ReadyPlanet.com
dot
สำนักงานทนายความ
dot
bulletทนายความฟ้องหย่า
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
dot
พระราชบัญญัติ
dot
bulletพระราชบัญญัติ
dot
ประมวลกฎหมาย
dot
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
dot
บทความเฉพาะเรื่อง
dot
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletสัญญายอมความ
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
dot
ลิงค์ต่าง ๆ
dot
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletคำพิพากษาศาลฎีกา
bulletวิชาชีพทนายความ
bulletอำนาจปกครองบุตร




คำชี้ขาดอันถึงที่สุดของอนุญาโตตุลาการ

ทนายความโทร0859604258

ภาพจากซ้ายไปขวา ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ, ทนายความภคพล มหิทธาอภิญญา, ทนายความเอกชัย อาชาโชติธรรม, ทนายความอภิวัฒน์ สุวรรณ

-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258

-ติดต่อทางอีเมล  : leenont0859604258@yahoo.co.th

-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์  (5) ID line  :

         (1) leenont หรือ (2) @leenont หรือ (3)  peesirilaw  หรือ (4) @peesirilaw   (5)   @leenont1

-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย  QR CODE

 

 

 คำชี้ขาดอันถึงที่สุดของอนุญาโตตุลาการ             

เมื่อคณะกรรมการอนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดข้อโต้แย้งแล้วและได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีแล้วย่อมเป็นที่สุด มีผลให้คู่กรณีจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดอันถึงที่สุดนั้น โดยไม่อาจนำปัญหาข้อโต้แย้งที่อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้วนั้นขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้อีก แม้คู่กรณีที่มีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีก็ไม่มีกฎหมายบัญญัติว่าหากคู่กรณีที่มีสิทธิไม่ดำเนินจะทำให้คำชี้ขาดอันถึงที่สุดนั้นสิ้นผลไปแต่อย่างใด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  11102/2551

            คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนได้มีการจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงผู้ร้องและผู้คัดค้านโดยชอบแล้ว ย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี ตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่

          กำหนดระยะเวลาที่มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่กรณีมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้น หมายถึงเฉพาะกรณีที่มีคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดและจำเป็นที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องบังคับให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดเท่านั้น เมื่อคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนไม่เข้าเกณฑ์ที่ผู้คัดค้านจำเป็นจะต้องร้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด แม้ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 23 วรรคหนึ่งดังกล่าว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนก็ยังมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ หาสิ้นผลบังคับไปไม่ ดังนั้น การนำข้อพิพาทที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วโดยอนุญาโตตุลาการชุดก่อนซึ่งคำชี้ขาดเป็นที่สุดและยังคงมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ไปรื้อร้องขอต่ออนุญาโตตุลาการชุดหลังให้พิจารณาชี้ขาดซ้ำอีก ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย และถือได้ว่าคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดได้

          การที่อนุญาโตตุลาการชุดหลังได้รับคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องไว้พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดใหม่ ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 เป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีคำชี้ขาด เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่ พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับแล้ว กรณีย่อมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ให้อำนาจศาลที่จะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าปรากฏต่อศาลว่าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

          (ประชุมใหญ่ครั้งที่ 6/2551)

  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

          ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง

        ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการตามข้อพิพาทหมายเลขแดงที่ 45/2544 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 ชอบด้วยกฎหมาย บังคับให้ผู้คัดค้านชดใช้ค่าเสียหายในผลต่างระหว่างอัตราค่าผ่านทางที่พึงเรียกเก็บตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 และอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม นับตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2543 เป็นจำนวนเงิน 360,898,617 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 25.6 และให้ชดใช้ค่าเสียหายตามจำนวนผลต่างของอัตราค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทยทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยคำนวณตามจำนวนและประเภทของรถยนต์ที่แท้จริงที่ได้ใช้ทางด่วนทั้งโครงข่ายในเขตเมืองและโครงข่ายนอกเขตเมืองที่เกิดขึ้นจริง นับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2443 เป็นต้นไป พร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาข้อ 25.6 จนกว่าจะมีการดำเนินการตามสัญญาให้มีการปรับอัตราค่าผ่านทางใหม่ กับให้ผู้คัดค้านใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 500,000 บาท แทนผู้ร้อง

          ผู้คัดค้านอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้คัดค้านว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ซึ่งประเด็นข้อนี้ผู้คัดค้านได้หยิบยกประเด็นปัญหาข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไว้ในอุทธรณ์ข้อ 2.2 หลายประการ แต่ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นข้อ 2.2.2 และ ข้อ 2.2.3 ก่อนว่า คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนสิ้นผลบังคับแล้วหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.2530 ซึ่งมีผลใช้บังคับอยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทนั้น ได้บัญญัติวางหลักเกณฑ์การดำเนินการเพื่อให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการมีผลบังคับแก่คู่กรณีที่เกี่ยวข้องไว้ ดังนี้

          มาตรา 21 วรรคสี่ บัญญัติว่า “เมื่อทำคำชี้ขาดเสร็จแล้ว อนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดจะต้องจัดส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกคน”

          มาตรา 22 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 23 และสัญญาอนุญาโตตุลาการ คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดให้เป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณี เมื่อได้มีการส่งสำเนาคำชี้ขาดนั้นถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว”

          มาตรา 23 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฎิบัติตามคำชี้ขาด ห้ามมิให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจและศาลได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น คำร้องขอนี้ให้ยื่นภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่แล้ว”

          เมื่อข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันฟังได้ว่า หลังจากอนุญาโตตุลาการชุดก่อนทำคำชี้ขาดฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 เสร็จแล้ว สถาบันอนุญาโตตุลาการได้จัดส่งสำเนาคำชี้ขาดดังกล่าวถึงผู้ร้องและผู้คัดค้านโดยชอบแล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฉบับดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 21 วรรคสี่ ซึ่งย่อมเกิดผลทางกฎหมายว่า คู่กรณีจะต้องผูกพันตามคำชี้ขาดอันถึงที่สุดแล้วนั้น โดยไม่อาจนำปัญหาข้อโต้แย้งที่อนุญาโตตุลาการได้มีคำชี้ขาดแล้วนั้นขึ้นสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการได้อีก ทั้งนี้เพราะพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ได้บัญญัติถึงกระบวนการบังคับตามคำชี้ขาดอันมีผลถึงที่สุดแล้วไว้ในมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ต่อไปว่า หากคู่กรณีฝ่ายใดซึ่งต้องผูกพันตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด ก็ให้คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้นได้ภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณี โดยไม่มีบทมาตราใดบัญญัติให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการสิ้นผลบังคับแต่อย่างใด ดังนั้น การที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายว่า ผู้คัดค้านมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อน ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 จึงสิ้นสภาพบังคับไปแล้วนั้น หาเป็นการชอบด้วยกฎหมายไม่ ทั้งนี้เพราะกำหนดระยะเวลาที่มาตรา 23 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คู่กรณีมีสิทธิที่จะยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่ แล้วนั้น บัญญัติไว้เพื่อรองรับกับข้อความตอนต้นของมาตรา 23 วรรคหนึ่งที่บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาด ห้ามมิให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้น เว้นแต่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจและศาลได้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้น...” แสดงว่า ความตอนท้ายของมาตรา 23 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดกรอบระยะเวลาการยื่นคำร้องขอให้บังคับตามคำชี้ขาดว่า “...คำร้องขอนี้ให้ยื่นภายในกำหนดเวลาหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้ส่งสำเนาคำชี้ขาดถึงคู่กรณีตามมาตรา 21 วรรคสี่ แล้ว” หมายถึงเฉพาะกรณีที่มีคู่กรณีฝ่ายใดไม่ยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดและจำเป็นที่คู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องบังคับให้คู่กรณีฝ่ายนั้นยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดเท่านั้น แต่คดีนี้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนได้วินิจฉัยชี้ขาดว่า การเรียกเก็บค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 ไม่สอดคล้องกับสัญญาข้อ 11.3 และประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ซึ่งยกเลิกประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 27 สิงหาคม 2541 และให้ปรับค่าผ่านทางใหม่นั้นสอดคล้องกับข้อสัญญาข้อ 11.3 ซึ่งมีผลทำให้การเก็บค่าผ่านทางสามารถดำเนินการต่อไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 ที่ประกาศใช้บังคับใหม่ได้โดยผู้คัดค้านไม่จำเป็นต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลเพื่อขอให้บังคับผู้ร้องปฏิบัติตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการแต่อย่างใด เนื่องจากผลของคำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการชุดก่อนเช่นว่านั้นออกมาสอดคล้องกับหลักเกณฑ์การเก็บค่าผ่านทางตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ฉบับลงวันที่ 23 ตุลาคม 2541 อยู่แล้ว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อน ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 จึงไม่เข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่ผู้คัดค้านจำเป็นจะต้องร้องขอให้ศาลบังคับให้ผู้ร้องซึ่งเป็นคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งนั้นยอมปฏิบัติตามคำชี้ขาดซึ่งผู้คัดค้านอยู่ในบังคับที่จะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้นภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 แต่อย่างใด ดังนั้น แม้ผู้คัดค้านจะมิได้ยื่นคำร้องขอต่อศาลที่มีเขตอำนาจเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 23 วรรคหนึ่งดังกล่าว คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อน ฉบับลงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 ก็ยังมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ หาสิ้นผลบังคับไปดังคำพิพากษาศาลแพ่งกรุงเทพใต้ไม่ โดยเหตุนี้การที่ผู้ร้องนำข้อพิพาทเรื่องเดียวกันนี้มายื่นเรียกร้องแย้งต่ออนุญาโตตุลาการชุดหลัง ซึ่งเพื่อให้พิจารณาทำคำชี้ขาดซ้ำอีก จึงเป็นการนำข้อพิพาทที่ได้มีการวินิจฉัยชี้ขาดไปแล้วโดยอนุญาโตตุลาการชุดก่อนซึ่งคำชี้ขาดเป็นที่สุดและยังคงมีผลผูกพันคู่กรณีอยู่ไปรื้อร้องขอต่ออนุญาโตตุลาการชุดหลังให้พิจารณาชี้ขาดซ้ำอีก ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะเป็นการทำลายหลักการสำคัญของมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 ที่บัญญัติให้คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการหรือผู้ชี้ขาดเป็นที่สุดและผูกพันคู่กรณีโดยสิ้นเชิงและย่อมส่งผลทำให้กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยระบบอนุญาโตตุลาการไร้ประสิทธิผลไปโดยปริยาย เพราะหากคู่กรณีไม่ยอมรับผลต่อการเป็นที่สุดและผลผูกพันคู่กรณีของคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดก่อน และมีสิทธิรื้อร้องขอพิจารณามีคำชี้ขาดใหม่ต่ออนุญาโตตุลาการชุดหลังอีก กระบวนการอนุญาโตตุลาการก็คงจะต้องดำเนินการซ้ำซากเช่นคดีนี้ต่อไปไม่มีวันจบสิ้น ซึ่งมิใช่เจตนารมณ์อันแท้จริงของกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการที่จะให้เป็นเช่นนั้น ดังนั้น การที่อนุญาโตตุลาการชุดหลังได้รับคำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องไว้พิจารณาแล้วมีคำชี้ขาดใหม่ ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 จึงเป็นคำชี้ขาดที่ไม่ชอบด้วยมาตรา 23 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 อันเป็นกฎหมายที่มีผลใช้บังคับอยู่ในขณะที่มีคำชี้ขาด เมื่อปรากฏว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ให้มีคำพิพากษาตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังในวันที่ 5 มิถุนายน 2545 ซึ่งเป็นเวลาภายหลังวันที่พระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มีผลใช้บังคับแล้ว กรณีย่อมต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 ที่ให้อำนาจศาลที่จะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดนั้นได้ถ้าปรากฏต่อศาลว่าการบังคับตามคำชี้ขาดนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และศาลฎีกาเห็นว่าปัญหาเรื่องการนำข้อพิพาทที่อนุญาโตตุลาการชุดก่อนไปรื้อร้องขอให้อนุญาโตตุลาการชุดใหม่พิจารณาและมีคำชี้ขาดซ้ำอีกซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยอนุญาโตตุลาการเช่นนี้ ย่อมถือได้ว่าเข้าเกณฑ์เป็นกรณีที่คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลังขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนที่ศาลมีอำนาจและสมควรที่จะทำคำสั่งปฏิเสธการขอบังคับตามคำชี้ขาดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 44 ดังกล่าวข้างต้น ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการชุดหลัง ฉบับลงวันที่ 3 ธันวาคม 2544 มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นข้อนี้ฟังขึ้น และเมื่อผลแห่งการวินิจฉัยเป็นดังนี้แล้ว คดีก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้คัดค้านในประเด็นข้ออื่นๆ อีกเพราะเป็นอุทธรณ์ไม่เป็นสาระแก่คดีเนื่องจากแม้ศาลฎีการับวินิจฉัยให้ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงผลแห่งคดีได้

          พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของผู้ร้อง และให้ผู้ร้องชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนผู้คัดค้าน โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 100,000 บาท.

( ธานิศ เกศวพิทักษ์ - ประทีป ปิติสันต์ - วีระวัฒน์ ปวราจารย์ )
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ - นายประกาศ บูรพางกูร
บริษัททางด่วนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)      ผู้ร้อง
การทางพิเศษแห่งประเทศไทย      ผู้คัดค้าน
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2530 มาตรา 21, 22, 23
พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 44

 




สาระเกี่ยวกับกฎหมาย

ภาษาอังกฤษสำหรับนักกฎหมาย article
เหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ข้อพิพาทตามสัญญาอนุญาโตตุลาการ
แบบสัญญาต่างๆ article