

สำนักงานการปฏิรูปฯ (ส.ป.ก.)ขอออกโฉนดโดยมิชอบ สำนักงานการปฏิรูปฯ (ส.ป.ก.)ขอออกโฉนดโดยมิชอบ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 17275 เป็นของโจทก์ ข้อเท็จจริงฟังว่าเดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 17275 ออกโฉนดมาจาก น.ส. 3 เลขที่ 535 ซึ่งตามที่ดิน น.ส. 3 มีชื่อนายอนันต์ต่อมาได้ขายที่ดินดังกล่าวแก่กระทรวงการคลัง (เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) แล้ว จดทะเบียนมาเป็นชื่อสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ในปี 2540 ต่อมาปี 2554 สำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ได้ออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดเลขที่ 17275 โดยเจ้าของเดิมทุกคนรวมถึงสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)ซึ่งจัดให้บุคคลมีชื่อเช่าตลอดมาก็ตามไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากเข้าใจว่าที่ดินที่ซื้อขายกันเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดกัน(เข้าใจผิดแปลง) ซึ่งความจริงคือเดิมที่ดินพิพาทนางสีเป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ นางสีจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนและมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ นายอนันต์ซึ่งไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 มีชื่อนายอนันต์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เป็นเพียงข้อสันนิษฐานส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้นจะต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง เมื่อปรากฏว่านางสีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้นายอนันต์ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1(สำนักงาน ส.ป.ก.) เมื่อปี 2540 นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้ โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและขอให้เพิกถอนโฉนดที่ดินโฉนดเลขที่ 17275 ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3169/2564 ที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง ส. เป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส. จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 และมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เลขที่ 535 มีชื่อ อ. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองเป็นเพียงข้อสันนิษฐานตาม ป.พ.พ. มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง อ.ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครอง ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้ และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียน มิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและตาม พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้ โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 17275 เนื้อที่ 49 ไร่ 2 งานเศษ เป็นของโจทก์ และให้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงชื่อทางทะเบียนในโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวมาเป็นชื่อของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 17275 กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยที่ 1 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามโฉนดเลขที่ 17275 เนื้อที่ 49 ไร่ 2 งาน มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ และอยู่ในเขตประกาศเป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามสำเนาโฉนดที่ดิน มีที่ตั้งตามกรอบสีแดงในแผนที่พิพาท โฉนดที่ดินพิพาทออกมาจากหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 นายทองจดทะเบียนซื้อที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 จากธนาคารกรุงไทยจำกัด และได้จดทะเบียนขายแก่นายอนันต์ และนายอนันต์จดทะเบียนขายให้แก่จำเลยที่ 1 ในนามกระทรวงการคลัง (เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) เมื่อปี 2540 ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 ต่อมาเมื่อปี 2554 จำเลยที่ 1 จึงขอออกเอกสารสิทธิเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 17275 นายทองและนางเสงี่ยมซึ่งเป็นภริยาไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท แต่เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงที่อยู่ติดกันภายในกรอบเส้นสีเขียวตามแผนที่พิพาท มาตั้งแต่ก่อนปี 2525 และหลังจากนายอนันต์ซื้อที่ดินจากนายทองแล้ว ได้ให้นายทองเช่าทำกิน โดยนายทองและนางเสงี่ยมยังคงทำประโยชน์ในที่ดินกรอบเส้นสีเขียวตามเดิมตลอดมา นายอนันต์ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินมาแล้วได้ให้นางเสงี่ยมเช่าที่ดินกรอบเส้นสีเขียวจนกระทั่งนางเสงี่ยมถึงแก่ความตาย เมื่อปี 2539 จำเลยที่ 1 ให้นางสุรินทร์และนางจำลองซึ่งเป็นบุตรของนางเสงี่ยมเช่าที่ดินกรอบเส้นสีเขียวโดยนางเสงี่ยม นางสุรินทร์ และนางจำลองได้ทำประโยชน์ในที่ดินแปลงกรอบสีเขียวมาตลอดไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ส่วนที่ดินพิพาทมีนางสีเป็นผู้เข้าทำประโยชน์โดยให้นายไพรวัลย์และนายจำปีหรือปี เช่าทำกิน จนกระทั่งปี 2544 