัญคือที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกหรือไม่ ศาลวินิจฉัยว่า แม้นายเพาะเคยแจ้งความประสงค์จะยกที่ดินให้จำเลย แต่ไม่เป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ดินดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์มรดกตกแก่ทายาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และ 1600 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกไม่อาจถือว่าครอบครองที่ดินพิพาทเป็นของตนเอง การเสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้แสดงสิทธิครอบครองที่ดิน จึงต้องแบ่งปันที่ดินให้ทายาท อย่างไรก็ตาม คำขอของโจทก์ที่ให้แบ่งที่ดินให้ทายาทคนอื่น ซึ่งไม่ได้ร้องสอดในคดีนี้ ขัดกับ ป.พ.พ. มาตรา 1749 ศาลจึงไม่อาจพิพากษาตามคำขอนั้น พิพากษา: ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ และให้จำเลยแบ่งปันที่ดินดังกล่าวตามส่วน คำขออื่นให้ยก. คำถามที่ 1: คำสั่งสั่งเสียด้วยวาจาของนายเพาะให้ยกที่ดินพิพาทแก่จำเลย สามารถถือเป็นพินัยกรรมตามกฎหมายหรือไม่? คำตอบ: ไม่สามารถถือเป็นพินัยกรรมได้ เนื่องจากการสั่งเสียด้วยวาจาต้องมีพฤติการณ์พิเศษ เช่น อันตรายใกล้ความตาย โรคระบาด หรือสงคราม ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 ซึ่งกรณีนี้ไม่มีพฤติการณ์ดังกล่าว จึงไม่เป็นพินัยกรรมตามกฎหมาย คำถามที่ 2: การเสียภาษีบำรุงท้องที่ของจำเลยแสดงถึงสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่? คำตอบ: การเสียภาษีบำรุงท้องที่ไม่ได้แสดงถึงสิทธิครอบครองที่ดิน การครอบครองที่ดินพิพาทของจำเลยยังถือว่าเป็นการครอบครองแทนทายาททั้งหมด และที่ดินพิพาทยังคงเป็นทรัพย์มรดกที่ต้องแบ่งปันแก่ทายาทตามกฎหมาย. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1323/2566 ระหว่างมีชีวิต พ. ยังไม่ได้ยกหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย แม้ พ. เคยสั่งเสียให้ทายาททุกคนทราบว่า พ. จะยกที่ดินพิพาทให้จำเลย แต่ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมด้วยวาจาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1663 เมื่อ พ. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของ พ. ตกแก่ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 และมาตรา 1600 การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกดังกล่าวแทนทายาท แม้ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว แต่ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังทายาททุกคนว่า จำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนทายาทต่อไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1381 ย่อมไม่อาจถือได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทอย่างเป็นเจ้าของ การเสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้เป็นข้อสันนิษฐานหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เสียภาษีมีสิทธิครอบครองที่ดิน ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของ พ. จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกต้องแบ่งปันแก่บรรดาทายาท
****โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ 2 งาน เป็นมรดกของนายเพาะ ให้เพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นมรดกของนายเพาะ ให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกแบ่งปันที่ดินดังกล่าวให้แก่ทายาทโดยธรรมของนายเพาะตามส่วน โดยให้ตัดสิทธิจำเลยในการได้รับส่วนแบ่งในฐานะทายาท และให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนคำขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพาะกับจำเลยในฐานะส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 เฉพาะส่วนของทายาทอื่น 10 ใน 11 ส่วน ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1 ให้แก่ทายาทของนายเพาะตามส่วน และให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนคำขอออกโฉนดสำหรับที่ดินดังกล่าว หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลย โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์และจำเลยต่างเป็นบุตรของนายเพาะ กับนางหย่อน โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก 9 คน คือ นางก้อนทอง นางเพลินพิศ นางทองยูร ร้อยตรีสมพอง นางพยอม นางสมมาตร นางนวลละออง นายกู้เกียรติ และนางกรองแก้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2531 นายเพาะถึงแก่ความตายโดยไม่ได้จัดทำพินัยกรรมเป็นหนังสือไว้ ขณะถึงแก่ความตายนายเพาะมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1 เนื้อที่ประมาณ 18 ไร่ 2 งาน ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทในคดีนี้ เดิมที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินแปลงใหญ่ของนายเพาะ ซึ่งระบุว่ามีเนื้อที่ประมาณ 75 ไร่ 1 งาน 20 ตารางวา แต่เมื่อรังวัดสอบเขตใหม่ในปี 2526 แล้ว คงมีเนื้อที่ประมาณ 56 ไร่ 3 งาน 20 ตารางวา นายเพาะดำเนินการแบ่งที่ดินให้แก่บุตร 11 คน แล้วคงเหลือที่ดินพิพาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายเพาะซึ่งศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2538 ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2538 จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเอง จากนั้นวันที่ 11 มกราคม 2562 เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดที่ดินพิพาทเพื่อออกโฉนดที่ดินให้แก่จำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเพาะที่จำเลยจะต้องแบ่งปันแก่ทายาทหรือไม่ เห็นว่า สารบัญจดทะเบียนในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของที่ดินพิพาทระบุได้ความว่า ขณะนายเพาะถึงแก่ความตายยังมีชื่อนายเพาะเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายเพาะก็มีข้อความระบุว่า