

ผู้จัดการมรดก | ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก ผู้ตายทำพินัยกรรม บุตรคนอื่นไม่มีชื่อย่อมถูกตัดไม่ให้รับมรดก เป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้ ผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรม และทำในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ดังนั้น พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ เมื่อพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสามของผู้ตายจึงเป็นการตัดทายาทโดยธรรมของผู้ตายถ้าหากมีโดยปริยาย แม้ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว อันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดกผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14777/2558 พินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสาม คือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ. และเด็กหญิง ก. ดังนั้นแม้จะฟังว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วอันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดก ตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดก ตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายเล็ก ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอให้ถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และตั้งนายฐิตพัฒน์ เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายกับนางผ่องพรรณไม่เคยอยู่กินฉันสามีภริยากันผู้คัดค้านไม่ใช่บุตรของผู้ตาย และไม่ปรากฏว่าผู้ตายรับรองว่าผู้คัดค้านเป็นบุตร ในวันที่ทำพินัยกรรม ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ รู้ตัวดี สามารถทำพินัยกรรมได้ พินัยกรรมยกทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่บุตรทั้งสามคนของผู้ตายกับผู้ร้อง ผู้คัดค้านจึงไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องมิได้ปกปิดทรัพย์มรดกของผู้ตาย ผู้ร้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกของผู้ตายอย่างสมควรแล้ว นายฐิตพัฒน์ ไม่เหมาะสมและไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ขอให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ศาลชั้นต้น มีคำสั่งตั้งผู้ร้องกับนายฐิตพัฒน์หรือประสงค์ ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายเล็ก ผู้ตาย ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้ร้องและผู้คัดค้านอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขอของผู้คัดค้าน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ ผู้ร้องและผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งว่า ผู้ร้องและนายเล็ก ผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยมิได้จดทะเบียนสมรสเมื่อเดือนสิงหาคม 2530 มีบุตรด้วยกัน 3 คน คือนางสาวบงกช เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2531 นายฉัตรปวุฒิ และนางสาวกนกพรรณ เกิดเมื่อปี 2535 ผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางผ่องพรรณ ตามหลักฐานการตรวจดี เอ็น เอ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2546 และสำเนาแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร์ ผู้คัดค้านเกิดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2529 โดยมีผู้แจ้งการเกิดว่าชื่อเด็กชาย ช. เป็นบุตรของนายประสงค์ และนางวารี ตามสำเนาสูติบัตร ต่อมาผู้คัดค้านเปลี่ยนชื่อเป็นพลภัค ตามสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อตัว ส่วนนายประสงค์เปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุลเป็นนายฐิตพัฒน์ ตามสำเนาหนังสือเปลี่ยนชื่อตัวและชื่อสกุล ภายหลังจึงมีการแก้ไขว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของนางผ่องพรรณ ขณะผู้ตายอยู่กินเป็นสามีภริยากับผู้ร้องนั้น ผู้ตายประกอบอาชีพค้าขายยางรถยนต์ ตั้งบริษัทธนายางพาณิชย์ จำกัด ผู้ตายเริ่มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองอุดตันเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 หรือ 27 กุมภาพันธ์ 2546 จนกระทั่งวันที่ 6 มีนาคม 2546 จึงออกจากโรงพยาบาล ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2546 ได้กลับเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์อีกครั้งจนกระทั่งวันที่ 26 มีนาคม 2546 มีอาการทรุดหนัก จึงนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ แพทย์ทำการผ่าตัดผู้ตายทันที ผู้ตายพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลกรุงเทพจนกระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2546 ผู้ตายถึงแก่ความตาย ตามสำเนามรณบัตร ผู้ตายมีทรัพย์มรดก เช่น ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน หุ้นในบริษัทธนายางพาณิชย์ จำกัด ตามสำเนารายชื่อผู้ถือหุ้น เงินฝากในธนาคาร ตามสำเนาสมุดเงินฝาก และกองทุนในธนาคารตามสำเนา สมุดกองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นให้ตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายโดยอ้างว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ตามพินัยกรรมหรือสำเนาพินัยกรรม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ตามคำสั่งศาลชั้นต้นในคดีนี้ ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า พินัยกรรมปลอมหรือมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้หรือไม่ จากคำเบิกความของนายแพทย์สุรัตน์และผู้คัดค้านบ่งชี้ว่าในวันที่ระบุในพินัยกรรมคือวันที่ 13 มีนาคม 2546 ผู้ตายมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ สามารถพูดคุยได้จึงสอดคล้องและเจือสมกับคำเบิกความของนายวิศิษฎ์และผู้ร้องที่เบิกความว่า มีการสอบถามผู้ตายว่าจะทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้แก่ผู้ใด ทำให้คำเบิกความของนายวิศิษฎ์และผู้ร้องมีน้ำหนักรับฟังยิ่งขึ้นสำหรับนายแพทย์บรรยง ที่ผู้คัดค้านอ้างนั้นก็เป็นแพทย์ที่ตรวจผู้ตายขณะส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพจึงไม่ทราบอาการของผู้ตายขณะรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลไทยนครินทร์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง พยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมีน้ำหนักกว่าพยานหลักฐานผู้คัดค้าน ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ตายมีเจตนาทำพินัยกรรม และทำในขณะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ ดังนั้น พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ใช้บังคับได้ ฎีกาของผู้คัดค้านประการนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อพินัยกรรมระบุยกทรัพย์สินทั้งหมดของผู้ตายให้แก่บุตรทั้งสามของผู้ตายคือ เด็กหญิง บ. เด็กชาย ฉ และเด็กหญิง ก จึงเป็นการตัดทายาทโดยธรรมของผู้ตายถ้าหากมีโดยปริยายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง ดังนั้นแม้หากจะฟังว่าผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้ว อันถือว่าเป็นผู้สืบสันดานเหมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 1627 ซึ่งมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามมาตรา 1629 (1) ก็ตาม ผู้คัดค้านก็ถูกตัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1608 วรรคสอง ผู้คัดค้านจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียอันจะมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านและร้องขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1713 และ 1727 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ยกคำร้องขอของผู้คัดค้านมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น อนึ่ง เมื่อวินิจฉัยดังกล่าวมาแล้ว ปัญหาตามฎีกาของผู้ร้องที่ว่า ผู้คัดค้านเป็นบุตรของผู้ตายที่ผู้ตายรับรองแล้วหรือไม่ จึงไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมนอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ ทายาทผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกที่ดินและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่บุคคลใดแล้ว บุตรชอบด้วยกฎหมายอื่นๆที่ไม่มีชื่อในพินัยกรรมย่อมถูกตัดไม่ให้รับมรดก แต่เมื่อศาลได้มีคำสั่งตั้งบุตรชอบด้วยกฎหมายคนใดเป็นผู้จัดการมรดกแล้ว ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมและซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1099/2550 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายวรพรรณ์ชำระเงินแก่โจทก์ 4,300,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2538 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 1,173,550 บาท หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 12106 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้จนครบ จำเลยไม่ชำระหนี้โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์จำนองดังกล่าวเพื่อขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ตามคำพิพากษา โจทก์ให้การขอให้ยกคำร้องขอ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ปล่อยที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนให้แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยกับนายวรพรรณ์ นายวรพรรณ์เป็นบุตรของจ่าสิบตำรวจถาวรกับนางลำไย เดิมที่ดินพิพาทเป็นของจ่าสิบตำรวจถาวร ซึ่งทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้อง ตามพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2537 จ่าสิบตำรวจถาวรถึงแก่ความตายนายวรพรรณ์ร้องขอต่อศาลชั้นต้นขอเป็นผู้จัดการมรดกจ่าสิบตำรวจถาวร วันที่ 26 พฤษภาคม 2537 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2538 นายวรพรรณ์จึงนำคำสั่งศาลชั้นต้นไปจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินพิพาทมาเป็นของตน ครั้นวันที่ 26 ธันวาคม 2538 นายวรพรรณ์จดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้กู้ยืมเงินไว้แก่โจทก์ นายวรพรรณ์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2539 วันที่ 15 ธันวาคม 2540 นางสาวไมตรียื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวร จำเลยในฐานะส่วนตัว ผู้ร้องและเด็กหญิงพิมพ์มณี โดยนางปิยะนุช ผู้แทนโดยชอบธรรมได้ยื่นคำคัดค้าน และมีการส่งพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 ไปตรวจพิสูจน์ ศาลชั้นต้นเชื่อว่าพินัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 เป็นพินัยกรรมที่แท้จริง จึงพิพากษาคำร้องขอของนางสาวไมตรีและคดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้วตามคดีหมายเลขแดงที่ 496/2544 ของศาลชั้นต้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ผู้ร้องสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยที่ดินพิพาทที่โจทก์นำยึดหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจ่าสิบตำรวจถาวรทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทและทรัพย์สินอื่นทั้งหมดให้แก่ผู้ร้องตามพนัยกรรมเอกสารหมาย ร.4 นายวรพรรณ์จึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1608 วรรคสอง นายวรพรรณ์ย่อมไม่อยู่ในฐานะผู้มีส่วนได้เสียของจ่าสิบตำรวจถาวร ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ตั้งผู้จัดการมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 แต่นายวรพรรณ์ไปร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรต่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งให้นายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 797/2537 ของศาลชั้นต้น แสดงว่าการร้องขอและการนำสืบกฎหมายพยานหลักฐานของนายวรพรรณ์เป็นไปโดยไม่สุจริตปกปิดข้อเท็จจริงทำให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรโดยหลงผิด แต่เมื่อศาลมีคำสั่งตั้งนายวรพรรณ์เป็นผู้จัดการมรดกของจำเลยสิบตรวจถาวร นายวรพรรณ์ย่อมมีหน้าที่ต้องดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1719 และจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์กองมรดกและต่อผู้ร้องซึ่งตนเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองอยู่หาใดไม่ การที่นายวรพรรณ์ในฐานะผู้จัดการมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรและเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้ร้องไปรับโอนที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัวโดยนายวรพรรณ์เป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดก แต่อาศัยคำสั่งศาลที่สั่งโดยหลงผิดเช่นนี้ย่อมไม่เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกตามหน้าที่ผู้จัดการมรดกตามข้อกำหนดในพินัยกรรม แต่เป็นการทำนิติกรรมให้นายวรพรรณ์มีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรอันเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1722 นิติกรรมการโอนตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 และเป็นกิจการที่ประโยชน์ของผู้ใช้อำนาจปกครองขัดกับประโยชน์ของผู้เยาว์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากศาล กิจการนั้นย่อมเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1575 ถึงเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้นเลยกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทรวมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นส่วนควบจึงยังคงเป็นมรดกของจ่าสิบตำรวจถาวรซึ่งตกทอดได้แก่ผู้ร้องอยู่ตามเดิม หาตกเป็นกรรมสิทธิ์ของนายวพรรณ์ไม่ เมื่อนายวรพรรณ์ไม่มีการรสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและสิ่งปลูกสร้างอันเป็นส่วนควบเสียแล้ว นายวรพรรณ์ ก็ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวไปจำนองแก่ผู้ใด การที่โจทก์เป็นผู้รับจำนองที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้จากนายวรพรรณ์ซึ่งเป็นผู้ไม่มีสิทธิจะจำนองได้ย่อมไม่เกิดผลให้โจทก์มีสิทธิตามนิติกรรมจำนอง