โจทก์เช่าที่ดินพิพาทจากนางสีเพื่อทำนา และเมื่อปี 2547 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนางสมจิตร บุตรของนางสี และครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา คดีในส่วนจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์ไม่อุทธรณ์ จึงยุติไปคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้แม้โจทก์จะฟ้องว่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 เดิมมีชื่อนายอนันต์ เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ ต่อมานายอนันต์ขายให้แก่กระทรวงการคลังและโอนมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นที่ดินคนละแปลงกับที่ดินพิพาทและการที่จำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทในที่ดินที่โจทก์ครอบครองไม่ชอบด้วยกฎหมาย และข้อเท็จจริงปรากฏว่าที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 17275 ออกมาจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ดินพิพาท โฉนดที่ดินพิพาทจึงมิได้ออกผิดแปลงหรือออกทับที่ดินมือเปล่าที่โจทก์ครอบครองก็ตาม แต่คดีนี้โจทก์ยังฟ้องว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทด้วย ซึ่งเดิมที่ดินพิพาทมีหลักฐานเป็นหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 จึงมีเพียงสิทธิครอบครอง แต่ข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยโดยจำเลยที่ 1 ไม่ฎีกาโต้แย้งปรากฏว่า นายทองเป็นผู้ขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 แก่นายอนันต์ เมื่อปี 2525 แล้วต่อมานายอนันต์ขายที่ดินแก่กระทรวงการคลัง (เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) แล้ว วันที่ 9 ตุลาคม 2540 จึงจดทะเบียนโอนชื่อมาเป็นของจำเลยที่ 1 หลังจากนั้นปี 2554 จำเลยที่ 1 จึงขอออกโฉนดที่ดินพิพาท แต่นายทอง นายอนันต์ แม้กระทั่งจำเลยที่ 1 หรือผู้ที่จำเลยที่ 1 ให้เช่าที่ดิน ไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาท เนื่องจากเข้าใจว่าที่ดินที่ซื้อขายกันเป็นที่ดินแปลงที่อยู่ติดกัน ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 1 นำสืบได้ความว่า เดิมที่ดินพิพาทนางสีเป็นผู้ยึดถือครอบครองทำประโยชน์ นางสีจึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1367 และมีสิทธิขายที่ดินพิพาทและมอบการครอบครองแก่โจทก์ได้ นายอนันต์ซึ่งไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินพิพาทย่อมไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท การที่หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 535 มีชื่อนายอนันต์เป็นผู้มีสิทธิครอบครอง เป็นเพียงข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ส่วนความเป็นจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้นจะต้องพิจารณาว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครอง เมื่อปรากฏว่านางสีเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยเจตนายึดถือเพื่อตนอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้นายอนันต์ไม่อาจขายที่ดินพิพาทแก่กระทรวงการคลังได้และการที่กระทรวงการคลังจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้ครอบครองทำประโยชน์มาเป็นจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2540 นั้น เป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนมิได้มีการเข้าครอบครองยึดถือที่ดินพิพาทเพื่อตนตามความเป็นจริง แม้จำเลยที่ 1 เป็นสำนักงานการปฏิรูปเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) และตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 มาตรา 36 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “บรรดาที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ใด ๆ ที่ ส.ป.ก. ได้มาตามพระราชบัญญัตินี้ หรือได้มาโดยประการอื่นที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ไม่ให้ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุและให้ ส.ป.ก. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพื่อใช้ในการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม” แต่บทบัญญัติดังกล่าวมิได้มุ่งหมายให้จำเลยที่ 1 กล่าวอ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์แตกต่างจากเจ้าของทรัพย์สินทั่วไปที่มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เมื่อนายอนันต์ไม่ใช่เจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทดังได้วินิจฉัยข้างต้น การที่จำเลยที่ 1 โดยกระทรวงการคลังจัดซื้อที่ดินพิพาทจากผู้ที่มิได้เป็นเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครอง จำเลยที่ 1 ย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทเช่นเดียวกัน จึงไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทไปขอออกโฉนดพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันมาว่าโจทก์เป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทและให้เพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ศาลชั้นต้นยังไม่มีคำสั่งเกี่ยวกับค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้ถูกต้อง พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นกับค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ |