

พักโรงแรมห้องเดียวกับสามี ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้โดยไม่ต้องฟ้องหย่า พักโรงแรมห้องเดียวกับสามี ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงชู้โดยไม่ต้องฟ้องหย่า หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภริยาไปรับประทานอาหารกับ สามีโจทก์. ร่วมกับเพื่อนของหญิงและเพื่อนของ สามี โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนที่รู้จักในการทำงานทั่วไปและการที่หญิงนั้นไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งกับ สามีโจทก์ โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของ สามีโจทก์ เพื่อนของหญิงและพนักงานงานโรงแรมก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงนั้นได้ การฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นกฎหมายไม่ได้บังคับว่าต้องฟ้องหย่าสามีก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องหญิงอื่นได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4818/2551 โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยอ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับ พ. ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของ พ. เป็นการฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะ มิใช่คดีละเมิดธรรมดา ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 โจทก์อ้างเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกเป็นพยานไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 90 (2) จำเลยไปรับประทานอาหารกับ พ. ร่วมกับเพื่อนของจำเลยและเพื่อนของ พ. โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนที่รู้จักในการทำงานทั่วไปและการที่จำเลยไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งกับ พ. โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของ พ. เพื่อนของจำเลยและพนักงานงานโรงแรมก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยซึ่งเป็นหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตาม ป.พ.พ. มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ย่อมไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรค(หนึ่ง) ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาชอบด้วยกฎหมายของนายไพฑูรณ์ จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2537 เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2547 โจทก์สืบทราบว่าจำเลยกับนายไพฑูรณ์มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกัน โดยนัดหมายไปด้วยกันสองต่อสองและแสดงออกแก่บุคคลอื่นว่าจำเลยเป็นภริยาของนายไพฑูรณ์รวมทั้งจำเลยกับนายไพฑูรณ์เข้าพักค้างแรมที่โรงแรมซิตตี้ปาร์ค (ที่ถูก โรงแรมซิตี้ปาร์ค) จังหวัดน่าน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2547 โจทก์ได้รวบรวมหลักฐานและสอบถามนายไพฑูรณ์ นายไพฑูรณ์ยอมรับการกระทำดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าต่อเพื่อนร่วมงานและบุคคลทั่วไป เสื่อมเสียชื่อเสียง ขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยรู้จักกับนายไพฑูรณ์สามีโจทก์เนื่องจากได้ร่วมงานในหน้าที่ ไม่ได้มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาว จำเลยไม่ได้ไปจังหวัดน่านกับสามีโจทก์ โจทก์ยังไม่ได้ฟ้องหย่ากับสามีโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 1,000 บาท จำเลยฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายไพฑูรณ์ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจำเลยก็ทราบดี