
-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3) peesirilaw หรือ (4) @peesirilaw (5) @leenont1
-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE

บุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้วเป็นผู้สืบสันดาน
บุตรนอกกฎหมายแม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่สูติบัตรระบุว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กทั้งได้เลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กเป็นบุตร ดังนั้นเด็กจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3785-3787/2552
นางอรวรรณ ธนารักษ์ ในฐานะส่วนตัวและในฐานะ
ผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานี กัมมารังกูร ผู้ร้อง
นายธนา กับพวก ผู้คัดค้าน
ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์ทั้งหมดให้แก่นาง ต. ผู้เป็นมารดาเพียงผู้เดียว แต่นาง ต. มารดาผู้รับพินัยกรรมได้ถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นาง ต. มารดาย่อมตกไปตามมาตรา 1698 (1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นมรดกจึงตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1699 ประกอบมาตรา 1620 วรรคหนึ่ง แม้พินัยกรรมดังกล่าวมีข้อกำหนดให้ตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ความปรากฏในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาว่าผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายและการจัดการมรดกเป็นสิทธิเฉพาะตัว จึงไม่อาจตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องได้
เมื่อผู้ร้องกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามมาตรา 1457 ผู้ร้องจึงไม่เป็นทายาทโดยธรรมตามมาตรา 1629 วรรคสอง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมกันฉันสามีภรรยาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาทำมาหาได้ร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวม เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิง ญ. แม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตาม แต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิง ญ. ทั้งได้นำเด็กหญิง ญ. มาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงได้ว่าผู้ตายได้รับรองเด็กหญิง ญ. เป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิง ญ. จึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองแล้ว ถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิง ญ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) ประกอบมาตรา 1547 มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกนางอรวรรณ ว่า ผู้ร้อง เรียกนายธนา ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และเรียกนายเอกชัย ว่า ผู้คัดค้านที่ 2
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องกับยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 หรือให้ผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมของผู้ตาย
ศาลประกาศนัดไต่สวนแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องและคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และยกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องและคัดค้านกับขอแก้ไขคำคัดค้าน ขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ยกคำร้องของผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 2
ระหว่างพิจารณาผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำแถลงร่วมกัน ว่าขอถอนคำคัดค้านซึ่งกันและกันและขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว มีคำสั่งให้นางอรวรรณ ผู้ร้องและนายธนา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกัน โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนขอจัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานี และยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางอรวรรณ ผู้ร้อง และนายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกันโดยมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายและให้ยกคำร้องของผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
ผู้ร้องและผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาคดีของศาลฎีกานายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงแก่ความตายนางวชิราภรณ์ และนายธวัชชัย ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ ศาลฎีกามีคำสั่งว่า คดีร้องขอจัดการมรดกเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ยกคำร้อง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่านายบุญย์ ผู้ตาย ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2538 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2526 ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ ยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่นางเต๋า มารดาของผู้ตาย โดยตั้งให้นายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดก แต่ปรากฏว่านางเต๋าถึงแก่ความตายก่อนผู้ตาย ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงตกไป ผู้ตายไม่มีภรรยาหรือบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่ได้จดทะเบียนรับรองนายธนา ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตร และได้แจ้งในทะเบียนสูติบัตรว่าเด็กหญิงญานี เป็นบุตรของผู้ตายกับผู้ร้อง ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาผู้ร้องและฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 มีว่า ฝ่ายใดสมควรเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย เห็นว่า ถึงแม้ผู้ร้องกับผู้ตายจะไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันแต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบุคคลทั้งสองอยู่ร่วมฉันสามีภรรยากันมาตั้งแต่ปี 2523 จนกระทั่งผู้ตายถึงแก่ความตาย ตลอดเวลาได้ทำมาหากินร่วมกัน ดังนั้นทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้ผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในฐานะเจ้าของรวมอยู่ด้วย เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตาย ทรัพย์สินที่บุคคลทั้งสองร่วมกันทำมาหาได้ย่อมต้องแบ่งเป็นของผู้ร้องส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตาย ส่วนเด็กหญิงญานีแม้จะมิใช่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายก็ตามแต่ปรากฏตามสำเนาสูติบัตรว่าผู้ตายแจ้งว่าผู้ตายเป็นบิดาของเด็กหญิงญานี ทั้งได้นำเด็กหญิงญานีมาเลี้ยงดูอุปการะ ส่งเสียให้เล่าเรียนและให้ใช้ชื่อสกุลของผู้ตาย พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ตายได้รับรองว่าเด็กหญิงญานีเป็นบุตร ดังนั้นเด็กหญิงญานีจึงเป็นบุตรนอกกฎหมายซึ่งผู้ตายรับรองถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 1627 และเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ฉะนั้นผู้ร้องในฐานะส่วนตัวและฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานีจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องของผู้ร้องในส่วนขอจัดการมรดกในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของเด็กหญิงญานีมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ผู้ร้องย่อมมีสิทธิร้องขอให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามมาตรา 1713
สำหรับผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุตรที่ผู้ตายได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตร ดังนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายและเป็นผู้สืบสันดานตามมาตรา 1629 (1) มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่ให้ตั้งนายเอกชัย ผู้คัดค้านที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับผู้ร้องและให้จำหน่ายคดีสำหรับผู้คัดค้านที่ 2 อกจากสารบบความของศาลฎีกา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
( สุมิตร สุภาดุลย์ - ศิริชัย จิระบุญศรี - สมศักดิ์ อเนกพุฒิ )
ศาลแพ่ง - นายอำนวย สุขพรหม
ศาลอุทธรณ์ - นายสรศักดิ์ วาจาสิทธิศิลป์
ป.พ.พ. 1699, 1713
มาตรา 1457 การสมรสตามประมวลกฎหมายนี้จะมีได้เฉพาะเมื่อได้จดทะเบียนแล้วเท่านั้น
มาตรา 1547 เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร
มาตรา 1620 ถ้าผู้ใดตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้หรือทำพินัยกรรมไว้แต่ไม่มีผลบังคับได้ ให้ปันทรัพย์มรดกทั้งหมดแก่ทายาทโดยธรรมของผู้ตายนั้นตามกฎหมาย
ถ้าผู้ใดตายโดยได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่พินัยกรรมนั้นจำหน่ายทรัพย์หรือมีผลบังคับได้แต่เพียงบางส่วนแห่งทรัพย์มรดก ให้ปันส่วนที่มิได้จำหน่ายโดยพินัยกรรม หรือส่วนที่พินัยกรรมไม่มีผลบังคับให้แก่ทายาทโดยธรรมตามกฎหมาย
มาตรา 1627 บุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรองแล้วและบุตรบุญธรรมนั้นให้ถือว่าเป็นผู้สืบสันดาน เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามความหมายแห่งประมวลกฎหมายนี้
มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ
(1) ผู้สืบสันดาน
(2) บิดามารดา
(3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
(4) พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
(5) ปู่ ย่า ตา ยาย
(6) ลุง ป้า น้า อา
คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่นั้นก็เป็นทายาทโดยธรรม ภายใต้บังคับของบทบัญญัติพิเศษแห่งมาตรา 1635
มาตรา 1698 ข้อกำหนดพินัยกรรมนั้น ย่อมตกไป
(1) เมื่อผู้รับพินัยกรรมตายก่อนผู้ทำพินัยกรรม
(2) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นผลใช้ได้ต่อเมื่อเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งสำเร็จลง และผู้รับพินัยกรรมตายเสียก่อนเงื่อนไขสำเร็จ หรือปรากฏเป็นที่แน่นอนอยู่แล้วว่าเงื่อนไขนั้นไม่อาจจะสำเร็จได้
(3) เมื่อผู้รับพินัยกรรมบอกสละพินัยกรรม
(4) เมื่อทรัพย์สินทั้งหมดที่ยกให้สูญหาย หรือถูกทำลายโดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ตั้งใจในระหว่างที่ผู้ทำพินัยกรรมยังมีชีวิตอยู่ และผู้ทำพินัยกรรมมิได้ได้มาซึ่งของแทน หรือซึ่งสิทธิที่จะเรียกค่าทดแทนในการที่ทรัพย์สินนั้นสูญหายไป
มาตรา 1699 ถ้าพินัยกรรม หรือข้อกำหนดในพินัยกรรม เกี่ยวกับทรัพย์สินรายใดเป็นอันไร้ผลด้วยประการใดๆ ทรัพย์สินรายนั้นตกทอดแก่ทายาทโดยธรรมหรือได้แก่แผ่นดินแล้วแต่กรณี
มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
(1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
(3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร