

การจัดการมรดกไม่ชอบไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว การจัดการมรดกไม่ชอบไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว โจทก์เป็นบุตรของนางสุภาพร นางสว่าง เจ้ามรดกจดทะเบียนสมรสกับนายทองอยู่มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวพรรณี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรของนางสาวพรรณี นายทองอยู่ถึงแก่ความตาย และนางสว่างถึงแก่ความตาย นางสาวพรรณีเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองอยู่และนางสว่างนางสาวพรรณีในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างและนายทองอยู่จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินให้แก่ตนเอง นางสาวพรรณีถึงแก่ความตายจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 นางสุภาพรมารดาโจทก์เป็นบุตรของนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนนางสว่างเจ้ามรดก โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางสุภาพรเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพร ตั้งแต่กระบวนการตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่านางสาวพรรณีครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย ตามวรรคสี่ มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์ได้ที่ดินโดยการรับมรดกแทนที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ด้วยความสุจริต เสียค่าตอบแทน จึงเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้ซื้อที่ดินโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วได้ แต่เงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากการขายที่ดินมรดกเป็นเงินเข้าแทนที่ที่ดินมรดก ถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกัน โดยมีส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น จึงให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2729/2565 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกกับคดีมรดกเป็นคนละประเภทกัน กฎหมายบัญญัติแยกไว้คนละส่วนและให้อยู่ในบังคับแห่งอายุความฟ้องร้องคนละมาตรา โดยอายุความฟ้องคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง ส่วนคดีมรดกมีอายุความหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดกตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามมาตรา 1754 วรรคสี่ เมื่อโจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาในทรัพย์มรดกของ ส. ที่ พ. ปกปิดความเป็นทายาทของมารดาโจทก์ และ พ. ไม่จัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิตามกฎหมาย จึงเป็นคดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่า พ. ครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ศาลพิพากษาว่าโจทก์เป็นทายาทผู้รับมรดกแทนที่นางสุภาพร ในกองมรดกของนางสว่าง และให้โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพรตามส่วนที่นางสุภาพรมีสิทธิได้รับจากกองมรดกของนางสว่าง และให้เพิกถอนการกระทำนิติกรรมทุกรายการที่นางสาวพรรณีและจำเลยทั้งเก้ากระทำแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 2290, 2100, 2098, 2099, 2298 และ 2575 และที่ดินโฉนดเลขที่ 2465, 2286 และ 2287 เว้นแต่การจดทะเบียนแบ่งหักที่ดินให้แก่ทางหลวงชนบทและให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวทั้งเก้าแปลงตามส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับมรดกแทนที่นางสุภาพร ให้เพิกถอนการโอนโฉนดที่ดินเลขที่ 273956, 274063 และ 288974 (ที่ถูก 288994) และเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 274063 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 หากไม่สามารถเพิกถอนได้ให้นายทะเบียนจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวกึ่งหนึ่ง กับให้จำเลยทั้งเก้าซึ่งร่วมทำนิติกรรมในที่ดินแต่ละแปลงใช้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนและค่าภาษีทุกประเภทแทนโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ให้การขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง ระหว่างพิจารณา ศาลจังหวัดนครราชสีมาส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยเรื่องอำนาจศาลตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 11 ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า โจทก์เป็นบุตรและเป็นผู้สืบสันดานของนางสุภาพร มีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพรและมีสิทธิรับมรดกของนางสว่าง เจ้ามรดก เฉพาะส่วนแบ่งของนางสุภาพรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1639 