

การกำจัดทายาทมิให้รับมรดก, สิทธิรับมรดกของผู้สืบสันดานเมื่อทายาทถูกกำจัด, การเพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดก ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ การกำจัดทายาทมิให้รับมรดก, สิทธิรับมรดกของผู้สืบสันดานเมื่อทายาทถูกกำจัด, การเพิกถอนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์มรดก จำเลยที่ 1 ปิดบังทรัพย์มรดก ฉ้อฉลมิให้แบ่งปันแก่ทายาทคนอื่น ถูกกำจัดสิทธิรับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 พร้อมเพิกถอนการโอนที่ดิน ขณะที่การจำนองโดยจำเลยที่ 2 ได้รับความคุ้มครองเนื่องจากดำเนินการโดยสุจริต **กรณีที่ดินมรดกของเจ้ามรดก นายอ้วนและนางพวง มีข้อพิพาทระหว่างโจทก์ 3 คนและจำเลยที่ 1 (ผู้จัดการมรดก) ซึ่งจดทะเบียนโอนที่ดินมรดกเป็นของตนเองโดยอ้างว่าได้รับยกให้ก่อนมรณภาพ และนำที่ดินจดจำนองโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 เนื่องจากปิดบังทรัพย์สินโดยเจตนาเพื่อประโยชน์ตนเอง *ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกฟ้องโจทก์ โดยเห็นว่าจำเลยที่ 1 กระทำโดยสุจริต แต่ศาลฎีกายืนยันคำวินิจฉัยเดิมว่าเจ้ามรดกมิได้ยกที่ดินให้จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพ และการกระทำดังกล่าวของจำเลยที่ 1 เป็นการฉ้อฉล ขัดต่อสิทธิของทายาทคนอื่น *นอกจากนี้ จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร ได้รับจำนองที่ดินโดยสุจริตและจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่สามารถเพิกถอนนิติกรรมจำนองได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง *เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกสิ้นสุดลง ทายาทต้องดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ศาลฎีกาจึงพิพากษาให้เพิกถอนการโอนที่ดินและกำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดก แต่ที่ดินส่วนของจำเลยที่ 1 กลับคืนสู่กองมรดกเพื่อแบ่งให้ผู้มีสิทธิ์ตามกฎหมายต่อไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 581/2565 การที่จะพิจารณาได้ว่าทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกถึงขนาดถูกกำจัดมิให้รับมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากพิจารณาถึงการกระทำของผู้กระทำแล้ว ยังต้องคำนึงเจตนาของผู้กระทำและผลของการกระทำนั้นเป็นสำคัญด้วยว่า มีเจตนาทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ เมื่อเจ้ามรดกมรณภาพ ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาททันที ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1357 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามสัดส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม เว้นแต่ทายาททั้งหมดสมัครใจตกลงยินยอมให้แบ่งปันเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาททุกคนสมัครใจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นอย่างอื่น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเพียงผู้เดียว ไม่ยินยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยอ้างว่า ก่อนเจ้ามรดกมรณภาพได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ตน ซึ่งความจริงแล้วก่อนเจ้ามรดกมรณภาพไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือทายาทคนใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรวบรวมอีก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับมรดกดุจเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 สำคัญผิดหรือเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทตกทอดแก่ตนเพียงผู้เดียว ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะจดทะเบียนแบ่งปันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทในภายหลังเพราะการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องกระทำสองทอดและต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนถึงสองครั้ง ประกอบกับที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนที่ดินเป็นโฉนด การที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 อันเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของ ส. ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลก่อเกิดทรัพยสิทธิจำนองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองจะระงับสิ้นไปเมื่อหนี้กู้ยืมเงินที่เป็นประกันระงับด้วยเหตุประการอื่นใดที่มิใช่เหตุอายุความ หาก ส. ผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองย่อมใช้สิทธิบังคับจำนองและฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทและให้ขายทอดตลาดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองผู้เดียวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทและนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ภริยาตนเองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นของบุคคลอื่นอีกก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยมีเจตนาฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกได้ตามฟ้อง แต่อย่างไรก็ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้วโดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ได้ปิดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกมรณภาพก็ตาม บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกสืบมรดกของเจ้ามรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ตายแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่ *ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของตน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง จำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตาม พ.