

สามีภริยาจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้างแต่ต้องเกิดจากความยินยอม ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์
สามีภริยาจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้างแต่ต้องเกิดจากความยินยอม ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าในระยะเวลา 20 ปี จำเลยจะร่วมเพศกับโจทก์ทุกวันแทบไม่มีวันหยุด หากโจทก์ไม่ยินยอมร่วมเพศ จำเลยก็จะเรียกบุตรแต่ละคนมานั่งฟังคำด่า จนโจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยร่วมเพศ ต่อมาโจทก์ปวดท้องเพราะมดลูกอักเสบ จำเลยทราบเรื่องดี จำเลยยังคงร่วมเพศกับโจทก์อีก จนโจทก์ทนพฤติกรรมของจำเลยไม่ได้ต้องหนีออกจากบ้านหลายครั้ง จนบุตรต้องขอร้องให้กลับไปอยู่กับจำเลยโดยจำเลยรับปากว่าจะไม่มีพฤติกรรมทางเพศดังกล่าวอีก แต่จำเลยคงมีพฤติกรรมเช่นเดิม โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีแต่ละครั้งต้องเกิดจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจอีกฝ่ายก็จะบังคับหาได้ไม่ หากขืนใจก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ได้ การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีก็เพื่อให้บุตรผู้เยาว์ได้พักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าจำเลยยินยอมพร้อมใจที่จะร่วมประเวณีกับจำเลยหาได้ไม่ การที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย เมื่อจำเลยทราบก็ยังไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้านหลายครั้ง และเมื่อกลับมาอยู่กับจำเลยเนื่องจากบุตรช่วยเจรจาและจำเลยรับปากว่าจะไม่กระทำตามพฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) และพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงตาม มาตรา 1516 (6) ด้วย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 302/2559 แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีต้องเกิดจากความยินยอมของทั้งสองฝ่าย หากอีกฝ่ายไม่ยินยอมก็ไม่อาจบังคับได้ หากขืนใจถือเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 276 การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีเพื่อให้บุตรผู้เยาว์ไปพักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีไม่ได้ และการที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย จำเลยทราบแต่ไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้าน พฤติกรรมของจำเลยถือเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรง อันเป็นเหตุหย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และยังถือเป็นพฤติการณ์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (6) ด้วย โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน ให้จำเลยแบ่งสินสมรสให้โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เฉพาะส่วนในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ 6 แปลง ที่เป็นสินสมรสให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยชำระค่าทดแทนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1525 จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์และจำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ให้จำเลยแบ่งสินสมรส ได้แก่ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นสปอร์ตไรเดอร์ หมายเลขทะเบียน วห 5127 กรุงเทพมหานคร ที่ดินพร้อมบ้านเลขที่ 23/7 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ตามสำเนาโฉนดที่ดิน บ้านและที่ดินอีก 2 แปลง ที่ตำบลดอยลาน จังหวัดเชียงราย ทองคำแท่งและทองรูปพรรณ น้ำหนักรวม 20 บาท ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ให้จำเลยชำระเงิน 722,750 บาท แก่โจทก์ หากตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2557 ถึงวันพิพากษา (วันที่ 31 กรกฎาคม 2557) จำเลยชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูให้แก่โจทก์เท่าใดนำมาหักด้วย ให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 15,000 บาท คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับอนุญาตยกเว้นบางส่วนในศาลชั้นต้น ให้จำเลยนำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์เฉพาะ ค่าขึ้นศาลเท่าที่โจทก์ชนะคดี ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในชั้นนี้โดยคู่ความไม่โต้แย้งคัดค้านว่า โจทก์และจำเลยอยู่กินเป็นสามีภริยากันขณะโจทก์อายุประมาณ 18 ปี (ประมาณปี 2528 จำเลยเป็นคนพิการขาข้างขวาขาดตั้งแต่ต้นขาเหนือเข่าต้องใส่ขาเทียม) ต่อมาจดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2533 มีบุตรก่อนจดทะเบียนสมรส 2 คนและหลังจดทะเบียนสมรส 1 คน คือนางสาว ก. นางสาว ร. และนางสาว ณ. ตามสำเนาทะเบียนการสมรส สำเนาบัตรประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านบุตรทั้งสามระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากัน จำเลยร่วมประเวณีกับโจทก์เวลาประมาณ 19 นาฬิกา เกือบทุกวัน โดยในระหว่างที่บุตรเป็นผู้เยาว์ หากโจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยร่วมประเวณี จำเลยก็จะเรียกบุตรแต่ละคนมาฟังคำด่าของจำเลย จนโจทก์ยินยอม จำเลยจึงยอมให้บุตรไปพักผ่อน เมื่อปลายปี 2556 โจทก์ปวดท้องเนื่องจากมดลูกอักเสบ จำเลยทราบดี จำเลยก็ยังร่วมประเวณีกับโจทก์จนโจทก์ทนไม่ได้ต้องหนีออกจากบ้านไปหลายครั้ง บุตรได้ขอร้องให้โจทก์กลับมาอยู่กับจำเลย และจำเลยรับปากว่า จะไม่กระทำการดังกล่าวอีก เมื่อโจทก์กลับมาอยู่กับจำเลย แต่จำเลยยังคงมีพฤติกรรมเช่นเดิม จนครั้งสุดท้ายโจทก์หนีไปอยู่ที่อื่นไม่กลับไปอยู่กับจำเลยและได้ให้ทนายความมีหนังสือถึงจำเลยขอหย่าและแบ่งสินสมรส ระหว่างอยู่กินเป็นสามีภริยากัน โจทก์และจำเลยร่วมทำมาหากิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 133476 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 50 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน พร้อมบ้านเลขที่ 23/7 ที่ดินโฉนดเลขที่ 134229 ถึง 134302 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 1 งาน, 1 งาน, 61 ตารางวา และ 50 ตารางวา ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ที่ดินโฉนดเลขที่ 81562 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ 1 งาน ตามสำเนาโฉนดที่ดิน พร้อมตึกแถว 7 ห้อง และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ 2 แปลง ที่ตำบลดอยลาน จังหวัดเชียงราย พร้อมบ้านกับรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นสปอร์ตไรเดอร์ หมายเลขทะเบียน วห 5127 กรุงเทพมหานคร สลากออมสินของธนาคารออมสิน 100,000 บาท ตามสำเนาสลากออมสิน เงินประกันชีวิต 130,000 บาท ตามสำเนากรมธรรม์ประกันชีวิต รวมทั้งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ น้ำหนัก 20 บาท สร้อยคอและต่างหู กับสิทธิเรียกร้องหนี้จากนายปรีชา 540,000 บาท เป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยโฉนดที่ดินและทะเบียนรถยนต์มีชื่อจำเลยเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ สลากออมสินถอนมาได้เงิน 105,500 บาท เงินประกันชีวิตได้รับมาแล้ว 120,000 บาท สร้อยคอและต่างหู ขายไปแล้วได้เงินมา 200,000 บาท และนายปรีชาชำระหนี้ตามสิทธิเรียกร้องมาแล้ว 20,000 บาท รวมเป็นเงินที่ได้รับมา 445,500 บาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำขอแบ่งที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน โจทก์ไม่อุทธรณ์จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน พร้อมบ้านเลขที่ 23/7 จำเลยไม่อุทธรณ์จึงยุติ ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า มีเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยป่วยเป็นวัณโรค เบาหวานและถุงลมโป่งพองต้องรับประทานยาไม่สามารถร่วมเพศได้ทุกวัน จำเลยไม่ได้ให้การต่อสู้ และในชั้นนำสืบพยานก็ไม่ได้นำสืบพยานไว้ เพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบมาในศาลล่างทั้งสองต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ทั้งเอกสารแนบท้ายฎีกาหมายเลข 1 และหมายเลข 9 ดังกล่าว จำเลยไม่ได้ยื่นบัญชีระบุพยานเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายต้องห้ามมิให้รับฟัง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) และมาตรา 88 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 นอกจากนี้ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่นำแพทย์ที่ตรวจรักษาโจทก์เกี่ยวกับมดลูกอักเสบ จึงฟังไม่ได้ว่าโจทก์มดลูกอักเสบนั้น โจทก์บรรยายฟ้องอ้างเหตุมดลูกอักเสบ จำเลยไม่ให้การโต้แย้งถือว่าจำเลยรับข้อเท็จจริงตามฟ้อง โดยโจทก์ไม่ต้องนำแพทย์มาเป็นพยาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 (3) ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ดังนั้นข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ระหว่างระยะเวลา 20 ปี ที่โจทก์จำเลยอยู่ด้วยกัน จำเลยจะร่วมเพศกับโจทก์ทุกวันแทบไม่มีวันหยุด โดยช่วงที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ หากโจทก์ไม่ยินยอมร่วมเพศ จำเลยก็จะเรียกบุตรแต่ละคนมานั่งฟังคำด่า จนโจทก์ต้องยินยอมให้จำเลยร่วมเพศ จำเลยจึงยอมให้บุตรไปนอนพักผ่อน จนกระทั่งปลายปี 2556 โจทก์ปวดท้องเพราะมดลูกอักเสบ จำเลยทราบเรื่องดี จำเลยยังคงร่วมเพศกับโจทก์อีก จนโจทก์ทนพฤติกรรมของจำเลยไม่ได้ต้องหนีออกจากบ้านหลายครั้ง ทุกครั้งบุตรต้องขอร้องให้กลับไปอยู่กับจำเลยโดยจำเลยรับปากว่าจะไม่มีพฤติกรรมทางเพศดังกล่าว โจทก์กลับไปอยู่กับจำเลย แต่จำเลยคงมีพฤติกรรมเช่นเดิมดังที่ศาลล่างวินิจฉัย เห็นว่า แม้โจทก์และจำเลยเป็นสามีภริยาต้องอยู่ด้วยกันฉันสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคหนึ่ง ซึ่งจะต้องมีการร่วมประเวณีกันบ้าง แต่การร่วมประเวณีแต่ละครั้งต้องเกิดจากความยินยอมทั้งสองฝ่าย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมพร้อมใจอีกฝ่ายก็จะบังคับหาได้ไม่ หากขืนใจก็เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 ได้ การที่จำเลยเรียกบุตรผู้เยาว์มาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมให้จำเลยร่วมประเวณีก็เพื่อให้บุตรผู้เยาว์ได้พักผ่อน เช่นนี้จะถือว่าจำเลยยินยอมพร้อมใจที่จะร่วมประเวณีกับจำเลยหาได้ไม่ การที่โจทก์มดลูกอักเสบจากการร่วมประเวณีของจำเลย เมื่อจำเลยทราบก็ยังไม่หยุดร่วมประเวณีกับโจทก์ จนโจทก์ต้องหนีออกจากบ้านหลายครั้ง และเมื่อกลับมาอยู่กับจำเลยเนื่องจากบุตรช่วยเจรจาและจำเลยรับปากว่าจะไม่กระทำตามพฤติกรรมดังกล่าว แต่จำเลยก็ยังคงผิดข้อตกลง เหตุที่โจทก์ไม่ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีอาญาก็เป็นสิทธิของโจทก์ พฤติกรรมของจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ฟังยุติดังกล่าวจึงเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจโจทก์อย่างร้ายแรงอันเป็นเหตุหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) และพฤติกรรมดังกล่าวถือว่าทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรงตาม มาตรา 1516 (6) ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาว่ามีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการที่สองว่า จำเลยต้องแบ่งเงินจากการขายสร้อยคอเพชรและต่างหูเพชรกับทองคำแท่งและทองรูปพรรณให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งหรือไม่ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งเงินที่ขายสร้อยคอและต่างหูเพชร 200,000 บาท และแบ่งทองคำแท่งและทองรูปพรรณ น้ำหนัก 20 บาทให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยไม่อุทธรณ์ จึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยที่ว่า ไม่มีเงินดังกล่าวและไม่มีทองคำแท่งกับทองรูปพรรณ จึงเป็นฎีกาที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการที่สามว่า ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน กับที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ 2 แปลง ตำบลดอยลาน จังหวัดเชียงราย พร้อมบ้านเป็นสินสมรสหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า ไม่มีเหตุหย่าตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย เมื่อโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องหย่า ก็หาจำต้องพิจารณาเรื่องสินสมรส ประกอบกับโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า จำเลยขายตึกแถวซึ่งจำเลยมีก่อนอยู่กินกับโจทก์ได้เงินมา 3,800,000 บาท นำเงินไปซื้อที่ดินที่บางโทรัด เงิน 3,800,000 บาท เป็นสินส่วนตัวหาใช่สินสมรส เมื่อนำไปซื้อทรัพย์ ทรัพย์นั้นจึงเป็นสินส่วนตัว ตามอุทธรณ์ของจำเลยดังกล่าว ไม่ได้กล่าวถึงที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ 2 แปลงพร้อมบ้านข้างต้น นอกจากนี้ในชั้นสืบพยานจำเลยนั้น จำเลยก็นำสืบแต่เพียงว่าจำเลยนำเงินที่ได้มาจากการขายที่ดินไปซื้อที่ดินที่บางโทรัด ดังนั้นที่จำเลยฎีกาว่า ที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 2 แปลงพร้อมบ้านไม่ใช่สินสมรส จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคสอง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในส่วนที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิ 2 แปลงพร้อมบ้าน คงมีปัญหาเฉพาะที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ว่าเป็นสินสมรสหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ที่ดินซึ่งตั้งอยู่ตำบลบางโทรัด อำเภอเมืองสมุทรสาคร นั้นจำเลยซื้อมาโดยเงินที่ได้จากการขายที่ดินส่วนตัวเป็นเงิน 3,800,000 บาท (ตามเอกสารแนบท้ายฎีกาที่โจทก์ไม่โต้แย้งคัดค้านคือที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดินเลขที่ 12429 อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งจำเลยได้มาเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2526 และขายไปเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 ) โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า สำหรับที่ดินที่บางโทรัดนั้นจำเลยขายตึกที่จำเลยมีมาก่อนจะมาอยู่กินกับโจทก์ ได้เงินประมาณ 3,800,000 บาท นำไปซื้อที่ดินเปล่า 3 แปลงไม่ใช่ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน คำเบิกความของโจทก์จึงเจือสมกับคำเบิกความของจำเลย ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ได้มาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2549 ตามสำเนาโฉนดที่ดิน ได้มาวันที่ 13 มกราคม 2549 ส่วนตามสำเนาโฉนดที่ดินได้มา เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2550 ซึ่งตามเอกสาร แนบท้ายฎีกาที่โจทก์ไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ส่วนที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน มีสิ่งปลูกสร้าง ระยะเวลาที่ได้ที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน หลังจากที่โจทก์ขายที่ดินสินส่วนตัวไปเพียง 15 วัน 3 วัน 3 วัน และ 3 วันเท่านั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยนำเงินที่ได้จากการขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไปซื้อที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ที่ดินทั้งสี่แปลงจึงเป็นสินส่วนตัวของจำเลย สำหรับที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน มีสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดิน ได้มาหลังจากจำเลยขายที่ดินสินส่วนตัวเป็นเวลา 1 ปีเศษ จำเลยไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นสินส่วนตัว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาในปัญหานี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของจำเลยประการนี้ฟังขึ้นบางส่วน ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายว่า จำเลยต้องจ่ายค่าทดแทนให้แก่โจทก์หรือไม่เพียงใด คดีนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบว่าสมควรได้รับค่าทดแทนเพียงใด ทั้งคำฟ้องก็ไม่ได้บรรยายถึงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าโจทก์สมควรได้ค่าตอบแทนเพียงใด คงแต่มีคำขอท้ายฟ้องว่าให้จำเลยจ่ายค่าทดแทนแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ตามมาตรา 1525 เท่านั้น โดยไม่ได้กำหนดจำนวนเงินค่าทดแทนอันจะต้องชำระค่าขึ้นศาลมาในคำขอท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ขาดสาระสำคัญแห่งคดีที่จะให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทน ศาลไม่อาจพิพากษาให้โจทก์ได้ค่าทดแทนในส่วนนี้ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยชำระค่าทดแทนจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 6 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ดังนั้นจำเลยไม่ต้องชำระค่าทดแทนตามที่ศาลล่างพิพากษา อนึ่ง ทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์และฎีกามีไม่ถึง 4,000,000 บาท เนื่องจากศาลชั้นต้นยกคำขอที่ให้แบ่งที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน และให้แบ่งทองคำแท่งกับทองรูปพรรณเพียงน้ำหนัก 20 บาท กับแบ่งเงินที่ขายเครื่องเพชรเพียง 200,000 บาท (ฟ้องขอเป็นเงิน 325,000 บาท) จำเลยชำระค่าขึ้นศาลจากทุนทรัพย์ 4,000,000 บาท จึงเกินมา เห็นควรคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่ชำระเกินมาคือกึ่งหนึ่งของราคาที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน และกึ่งหนึ่งของราคาทองคำแท่งกับทองรูปพรรณน้ำหนัก 5 บาท กับค่าเครื่องเพชรกึ่งหนึ่งเป็นเงิน 225,000 บาท นอกจากนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยชำระให้แก่โจทก์เป็นการปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1461 วรรคสอง จึงไม่ต้องนำมาหักกับจำนวนเงินที่จำเลยต้องชำระตามคำพิพากษา พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอที่ให้แบ่งที่ดินตามสำเนาโฉนดที่ดิน ด้วยและจำเลยไม่ต้องชำระ ค่าทดแทนจำนวน 500,000 บาท สำหรับค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยชำระให้โจทก์ไม่ต้องนำมาหักกับเงินที่ต้องชำระ 222,750 บาท คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์และฎีกาที่จำเลยชำระเกินมาแก่จำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
1.ข่มขืนในชีวิตคู่ 2.เหตุหย่าตามกฎหมายไทย 3.การทรมานจิตใจในชีวิตสมรส 4.การแบ่งสินสมรสหลังหย่า 5.สิทธิของคู่สมรสในการฟ้องหย่า 6.ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 7.ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 8.การข่มขู่ในครอบครัว โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยโดยอ้างพฤติกรรมรุนแรงที่กระทบต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว รวมถึงการบังคับร่วมประเวณีโดยอาศัยลูกผู้เยาว์เป็นเครื่องมือ และไม่หยุดพฤติกรรมแม้โจทก์ป่วยเป็นมดลูกอักเสบ ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้หย่าตาม ป.พ.พ. มาตรา 1516 (3) และ (6) และให้แบ่งสินสมรส พร้อมชดใช้เงินและทรัพย์สินบางส่วนแก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์และฎีกา ข้อวินิจฉัยในฎีกา 1.เหตุหย่า จำเลยอ้างป่วยไม่สามารถร่วมประเวณีทุกวัน แต่ไม่ได้ยกประเด็นในศาลล่าง ถือว่าต้องห้ามฎีกา และโจทก์ไม่ต้องนำแพทย์มาเป็นพยานตาม ป.วิ.พ. มาตรา 84 (3) เนื่องจากจำเลยไม่ได้โต้แย้ง ศาลฎีกายืนตามศาลอุทธรณ์ว่ามีเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) และ (6) 2.การแบ่งสินสมรส จำเลยฎีกาเรื่องเงินขายสร้อยคอและที่ดิน โดยที่ดินส่วนหนึ่งพิสูจน์ได้ว่าเป็นสินส่วนตัวจากเงินที่จำเลยขายทรัพย์สินส่วนตัวก่อนสมรส จึงไม่ต้องแบ่ง แต่ที่ดินอีกส่วนจำเลยไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าเป็นสินส่วนตัว จึงยังคงถือเป็นสินสมรส 3.ค่าทดแทน โจทก์ไม่ได้ระบุจำนวนค่าทดแทนชัดเจนในคำฟ้อง ศาลจึงไม่อาจพิพากษาให้ชำระค่าทดแทนได้ ศาลฎีกาแก้คำพิพากษาในส่วนนี้ 4.ค่าอุปการะเลี้ยงดูและค่าขึ้นศาล ค่าอุปการะเลี้ยงดูที่จำเลยชำระถือเป็นหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ต้องหักจากจำนวนเงินที่ต้องชำระ และคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่จำเลยชำระเกิน คำพิพากษาศาลฎีกา แก้ไขให้ยกคำขอแบ่งที่ดินบางส่วน และไม่ต้องชำระค่าทดแทน 500,000 บาท นอกจากนั้นให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง: 1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 276 •หลักการ: มาตรา 276 บัญญัติว่า การข่มขืนกระทำชำเรา หมายถึง การบังคับบุคคลอื่นให้มีเพศสัมพันธ์โดยปราศจากความยินยอม ถือเป็นความผิดทางอาญา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ใดก็ตาม แม้ผู้กระทำจะเป็นคู่สมรสของผู้เสียหาย หากมีการบังคับโดยข่มขู่หรือขืนใจ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย •การเชื่อมโยง: ในบทความนี้ จำเลยใช้การข่มขู่ทางจิตใจโดยเรียกบุตรมาฟังคำด่าจนโจทก์ยอมมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งไม่ถือเป็นความยินยอมโดยแท้จริง พฤติกรรมดังกล่าวสามารถพิจารณาได้ว่าเข้าข่ายการข่มขืนกระทำชำเราตามมาตรา 276 2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) •หลักการ: มาตรา 1516 (3) กำหนดว่า คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้หากอีกฝ่าย "กระทำการที่เป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจ" ของตนอย่างร้ายแรง ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องมีลักษณะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจจนไม่สามารถดำรงชีวิตคู่ได้ต่อไป •การเชื่อมโยง: กรณีที่จำเลยบังคับให้โจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม แม้จะเป็นสามีภริยา และไม่หยุดพฤติกรรมเมื่อโจทก์ป่วย ถือว่าเป็นการทรมานจิตใจอย่างร้ายแรง ศาลจึงรับฟังว่าเป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) 3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (6) •หลักการ: มาตรา 1516 (6) ระบุว่า คู่สมรสฝ่ายหนึ่งสามารถฟ้องหย่าได้ หากอีกฝ่ายกระทำการเป็น "ปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยากันอย่างร้ายแรง" ซึ่งการกระทำดังกล่าวต้องเป็นการละเมิดหลักการอยู่ร่วมกันในครอบครัวอย่างรุนแรง เช่น การละเมิดสิทธิในร่างกายหรือจิตใจของคู่สมรส •การเชื่อมโยง: พฤติกรรมของจำเลยที่กระทำต่อโจทก์อย่างต่อเนื่อง เช่น การข่มขู่และบังคับให้มีเพศสัมพันธ์ ทั้งที่โจทก์ไม่ยินยอม รวมถึงการฝ่าฝืนคำสัญญาหลังจากบุตรช่วยไกล่เกลี่ย ถือเป็นการละเมิดอย่างร้ายแรงต่อความสัมพันธ์ในฐานะสามีภริยา จึงเข้าข่ายมาตรา 1516 (6) สรุปการวิเคราะห์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งในประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่างมีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิทธิของคู่สมรสและป้องกันการละเมิดสิทธิเสรีภาพในชีวิตคู่ โดยเฉพาะการอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต้องเป็นไปด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย การข่มขู่หรือบังคับถือเป็นการกระทำผิดทั้งทางอาญาและเหตุหย่าตามกฎหมายแพ่ง ผู้เสียหายสามารถใช้กฎหมายเหล่านี้ในการเรียกร้องความยุติธรรมและสิทธิในชีวิตสมรสที่ปลอดภัย *********เหตุฟ้องหย่าในกรณีที่คู่สมรสกระทำการที่เป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจอย่างร้ายแรง 1. ความหมายของการทำร้ายหรือทรมานจิตใจอย่างร้ายแรง การฟ้องหย่าด้วยเหตุที่คู่สมรสกระทำการทำร้ายหรือทรมานจิตใจอย่างร้ายแรง เป็นกรณีที่ระบุใน ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 (3) โดยต้องเป็นการกระทำที่ส่งผลต่อจิตใจของคู่สมรสอีกฝ่ายในระดับที่ไม่สามารถดำเนินชีวิตสมรสร่วมกันได้อีกต่อไป เช่น การข่มขู่ การใช้ความรุนแรง การประพฤติตนในลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของอีกฝ่าย 2. หลักเกณฑ์ในการพิจารณาของศาล •ต้องมีการกระทำที่เป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจจริง: เช่น การใช้ความรุนแรงทางวาจา การดูหมิ่นเหยียดหยาม หรือการบีบบังคับอย่างไม่เป็นธรรม •การกระทำต้องมีความร้ายแรง: ศาลจะพิจารณาถึงลักษณะของการกระทำ เช่น ความถี่ ความต่อเนื่อง และผลกระทบต่อสภาพจิตใจของโจทก์ •พฤติกรรมต้องขัดต่อหลักการอยู่ร่วมกันในครอบครัว: พฤติกรรมดังกล่าวต้องทำให้โจทก์ไม่สามารถดำรงชีวิตสมรสร่วมกับจำเลยได้ •หลักฐานต้องเพียงพอ: โจทก์ต้องแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ เช่น พยานบุคคล เอกสาร หรือพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้น 3. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลให้โจทก์ชนะคดี (1) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1456/2560 จำเลยใช้คำพูดดูหมิ่นโจทก์ต่อหน้าบุคคลอื่นหลายครั้ง เช่น กล่าวหาว่าโจทก์มีชู้ และใช้ถ้อยคำหยาบคายโจมตีครอบครัวของโจทก์ ทั้งยังข่มขู่ที่จะทำร้ายร่างกาย แม้จะไม่มีการทำร้ายทางกายภาพ แต่การกระทำดังกล่าวถือเป็นการทรมานจิตใจโจทก์จนไม่สามารถใช้ชีวิตสมรสร่วมกันต่อไปได้ ศาลให้โจทก์ชนะคดี (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 892/2565 จำเลยมีพฤติกรรมบังคับให้โจทก์มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ยินยอม พร้อมข่มขู่โจทก์และลูกทุกครั้งที่โจทก์ปฏิเสธ ศาลเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการทรมานจิตใจและละเมิดสิทธิในร่างกายของโจทก์อย่างร้ายแรง เป็นเหตุหย่าตามมาตรา 1516 (3) (3) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3218/2555 จำเลยประพฤติตนในลักษณะติดสุราอย่างรุนแรง สร้างความวุ่นวายและทำร้ายจิตใจโจทก์หลายครั้ง ทั้งยังใช้ความรุนแรงต่อหน้าบุตรผู้เยาว์ ทำให้โจทก์เสียสภาพจิตใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันต่อไป ศาลให้โจทก์ชนะคดี 4. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ศาลยกฟ้องให้จำเลยชนะคดี (1) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2145/2564 โจทก์ฟ้องหย่าโดยอ้างว่าจำเลยใช้ถ้อยคำรุนแรงในระหว่างทะเลาะวิวาท แต่ไม่มีพยานหรือหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกระทำดังกล่าวส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างร้ายแรง ศาลเห็นว่าการทะเลาะกันในชีวิตคู่เป็นเรื่องธรรมดา จึงยกฟ้อง (2) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 718/2560 โจทก์อ้างว่าจำเลยมีพฤติกรรมไม่ให้ความช่วยเหลือทางการเงิน และดูหมิ่นโจทก์ในเรื่องฐานะทางครอบครัว แต่โจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานว่าการกระทำดังกล่าวถึงขั้นทรมานจิตใจจนไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ ศาลจึงยกฟ้อง (3) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1298/2558 โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยประพฤติตนไม่เหมาะสม เช่น ไม่พูดคุยหรือแสดงความรักใคร่ แต่โจทก์ไม่ได้แสดงหลักฐานว่าเป็นการกระทำที่รุนแรงหรือส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจจนไม่สามารถดำรงชีวิตสมรสร่วมกันต่อไปได้ ศาลจึงยกฟ้อง 5. การศึกษาจากกรณีตัวอย่าง •กรณีที่โจทก์ชนะคดี: ศาลมักพิจารณาให้ฟ้องหย่าได้เมื่อมีพฤติกรรมร้ายแรง เช่น การใช้ความรุนแรง ข่มขู่ หรือพฤติกรรมที่ต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างชัดเจน •กรณีที่จำเลยชนะคดี: ศาลจะพิจารณายกฟ้องหากโจทก์ไม่สามารถแสดงหลักฐานที่น่าเชื่อถือ หรือพฤติกรรมของจำเลยไม่ถึงขั้นเป็นการทำร้ายหรือทรมานจิตใจในระดับร้ายแรง สรุป
การฟ้องหย่าโดยอ้างเหตุทำร้ายหรือทรมานจิตใจ ต้องแสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่ร้ายแรงและส่งผลกระทบโดยตรงต่อจิตใจของโจทก์ หากไม่มีพยานหลักฐานที่ชัดเจน หรือการกระทำไม่ถึงขั้นร้ายแรง ศาลอาจพิจารณายกฟ้อง กรณีตัวอย่างทั้งสองฝั่งช่วยให้เห็นความสำคัญของหลักฐานและความชัดเจนในข้อเท็จจริงที่นำเสนอต่อศาล
|