

ไม่เกิดสิทธิฟ้องหย่าเพราะโจทก์มีพฤติกรรมนอกใจจำเลยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ ไม่เกิดสิทธิฟ้องหย่าเพราะโจทก์มีพฤติกรรมนอกใจจำเลยยกย่องหญิงอื่นฉันภริยา • เหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) • คดีหย่าในศาลฎีกา • การแยกกันอยู่โดยสมัครใจ • ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 • สิทธิฟ้องหย่าและการวินิจฉัยของศาล • กฎหมายครอบครัวและการหย่า • ศาลฎีกาคดีหย่าฉบับย่อ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2567 กล่าวถึงเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ที่กำหนดให้การแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปี ต้องประกอบด้วยการไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุข โจทก์บรรยายในฟ้องว่าโจทก์และจำเลยแยกกันอยู่ตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยสมัครใจ เนื่องจากจำเลยไม่กลับมาอยู่ร่วมกัน ซึ่งโจทก์อ้างว่าเป็นเหตุหย่าครบองค์ประกอบตามมาตรา 1516 (4/2) แม้ไม่ได้ระบุชัดว่าเกิน 3 ปี แต่จากเนื้อหาเข้าใจได้ว่าเกินกว่า 3 ปี ศาลชั้นต้นพิพากษาให้หย่าตามที่โจทก์ขอ แต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยกฟ้อง ศาลฎีกาพิจารณาว่าเหตุการณ์การแยกกันอยู่ระหว่างโจทก์และจำเลยตั้งแต่ปี 2557 ต่อเนื่องถึงปี 2560 และหลังจากนั้นเกิดจากการที่โจทก์ไปดูแลมารดาป่วย ไม่ใช่การแยกโดยสมัครใจของจำเลย อีกทั้งจำเลยยังรักใคร่หึงหวงโจทก์และฟ้องบุคคลที่มีความสัมพันธ์กับโจทก์ กรณีนี้ไม่ถือเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่สามารถอ้างเหตุหย่าได้เพราะการแยกกันอยู่เป็นความสมัครใจของโจทก์ฝ่ายเดียว ศาลฎีกายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) ระบุว่าเหตุหย่ามีองค์ประกอบสำคัญที่ต้องครบถ้วน คือการแยกกันอยู่เป็นระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี และต้องเป็นเพราะไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาโดยปกติสุขได้ ซึ่งหมายความว่าการแยกกันอยู่ไม่ได้เกิดจากความสมัครใจของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงลำพัง แต่เกิดจากปัจจัยที่ทำให้การใช้ชีวิตร่วมกันเป็นไปไม่ได้อย่างปกติสุข การพิจารณาว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเข้าข่ายเหตุหย่าตามมาตรานี้หรือไม่ ศาลจะตรวจสอบทั้งระยะเวลาการแยกกันอยู่และความเป็นไปได้ของการกลับมาร่วมชีวิต โดยศาลต้องมั่นใจว่าเหตุผลในการแยกกันอยู่นั้นมีความหนักแน่นพอ เช่น ความขัดแย้งรุนแรง การไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข หรือปัญหาภายในที่ยากจะแก้ไขได้ ในการวินิจฉัยคดีหย่า หากมีการฟ้องร้อง ศาลต้องพิจารณาว่าการแยกกันอยู่นั้นเป็นไปโดยความสมัครใจของทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด รวมถึงการพิจารณาว่ามีองค์ประกอบของการแยกกันอยู่อย่างถาวรที่ไม่สามารถคืนดีได้หรือไม่ หากการแยกกันอยู่นั้นเกิดจากการสมัครใจฝ่ายเดียวหรือเป็นเพราะเหตุที่ไม่เพียงพอต่อการแยกกันอยู่ตามมาตรา 1516 (4/2) ศาลอาจไม่รับฟังเป็นเหตุหย่าตามบทบัญญัตินี้
หลักกฎหมายนี้ช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจถึงการใช้มาตรา 1516 (4/2) ในการอ้างเหตุหย่าและการที่ศาลต้องพิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตร่วมกันของคู่สมรสอย่างละเอียดก่อนที่จะวินิจฉัยให้การหย่าเป็นไปตามกฎหมาย. โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันหรือมีคำสั่งให้แยกกันอยู่ และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรแต่เพียงผู้เดียว จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา โจทก์รับว่าโจทก์คบหากับผู้หญิงอื่นระหว่างที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยและรับว่าจำเลยเคยฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ จึงฟังได้ว่า สาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยเหตุเกิดจากตัวโจทก์เองที่มีพฤติกรรมนอกใจจำเลย โดยโจทก์ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาทั้งที่ยังเป็นสามีภริยากันอยู่ เหตุไม่ได้เกิดจากจำเลยอีกทั้งได้ความว่าที่จำเลยต้องแยกกันอยู่กับโจทก์เกิดจากสภาพครอบครัวที่โจทก์ต้องกลับไปดูแลมารดาที่เจ็บป่วย แต่อย่างไรก็ตามโจทก์ก็ยังมีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา ประกอบกับจำเลยยังรักใคร่หึงหวงในตัวโจทก์อยู่ จึงได้ฟ้องหญิงอื่นเรียกค่าทดแทนความเสียหายที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ ข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่อาจถือได้ว่าเป็นการแยกกันอยู่โดยความสมัครใจดังที่โจทก์อ้างตามฟ้อง