

พี่น้องของผู้ตายขอเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสซ้อนไม่ได้
ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์
พี่น้องของผู้ตายขอเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสซ้อนไม่ได้ บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสตกเป็นโมฆะ ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ พี่น้องร่วมบิดามารดาจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้ เมื่อผู้ร้องได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3898/2548 บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืน ป.พ.พ. มาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้ ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย หากการสมรสไม่ถูกต้องตามกฎหมายคำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะ ตาม ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายสินชัย ผู้ตาย ผู้ร้องกับผู้ตายจดทะเบียนสมรสกันหลอก ๆ เพื่อผู้ร้องจะเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เป็นการแสดงเจตนาลวง การจดทะเบียนสมรสจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกคำร้องและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งยกคำร้องขอ และตั้งนายกุมภา ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย ผู้ตายให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ผู้ร้องอุทธรณ์ ผู้คัดค้านฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า นางภัทรวดี ผู้ร้องจดทะเบียนสมรสกับนายสินชัย ผู้ตาย ตามสำเนาใบสำคัญการสมรสเอกสารหมาย ร.1 ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2541 ตามสำเนามรณบัตรเอกสารหมาย ร.2 โดยมิได้ทำพินัยกรรมหรือตั้งผู้จัดการมรดกไว้ ก่อนตายผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นเงินฝากในธนาคารกับที่ดินและกรณีมีเหตุขัดข้องในการจัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ตายไม่มีผู้สืบสันดานและบิดามารดาได้ถึงแก่ความตายไปก่อนแล้ว ส่วนนายกุมภา ผู้คัดค้านเป็นน้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับผู้ตาย เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 (3) และผู้ร้องกับผู้คัดค้านต่างมีคุณสมบัติไม่เป็นบุคคลที่ต้องห้ามมิให้เป็นผู้จัดการมรดกตามมาตรา 1718 ที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องกับผู้ตายสมรสกันโดยมิได้ยินยอมเป็นสามีภริยากัน มิได้มีเจตนาเป็นสามีภริยากันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1458 การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 เมื่อผู้ร้องมิได้เป็นคู่สมรสของผู้ตายจึงไม่เป็นทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย ไม่มีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1713 ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ขอให้ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะนั้น เห็นว่า บุคคลที่จะร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1458 ตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1495 นั้น ได้แก่ คู่สมรส บิดามารดา หรือผู้สืบสันดานของคู่สมรสหรืออัยการ เมื่อผู้คัดค้านไม่ใช่บุคคลดังกล่าวจึงไม่อาจขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้ร้องเป็นโมฆะได้ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ร้องได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายกับผู้ตาย ผู้ร้องย่อมเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย แม้หากการสมรสจะไม่ถูกต้องตามกฎหมายดังที่ผู้คัดค้านอ้างก็ตาม แต่คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่าการสมรสนั้นเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 เมื่อยังไม่มีฝ่ายใดฟ้องและศาลยังไม่มีคำพิพากษาว่าการสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายเป็นโมฆะ การสมรสระหว่างผู้ร้องกับผู้ตายจึงยังคงมีอยู่ ผู้ร้องจึงยังเป็นคู่สมรสของผู้ตายเป็นทายาทโดยธรรมคนหนึ่ง มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1629 วรรคสอง และมีสิทธิร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตายเช่นเดียวกับผู้คัดค้าน” พิพากษาแก้เป็นว่า ให้นางภัทรวดี ผู้ร้องและนายกุมภา ผู้คัดค้าน ร่วมกันเป็นผู้จัดการมรดกของนายสินชัย ผู้ตาย กับให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับป.พ.พ. มาตรา 1496, 1629, 1713 มาตรา 1496 คำพิพากษาของศาลเท่านั้นที่จะแสดงว่า การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ มาตรา 1629 ทายาทโดยธรรมมีหกลำดับเท่านั้น และภายใต้บังคับแห่งมาตรา 1630 วรรค 2 แต่ละลำดับมีสิทธิได้รับมรดกก่อนหลังดั่งต่อไปนี้ คือ มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้ มาตรา 1458 การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายหญิงยินยอมเป็นสามีภริยากันและต้องแสดงการยินยอมนั้นให้ปรากฏโดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและให้นายทะเบียนบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย มาตรา 1495 การสมรสที่ฝ่าฝืนมาตรา 1449 มาตรา 1450 มาตรา 1452 และมาตรา 1458 เป็นโมฆะ คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง คำสั่งการสมรสเป็นโมฆะไม่ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาทได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 100/2534 ส. จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นอยู่ก่อนแล้ว จึงมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับ จ. จ. จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียมีสิทธิร้องขอให้อัยการร้องขอต่อศาลให้พิพากษาว่าการสมรสระหว่าง ส. กับ จ. เป็นโมฆะได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497. ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ตามคำร้องเป็นการโต้แย้งสิทธิระหว่างคู่สมรส ต้องดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท จึงให้ยกคำร้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่านางจิตติมา ได้รับความเสียหายจากการที่นายสุจินต์ จดทะเบียนสมรสกับหญิงอื่นแล้วมาจดทะเบียนสมรสซ้อนกับนางจิตติมา อีก นางจิตติมา จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะร้องขอให้อัยการเป็นผู้ร้องขอต่อศาลเพื่อให้พิพากษาว่า การสมรสระหว่างนายสุจินต์กับนางจิตติมาเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 ผู้ร้องจึงมีอำนาจยื่นคำร้องขอคดีนี้ คดีมีปัญหาต่อไปว่าการสมรสระหว่างนายสุจินต์กับนางจิตติมาเป็นโมฆะหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปได้โดยไม่ต้องย้อนสำนวนในประเด็นข้อนี้ ข้อเท็จจริงตามที่ผู้ร้องนำสืบฟังได้ว่า นายสุจินต์ได้จดทะเบียนสมรสกับนางจรัส มาตั้งแต่ พ.ศ. 2515 ต่อมานายสุจินต์ ได้จดทะเบียนสมรสซ้อนกับนางจิตติมา อีกเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2523 การกระทำของนายสุจินต์ดังกล่าวจึงเป็นการฝืาฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 การสมรสครั้งหลังจึงเป็นโมฆะตามมาตรา 1496 พิพากษากลับเป็นว่า การสมรสระหว่างนายสุจินต์ กับนางจิตติมา เป็นโมฆะ. |