
-ปรึกษาทนายความ (นายลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ) โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ ID line :
(1) @leenont หรือ (2) @peesirilaw (3) 0859604258 เพิ่มเพื่อนด้วยหมายเลขโทรศัพท์
-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE

สิทธิฟ้องหย่าระงับเมื่ออีกฝ่ายให้อภัยแล้ว
โจทก์แสดงออกโดยกลับมาอยู่บ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิมเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยต่อการกระทำของจำเลยที่ส่งข้อความหมิ่นประมาทบิดาของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ในเรื่องนี้จึงหมดไป
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10157/2559
โจทก์บรรยายฟ้องว่า เดือนพฤษภาคม 2557 จำเลยทำหนังสือร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของโจทก์ว่าโจทก์มีพฤติกรรมในทางชู้สาวกับหญิงอื่น ต่อมาเดือนสิงหาคม 2557 จำเลยถอนเรื่องร้องเรียนดังกล่าว แล้วโจทก์ยอมกลับมาอยู่กับจำเลยที่บ้าน จึงเห็นได้ว่า ตามคำฟ้องของโจทก์มีการบรรยายระบุถึงพฤติการณ์ที่แสดงถึงการให้อภัยจำเลยโดยยอมกลับมาอยู่กับจำเลยภายหลังเกิดเหตุการณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้ให้การโต้แย้งเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงถือว่าเป็นข้อเท็จจริงที่คู่ความรับกันแล้ว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) อีกทั้งจำเลยได้ยื่นถอนเรื่องร้องเรียนความประพฤติด้านชู้สาวของโจทก์ต่อผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสระบุรี เขต 1 ว่า จำเลยตกลงใจถอนเรื่องร้องเรียนโดยมีเงื่อนไข 3 ประการ คือให้โจทก์กลับเข้าบ้านและปฏิบัติตนเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีดูแลบุตรภริยาตามเดิม ให้โจทก์ปฏิบัติตนในทางที่ดี ไม่ให้เป็นที่ดูถูก ดูหมิ่นเหยียดหยาม ซุบซิบนินทาของบุคคลทั่วไปในสังคมและให้โจทก์ให้เกียรติยกย่องบุคคลในครอบครัวอันได้แก่ บุตร ภริยา ตามกาลเทศะที่เหมาะสม โดยโจทก์ก็ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงว่าโจทก์จะกลับเข้าพักในบ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิม แม้ข้อตกลงจะไม่ได้ระบุว่าโจทก์ให้อภัยการกระทำของจำเลย แต่พฤติการณ์ที่โจทก์แสดงออกโดยกลับมาอยู่บ้านเดิมกับครอบครัวซึ่งมีบุตรและภริยาเช่นเดิมเพื่ออยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยต่อไปภายหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว เป็นการแสดงว่าโจทก์ได้ให้อภัยต่อการกระทำของจำเลยที่ส่งข้อความหมิ่นประมาทบิดาของโจทก์ สิทธิฟ้องหย่าของโจทก์ในเรื่องนี้จึงหมดไป
สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่ง
การที่ภริยายอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่ภริยาฟ้องหย่าสามีนั้น ก็เพราะสามีตกลงเงื่อนไขกับภริยาไว้เมื่อสามีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและยังอยู่กินฉันสามีภริยากับหญิงอื่นต่อมาจนกระทั่งปัจจุบันจึงมิใช่กรณีที่ภริยายอมให้อภัยสามีตลอดไป ภริยาย่อมฟ้องหย่าสามีได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 173/2540
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันต่อมาจำเลยไปได้ม.เป็นภริยาโจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยศาลไกล่เกลี่ยโจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไปโจทก์จึงได้ถอนฟ้องไปปรากฏว่าหลังจากถอนฟ้องแล้วจำเลยยังคงอยู่ร่วมกับม. ฉันสามีภริยาต่อมา การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขจึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยการกระทำของจำเลย ถือได้ว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1516(6)
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาโดยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาก่อนจดทะเบียนสมรส จำเลยละทิ้งโจทก์ไปได้หญิงอื่นเป็นภริยาและมีบุตรด้วยกันเป็นเวลาประมาณ 8 ถึง 9 ปีเป็นการจงใจละทิ้งร้างโจทก์ไปเกินกว่า 1 ปี จำเลยทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างชัดแจ้ง มีเหตุฟ้องหย่าขอให้พิพากษาให้โจทก์กับจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หรือมิฉะนั้นให้โจทก์มีสิทธิรับเงินกึ่งหนึ่งจากการบังคับคดีที่ดิน
จำเลยให้การว่า โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยและถอนฟ้องโดยให้อภัยแก่จำเลยมาแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากกัน ให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 2947 ตำบลบุ่งหวาย อำเภอวารินชำราบจังหวัดอุบลราชธานี ให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย หากตกลงแบ่งกันไม่ได้ให้นำที่ดินขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า"ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยหรือไม่ ข้อเท็จจริงรับกันว่า โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2493 จดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2519ต่อมาปี 2528 จำเลยไปได้นางมีเป็นภริยา มีบุตรด้วยกัน 1 คนโจทก์ได้ฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 781/2528คดีหมายเลขแดงที่ 1028/2528 ของศาลจังหวัดอุบลราชธานีศาลในคดีดังกล่าวได้ทำการไกล่เกลี่ย โจทก์จำเลยตกลงกันว่าจำเลยจะต้องกลับมาอยู่ในบ้านหลังเดียวกับโจทก์ห้ามเกี่ยวข้องกับหญิงอื่นต่อไป รวมทั้งห้ามนำหญิงอื่นเข้ามาอยู่อาศัยในบ้านของโจทก์ โจทก์จึงได้ถอนฟ้องไป ปรากฏว่าหลังจากที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีก่อนแล้ว จำเลยยังคงอยู่ร่วมกับนางมีฉันสามีภริยาต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน เห็นว่า การที่โจทก์ยอมถอนฟ้องในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยนั้น ก็เพราะจำเลยตกลงเงื่อนไขกับโจทก์ไว้เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขยังอยู่กินฉันสามีภริยากับนางมีต่อมาจนกระทั่งปัจจุบัน จึงมิใช่กรณีที่โจทก์ยอมให้อภัยจำเลยตลอดไปตามที่จำเลยกล่าวอ้าง การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุฟ้องหย่าตามมาตรา 1516(6) จึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปไม่เกิน 1 ปีแล้วหรือไม่อันเป็นเหตุฟ้องหย่าอีกข้อหนึ่งนั้นต่อไปอีก โจทก์ย่อมฟ้องหย่าจำเลยได้"
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความ ผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่าย ที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่น ประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความ ประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วม ประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
มาตรา 1518 สิทธิฟ้องหย่าย่อมหมดไปในเมื่อฝ่ายที่มีสิทธิฟ้องหย่าได้ กระทำการอันแสดงให้เห็นว่าได้ให้อภัยในการกระทำของอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็น เหตุให้เกิดสิทธิฟ้องหย่านั้นแล้ว
*ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258
สำนักงานพีศิริ ทนายความ