ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้มีส่วนได้เสีย
ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้มีส่วนได้เสีย ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน แม้เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตาย ภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าว จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 615/2547 ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านต่างขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายคดีจึงมีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเพียงว่าสมควรตั้งผู้ร้องที่ 2 หรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่โต้เถียงกันเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้นศาลไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยได้ ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ทั้งนี้ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสีย แม้ผู้ร้องที่ 2 เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายแต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตาย เมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามมาตรา 1713 ส่วนผู้คัดค้นซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายเป็นทายาทลำดับที่ 2 แต่ก็มีสิทธิรับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1630 วรรคสอง ศาลจึงตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมแก่ทายาททุกฝ่าย
ผู้ร้องทั้งสองยื่นคำร้องขอว่า ผู้ร้องที่ 1 เป็นบุตรของผู้ร้องที่ 2 กับนายอดุลย์ ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส และนายอดุลย์ได้รับรองผู้ร้องที่ 1 เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 นายอดุลย์ได้ถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ในระหว่างมีชีวิตอยู่ผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 1 แปลงซึ่งผู้ตายและผู้ร้องที่ 2 นำไปจำนองไว้ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์กรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดก จึงขอให้ศาลแต่งตั้งผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ผู้ร้องที่ 2 ไม่เหมาะสมที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงขอให้ยกคำร้องขอของผู้ร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนางบุญเรือน มาลัยนาค (ที่ถูกควรเป็นนางสาวบุญเรือนมาลัยนาค) ผู้ร้องที่ 2 และนายจำลอง ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกันของนายอดุลย์ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้ร้องทั้งสองอุทธรณ์ ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า นายอดุลย์ ผู้ตายเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของผู้คัดค้าน กับนางไอ ผู้ร้องที่ 2 อยู่กินกันฉันสามีภริยากับผู้ตาย แต่มิได้จดทะเบียนสมรสกันและมีบุตรด้วยกัน 1 คน คือ ผู้ร้องที่ 1 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2538 ผู้ตายได้ถึงแก่ความตายตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย ร.6 หรือ ค.3 โดยผู้ตายและผู้ร้องที่ 2 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันในที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตำบลบางเขน (สวนใหญ่) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 ซึ่งก่อนถึงแก่ความตาย ผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า ผู้คัดค้านสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ 2 หรือไม่ โดยคดีนี้ผู้ร้องทั้งสองนำสืบว่า ระหว่างที่ผู้ร้องที่ 2 กับผู้ตายอยู่กินด้วยกันนั้น ได้ร่วมกันซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 และร่วมกันปลูกสร้างบ้านบนที่ดินดังกล่าว ซึ่งผู้ร้องที่ 2 และผู้ตายได้กู้ยืมเงินจากธนาคารอาคารสงเคราะห์มาซื้อบ้านและที่ดิน โดยนำที่ดินดังกล่าวจดทะเบียนจำนองไว้เป็นประกันตามสำเนาหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย ร.5 ซึ่งทั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้ตายร่วมกันผ่อนชำระหนี้ให้แก่ธนาคารเรื่อยมา ต่อมาในปี 2535 ผู้ตายประสบอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์พลิกคว่ำจนพิการผู้ร้องที่ 2 จึงต้องรับภาระผ่อนส่งเงินให้แก่ธนาคารเพียงผู้เดียวจนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ผู้ร้องที่ 2 ก็ยังต้องรับภาระดังกล่าวอยู่ส่วนผู้คัดค้านนำสืบว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 158851 ตามสำเนาโฉนดที่ดินเอกสารหมาย ร.3 ที่ผู้ร้องที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ตายนั้น แท้จริงแล้วผู้ตายและนางละออ ซึ่งเป็นป้าผู้ตายร่วมกันออกเงินซื้อที่ดินดังกล่าว โดยผู้ตายออกเงินจำนวน 150,000 บาท นางละออออกเงินจำนวน 100,000 บาท แล้วตกลงแบ่งที่ดินกันโดยผู้ตายได้ที่ดินเป็นเนื้อที่ 25 ตารางวา ส่วนนางละออได้ที่ดินเป็นเนื้อที่ 20 ตารางวา สาเหตุที่ไม่มีชื่อนางละออในโฉนดที่ดินเพราะผู้ตายต้องการนำที่ดินไปจำนองเอาเงินปลูกสร้างบ้าน โดยตกลงว่าเมื่อผ่อนชำระเงินแก่ธนาคารหมดแล้วก็จะแบ่งที่ดินให้แก่นางละออ ก่อนที่ผู้ตายจะถึงแก่ความตายผู้ตายประสบอุบัติเหตุรถคว่ำ ทำให้ร่างกายทุพพลภาพ ผู้คัดค้านจึงนำผู้ตายมาพักรักษาตัวที่บ้านของผู้คัดค้านโดยผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้มาดูแล เพียงแต่มาเยี่ยมเดือนละ 2 ถึง 3 ครั้งและให้เงินครั้งละ 300 ถึง 400 บาท เท่านั้น ซึ่งผู้คัดค้านเพิ่งมาทราบภายหลังว่าเงินที่ผู้ร้องที่ 2 นำมาให้ผู้ตายเป็นเงินประกันสังคมของผู้ตาย ที่ผู้ตายมีสิทธิจะได้รับเดือนละประมาณ 3,000 บาท หลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ผู้ร้องที่ 2 ก็มีสามีใหม่โดยมีบุตรด้วยกัน 1 คน เห็นว่า การที่ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านต่างขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งตนเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น มีประเด็นที่ศาลต้องวินิจฉัยเพียงว่า สมควรตั้งผู้ร้องที่ 2 หรือผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านยกขึ้นโต้เถียงเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตายนั้น ศาลยังไม่อาจก้าวล่วงไปวินิจฉัยได้โดยผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านชอบที่จะไปดำเนินคดีเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหากจากคดีนี้ ทั้งนี้ทายาทที่จะร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกได้นั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 หมายความถึงทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก หรือผู้มีส่วนได้เสีย แม้ผู้ร้องที่ 2 เป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่ได้อยู่กินร่วมกันจนผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อมีทรัพย์สินได้มาในระหว่างนั้น ย่อมถือว่าเป็นทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกัน ผู้ร้องที่ 2 จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1713 ส่วนผู้คัดค้านซึ่งเป็นบิดาของผู้ตายแม้เป็นทายาทลำดับที่ 2 แต่ก็มีสิทธิรับมรดกเสมือนทายาทชั้นบุตรตามมาตรา 1630 วรรคสอง ดังนั้น เมื่อผู้ร้องที่ 2 มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ส่วนผู้คัดค้านเป็นทายาทที่มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ประกอบกับผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านมีจุดประสงค์เดียวกันที่จะคุ้มครองประโยชน์ของผู้ร้องที่ 1 โดยเฉพาะอย่างยิ่งทั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านไม่มีคุณสมบัติต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงสมควรตั้งบุคคลทั้งสองเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน เพื่อความเป็นธรรมแก่ทายาททุกฝ่ายต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ตั้งผู้ร้องที่ 2 เพียงผู้เดียวให้เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จึงไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น อนึ่ง ศาลชั้นต้นได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม และศาลอุทธรณ์ภาค 1 มิได้แก้ไขเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนายจำลอง ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายอดุลย์ ผู้ตายร่วมกับนางสาวบุญเรือน มาลัยนาค ผู้ร้องที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1" |