โจทก์เป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0-1882-404- โดยให้นายไพฑูรณ์เป็นผู้ใช้ ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลข 0-1884-532- และเมื่อเดือนมกราคม 2547 นายไพฑูรณ์กับจำเลยรวมทั้งเพื่อนของนายไพฑูรณ์และเพื่อนจำเลยได้ร่วมรับประทานอาหารกันที่ร้านอาหารที่ในอำเภอเมืองลำปางโดยใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ติดต่อนัดหมายกันจากนั้นได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงต่อ ภาพถ่ายหมาย จ.6 เป็นภาพเดียวกันกับภาพถ่ายหมาย ป.จ. 1 มีรูปของจำเลยใส่เสื้อสีขาวทางด้านล่างซ้ายมือ และมีรูปนายไพฑูรณ์อยู่ทางขวา คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในประเด็นที่ว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับนายไพฑูรณ์ในทำนองชู้สาวหรือไม่ และค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดมากไปนั้นเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนให้แก่โจทก์จำนวน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้อง ถือว่าจำนวนทุนทรัพย์พิพาทในชั้นอุทธรณ์ไม่เกิน 50,000 บาท ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยให้จำเลยเห็นว่าโจทก์ฟ้องจำเลยโดยหาว่าจำเลยมีความสัมพันธ์กับนายไพฑูรณ์ทำนองชู้สาวทำให้เกิดความแตกร้าวในครอบครัว อันเป็นสิทธิในครอบครัวจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยประเด็นนี้ก่อนนั้น เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย โดยโจทก์อ้างเหตุว่า จำเลยคบหากับนายไพฑูรณ์ในลักษณะชู้สาวและจำเลยแสดงตนโดยเปิดเผยว่าเป็นภริยาของนายไพฑูรณ์ โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งเป็นบทบัญญัติในบรรพ 5 เป็นการเฉพาะกรณีเป็นเหตุที่จะนำไปสู่ความร้าวฉานในครอบครัว จึงเป็นเรื่องกระทบกระเทือนต่อสิทธิและหน้าที่กับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาโดยตรง หาใช้คดีละเมิดธรรมดาไม่ ถือเป็นคดีเกี่ยวด้วยสิทธิในครอบครัว ไม่ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชันและครอบครัว พ.ศ.2534 มาตรา 6 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อเท็จจริงจึงไม่ชอบ แต่ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหานี้ไปทีเดียวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า จำเลยมีความสัมพันธ์กับนายไพฑูรณ์ในทำนองชู้สาวหรือไม่ และค่าทดแทนที่ศาลชั้นต้นกำหนดนั้นมากเกินไป เห็นว่า โจทก์มีนายไพฑูรณ์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อต้นปี 2547 พยานได้สนใจจำเลยในทางชู้สาวและได้เคยไปรับประทานอาหารด้วยกันในอำเภอเมืองลำปางโดยมีเพื่อนของจำเลยและเพื่อนพยานไปด้วย และพยานกับจำเลยได้เคยเข้าพักโดยนอนด้วยกันที่โรงแรมเวียงลคอร อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง นอกจากนี้ในวันที่ 24 มกราคม 2547 พยาน กับจำเลยได้เข้าพักที่โรงแรมซิตี้ปาร์ค จังหวัดน่านและได้มีเพศสัมพันธ์กัน และในวันที่ 31 มกราคม 2547 พยานและจำเลยได้เข้าพักที่โรงแรมเวียงลคอรและมีเพศสัมพันธ์กันอีก ซึ่งข้อเท็จจริงในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสถานที่ต่างๆ นั้นโจทก์มีนายสมศักดิ์ กาจารี ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับนายไพฑูรณ์มาเบิกความเป็นพยานโจทก์สนับสนุนข้อเท็จจริงว่าพยานเคยไปรับประทานอาหารร่วมกับนายไพฑูรณ์และจำเลยที่ในอำเภอเมืองลำปางด้วยกันและสาเหตุที่จำจำเลยได้เพราะระหว่างที่รับประทานอาหารจำเลยได้ตักอาหารและข้าวให้นายไพฑูรณ์ นายเจริญลาภ พยานเคยไปสถานบันเทิงกับนายไพฑูรณ์ ระหว่างนั่งดื่มสุรากันอยู่จำเลยได้เข้ามาหานายไพฑูรณ์และพูดคุยกัน จากนั้นนายไพฑูรณ์ก็กลับออกไปพร้อมกับจำเลย นายพิพัฒน์พลเบิกความว่า พยานเคยไปรับประทานอาหารร่วมกับนายไพฑูรณ์โดยระหว่างรับประทานอาหารจำเลยและเพื่อนจำเลยได้เข้ามาร่วมรับประทานอาหารด้วย โดยพยานสังเกตเห็นนายไพฑูรณ์ดูแลพูดคุยกับจำเลยเป็นพิเศษ และหลังจากนั้นได้ไปเที่ยวสถานบันเทิงด้วยกันโดยจำเลยจะนั่งติดกับนายไพฑูรณ์ตลอดเวลาแม้ว่าพยานดังกล่าวจะเป็นเพื่อนกับนายไพฑูรณ์ก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย เชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง ทั้งจำเลยยังได้นำสืบรับว่าเคยไปรับประทานอาหารร่วมกับนายไพฑูรณ์และเพื่อนของนายไพฑูรณ์ที่อำเภอเมืองลำปาง และไปเที่ยวสถานบันเทิงจริง นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสันติ พนักงานต้อนรับของโรงแรมซิตี้ปาร์คเป็นพยานเบิกความว่า เมื่อประมาณเดือนมกราคม 2547 พยานเห็นนายไพฑูรย์และจำเลยเข้าพักที่โรงแรม และที่จำได้เพราะเป็นลูกค้ารายแรกที่พยานมาทำงานในช่วงเข้าเวร และขณะนั้นไม่มีลูกค้าอื่น ทั้งพยานยังได้พูดคุยกับนายไพฑูรณ์ ทั้งหลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ ได้มีผู้หญิงโทรศัพท์มาสอบถามรายละเอียดของนายไพฑูรณ์เกี่ยวกับการขอเปิดเช่าห้องพักของโรงแรมซึ่งสอดคล้องต้องกันกับบัตรจดนามผู้พักเอกสารหมาย จ.4 ซึ่งเป็นเอกสารฉบับเดียวกันกับเอกสารหมาย ป.จ.2 ซึ่งเป็นหลักฐานการที่นายไพฑูรณ์ขอเข้าพักที่โรงแรมดังกล่าวในวันที่ 24 มกราคม 2547 เวลา 22.30 นาฬิกา โดยมีรายละเอียดระบุว่ามีจำนวนผู้เข้าพัก 2 คน และโจทก์ยังมีพยานปากนายบุญส่ง พนักงานรักษาความปลอดภัยที่ลานจอดรถของโรงแรมเวียงลคอร อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง เบิกความว่า เห็นจำเลยและนายไพฑูรย์มาพักโรงแรม 2 ครั้ง เหตุที่จำได้เนื่องจากนายไพฑูรณ์ให้ทิปมากกว่าแขกคนอื่นๆ ซึ่งตามหนังสือแจ้งรายการของผู้พักประจำวันที่ 31 มกราคม 2547 เอกสารหมาย จ.5 รายการที่ 7 ก็ปรากฏชื่อนายไพฑูรณ์เป้นผู้เข้าพัก เมื่อไม่ปรากฏว่าพยานทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ทั้งเป็นบุคคลภายนอกมิได้มีส่วนได้เสียใดๆ กับโจทก์และจำเลย จึงเชื่อว่าเบิกความตามความเป็นจริง และยังเป็นการสอดคล้องกับที่นายไพฑูรณ์เบิกความและตามบันทึกข้อเท็จจริงซึ่งนายไพฑูรณ์ได้ทำขึ้นโดยมีรายละเอียดถึงความสัมพันธ์ระหว่างนายไพฑูรณ์กับจำเลยตามเอกสารหมาย จ.3 จึงน่าเชื่อว่านายไพฑูรณ์เบิกความเป็นจริงเช่นกัน ทั้งตามรายการใช้โทรศัพท์ของหมายเลข 0-1882-405- ซึ่งเป็นโทรศัพท์ที่นายไพฑูรย์ใช้นั้นได้มีการโทรศัพท์ติดต่อไปยังโทรศัพท์หมายเลข 0-1884-532- ซึ่งจำเลยรับว่าเป็นของจำเลยจำนวนหลายครั้ง อันเป็นการสอดคล้องกับที่นายไพฑูรณ์เบิกความว่ามีการติดต่อทางโทรศัพท์กับจำเลยตลอดในการนัดเจอกัน แม้ว่ารายการใช้โทรศัพท์ดังกล่าวจะเป็นเพียงสำเนาเอกสารและโจทก์มิได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้จำเลยก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าเอกสารดังกล่าวเป็นเอกสารที่อยู่ในความครอบครองของบุคคลภายนอกคือบริษัทแอ็ดวานซ์อินโฟรเซอร์วิช จำกัด โจทก์จึงไม่จำต้องส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 (2) จึงรับฟังเป็นพยานได้ ที่จำเลยนำสืบต่อสู้อ้างว่า วันที่ 23 และ 24 มกราคม 2547 จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมค่ายพักแรมลูกเสือและเนตรนารีที่น้ำตกแม่ปาน ตำบลเมืองปาน อำเภอเมืองปาน จังหวัดปานและหลังเสร็จกิจกรรมก็เดินทางกลับบ้านพักโรงเรียนในเวลา 13 นาฬิกา และออกเดินทางกลับบ้านของจำเลยที่อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ในเวลา 18 นาฬิกา แต่กลับปรากฏว่าจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นถึงพยานหลักฐานว่าจำเลยได้กลับไปที่บ้านของจำเลยที่อำเภอเสริมงานจริงหรือไม่ ทั้งช่วงเวลาที่ปรากฏตามบัตรจดนามผู้พักของโรงแรมซิตี้ปาร์ค เอกสารหมาย จ.4 ก็ระบุเวลาเข้าพักว่าเป็นเวลา 22.30 นาฬิกา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ห่างจากเวลาที่จำเลยออกจากบ้านพักโรงเรียนมากพอสมควร ทั้งในช่วงเวลา 22.30 นาฬิกา นั้น จำเลยก็ไม่มีพยานหลักฐานใดมายืนยันว่าจำเลยมิได้อยู่ที่โรงแรมดังกล่าวเพื่อให้เห็นว่าข้อเท็จจริงมิได้เป็นไปตามทางนำสืบของโจทก์ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักรับฟังได้มากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย จึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ และการที่จำเลยไปรับประทานอาหารกับนายไพฑูรณ์ร่วมกับเพื่อนของจำเลยและเพื่อนของนายไพฑูรณ์โดยมีการแสดงออกถึงความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้ชิดเป็นพิเศษเกินกว่าความสัมพันธ์ในระดับคนรู้จักในการทำงานทั่วไปจนขนาดเพื่อนของนายไพฑูรณ์สังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์ที่พิเศษนี้ได้และการที่จำเลยไปพักที่โรงแรมทั้งสองแห่งดังกล่าวกับนายไพฑูรณ์โดยพักอยู่ห้องเดียวกันและมีเพศสัมพันธ์กัน แม้ผู้ที่เห็นเหตุการณ์จะเป็นเพื่อนของนายไพฑูรณ์ เพื่อนของจำเลยและพนักงานโรงแรมก็ตามก็เป็นการแสดงตัวอย่างเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกันแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าทดแทนจากจำเลยได้ และค่าทดแทนนั้นเป็นค่าเสียหายอย่างหนึ่ง ศาลมีอำนาจกำหนดได้ตามฐานานุรูปแห่งผู้ต้องได้รับความเสียหายซึ่งรวมถึงความเสียหายแก่ชื่อเสียงและเกียรติคุณด้วย เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับราชการครูเป็นผู้มีชื่อเสียงในเขตอำเภอเมืองปาน และอำเภอเมืองปาน เป็นอำเภอเล็กๆ ความสัมพันธ์ฉันชู้สาวระหว่างจำเลยและนายไพฑูรณ์ย่อมแพร่ไปได้ง่าย ประกอบกับโจทก์มีบุตรกับนายไพฑูรณ์ด้วยกัน 1 คน โดยจำเลยมิได้นำหักล้างในส่วนนี้ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดค่าทดแทนเป็นเงิน 50,000 บาท นั้นจึงเหมาะสมแล้ว มีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องหย่านายไพฑูรณ์เป็นเหตุให้โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย เห็นว่า กรณีตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งกฎหมายไม่ได้บังคับว่าจะต้องมีการฟ้องหย่าก่อนจึงจะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนได้ ไม่ใช่การฟ้องเรียกค่าทดแทนตามมาตรา 1523 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการฟ้องหย่าโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516 (1) เสียก่อน จึงจะมีสิทธิฟ้องได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยปัญหาข้อนี้มาว่าโจทก์มีสิทธิฟ้องได้นั้น ชอบแล้ว พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แทนโจทก์ ค่าเสียหาย ค่าทดแทนที่ภริยาต้องอับอาย เมื่อศาลให้หย่ากันเพราะเหตุสามีมีหญิงอื่นภริยามีสิทธิได้รับค่าทดแทนจากสามี ค่าทดแทนตามกฎหมายนั้น ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์ได้โดยศาลจะสั่งให้ชำระครั้งเดียวหรือแบ่งชำระเป็นงวดๆ มีกำหนดเวลาตามที่ศาลจะเห็นสมควรก็ได้ และศาลคำนึงถึงจำนวนทรัพย์สินที่คู่สมรสนั้นได้รับไปจากการแบ่งสินสมรสเพราะการหย่านั้นได้ด้วย คดีนี้ภริยาเรียกร้องค่าทดแทนเป็นเงิน 5,000,000 บาท แต่มิได้แสดงพฤติการณ์พิเศษให้เห็นว่าควรได้ค่าทดแทนเท่าใด ศาลคำนึงถึงฐานานุรูปของภริยาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้วทรัพย์สินที่ภริยาได้รับจากการแบ่งสินสมรสแล้ว เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์กำหนดค่าทดแทนเพราะเหตุสามีอุปการะเลี้ยงดูหญิงอื่นฉันภริยาเป็นเงิน 500,000 บาท นับว่าเหมาะสมตามควรแก่พฤติการณ์แล้ว
สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1094/2539 สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1523วรรคสองกฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(1) โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 มีที่ดินเป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 มีความสัมพันธ์ฉันชู้สาวกับจำเลยที่ 2 โดยไปพักแรมต่างจังหวัดด้วยกันเป็นประจำและยังพักหลับนอนค้างคืนร่วมกันที่ห้องนอนของโจทก์บ่อยครั้ง และจำเลยที่ 1 กระทำการเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันกับโจทก์อย่างร้ายแรง จึงขอหย่าขาดกับจำเลยที่ 1 และขอเรียกค่าเลี้ยงชีพจากจำเลยที่ 1 เป็นรายเดือน นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะสมรสใหม่ ขอให้แบ่งสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง และขอเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 เป็นเงิน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ให้การว่า เมื่อจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 ไม่เคยอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา จำเลยที่ 1 ไม่เคยประพฤติปฎิบัติเป็นปฎิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงกับโจทก์ จำเลยทั้งสองมิได้มีความสัมพันธ์กันในทำนองชู้สาวที่ดินตามฟ้องมิใช่เป็นสินสมรส จำเลยที่ 1 ไม่มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าเลี้ยงชีพให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 ไม่เคยมีความสัมพันธ์กับสามีโจทก์ในทำนองชู้สาว ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้โจทก์และจำเลยที่ 1 หย่าขาดจากกัน ให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 50,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย คำขอนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาที่ว่า ค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ทั้งมาตราย่อมต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1) เท่านั้นหรือไม่ เห็นว่า สิทธิเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่า ตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวตามมาตรา 1523 วรรคสอง ซึ่งโจทก์ฟ้องเรียกจากจำเลยที่ 2 นี้ กฎหมายมิได้มีเงื่อนไขว่าภริยาจะต้องฟ้องหรือหย่าขาดจากสามีเสียก่อนจึงจะฟ้องได้ จึงไม่ต้องอาศัยเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(1) แต่อย่างใด ฉะนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 แสดงตนโดยเปิดเผยว่ามีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับจำเลยที่ 1 สามีโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ พิพากษายืน
|