แม้โจทก์จะอ้างว่ารับจำนองไว้โดยสุจริตก็หามีผลให้โจทก์กลับมีสิทธิตามนิติกรรมจำนองไม่ การจำนองจึงไม่ผูกพันผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทที่แท้จริง ส่วนคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในฎีกานั้น ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้ มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ ที่จะทำการอันจำเป็นเพื่อให้การเป็นไป ตามคำสั่งแจ้งชัด หรือ โดยปริยาย แห่งพินัยกรรมและเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือ เพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก มาตรา 1722 ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใดๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่พินัยกรรมจะได้อนุญาตไว้ หรือ ได้รับอนุญาต จากศาล คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5674/2562 ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านมอบอำนาจให้ บ. เป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีแทนตามหนังสือมอบอำนาจ โดยผู้ร้องมิได้โต้แย้งคัดค้านว่าการมอบอำนาจของผู้คัดค้านไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ผู้ร้องยังเบิกความตอบทนายผู้คัดค้านถามค้านยอมรับว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านถูกต้องแล้ว กรณีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่า การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ผู้คัดค้านจึงไม่มีภาระที่จะต้องพิสูจน์และส่งอ้างเอกสารหนังสือมอบอำนาจนั้นเป็นพยานหลักฐาน แม้หนังสือมอบอำนาจนั้นจะมิได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์ก็ตาม และไม่มีกรณีต้องห้ามตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 ที่ห้ามมิให้รับฟังตราสารที่ไม่ได้ขีดฆ่าอากรแสตมป์เป็นพยานหลักฐานแต่อย่างใด ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามที่คู่ความรับกันแล้วว่า ผู้คัดค้านได้มอบอำนาจให้ บ. ดำเนินคดีแทน การมอบอำนาจของผู้คัดค้านชอบด้วยกฎหมาย คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบรับกันว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองไว้ โดยข้อ 1 ของพินัยกรรมดังกล่าวระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ แต่เพียงผู้เดียว เมื่อผู้คัดค้านเป็นวัดทางคริสตศาสนามีที่ตั้งที่แน่นอนและอยู่ภายใต้สังกัดมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยตามหนังสือรับรอง ซึ่งสอดคล้องกับภาพถ่ายที่ระบุว่าคริสตจักร ศ. สังกัดคริสตจักรภาคที่ 1 เชียงใหม่ มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ประกอบกับตามสำเนาโฉนดที่ดินอันเป็นที่ตั้งของผู้คัดค้านก็ระบุว่า มูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าว เมื่อข้อความตามพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 1684 บัญญัติว่า "เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้หลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด" ดังนี้ การที่ผู้ตายทำพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ให้แก่คริสตจักร ศ. (ผู้คัดค้าน) ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 1 ตำบลป่าตัน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ย่อมตีความตามความประสงค์ของผู้ตายว่า ผู้ตายประสงค์ที่จะยกที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยเพื่อใช้ในกิจกรรมของผู้คัดค้าน เมื่อมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งถูกต้องตามตราสารการตั้งมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทย ซึ่งข้อ 5 ของเอกสารดังกล่าวระบุเรื่องข้อกำหนดว่าด้วยทรัพย์สินไว้ว่า ได้แก่ สังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์สุดแต่จะมีผู้ศรัทธาหรืออุทิศบริจาคให้ ดังนี้ ผู้คัดค้านโดยมูลนิธิแห่งสภาคริสตจักรในประเทศไทยย่อมรับเอาที่ดินที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกให้ไว้ได้ ข้อกำหนดในพินัยกรรมจึงมีผลสมบูรณ์ เมื่อพินัยกรรม ข้อ 1 ระบุว่า ผู้ตายยกที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 98796 และ 104347 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านแต่เพียงผู้เดียว และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกอื่นอีก เช่นนี้ ผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทจึงเป็นผู้ถูกตัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1608 วรรคท้าย ผู้ร้องจึงไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียที่จะขอตั้งผู้จัดการมรดกตาม มาตรา 1713 ได้ |