ร.บ.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" และไม่ปรากฏพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่า ส. ภริยาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดินปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 *เมื่อจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลอีกต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 ม. ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทน ไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกสามในสี่ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่ทายาทของเจ้ามรดกต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252
คำถามที่ 1: การกระทำใดบ้างที่อาจทำให้ทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605? คำตอบ: การที่ทายาทจะถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นรายกรณี โดยต้องพิจารณาทั้งการกระทำของผู้กระทำ เจตนาของผู้กระทำ และผลของการกระทำนั้นว่ามีเจตนาให้ทายาทคนอื่นเสื่อมประโยชน์หรือไม่ เช่น ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของตนเองโดยไม่แบ่งปันให้ทายาทคนอื่น และยังนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ของภริยา โดยทายาทคนอื่นมิได้ยินยอม การกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกและทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่น จึงเข้าข่ายต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามมาตรา 1605 วรรคหนึ่ง คำถามที่ 2: ทายาทมีสิทธิขอให้เพิกถอนการจำนองทรัพย์มรดกที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการโดยไม่ได้รับความยินยอมจากทายาทคนอื่นหรือไม่? คำตอบ: ทายาทไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนการจำนองทรัพย์มรดกในกรณีที่ผู้รับจำนองได้รับสิทธิอย่างสุจริตและได้จดทะเบียนตามกฎหมายแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง เช่น ในกรณีนี้ ศาลพิจารณาว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นธนาคาร ได้รับจำนองทรัพย์มรดกโดยเสียค่าตอบแทนและสุจริต ทายาทจึงไม่อาจใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวได้ นอกจากนี้ หากคำฟ้องมิได้กล่าวอ้างเหตุว่าผู้รับจำนองกระทำการโดยไม่สุจริตอย่างชัดเจน ก็ถือว่าเป็นเรื่องนอกฟ้อง ศาลจึงไม่อาจพิจารณาให้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง และมาตรา 252 ****โจทก์ทั้งสามฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินมรดกของจำเลยที่ 1 เพิกถอนการจำนองที่ดินมรดกระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 โดยให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ให้ร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินแก่โจทก์ทั้งสามภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา ให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินมรดกทางด้านตะวันออกตามแนวเส้นสีแดงในแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 13 รวมเนื้อที่ 1 ไร่ 2 งานเศษ แก่โจทก์ทั้งสามภายใน 7 วัน นับแต่มีคำพิพากษา หากไม่ปฏิบัติให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ถ้าไม่สามารถตกลงแบ่งปันกันได้ให้นำออกประมูลหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสาม และให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้รับมรดกแล้วนำส่วนของจำเลยที่ 1 มาแบ่งแก่โจทก์ทั้งสามและทายาทอื่น จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้มรดกในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 32237 ให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก กับจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออก 3 ใน 4 ส่วน ให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสามสำหรับจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความให้ 4,000 บาท นอกจากที่แก้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ทั้งสามฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลฎีกาอนุญาตให้นางมนทกานต์ ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า นายอ้วน และนางพวง เป็นสามีภริยากัน มีบุตร 8 คน ได้แก่นางเอ็ม นายอ้น นางสาวหรือนางไม นางมง นายอานหรือพระภิกษุอาน นายบุ โจทก์ที่ 1 และจำเลยที่ 1 นายอ้วน นางพวง นางเอ็ม นายอ้น นางมงและนายบุ ถึงแก่ความตายแล้ว โจทก์ที่ 2 เป็นบุตรนางมง และโจทก์ที่ 3 เป็นบุตรนายบุ นายอานหรือพระภิกษุอานเจ้ามรดกไม่มีภริยาและบุตร ก่อนเจ้ามรดกอุปสมบทเป็นพระภิกษุมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน 1 แปลง โฉนดเลขที่ 32237 เนื้อที่ 2 ไร่ 13 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ดินพิพาท เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2546 เจ้ามรดกมรณภาพโดยมิได้ทำพินัยกรรมและตั้งผู้จัดการมรดก และเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2551 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแต่เพียงผู้เดียว และวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของนางสำเรย ภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ทั้งสามไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสามโดยวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 มิได้ยักย้ายหรือปิดบังที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดก ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ผู้เดียว มิได้วินิจฉัยปัญหาอายุความตามที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ แต่คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ทั้งสามไม่ขาดอายุความนั้น มีผลกระทบกระเทือนสิทธิของจำเลยที่ 1 ฝ่ายที่ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกาในปัญหาดังกล่าว ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามว่า จำเลยที่ 1 ต้องถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่งหรือไม่ เห็นว่า เกี่ยวกับปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพตามที่จำเลยที่ 1 ให้การไว้หรือไม่นั้น ศาลชั้นต้นวินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้ามรดกมิได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพ จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านข้อเท็จจริงดังกล่าวว่าคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวไม่ถูกต้องหรือไม่อย่างไร จำเลยที่ 1 คงอุทธรณ์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 1 โดยทายาททุกคนทราบและให้ความยินยอม เหตุที่ไม่คัดค้านเพราะขณะนั้นที่ดินพิพาทราคายังไม่สูง โจทก์นำคดีมาฟ้องเพราะที่ดินพิพาทมีราคาสูงขึ้น เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่า เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพหรือไม่ จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าเจ้ามรดกไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 วินิจฉัยและฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ก่อนมรณภาพนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็นที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบมาตรา 246 การที่จะพิจารณาได้ว่าทายาทคนใดยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกถึงขนาดถูกกำจัดมิให้รับมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 นั้น ต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเป็นเรื่อง ๆ ไป นอกจากพิจารณาถึงการกระทำของผู้กระทำแล้ว ยังต้องคำนึงถึงเจตนาของผู้กระทำและผลของการกระทำนั้นเป็นสำคัญด้วยว่า มีเจตนาทำให้เสื่อมประโยชน์แก่ทายาทคนอื่นด้วยหรือไม่ จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองเพียงผู้เดียว โดยอ้างว่าเจ้ามรดกยกที่ดินพิพาทให้แก่ตนก่อนมรณภาพ ข้อเท็จจริงดังกล่าวยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าเจ้ามรดกมิได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ส่วนที่จำเลยที่ 1 ให้การและเบิกความอ้างว่า ขณะจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองในฐานะส่วนตัว โจทก์ทั้งสามทราบดีไม่มีผู้คัดค้านนั้น โจทก์ทั้งสามเบิกความยอมรับแต่เพียงว่า โจทก์ทั้งสามยินยอมให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกเท่านั้น ส่วนที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของตนเองและนำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของนางสำเรยภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โจทก์ทั้งสามไม่ทราบมาก่อน เพิ่งมาทราบเมื่อมีเจ้าพนักงานที่ดินมาทำการรังวัดที่ดินพิพาทเมื่อปี 2561 ซึ่งสอดคล้องกับที่นางทองม้วน พยานโจทก์ทั้งสามเบิกความว่า ที่ดินของนางทองม้วนด้านทิศเหนือมีแนวเขตติดต่อกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 นางทองม้วนได้รับหนังสือจากสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ว่า จำเลยที่ 1 ขอรังวัดสอบเขตที่ดินสองแปลงซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทให้นางทองม้วนคอยระวังแนวเขต ซึ่งเป็นระยะเวลาหลังจากจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของนางสำเรยภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 แล้ว ประกอบกับโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนางทองม้วนได้รับหนังสือแจ้งให้ระวังแนวเขต 15 วัน ซึ่งไม่เนิ่นนานเกินไป จึงมีเหตุผลให้น่าเชื่อว่า โจทก์ทั้งสามเพิ่งทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองและจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้กับจำเลยที่ 2 ภายหลังจากเจ้าพนักงานที่ดินมีหนังสือแจ้งให้นางทองม้วนเจ้าของที่ดินข้างเคียงคอยระวังแนวเขต ส่วนที่โจทก์ที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยที่ 1 ว่า ทราบการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเมื่อปี 2551 โจทก์ที่ 1 ก็เบิกความตอบคำถามติงว่า โจทก์ที่ 1 ทราบเรื่องดังกล่าวเมื่อปี 2561 น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 เบิกความถึงเรื่องที่ทราบว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 โดยผิดหลงจากปี 2561 เป็นปี 2551 เสียมากกว่า ข้อเท็จจริงยังรับฟังไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสามทราบดีว่าจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองและโจทก์ทั้งสามไม่คัดค้านตามที่จำเลยที่ 1 เบิกความ เมื่อเจ้ามรดกมรณภาพที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาททันที ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของรวมมีส่วนเท่ากันในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1357 จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกตามสัดส่วนของทรัพย์มรดกทั้งหมดให้แก่โจทก์ทั้งสาม เว้นแต่ทายาททั้งหมดสมัครใจตกลงยินยอมให้แบ่งปันเป็นอย่างอื่น เมื่อไม่ปรากฏว่าทายาททุกคนสมัครใจตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกเป็นอย่างอื่น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกเป็นของตนเพียงผู้เดียว ไม่ยินยอมแบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามโดยอ้างว่า ก่อนเจ้ามรดกมรณภาพได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่ตน ซึ่งความจริงแล้วก่อนเจ้ามรดกมรณภาพไม่ได้ยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 หรือทายาทคนใด และที่จำเลยที่ 1 ให้การและเบิกความอ้างว่า โจทก์ทั้งสามทราบดีว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทมาเป็นของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสามไม่คัดค้าน ซึ่งความจริงแล้วโจทก์ทั้งสามไม่ทราบมาก่อนดังที่วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ทั้งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ทั้งสามขาดอายุความ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้ามรดกมีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทเท่านั้น ไม่มีทรัพย์มรดกอื่นที่จำเลยที่ 1 ต้องรวบรวมอีก ประกอบกับจำเลยที่ 1 ทราบดีว่าโจทก์ทั้งสามเป็นทายาทของเจ้ามรดกมีสิทธิได้รับมรดกดุจเดียวกับจำเลยที่ 1 จึงไม่มีมูลเหตุทำให้จำเลยที่ 1 สำคัญผิดหรือเข้าใจโดยสุจริตว่าที่พิพาทตกทอดแก่ตนเพียงผู้เดียว ทั้งพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าว ก็ไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนาจะจดทะเบียนแบ่งปันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทในภายหลัง เพราะการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินลักษณะดังกล่าวต้องกระทำสองทอดและต้องเสียค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนถึงสองครั้ง ประกอบกับที่ดินพิพาทมีหลักฐานทางทะเบียนที่ดินเป็นโฉนด การที่จำเลยที่ 1 เป็นบุคคลผู้มีชื่อในโฉนดจึงต้องด้วยข้อสันนิษฐานของกฎหมายไว้ก่อนว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 อันเป็นการตัดกรรมสิทธิ์ในส่วนของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าของรวมด้วยและมีส่วนเท่ากันตามมาตรา 1357 นอกจากนี้การที่จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้เงินกู้ของนางสำเรยภริยาจำเลยที่ 1 ไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม มีผลก่อเกิดทรัพยสิทธิจำนองในที่ดินพิพาท ซึ่งจำนองจะระงับสิ้นไปเมื่อหนี้กู้ยืมเงินที่เป็นประกันระงับด้วยเหตุประการอื่นใดที่มิใช่เหตุอายุความ หากนางสำเรยผู้กู้และจำเลยที่ 1 ผู้จำนองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ผู้รับจำนองย่อมใช้สิทธิบังคับจำนองและฟ้องคดีเพื่อให้ศาลสั่งให้ยึดที่ดินพิพาทและให้ขายทอดตลาดได้ ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทเป็นของตนเองผู้เดียวไม่แบ่งปันให้แก่โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท และนำที่ดินพิพาทจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ภริยาตนเองไว้กับจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามมิได้รู้เห็นยินยอม แม้จำเลยที่ 1 ยังไม่ได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทไปเป็นของบุคคลอื่นอีกก็ตาม พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เช่นนี้ ถือว่าเป็นการปิดบังทรัพย์มรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้รับโดยมีเจตนาฉ้อฉลหรือรู้อยู่แล้วว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของโจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาท จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจึงต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเลย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1605 วรรคหนึ่ง โจทก์ทั้งสามจึงมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 เพื่อนำมาแบ่งปันแก่ทายาทของเจ้ามรดกได้ตามฟ้อง ฎีกาของโจทก์ทั้งสามฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 บัญญัติให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกรับมรดกแทนที่ทายาทนั้นได้ในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้นก็ตาม แต่มาตรา 1607 บัญญัติว่า การถูกกำจัดมิให้รับมรดกนั้นเป็นการเฉพาะตัว ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว โดยมิได้บัญญัติว่า ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกสืบมรดกต่อไปได้เฉพาะในกรณีที่ทายาทนั้นถูกกำจัดมิให้รับมรดกก่อนเจ้ามรดกตายเท่านั้น ดังนั้น