บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย
ติดต่อเรา โทร. 085-9604258 บุตรบุญธรรมเป็นผู้สืบสันดานมีสิทธิรับมรดกเหมือนบุตรชอบด้วยกฎหมาย โจทก์เป็นบุตรบุญธรรมของนายประเสริฐ โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย เมื่อนางพิสมร ภรรยาชอบด้วยกฎหมายของนายประเสริฐ ถึงแก่ความตายก่อนนายประเสริฐ โดยมีทรัพย์มรดกนายประเสริฐ เป็นคู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิรับมรดกของนางพิสมร เมื่อนายประเสริฐ ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของพิสมร โจทก์ซึ่งเป็นบุตรบุญธรรมของนายประเสริฐจึงมีสิทธิรับมรดกของนางพิสมร ในส่วนที่้ตกได้แก่นายประเสริฐ ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1276/2558 โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. เนื่องจาก ป. จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรม โดย ส. ผู้ตาย ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของ ป. ให้ความยินยอมด้วย โจทก์จึงถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของ ป. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 เมื่อ ส. ถึงแก่ความตายก่อน ป. โดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินส่วนตัว ป. คู่สมรสย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของ ส. ด้วยตามมาตรา 1635 แม้ ป. ยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่า ป. แสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 ป. จึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ตามกฎหมาย เมื่อ ป. ถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ส. โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของ ป. ในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. แบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของ ส. ในส่วนที่ตกแก่ ป. ได้ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึง ป. คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่ ส. เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้งสามแปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของ ส. ทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของ ส. ในส่วนที่ตกได้แก่ ป. คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 7815 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ จำนวน 3 งาน 24.5 ตารางวา ราคาประมาณ 1,622,500 บาท แบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1087 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน ราคาประมาณ 22,010,000 บาท และแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 15117 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เนื้อที่ประมาณ 62 ตารางวา ราคาประมาณ 1,000,000 บาท หากการแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวไม่เป็นที่ตกลงกัน ให้ประมูลขายหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่สามารถจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกดังกล่าวได้หรือไม่สามารถขายทอดตลาดได้ ให้จำเลยใช้ราคาแทนแก่โจทก์ จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 7815 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ จำนวนเนื้อที่ 3 งาน 24.5 ตารางวา และแบ่งทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 1087 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์ จำนวนเนื้อที่ 11 ไร่ 2 งาน หากแบ่งไม่ได้ให้ประมูลขายหรือขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยแบ่งเงินค่าขายทรัพย์มรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 15117 ตำบลจรเข้บัว อำเภอบางกะปิ จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เป็นเงินจำนวน 310,000 บาท คำขออื่นให้ยก ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1087 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร แก่โจทก์ เนื้อที่ 11 ไร่ 2.38 ตารางวา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท จำเลยฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยถึงแก่ความตาย นางตีเปาะห์ ผู้จัดการมรดกของจำเลยยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาอนุญาต ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2520 นายประเสริฐ จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมตามทะเบียนการรับบุตรบุญธรรม ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7572/2543 ของศาลชั้นต้น โดยนางพิสมร ภริยาให้ความยินยอมตามบันทึกด้านหลังทะเบียนการรับบุตรบุญธรรมดังกล่าวด้วย ต่อมาวันที่ 26 มีนาคม 2532 นางพิสมรถึงแก่ความตาย ขณะถึงแก่ความตายมีทรัพย์อันเป็นมรดกคือรถยนต์ 1 คัน และที่ดินพิพาทตามฟ้องรวม 3 แปลง ตามรายการชื่อเจ้าของรถและสำเนาโฉนดที่ดิน กับสำเนาโฉนดที่ดิน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7572/2543 ของศาลชั้นต้น นางพิสมรไม่มีบุตร แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันซึ่งยังมีชีวิตอยู่ 9 คน ส่วนบิดามารดาของนางพิสมรถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว จำเลยเป็นพี่ชายของนางพิสมรและเป็นผู้จัดการมรดกของนางพิสมร ตามคำสั่งคดีหมายเลขแดงที่ 9635/2532 ของศาลแพ่ง ต่อมาวันที่ 14 ธันวาคม 2539 นายประเสริฐถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกมีว่า นายประเสริฐ เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพิสมร หรือไม่ เห็นว่า แม้ทะเบียนสมรสในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 7572/2543 ของศาลชั้นต้น ระบุชื่อสามีของนางพิสมรว่าชื่อนายมาลีกี ไม่ใช่ชื่อนายประเสริฐก็ตาม แต่ตามเอกสารดังกล่าวระบุว่านายมาลีกีเป็นบุตรของนายการีมและนางดีเมาะ และเกิดปี 2483 ซึ่งตรงกับสำเนาทะเบียนบ้าน ในคดีอาญาดังกล่าวที่ระบุว่านายมาลีกีได้เปลี่ยนชื่อเป็นนายประเสริฐ เป็นบุตรของนายการีมและนางดีเมาะซึ่งเกิดเมื่อปี 