กับให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2290, 2100, 2098, 2099, 2298, 2575 และ 2465 ระหว่างนางสาวพรรณี ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างกับนางสาวพรรณีในฐานะส่วนตัว และระหว่างนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี กับเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 273956, 274063, 288994, 2290, 2100, 2098, 2099, 280673, 280674 และ 2465 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2298 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีกับจำเลยที่ 3 กับเพิกถอนนิติกรรม การจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ระหว่างจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี กับจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 และเพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 4 และให้เจ้าพนักงานที่ดินใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2287, 273956, 274063, 288994, 2290, 2100, 2098, 2099, 280673 และ 280674 หนึ่งในสองส่วน ที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2298 สามในแปดส่วน และที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 และโฉนดที่ดินเลขที่ 2465 หนึ่งในสี่ส่วน หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา กับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายรวม 300,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 50,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว พิพากษากลับให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังว่า โจทก์เป็นบุตรของนายอัมพล กับนางสุภาพร นางสว่าง เจ้ามรดก จดทะเบียนสมรสกับนายทองอยู่ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2512 มีบุตรด้วยกัน 1 คน คือนางสาวพรรณี จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นบุตรของนางสาวพรรณี เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2547 นายทองอยู่ถึงแก่ความตาย และวันที่ 25 มิถุนายน 2547 นางสว่างถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2547 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งนางสาวพรรณีเป็นผู้จัดการมรดกของนายทองอยู่และนางสว่าง ต่อมาวันที่ 15 และวันที่ 16 พฤศจิกายน 2547 นางสาวพรรณีในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสว่างและนายทองอยู่จดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2465, 2290, 2100, 2098, 2099, 2298 และ 2575 ให้แก่ตนเอง วันที่ 29 เมษายน 2556 นางสาวพรรณีถึงแก่ความตาย วันที่ 9 กรกฎาคม 2556 ศาลจังหวัดนครราชสีมามีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณี หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางสาวพรรณีจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกที่ดินพิพาททั้ง 9 แปลงดังกล่าว และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2286, 2287, 2465, 2290, 2100, 2098 และ 2099 ให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2298 ให้แก่จำเลยที่ 3 และจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ให้แก่จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 และที่ 2 จดทะเบียนแบ่งหักที่ดินโฉนดเลขที่ 2099 เนื้อที่ 2 งาน 41.7 ตารางวา และเนื้อที่ 2 งาน 11.9 ตารางวา เป็นที่สาธารณประโยชน์แก่ทางหลวงชนบท แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2099 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 280673 และ 280674 แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 2287 เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 273956, 274063 และ 288994 และจดทะเบียนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ให้แก่จำเลยที่ 4 ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยตรงกันว่า นางสุภาพรมารดาโจทก์เป็นบุตรของนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตายก่อนนางสว่างเจ้ามรดก โจทก์ซึ่งเป็นบุตรของนางสุภาพรเป็นผู้สืบสันดานโดยตรงจึงมีสิทธิรับมรดกแทนที่นางสุภาพร จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 และที่ 5 ถึงที่ 9 ไม่ฎีกาในประเด็นนี้จึงต้องยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ในระหว่างพิจารณาตกลงกันได้ โจทก์ไม่ได้ฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อแรกมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า ตั้งแต่กระบวนการตั้งผู้จัดการมรดกมีการปกปิดทายาท การแบ่งทรัพย์มรดกเป็นไปในทางที่ไม่สุจริต การโอนทรัพย์มรดกให้กับตนเองเพียงคนเดียวเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ โดยไม่มีการแจ้งให้ทายาททราบ เมื่อเป็นการกระทำที่ไม่ชอบจึงไม่อาจถือว่าการจัดการมรดกสิ้นลงแล้ว กรณีต้องถือว่านางสาวพรรณีครอบครองทรัพย์มรดกของผู้ตายแทนทายาทอื่น ผู้จัดการมรดกยังคงมีหน้าที่ต้องจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคน ตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงจะนำอายุความห้าปี ตามมาตรา 1733 วรรคสอง และอายุความฟ้องเรียกทรัพย์มรดกหนึ่งปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่ทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ตามมาตรา 1754 วรรคหนึ่ง หรือพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตายตามวรรคสี่มาใช้บังคับไม่ได้ แม้ทรัพย์มรดกจะโอนเกินกว่าห้าปีและโจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นสิบปีนับแต่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายแล้วก็ตาม คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ข้อที่สองมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เห็นว่า โจทก์ได้ที่ดินของนางสว่างโดยการรับมรดกแทนที่ถือได้ว่าเป็นการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม แต่จำเลยที่ 1 ผู้จัดการมรดกได้จดทะเบียนขายที่ดินให้แก่ จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 แล้ว ได้ความว่าที่ดินแปลงที่จำเลยที่ 1 ขายให้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ด้วยความสุจริต เสียค่าตอบแทน การที่ศาลชั้นต้นได้นำหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนมาใช้บังคับ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อโฉนดที่ดินมีชื่อจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โจทก์จึงไม่อาจยกสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียนขึ้นเป็นข้อต่อสู้จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้ซื้อที่ดินพิพาทโดยเสียค่าตอบแทนและโดยสุจริตและได้จดทะเบียนโดยสุจริตแล้วได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 แต่คดีนี้แม้โจทก์มิได้ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงินหรือชดใช้ราคาแทนที่ดิน โจทก์ไม่นำสืบว่า จำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 ซื้อที่ดินโดยไม่สุจริต และเมื่อพิจารณาราคาซื้อขายที่ดิน มีราคาสูงกว่าราคาประเมินมาก จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 5 ถึงที่ 9 เป็นบุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง ดังนี้กรณีจึงไม่อาจเพิกถอนการโอนได้ แต่เงินที่จำเลยที่ 1 ได้รับมาจากการขายที่ดินมรดกเป็นเงินเข้าแทนที่ที่ดินมรดก ถือได้ว่าเงินดังกล่าวเป็นมรดกในฐานะนิตินัยอย่างเดียวกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 226 วรรคสอง โดยมีส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับรวมอยู่ด้วย ฉะนั้น จึงให้จำเลยที่ 1 ใช้ราคาที่ดินแก่โจทก์ จึงไม่นอกเหนือหรือเกินไปจากคำขอ แต่สำหรับที่ดินที่เป็นทรัพย์มรดกของนางสว่าง นางพรรณีโอนที่ดินทั้งหมดเป็นของนางพรรณีในฐานะส่วนตัว และจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกโอนทรัพย์มรดกของนางสว่างไปให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 นั้น เห็นว่า เป็นทรัพย์มรดกของนางสว่างในส่วนที่โจทก์มีสิทธิรับมรดกแทนที่ของมารดาโจทก์ที่มีสิทธิรับมรดก จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอเพิกถอนได้เพราะผู้รับโอนย่อมไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน เว้นแต่กรณีโอนให้บุคคลภายนอกผู้สุจริต เสียค่าตอบแทนย่อมได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 1299 วรรคสอง และมาตรา 1300 สำหรับจำเลยที่ 2 ที่โจทก์ฎีกาขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 274063 ให้แก่จำเลยที่ 4 นั้น เห็นว่า โจทก์ตกลงกับจำเลยที่ 4 ได้ โดยจำเลยที่ 4 จ่ายเงินให้โจทก์จำนวน 4,300,000 บาท แล้ว เมื่อโจทก์รับเงินแล้วจึงแถลงต่อศาลว่าจะไม่บังคับคดีในส่วนของจำเลยที่ 4 ในคดีนี้อีกต่อไป ตามคำแถลงฉบับลงวันที่ 24 ตุลาคม 2562 และไม่ได้ฎีกาในส่วนของจำเลยที่ 4 เท่ากับโจทก์พอใจในการขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 4 แล้ว จึงไม่อาจเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวได้ย่อมมีผลให้จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดในการขายที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นบางส่วน และเห็นพ้องด้วยในผลที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ จึงฟังขึ้นบางส่ว ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อสุดท้ายมีว่า โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งทรัพย์มรดกเพียงใด เห็นว่า เมื่อฟังว่าโจทก์เป็นบุตรของนางสุภาพรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของนางสว่างเจ้ามรดก โจทก์ย่อมมีสิทธิรับมรดกแทนที่ของนางสุภาพร โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์เกี่ยวกับการแบ่งสัดส่วนทรัพย์มรดกตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าไม่ถูกต้อง ประเด็นนี้ จึงฟังยุติตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่า นางสว่างเจ้ามรดกได้ที่ดินมาก่อนสมรสกับนายทองอยู่ ดังนั้น ที่ดินทั้ง 9 แปลง ได้แก่ ที่ดินโฉนดเลขที่ 2290, 2287, 273956, 288994, 2100, 2098, 2099, 280673 และ 280674 จึงเป็นสินส่วนตัวของนางสว่างเจ้ามรดก เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายก่อนนางสว่าง ต่อมาเมื่อนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตายสิทธิในที่ดินทั้ง 9 แปลง จึงตกแก่นางสุภาพรและนางสาวพรรณีผู้สืบสันดานของนางสว่าง โจทก์มีสิทธิรับมรดกที่ดินทั้ง 9 แปลง คิดเป็นหนึ่งในสองส่วนของที่ดินทั้งหมด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1633 นางสว่างเจ้ามรดกกับนายทองอยู่จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2512 ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2517 นางสว่างเจ้ามรดกได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2286 และ 2298 โดยซื้อที่ดินทั้งสองแปลงจากนางพรสมาน เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2517 ดังนั้น ที่ดินทั้งสองแปลงนี้จึงเป็นทรัพย์สินที่นางสว่างเจ้ามรดกได้มาในระหว่างสมรสกับนายทองอยู่ ที่ดินทั้งสองแปลงจึงเป็นสินสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยากันก่อนซึ่งเป็นของนางสว่างกึ่งหนึ่งทันทีที่นายทองอยู่ถึงแก่ความตาย ส่วนอีกกึ่งหนึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายทองอยู่ ซึ่งต้องแบ่งให้นางสว่างซึ่งเป็นภริยากับนางสาวพรรณีซึ่งเป็นบุตรคนละกึ่งหนึ่ง ทำให้นางสว่างมีสิทธิในที่ดินทั้งสองแปลง รวม 3 ใน 4 ส่วน เมื่อนางสว่างเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย จึงตกแก่นางสุภาพรและนางสาวพรรณีผู้สืบสันดานของนางสว่าง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับมรดกที่ดินทั้งสองแปลงของนางสว่างคนละกึ่งหนึ่งของสามในสี่ส่วนของที่ดินทั้งหมด ที่ดินโฉนดเลขที่ 2465, 2575 นายทองอยู่ได้ที่ดินโฉนดเลขที่ 2465 เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2490 ก่อนจดทะเบียนสมรสกับนางสว่างเจ้ามรดกและได้รับมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2527 แม้ได้มาในระหว่างสมรส ที่ดินทั้งสองแปลงเป็นสินส่วนตัวของนายทองอยู่ เมื่อนายทองอยู่ถึงแก่ความตายจึงต้องแบ่งให้นางสว่างซึ่งเป็นภริยากับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง ต่อมานางสว่างตายต้องแบ่งให้นางสุภาพรกับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่งของหนึ่งในสองส่วน ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนนี้ด้วย แต่สำหรับที่ดินแปลงที่ขายไป ฟังได้ว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 เป็นสินส่วนตัวของนายทองอยู่ เมื่อนำที่ดินซึ่งเป็นทรัพย์มรดกไปขาย เงินที่ขายได้ย่อมเป็นทรัพย์มรดก เมื่อพิจารณาสัญญาซื้อขายที่ดินทั้งสามแปลง ที่ดินโฉนดเลขที่ 2575 ราคาซื้อขาย 50,500,000 บาท จะต้องนำมาแบ่งให้นางสว่างกับนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง จำนวน 25,250,000 บาท และเมื่อนางสว่างถึงแก่ความตาย แบ่งให้นางสุภาพรและนางสาวพรรณีคนละกึ่งหนึ่ง โจทก์มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งหนึ่งในสี่ของที่ดินทั้งหมดเป็นเงิน 12,625,000 บาท จากจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกต้องรับผิดชอบนำเงินส่วนแบ่งทรัพย์มรดกที่โจทก์มีสิทธิได้รับมาชำระให้แก่โจทก์ และในฐานะผู้ขายที่ดิน จำนวนเงินดังกล่าวเป็นการใช้แทนที่ดินมรดกที่เพิกถอนไม่ได้ จึงไม่อาจกำหนดอัตราดอกเบี้ยได้ ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินให้แก่โจทก์จำนวน 12,625,000 บาท ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนที่ดินที่เป็นมรดกของนางสว่างโฉนดที่ดินที่มีชื่อจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 ถึงที่ 9 ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
|