แม้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ปิดบังทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกมากกว่าส่วนที่ตนจะได้และต้องถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย อันเป็นการถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดกหลังเจ้ามรดกมรณภาพก็ตาม บุตรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้สืบสันดานของจำเลยที่ 1 ผู้ถูกกำจัดมิให้รับมรดกของเจ้ามรดกสืบมรดกของเจ้ามรดกต่อไปได้เสมือนหนึ่งว่าจำเลยที่ 1 ตายแล้ว ตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 1607 และบทบัญญัติมาตรา 1607 หาได้อยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 1639 ไม่ ดังนั้น ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นทรัพย์มรดกในส่วนที่จำเลยที่ 1 จะได้รับจึงกลับสู่กองมรดกของเจ้ามรดก *คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามประการสุดท้ายว่า โจทก์ทั้งสามมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกตกแก่โจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของเจ้ามรดก จึงเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม เมื่อโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทตามสัดส่วนของตน จะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนนั้น โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง ส่วนปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ได้จดทะเบียนรับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วหรือไม่นั้น ได้ความว่าจำเลยที่ 2 ประกอบธุรกิจธนาคารตามพระราชบัญญัติธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พ.ศ.2509 การรับจำนองที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 1 ก็เป็นการดำเนินธุรกิจตามปกติของจำเลยที่ 2 ประกอบกับจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า "ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต" ทางพิจารณาไม่ปรากฏพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่อย่างใด แต่กลับได้ความว่านางสำเรยภริยาจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทซึ่งมีทะเบียนเป็นโฉนดที่ดินปรากฏชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียวจดทะเบียนจำนองประกันหนี้ไว้กับจำเลยที่ 2 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว โจทก์ทั้งสามย่อมไม่อาจยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโดยทางมรดกเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 2 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง โจทก์ทั้งสามไม่มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ส่วนที่โจทก์ทั้งสามฎีกาทำนองว่า จำเลยทั้งสองสมคบกันกระทำการโดยไม่สุจริต โดยพนักงานของจำเลยที่ 2 มิได้ตรวจสอบว่าบุคคลที่อยู่ในที่ดินพิพาทเป็นบริวารของจำเลยที่ 1 หรือเป็นเจ้าของที่ดินพิพาท จึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 กระทำโดยสุจริตนั้น เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสามมิได้กล่าวบรรยายในคำฟ้องไว้เช่นนั้น โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องเหตุที่จำเลยที่ 2 กระทำโดยไม่สุจริตแต่เพียงว่า จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจำนองจำเลยที่ 2 หรือประกันการชำระหนี้เงินกู้ของนางสำเรย โดยจำเลยทั้งสองกระทำโดยไม่สุจริต และโจทก์ทั้งสามไม่ได้ยินยอมเท่านั้น ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 2 รับจำนองโดยไม่สุจริตอย่างไร ฎีกาของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นเรื่องนอกฟ้อง เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้ว โดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 ศาลฎีกาไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้ *อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกจึงไม่มีผลอีกต่อไป ทั้งการเป็นผู้จัดการมรดกเป็นการเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 นาง ม. ทายาทของจำเลยที่ 1 ซึ่งเข้าเป็นคู่ความแทน ไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกแทนจำเลยที่ 1 ได้ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทแบ่งแยกที่ดินพิพาทด้านทิศตะวันออกสามในสี่ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ไปดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จึงไม่อาจบังคับให้มีผลตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นได้อีกต่อไป เป็นเรื่องที่ทายาทของเจ้ามรดกต้องไปดำเนินการยื่นคำร้องต่อศาลขอตั้งผู้จัดการมรดกคนใหม่ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบด้วยมาตรา 246 และมาตรา 252 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้กำจัดจำเลยที่ 1 มิให้ได้รับมรดกที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 32237 ให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ฉบับลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2551 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกกับจำเลยที่ 1 ในฐานะส่วนตัว นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3 ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีการะหว่างโจทก์ทั้งสามและจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ |