ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร?
ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มีผลอย่างไร? ผู้จัดการมรดกไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน หรือจัดทำให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จะมีผลอย่างไร? ถือว่าผู้จัดการมรดก ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกเป็นเหตุให้ทายาทอื่นได้รับความเสียหายและมีสิทธิร้องขอให้ถอนออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้หรือไม่? การร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกหากผู้ร้องไม่ได้ระบุทายาทในบัญชีเครือญาติโดยธรรม จะมีผลให้ให้ผู้จัดการมรดกถือว่าเป็นการปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกหรือไม่?? อ่านคำตอบได้ด้านล่างนี้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4692/2552 ผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้น ผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ใน ป.วิ.พ. มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟัง แม้ผู้ร้องไปขอรับเงินฝากอันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคาร ตามหนังสือทายาทขอรับมรดก แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกัน จึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดก ที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่าในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้วผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก ป.พ.พ. มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดกมิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกัน หากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก เช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายเกษมตามคำสั่งศาล และขอให้ตั้งผู้คัดค้านซึ่งมิได้เป็นบุคคลต้องห้ามไม่ให้เป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกแทน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ให้ค่าคำร้องเป็นพับ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์เป็นพับ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2542 ศาลชั้นต้นตั้งผู้ร้องซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก โดยผู้ร้องมิได้ระบุชื่อผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้วว่าเป็นทายาทโดยธรรมเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ร้องกับเจ้ามรดกไว้ในบัญชีเครือญาติเอกสารหมาย ร.5 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านมีว่า มีเหตุที่ศาลจะสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกรายนี้หรือไม่ ผู้คัดค้านมีตัวผู้คัดค้านและนางชิดมารดาของผู้คัดค้านเป็นพยานเบิกความว่า ผู้ร้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกโดยไม่บอกกล่าวผู้คัดค้านและเครือญาติที่ไปร่วมงานศพของเจ้ามรดก ทั้งยังปกปิดข้อเท็จจริงไม่ระบุชื่อผู้คัดค้านในบัญชีเครือญาติตามบัญชีเครือญาติเอกสารหมาย ร.5 ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้ว นอกจากทรัพย์มรดกมากมายหลายรายการตามบัญชีทรัพย์เอกสารหมาย ค.4 แล้ว ผู้ร้องยังขอรับเงินฝากประมาณ 800,000 บาท อันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานควาย ตามหนังสือทายาทขอรับมรดกเอกสารหมาย ค.3 แต่ผู้ร้องกลับละเลยไม่ทำบัญชีทรัพย์มรดกและไม่แบ่งปันทรัพย์มรดกเหล่านั้นแก่ทายาทอื่นรวมทั้งผู้คัดค้าน โดยผู้คัดค้านตอบคำถามค้านรับข้อเท็จจริงว่า เจ้ามรดกมีหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมากที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ ผู้คัดค้านเองก็ฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกจากผู้ร้องต่อศาลชั้นต้นและคดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ขณะเดียวกันนางชิดก็ตอบคำถามค้านรับข้อเท็จจริงด้วยว่า ผู้ร้องกับบุตรต้องดำเนินกิจการบริษัทกล้วยไม้แทนเจ้ามรดกเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ แสดงแจ้งชัดอยู่ในตัวว่าผู้ร้องซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลยังมีภาระหน้าที่ที่จะต้องรวบรวมทรัพย์มรดกซึ่งมีจำนวนมากมายหลายรายการ ต่อสู้คดีที่ถูกเจ้าหนี้กองมรดกฟ้องให้ชำระหนี้แทนกองมรดก รวมทั้งบริหารจัดการบริษัทกล้วยไม้สืบแทนเจ้ามรดก เมื่อภาระหน้าที่ดังกล่าวยังไม่ลุล่วง ผู้ร้องย่อมจะไม่สามารถลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้ฟังคำสั่งศาลตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 โดยให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งเดือนตามมาตรา 1729 นับแต่เวลาที่ระบุไว้ในมาตรา 1728 เพราะมีอุปสรรคขัดขวาง มิใช่ผู้ร้องละเลย ส่วนข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าเป็นเพราะผู้ร้องมีเจตนาปกปิดไม่ให้ผู้คัดค้านล่วงรู้ว่าเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกมากเพื่อปิดบังทรัพย์มรดกนั้นผู้คัดค้านมิได้นำสืบพยานใดสนับสนุนข้อกล่าวอ้างของตนตามภาระการพิสูจน์ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (1) พยานหลักฐานของผู้คัดค้านจึงไม่พอรับฟังแม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าผู้ร้องไปขอรับเงินฝาก 834, 868.96 บาท อันเป็นมรดกของเจ้ามรดกจากธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาย่อยสะพานควาย ตามหนังสือทายาทขอรับมรดกเอกสารหมาย ค.3 แต่ความก็ปรากฏจากเอกสารฉบับนั้นว่าผู้ร้องขอรับเงินในฐานะผู้จัดการมรดก มิได้กระทำเป็นการส่วนตัว ส่วนการรับโอนที่ดินมรดกก็ปรากฏจากคำร้องขอถอนผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านเองว่าผู้ร้องดำเนินการในฐานะผู้จัดการมรดกเช่นกันจึงไม่ใช่การกระทำที่ส่อว่าเป็นการทุจริตหรือปิดบังทรัพย์มรดกที่ผู้ร้องยังมิได้แบ่งปันทรัพย์มรดกแก่ทายาทก็เนื่องจากกองมรดกมีหนี้สิน ดังนั้น ตราบใดที่เจ้าหนี้กองมรดกยังไม่ได้รับชำระหนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1736 วรรคหนึ่ง ให้ถือว่าทรัพย์มรดกยังคงอยู่ในระหว่างจัดการ โดยในวรรคสองกำหนดว่า ในระหว่างเวลาเช่นว่านั้นผู้จัดการมรดกชอบที่จะทำการใด ๆ ในทางจัดการตามที่จำเป็นได้ เช่น แก้ฟ้องในศาลและอื่น ๆ และเมื่อเจ้าหนี้กองมรดกได้รับชำระหนี้แล้ว ผู้จัดการมรดกต้องทำการแบ่งปันมรดก แม้กระนั้นมาตรา 1744 ยังบัญญัติรับรองต่อไปว่า ผู้จัดการมรดกไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกหรือส่วนใดส่วนหนึ่งแห่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อนปีหนึ่งนับแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายเว้นแต่เจ้าหนี้กองมรดกที่ปรากฏตัวได้รับชำระหนี้แล้วทุกคน ดังนั้น การกระทำของผู้ร้องจึงมิใช่ละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ผู้จัดการมรดก ข้อที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ร้องปกปิดข้อเท็จจริงไม่ระบุชื่อผู้คัดค้านในบัญชีเครือญาติ ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรนอกกฎหมายที่เจ้ามรดกได้รับรองแล้วนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 เพียงแต่กำหนดเหตุที่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งพนักงานอัยการอาจร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกในกรณีต่างๆ เท่านั้น และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์ และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก มิได้กำหนดให้ผู้ร้องต้องเสนอบัญชีทายาทโดยธรรมผู้มีสิทธิได้รับมรดกต่อศาลด้วยในคราวเดียวกันหากแต่แยกกำหนดไว้ในมาตรา 1725 ว่า ผู้จัดการมรดกต้องสืบหาโดยสมควรซึ่งตัวผู้มีส่วนได้เสียและแจ้งไปให้ทราบถึงข้อกำหนดพินัยกรรมที่เกี่ยวกับผู้นั้นภายในเวลาอันสมควร การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกเช่นนั้นในขณะที่ยังไม่มีภาระหน้าที่ผู้จัดการมรดก จึงมิใช่การปกปิดข้อเท็จจริงในเรื่องทายาทของเจ้ามรดกและไม่เป็นเหตุที่ศาลอาจถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้ยกคำร้องคัดค้านจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน ให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้เป็นพับ |