ข้อเท็จจริงมีเพียงว่าโจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า 3 ปี จริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย แต่เกิดจากความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว จึงไม่ทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 451/2567 เหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ตามฟ้องโจทก์แปลความได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่โดยสมัครใจ พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่ทำให้โจทก์กับจำเลยไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข อันเป็นการบรรยายครบองค์ประกอบเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แต่ช่วงเวลาที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด อนุมาตราใด เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง ในคดีก่อนโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า โจทก์คบหากับผู้หญิงอื่นระหว่างที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย อีกทั้งในคดีนี้โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจาก ม. ที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์เช่นกัน ดังนั้น สาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้มาจากตัวโจทก์เองที่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงการนอกใจจำเลย ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาทั้งที่โจทก์กับจำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ หาใช่มาจากจำเลยไม่ ทั้งความเป็นจริงที่จำเลยต้องแยกกันอยู่กับโจทก์เกิดจากสภาพครอบครัวที่โจทก์ต้องกลับไปดูแลมารดาที่เจ็บป่วย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา ทั้งจำเลยยังรักใคร่หึงหวงในตัวโจทก์อยู่ จึงได้ฟ้อง ม. เรียกค่าทดแทนที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการแยกกันโดยความสมัครใจของจำเลยด้วยหาได้ไม่ ฉะนั้นคงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า 3 ปี จริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย การที่โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่เช่นนี้ก็โดยลำพังความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว หาทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) ไม่ โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันหรือมีคำสั่งให้แยกกันอยู่ และให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองเด็กหญิงเกวลินบุตรแต่เพียงผู้เดียว จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงจากทางนำสืบของโจทก์แล้วเชื่อว่า โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี และพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) เป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องนอกประเด็น ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182 ดังที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยหรือไม่ เห็นว่า ฟ้องข้อ 4 โจทก์บรรยายฟ้องได้ความในทำนองว่า ในช่วงปี 2553 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลย ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์พยายามขอคืนดีขอให้จำเลยปรับปรุงตัวเพื่อให้ครอบครัวกลับมาอยู่กันอย่างปกติสุข แต่จำเลยไม่ยอมหลับนอนกับโจทก์และไม่ยอมกลับมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 54 กับโจทก์ โดยจำเลยพักอาศัยอยู่บ้านญาติของจำเลยที่บ้านเลขที่ 98/94 ซึ่งเป็นความสมัครใจของจำเลยเองโจทก์ไม่ได้ขับไล่ ฟ้องข้อ 5 หลังจากโจทก์ฟ้องหย่าจำเลยในปี 2556 จำเลยยังคงไม่กลับไปอยู่กับโจทก์หรือยินยอมให้โจทก์มาอยู่กินฉันสามีภริยา ซึ่งการกระทำของจำเลยที่เคยให้การต่อศาลว่า จำเลยไม่ประสงค์จะหย่ากับโจทก์เนื่องจากสงสารบุตรและอยากอยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์ต่อ ทำให้โจทก์ใจอ่อนและหลงเชื่อ โจทก์จึงพยายามไปเยี่ยมบุตรแต่จำเลยไม่ให้เข้าบ้าน หลังจากนั้นตลอดระยะเวลา 3 ปี โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่ในลักษณะเช่นนี้ตลอดมาจนกระทั่งปี 2560 โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยอีกครั้ง ศาลยังคงมีคำพิพากษายกฟ้อง และฟ้องข้อ 6 โจทก์บรรยายฟ้องได้ความในทำนองว่า นับแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยไม่เคยกลับมาใช้ชีวิตฉันสามีภริยากับโจทก์อีกเลย โจทก์ขอให้จำเลยปรับปรุงตัว โดยขอให้ต่างฝ่ายต่างปรับความเข้าใจกัน โจทก์ขอให้จำเลยช่วยเหลือดูแลกิจการของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปรับปรุงตัว ไม่ช่วยเหลือดูแลกิจการและไม่ยอมกลับมาใช้ชีวิตฉันสามีภริยากับโจทก์ ทั้งตอนท้ายฟ้องข้อ 6 โจทก์บรรยายฟ้องว่า “ซึ่งจากข้อเท็จจริงจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2553 ถึงปัจจุบัน โจทก์กับจำเลยไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ฉันสามีภริยาได้อย่างปกติสุขเป็นแน่แท้” เห็นว่าเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) นั้น ไม่ได้มีเพียงระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินสามปีเท่านั้น ยังต้องมีองค์ประกอบอื่นอีกคือ ต้องเป็นเพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาด้วย ซึ่งเมื่ออ่านฟ้องโจทก์ทั้งฉบับแล้วแปลความได้ว่า นับตั้งแต่ปี 2553 จนถึงปัจจุบัน โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่โดยสมัครใจ พฤติการณ์ต่าง ๆ ของจำเลยที่กล่าวมาในฟ้องทำให้โจทก์กับจำเลยไม่สามารถที่จะกลับมาอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข อันเป็นการบรรยายครบองค์ประกอบเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) แล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้ระบุว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แต่ช่วงเวลาที่โจทก์บรรยายในฟ้องเป็นที่เข้าใจได้ว่าเป็นเวลาเกินกว่า 3 ปี แล้ว ข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นรับฟังเป็นยุติจากการวินิจฉัยพยานหลักฐานในสำนวน ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวพันกับข้อเท็จจริงที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องแล้วทั้งสิ้น ไม่มีข้อเท็จจริงใดเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่นอกคำฟ้อง ส่วนศาลชั้นต้นจะเห็นว่า ข้อเท็จจริงที่รับฟังเป็นยุตินั้นเป็นเหตุหย่าหรือไม่ และเป็นเหตุหย่าที่ปรับได้กับบทบัญญัติกฎหมายมาตราใด อนุมาตราใด เป็นอำนาจหน้าที่และเป็นความเห็นของแต่ละศาล ไม่ใช่หน้าที่ของโจทก์ ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นปรับบทกฎหมายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) จึงไม่ถือเป็นการวินิจฉัยนอกฟ้องหรือเป็นการวินิจฉัยในประเด็นอื่นที่มิได้กล่าวมาในฟ้อง คำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า โจทก์กับจำเลยสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปีหรือไม่ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังมิได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียวโดยไม่ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยก่อน เห็นว่า มูลเหตุแห่งการที่โจทก์ฟ้องหย่าครั้งที่ 3 เมื่อปี 2560 โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ยอมกลับมาอยู่ที่บ้านเลขที่ 54 กับโจทก์ โดยจำเลยพักอาศัยอยู่บ้านญาติของจำเลย ที่บ้านเลขที่ 98/94 ตั้งแต่ปี 2557 ถึงปัจจุบัน เมื่อไม่ปรากฏว่าในระหว่างนั้นโจทก์กับจำเลยได้กลับมาอยู่ด้วยกันแล้วสมัครใจแยกกันอยู่อีกก่อนที่โจทก์จะฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ ดังนั้นมูลเหตุแห่งการฟ้องหย่าทั้งในคดีก่อนและในคดีนี้จึงเป็นมูลเหตุที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2557 ต่อเนื่องกัน จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาในคดีก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงในคดีหมายเลขแดงที่ 173/2560 ได้ความว่า บ้านเลขที่ 98/94 ที่จำเลยกับบุตรพักอาศัยนั้น เดิมเป็นของมารดาโจทก์ต่อมาขายให้แก่น้องสาวจำเลย แล้วโจทก์พาจำเลยกับบุตรย้ายออกจากบ้านของมารดาโจทก์เลขที่ 54 ไปอยู่บ้านหลังดังกล่าวด้วยกัน ต่อมามารดาโจทก์ป่วย โจทก์จึงไปดูแลมารดาที่บ้านเลขที่ 54 จึงต้องแยกกันอยู่ แสดงว่าบ้านหลังดังกล่าวเป็นบ้านอีกหลังหนึ่งที่โจทก์กับจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากันตั้งแต่ย้ายออกมาจากบ้านของมารดาโจทก์เลขที่ 54 กรณีจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยเป็นฝ่ายแยกออกมาอยู่บ้านเลขที่ 98/94 ส่วนที่โจทก์นำสืบว่า นับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2560 ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์ขอให้จำเลยปรับปรุงตัวช่วยเหลือดูแลกิจการของโจทก์ แต่จำเลยไม่ช่วยเหลือดูแลกิจการของโจทก์และไม่เคยกลับมาใช้ชีวิตฉันสามีภริยากับโจทก์อีกเลย แต่โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า จำเลยเคยมีคดีฟ้องร้องกับนางสาวมนันยา ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ยชพ 146/2562 ของศาลชั้นต้น เมื่อพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าเป็นคดีที่จำเลยฟ้องนางสาวมนันยาเรียกค่าทดแทนที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ เหตุเกิดประมาณเดือนมิถุนายน 2562 ต่อมาได้มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลพิพากษาตามยอม และในคดีฟ้องหย่าครั้งที่ 3 โจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า โจทก์คบหากับผู้หญิงอื่นระหว่างที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลย อีกทั้งในคดีนี้โจทก์ก็เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยรับว่า จำเลยฟ้องเรียกค่าทดแทนจากนางสาวมนันยาเช่นกัน ดังนั้น สาเหตุที่โจทก์ไม่กลับบ้านไปหาจำเลยในคดีก่อนและคดีนี้มาจากตัวโจทก์เองที่มีพฤติกรรมอันแสดงถึงการนอกใจจำเลย ยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาทั้งที่โจทก์กับจำเลยยังเป็นสามีภริยากันอยู่ หาใช่มาจากจำเลยไม่ ทั้งความเป็นจริงที่จำเลยต้องแยกกันอยู่กับโจทก์เกิดจากสภาพครอบครัวที่โจทก์ต้องกลับไปดูแลมารดาที่เจ็บป่วย ซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องกลับมาเยี่ยมเยียนดูแลบุตรภริยา โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าจำเลยเคยช่วยเหลือดูแลกิจการของโจทก์มาก่อน ข้ออ้างที่ว่าจำเลยไม่ช่วยเหลือดูแลกิจการของโจทก์จึงเป็นเพียงการกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ทั้งจำเลยยังรักใคร่หึงหวงในตัวโจทก์อยู่ จึงได้ฟ้องนางสาวมนันยาเรียกค่าทดแทนที่มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับโจทก์ กรณีดังกล่าวจะถือว่าเป็นการแยกกันโดยความสมัครใจของจำเลยด้วยหาได้ไม่ ฉะนั้นข้ออ้างของโจทก์ดังกล่าวคงฟังได้แต่เพียงว่า โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่มากว่า 3 ปี จริง แต่การแยกกันอยู่นั้น มิใช่ด้วยความสมัครใจของจำเลย การที่โจทก์กับจำเลยแยกกันอยู่เช่นนี้ก็โดยลำพังความสมัครใจของโจทก์แต่ฝ่ายเดียว หาทำให้เกิดสิทธิฟ้องหย่าจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) ไม่ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายกฟ้องโจทก์ในส่วนที่ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกันมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
*บทความ: การอธิบายเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (4/2) และเงื่อนไขเพิ่มเติม 1. ความหมายของมาตรา 1516 (4/2): ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (4/2) กำหนดเหตุหย่าที่เกิดจากการแยกกันอยู่ระหว่างสามีและภริยาติดต่อกันเกินกว่า 3 ปี เนื่องจากไม่สามารถอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุข ข้อกำหนดนี้ไม่ได้หมายความว่าการแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีเพียงอย่างเดียวจะทำให้สามารถฟ้องหย่าได้ แต่ต้องมีองค์ประกอบอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย 2. การแยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีไม่เพียงพอ: แม้การแยกกันอยู่เป็นเวลานานจะเป็นส่วนหนึ่งของเหตุหย่า แต่ต้องมีเงื่อนไขอื่นที่แสดงถึงการที่ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างปกติสุขได้ เช่น: การทะเลาะเบาะแว้งบ่อยครั้ง ความขัดแย้งที่ไม่สามารถประนีประนอมได้ การกระทำที่สร้างความทุกข์ใจจนทำให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปไม่ได้ 3. เหตุผลเพิ่มเติมที่ประกอบการฟ้องหย่า: นอกเหนือจากระยะเวลาที่แยกกันอยู่เกินกว่า 3 ปีแล้ว ศาลต้องพิจารณาว่าการแยกกันอยู่เกิดจากการที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข เช่น: การประพฤติไม่เหมาะสมของคู่สมรสฝ่ายหนึ่ง: การมีชู้หรือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของคู่สมรส การละเลยหน้าที่คู่สมรส: เช่น ไม่ดูแลหรือไม่ให้การสนับสนุนตามที่กฎหมายกำหนด การกระทำที่ฝ่าฝืนหลักศีลธรรมอันดี: การประพฤติไม่สมควรที่สร้างความอับอายหรือทุกข์ใจให้แก่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง 4. การพิจารณาของศาลในคดีหย่า: ศาลจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาว่าการแยกกันอยู่เกิดจากสาเหตุที่สมควรหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าการแยกกันอยู่มีผลกระทบต่อความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนหรือไม่ โดยศาลจะให้ความสำคัญกับปัจจัยหลายประการเพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย สรุป การฟ้องหย่าตามมาตรา 1516 (4/2) จึงต้องอาศัยมากกว่าการแยกกันอยู่เป็นระยะเวลานาน ต้องประกอบด้วยการพิสูจน์ว่าคู่สมรสไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้อย่างปกติสุขและมีเหตุผลอื่น ๆ ที่ศาลเห็นว่าเพียงพอสำหรับการหย่า
|