จำเลยเบิกความในคดีดังกล่าวประกอบเอกสารความว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเพาะที่จะนำไปแบ่งปันระหว่างทายาท อันเจือสมกับคำเบิกความพยานฝ่ายจำเลยที่จำเลยเบิกความว่า หลังจากนางยอนและนายเพาะถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยก็ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเจ้าของด้วยตนเอง และเบิกความตอบทนายจำเลยถามติงว่า ที่จำเลยเบิกความว่าก่อนหน้านี้นายพินิจ และนางกรองแก้ว เป็นผู้ทำประโยชน์โดยทำนาในที่ดินพิพาทนั้นเป็นการทำนาให้แก่นายเพาะ โดยมอบผลประโยชน์ให้แก่นายเพาะเป็นข้าวเปลือก 1 เกวียน ภายหลังนายเพาะและนางยอนถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยเป็นผู้รับผลประโยชน์จากการทำนาในที่ดินพิพาทต่อมาด้วยตนเอง และที่นางพยอมพยานจำเลยเบิกความว่า ขณะนายเพาะยังมีชีวิตอยู่ มีนางกรองแก้วกับสามีชื่อนายพินิจทำนาในที่ดินพิพาท และมอบผลผลิตเป็นข้าวเปลือกให้แก่นายเพาะ หลังจากนายเพาะถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยเข้าไปดูแลที่ดินโดยให้นายพินิจทำนาเช่นเดิม รวมทั้งนางกรองแก้วพยานจำเลยเบิกความว่า พยานและนายพินิจทำนาในที่ดินพิพาท ลักษณะเป็นการเช่าทำนาของนายเพาะ โดยแบ่งผลผลิตให้นายเพาะในช่วงเวลาที่นายเพาะยังมีชีวิตอยู่ เมื่อนายเพาะและนางยอนถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยก็เข้ามาดูแลที่ดินพิพาท โดยให้พยานและนายพินิจทำนาตามเดิม พยานให้ผลตอบแทนจากการทำนาแก่จำเลยในอัตราที่เคยให้แก่นายเพาะ ยิ่งกว่านั้นจำเลยยังเบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การทำนาของนายพินิจในที่ดินพิพาทนั้น นายพินิจน่าจะได้มอบผลผลิตหรือผลประโยชน์ทำนาให้แก่นายเพาะซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินด้วย ซึ่งคำเบิกความพยานฝ่ายจำเลยข้างต้นบ่งชี้ได้ว่า ก่อนนายเพาะถึงแก่ความตายนั้น นายเพาะยังคงเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทด้วยการถือสิทธิครอบครองในที่ดิน โดยยอมให้บุคคลอื่นเข้ามาทำนาในที่ดินพิพาทและเก็บผลประโยชน์จากการทำนาดังกล่าว ถือว่าระหว่างมีชีวิตอยู่นายเพาะยังไม่ได้ยกหรือส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย ฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของนายเพาะ ที่จำเลยนำสืบว่านายเพาะเคยสั่งเสียให้ทายาททุกคนทราบว่าผู้ตายจะยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยนั้น แม้ฟังว่านายเพาะเคยสั่งเสียดังกล่าวไว้ แต่การสั่งเสียของนายเพาะนั้นก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นการทำพินัยกรรมด้วยวาจาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1663 ที่บัญญัติว่า"เมื่อมีพฤติการณ์พิเศษซึ่งบุคคลใดไม่สามารถจะทำพินัยกรรมตามแบบอื่นที่กำหนดไว้ได้เช่น ตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตาย หรือเวลามีโรคระบาด หรือสงคราม บุคคลนั้นจะทำพินัยกรรมด้วยวาจาก็ได้..." เนื่องจากไม่มีพฤติการณ์พิเศษอันเป็นเงื่อนไขของบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อนายเพาะถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนายเพาะตกแก่ทายาทโดยธรรมของนายเพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 และมาตรา 1600 ดังนั้น การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของนายเพาะเจ้ามรดกเป็นของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดก จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองทรัพย์มรดกนั้นในฐานะผู้จัดการมรดกแทนทายาทอื่นรวมถึงโจทก์ด้วย แม้หลังจากนั้นจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยในฐานะส่วนตัว ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยได้บอกกล่าวไปยังทายาทอื่นทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วยว่า จำเลยไม่มีเจตนายึดถือที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแทนทายาททุกคนต่อไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1381 ด้วยเหตุนี้ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยในฐานะส่วนตัวได้เปลี่ยนเจตนาการครอบครองที่ดินพิพาทจากการครอบครองแทนทายาททุกคนมาเป็นการครอบครองในฐานะส่วนตัวเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว และที่จำเลยนำสืบอีกว่า จำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่สำหรับที่ดินพิพาทนั้น เห็นว่า การเสียภาษีบำรุงท้องที่มิได้เป็นข้อสันนิษฐานหรือหลักฐานที่แสดงว่าผู้เสียมีสิทธิครอบครองในที่ดินแต่อย่างใดฟังได้ว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นทุกคนรวมทั้งโจทก์ด้วยตลอดมา ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกของนายเพาะที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกจะต้องแบ่งปันแก่บรรดาทายาทต่อไปจำเลยจึงไม่อาจยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานที่ดินรังวัดออกโฉนดที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่ที่โจทก์ขอให้แบ่งที่ดินให้แก่ทายาทคนอื่นของเจ้ามรดก โดยทายาทดังกล่าวมิได้ร้องสอดเข้ามาในคดีหรือได้มอบอำนาจให้โจทก์เรียกทรัพย์มรดกแทน จึงเป็นการกันส่วนแบ่งทรัพย์มรดกไว้เพื่อทายาทอื่นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1749 ศาลฎีกาไม่อาจพิพากษาให้ได้ พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1 ระหว่างจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายเพาะกับจำเลยในฐานะส่วนตัว เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2538 เฉพาะส่วนของโจทก์ 1 ใน 11 ส่วน ให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1 ให้แก่โจทก์ และให้จำเลยดำเนินการเพิกถอนคำขอออกโฉนดสำหรับที่ดินดังกล่าว หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
|