2483 เช่นกัน โดยโจทก์มีนายนรินทร์ ผู้ช่วยนายทะเบียนท้องถิ่น สำนักงานเขตหนองจอกเบิกความยืนยันว่าเอกสารดังกล่าวตรงกับต้นฉบับ ส่วนจำเลยมีเพียงจำเลยและนางตีเปาะห์ ภริยาจำเลยเบิกความลอย ๆ เพียงว่า นายมาลีกีเป็นสามีคนแรกของนางพิสมร และนายประเสริฐเป็นสามีคนที่สองโดยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย รับฟังได้ว่าเดิมนายประเสริฐมีชื่อว่ามาลีกี และเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพิสมร ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อมามีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องคดีนี้และฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่านายประเสริฐเป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของนางพิสมรผู้ตายและได้จดทะเบียนรับโจทก์เป็นบุตรบุญธรรมโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงถือเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของนายประเสริฐตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1627 เมื่อนางพิสมรถึงแก่ความตายก่อนนายประเสริฐโดยมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดินพิพาทรวม 3 แปลง แม้ที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่นางพิสมรผู้ตายมีอยู่ก่อนสมรสอันเป็นสินส่วนตัวของผู้ตาย แต่เมื่อนายประเสริฐเป็นคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายจึงย่อมเป็นทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิรับมรดกของนางพิสมรด้วยส่วนหนึ่งตามมาตรา 1635 แม้นายประเสริฐยินยอมให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกและไม่ได้เข้ายุ่งเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อไม่ปรากฏว่านายประเสริฐแสดงเจตนาสละมรดกดังกล่าวตามมาตรา 1612 นายประเสริฐจึงยังคงเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพิสมรตามกฎหมาย เมื่อนายประเสริฐถึงแก่ความตายโดยยังไม่ได้รับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางพิสมรภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ซึ่งเป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายประเสริฐในฐานะเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย จึงมีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนางพิสมรแบ่งที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกของนางพิสมรในส่วนที่ตกแก่นายประเสริฐได้ ส่วนปัญหาว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วหรือไม่นั้น เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การไว้ว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเพราะเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกซึ่งจะต้องฟ้องภายในห้าปีนับแต่การจัดการมรดกเสร็จสิ้นลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง โดยจำเลยให้การเพียงว่านายประเสริฐ กับโจทก์ต่างมิได้ครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดก โจทก์นำคดีมาฟ้องเกินกว่า 1 ปี นับแต่นายประเสริฐถึงแก่ความตายและนับแต่โจทก์บรรลุนิติภาวะจึงขาดอายุความ อายุความที่จำเลยอ้างถึงคืออายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 มิใช่อายุความห้าปีตามมาตรา 1733 วรรคสอง คดีจึงมีประเด็นต้องวินิจฉัยเพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหนึ่งปีตามมาตรา 1754 หรือไม่เท่านั้น ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความตามมาตรา 1733 วรรคสอง จึงเป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นไม่ชอบด้วยกฎหมาย ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ กรณีจึงไม่มีเหตุให้ต้องวินิจฉัยว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกของนางพิสมรเสร็จสิ้นแล้วหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนางพิสมรซึ่งมีหน้าที่ต้องแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนซึ่งรวมถึงนายประเสริฐ คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ในขณะที่นางพิสมรเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย การที่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกทั้ง 3 แปลง ให้แก่ตนเองเพียงผู้เดียวจึงเป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว และถือได้ว่าการมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ทางทะเบียนในที่ดินดังกล่าวเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทแทนทายาทอื่นของนางพิสมรทุกคนเท่านั้น จำเลยจึงไม่อาจยกอายุความมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของนางพิสมรในส่วนที่ตกได้แก่นายประเสริฐบิดาบุญธรรมของโจทก์ คดีของโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาสุดท้ายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้โจทก์ได้รับส่วนแบ่งสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1087 จำนวน 11 ไร่ 2.38 ตารางวา ชอบแล้วหรือไม่ จึงรับฟังว่านางพิสมรมีกรรมสิทธิ์เท่ากับเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมคนอื่นคือ 1 ใน 4 ส่วน ซึ่งคิดเป็นเนื้อที่ดินได้ 22 ไร่ 4.75 ตารางวา นายประเสริฐคู่สมรสของนางพิสมรจึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งกึ่งหนึ่งจากที่ดินดังกล่าวจำนวน 11 ไร่ 2.375 ตารางวา ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทของนายประเสริฐได้รับส่วนแบ่งมรดกของนางพิสมรจำนวน 11 ไร่ 2.38 ตารางวาจึงยังไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง ฎีกาของจำเลยที่ว่าการคิดคำนวณเนื้อที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของนางพิสมรไม่ถูกต้องจึงฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 1087 ตำบลคลองสิบ (คลองซอยที่ 10 ฝั่งตะวันตก) อำเภอหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร ให้แก่โจทก์เนื้อที่ 11 ไร่ 2.375 ตารางวา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |