

ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร ไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร กฎหมาย ป.พ.พ. มาตรา 1461 บัญญัติไว้ว่า สามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา และสามีภริยาต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูกันตามความสามารถและฐานะของตน ในกรณีที่สามีภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน เป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควร ฝ่ายที่เดือดร้อนเกินควรอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ การไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูรวมหมายถึงการไม่ช่วยปฏิบัติหน้าที่ในครอบครัว ไม่ให้สิ่งจำเป็นในการดำรงชีพ สำหรับพฤติการณ์ที่จะถือว่าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควรนั้น กฎหมายไม่ได้ระบุขอบเขตว่าจะต้องถึงขนาดไหนจึงจะเรียกว่าเดือดร้อนเกินควร เมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบด้วย และมีสิทธิอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าได้ ตัวอย่างกรณีที่สามีต้องจ่ายเงินให้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูแก่ภริยาทุกเดือนเมื่อเงินเดือนออก ถ้าสามีไม่จ่ายเดือนใด แต่ภริยาก็ยังมีเงินเหลือที่จะจับจ่ายใช้สอยอยู่ไม่ถึงกับอดๆ หยาก ๆขัดสนอย่างนี้จะถือว่าสามีไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควรไม่ได้ หรือในกรณีที่ภริยาแยกตัวออกไปอยู่ต่างหากเองโดยที่สามีไม่ได้ขับไสไล่ส่ง ซึ่งในระหว่างที่ภริยาแยกตัวออกไปสามีไม่ได้ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูซึ่งไม่ใช่ความผิดของสามี กรณีนี้ภริยาจะอ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าว่าสามีไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควรหาได้ไม่ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2927/2519 -ภริยาแยกจากสามีไปเอง มิใช่เพราะสามีขับไล่ สามีไม่เลี้ยงดูในระหว่างนั้น ไม่ใช่ความผิดของสามีที่ภริยาจะอ้างเป็นเหตุหย่า กรณีที่สามีไม่จ่ายเงินให้ภริยาดังเช่นเคยปฏิบัติแต่ก็มอบเงินให้ลูกและแม่บ้านไว้ใช้จ่ายตามความจำเป็น ภริยาก็ได้ใช้เงินนั้นไม่เดือดร้อน ถือไม่ได้ว่าสามีไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามสมควร อ้างเป็นเหตุฟ้องหย่าไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 853/2520 -สามีไม่จ่ายเงินให้ภริยาเหมือนแต่ก่อน แต่ได้มอบเงินให้ลูกหรือคนใช้ไว้ใช้จ่ายในบ้าน ภริยาได้ใช้เงินนั้นไม่เดือดร้อนไม่เป็นการไม่ช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามควร ไม่เป็นเหตุหย่าตาม มาตรา 1500(3) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3461/2524 จำเลยซึ่งเป็นสามีถูกคนร้ายยิงหัวเข่าจนพิการงอขาไม่ได้ ต้องพักรักษาตัวอยู่กับบ้านไม่ได้ประกอบอาชีพอะไรนั้น สามีไม่อยู่ในฐานะที่จะอุปการะเลี้ยงดูภริยาได้ จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ผู้เป็นภริยาที่จะต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูจำเลยผู้เป็นสามีตามมาตรา 1461 วรรคสอง ข้ออ้างของโจทก์ที่ว่าจำเลยไม่อุปการะเลี้ยงดูโจทก์จึงฟังไม่ได้ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3608/2531 หลังจากจดทะเบียนสมรสแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัว ด้วยการไปรับบุตรสาวซึ่งเกิดจากภริยาเก่ามาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านเดียวกัน อันเป็นการผิดถ้อยคำพูดที่จำเลยเคยให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อนแล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จ่ายเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวเช่นที่เคยปฏิบัติมา เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนแต่ละเดือนของโจทก์มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวจำเลยเกือบหมดทั้งจำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าและแสดงกิริยาวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์จนกระทั่งโจทก์ไม่สามารถอยู่ร่วมกับจำเลยต่อไปได้เช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรอันประกอบด้วยเหตุอื่น ๆ อีกถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินสมควรที่โจทก์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปได้อันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(6) การหย่าโดยคำพิพากษานั้น พระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัวพ.ศ. 2478 มาตรา 16 บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่านั้นไว้ในทะเบียน โดยคู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีก ศาลจึงไม่ต้องสั่งให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงเป็นอันรับฟังได้ตามคำฟ้องและทางนำสืบของโจทก์ว่า โจทก์และจำเลยได้จดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2524 ที่บ้านเลขที่ 1583/16 ซอยเกษมสุวรรณ แขวงบางลำภูล่าง เขตคลองสานกรุงเทพมหานคร โดยมีคนในครอบครัว 6 คน คือโจทก์ จำเลย มารดาและพี่สาวจำเลย กับหลานจำเลยอีก 2 คน ระหว่างนั้นจำเลยได้จ่ายเงินให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท เป็นค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัว ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2526 จำเลยได้นำบุตรสาวของจำเลยอายุประมาณ 5 ปี มาเลี้ยงดูที่บ้านเลขที่ 1583/16 ด้วย ทั้ง ๆ ที่เคยสัญญาแก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อน หลังจากนั้นก็เกิดการระหองระแหงระหว่างโจทก์กับจำเลยเรื่อยมา และจำเลยไม่จ่ายเงินที่เคยจ่ายเดือนละ 1,500 บาทแก่โจทก์อีกเลย เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนของโจทก์เดือนละ 4,400 บาท มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวของจำเลยเกือบหมด จำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าของจำเลย และได้แสดงกิริยาและวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่าเหตุดังกล่าวเพียงพอที่จะถือเป็นเหตุหย่าได้หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า หลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสและอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาแล้ว จำเลยเป็นฝ่ายก่อเหตุให้เกิดความระหองระแหงในครอบครัวด้วยการไปรับบุตรสาวซึ่งเกิดจากภริยาเดิมมาเลี้ยงดูอยู่ในบ้านเดียวกันอันเป็นการผิดถ้อยคำพูดที่จำเลยเคยให้ไว้แก่โจทก์ว่าจำเลยไม่เคยมีภริยาและบุตรมาก่อนแล้วหลังจากนั้นจำเลยก็ไม่จ่ายเงินเป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และครอบครัวเช่นที่เคยปฏิบัติมา เป็นเหตุให้โจทก์ต้องนำเงินเดือนแต่ละเดือนของโจทก์มาใช้จ่ายเลี้ยงดูครอบครัวจำเลยเกือบหมดทั้งปรากฏว่าจำเลยยังติดต่อกับภริยาเก่าและแสดงกิริยาวาจาเหยียดหยามมารดาของโจทก์ จนกระทั่งโจทก์ไม่สามารถอยู่ร่วมกับจำเลยต่อไปได้เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูโจทก์ตามสมควรอันประกอบด้วยเหตุอื่น ๆ อีกถึงขนาดที่โจทก์เดือดร้อนเกินสมควรที่โจทก์จะอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(6) ศาลชอบที่จะพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน คำพิพากษาศาลล่างทั้งสองไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นแต่ที่โจทก์ขอให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่า ถ้าไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยนั้น เห็นว่าการหย่าโดยคำพิพากษาคู่สมรสไม่จำต้องไปแสดงเจตนาขอจดทะเบียนการหย่าต่อนายทะเบียนอีกทั้งตามพระราชบัญญัติจดทะเบียนครอบครัว พ.ศ. 2478 มาตรา 16ก็บัญญัติให้ผู้มีส่วนได้เสียเพียงแต่ยื่นสำเนาคำพิพากษาอันถึงที่สุดที่รับรองถูกต้องแล้วต่อนายทะเบียน และขอให้นายทะเบียนบันทึกการหย่านั้นไว้ในทะเบียนเท่านั้น จึงไม่จำต้องสั่งคำขอนี้ของโจทก์" พิพากษากลับ ให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันคำขออื่นให้ยก โจทก์หนีออกจากบ้านมาเองโดยจำเลยมิได้ขับไล่หรือทอดทิ้งโจทก์แต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าจำเลยชอบดื่มสุรา เล่นการพนันและหาเรื่องทะเลาะวิวาทกับโจทก์เป็นประจำก็เป็นการเบิกความลอย ๆ ไม่มีพยานอื่นมาสนับสนุน ไม่น่าเชื่อ โจทก์จึงเป็นฝ่ายทำผิดหน้าที่ไม่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยากับจำเลย นอกจากนี้โจทก์เองมีรายได้วันละ 120 บาท มารดาโจทก์มีเงินจากการขายที่ดินเป็นจำนวนมาก ซึ่งโจทก์ก็รับว่าสามารถขอความช่วยเหลือทางการเงินจากมารดาได้ โดยไม่เดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ กรณีไม่เข้าเหตุฟ้องหย่าที่สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องหย่าจำเลย
|