

การหย่าโดยความยินยอมต้องทำอย่างไร?, หนังสือหย่า ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ การหย่าโดยความยินยอมต้องทำอย่างไร? หนังสือหย่าโดยความยินยอม
รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีที่มีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายแจ้งว่ามี ความสมัครใจจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันโดยจะพากันไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตต่อไปซึ่งตามเอกสารรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีมีพยานลงลายมือชื่อ เพียง 1 คน ไม่สมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1514 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้หย่าขาดจากโจทก์ตาม หนังสือ ดังกล่าวได้ ศาลฎีกายกฟ้อง(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 592/2538) การหย่าเป็นการสิ้นสุดแห่งการสมรส เมื่อคู่สมรสหมดรักหมดเยื่อใยต่อกันก็คงไม่มีประโยชน์ที่จะทนอยู่ร่วมกันอีกต่อไป การหย่ากฎหมายไทยให้ทำได้ใน 2 กรณีคือ การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่าย และการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล สำหรับการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่ายนั้นกฎหมายถือเอาว่าการสมรสเป็นสัญญาทางแพ่งอย่างหนึ่ง การเลิกสัญญาย่อมสามารถทำต่อกันได้โดยความยินยอมพร้อมใจกัน การหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายนี้บางประเทศไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ซึ่งถือว่าการหย่าเป็นอำนาจของศาลเท่านั้น และที่ประเทศมาเลเซียก็เช่นกันการหย่าไม่อนุญาตให้คู่สมรสทำการหย่าโดยความยินยอม นอกจากนี้การที่คู่สมรสจะยื่นคำร้องต่อศาลคู่สมรสจะต้องได้จดทะเบียนสมรสกันมาแล้วอย่างน้อย 2 ปี เพื่อให้แน่ใจว่าคู่สมรสได้พยายามปรับความเข้าใจกันมาระยะหนึ่งแล้ว การหย่า (การสิ้นสุดแห่งการสมรส) กฎหมายไทยว่าไว้คือ ความหมายของการหย่าโดยความยินยอมก็คือ การที่คู่สามีภริยาทั้งสองฝ่ายต่างตกลงกันว่าจะทำการหย่ากันด้วยความสมัครใจ การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานสองคน ตาม มาตรา 1514 บัญญัติว่า "การหย่านั้นจะทำได้แต่โดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือโดยคำพิพากษาของศาล(วรรคสอง)การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน" การหย่าโดยความยินยอมนั้นกฎหมายบังคับให้ทำเป็นหนังสือเพื่อยืนยันว่าคู่สมรสทั้งสองมีความตั้งใจจริงที่จะหย่าขาดจากกันเพราะได้ทำต่อหน้าพยานถึงสองคน หนังสือหย่าทำที่ไหน? ทำที่ไหนกฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ ในทางปฏิบัติส่วนใหญ่ก็ไปทำที่สำนักทะเบียนหรือสำนักงานเขต/อำเภอ จะมีแบบพิมพ์หนังสือหย่าให้กรอกข้อความ หากคู่หย่านำพยานไปด้วยก็จะเป็นการสะดวก แต่หากไม่มีพยานไปด้วยก็ให้เจ้าหน้าที่เป็นพยานให้ก็ได้ พยานควรมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปี โตพอที่จะเข้าใจเรื่องราวการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาได้ การหย่าโดยความยินยอมในกฎหมายไทย การหย่าโดยความยินยอม เป็นวิธีการสิ้นสุดสถานภาพสมรสที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะหย่าร้างกันด้วยความสมัครใจ โดยไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล ทั้งนี้กฎหมายไทยกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนเกี่ยวกับการหย่าโดยความยินยอมไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เพื่อปกป้องสิทธิและประโยชน์ของทั้งคู่สมรสและบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น บุตรที่เกิดในระหว่างสมรส หลักเกณฑ์การหย่าโดยความยินยอม กฎหมายไทยกำหนดเงื่อนไขและข้อกำหนดสำหรับการหย่าโดยความยินยอมไว้ดังนี้: 1.ความยินยอมของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 การหย่าต้องกระทำโดยความยินยอมร่วมกันของคู่สมรสทั้งสองฝ่าย ซึ่งหมายความว่าทั้งฝ่ายสามีและภรรยาต้องตกลงที่จะหย่าร้างกันโดยไม่มีการบังคับ ข่มขู่ หรือการแสดงเจตนาโดยไม่สุจริต 2.การทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อเจ้าหน้าที่ การหย่าโดยความยินยอมต้องทำเป็นหนังสือ และคู่สมรสต้องไปจดทะเบียนการหย่าต่อหน้านายทะเบียนที่สำนักงานทะเบียน ซึ่งเป็นไปตาม มาตรา 1514 วรรคสอง เพื่อให้การหย่ามีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ขั้นตอนการหย่าโดยความยินยอม 1.จัดเตรียมเอกสาร oบัตรประจำตัวประชาชนของทั้งคู่สมรส oทะเบียนบ้านของทั้งสองฝ่าย oทะเบียนสมรสตัวจริง 2.การทำข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินและบุตร ในกรณีที่คู่สมรสมีทรัพย์สินหรือบุตร การหย่าจะต้องมีข้อตกลงเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สิน การใช้อำนาจปกครองบุตร และค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ข้อตกลงดังกล่าวควรมีรายละเอียดชัดเจนเพื่อป้องกันข้อพิพาทในอนาคต 3.การลงนามในหนังสือหย่า คู่สมรสต้องลงนามในหนังสือหย่าโดยสมัครใจต่อหน้านายทะเบียน ซึ่งจะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกการหย่า 4.การจดทะเบียนหย่า เมื่อนายทะเบียนตรวจสอบความสมบูรณ์ของเอกสารและความสมัครใจแล้ว จะดำเนินการจดทะเบียนหย่าและออกหนังสือรับรองการหย่าให้คู่สมรส ข้อควรระวังในการหย่าโดยความยินยอม 1.ความสมบูรณ์ของข้อตกลง หากข้อตกลงเกี่ยวกับทรัพย์สินหรือการดูแลบุตรไม่ชัดเจน อาจนำไปสู่ข้อพิพาทในอนาคต 2.ผลกระทบต่อบุตร หากมีบุตร คู่สมรสควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและจัดทำข้อตกลงให้เหมาะสมกับประโยชน์ของบุตรเป็นสำคัญ 3.การบังคับใช้ข้อตกลง ข้อตกลงที่ทำขึ้นในการหย่าโดยความยินยอมมีผลผูกพันตามกฎหมาย หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตาม อีกฝ่ายสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้บังคับตามข้อตกลง บทสรุป
การหย่าโดยความยินยอมเป็นกระบวนการที่คู่สมรสสามารถตกลงแยกทางกันได้โดยไม่ต้องพึ่งพาศาล หากดำเนินการอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีการจัดทำข้อตกลงที่รัดกุม ย่อมช่วยลดข้อขัดแย้งและผลกระทบต่อคู่สมรสและบุตร ทั้งนี้คู่สมรสควรปรึกษานายทะเบียนหรือทนายความก่อนดำเนินการ เพื่อให้การหย่าเป็นไปตามกฎหมายและปกป้องสิทธิของทุกฝ่าย.
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 151/2487
หนังสือหย่าที่หย่ากันโดยความยินยอมนั้นไม่จำเป็นต้องลงชื่อต่อหน้าพยานก็สมบูรณ์ (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 19/2487) คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1160/2494 สามีภริยาตกลงหย่ากันโดยทำหนังสือหย่าขึ้น 2 ฉบับ ต่างยึดถือไว้คนละ 1 ฉบับ มีข้อความอย่างเดียวกัน และมีผู้รู้เห็นเป็นพยานเกินกว่า 1 คน ต่างกันแต่ว่าฉบับที่สามียึดไว้ภริยาเป็นผู้ลงนาม ฉบับที่ภริยายึดไว้สามีเป็นผู้ลงนาม หาได้ลงนามทั้งสามีภริยาในเอกสารฉบับเดียวกันไม่ ดังนี้ วินิจฉัยว่าหนังสือหย่าเช่นนี้สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3190/2533 ตามบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดีของโจทก์จำเลยที่ระบุว่า"นายสุรชัยและนางจุฑาทิตจะทำการหย่าร้างจากการเป็นสามีภริยากันให้ถูกต้องตามกฎหมายในภายหลัง... ส่วนเรื่องทรัพย์สินของสามีภริยาส่วนตัวจะไปทำความตกลงกันเอง..." โดยโจทก์จำเลยได้ลงลายมือชื่อในบันทึกนั้นถือได้ว่าเป็นข้อตกลงที่โจทก์จำเลยจะหย่ากันตามกฎหมายแม้ในบันทึกดังกล่าวจะไม่ได้ระบุว่า เจ้าพนักงานตำรวจสองนายที่ลงชื่อไว้นั้นลงลายมือชื่อในฐานะเป็นพยาน แต่เมื่อผู้ที่ลงลายมือชื่อนั้นเป็นเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติงานตามหน้าที่และรับรู้ข้อตกลงของโจทก์จำเลย ถือได้ว่าเป็นพยานในบันทึกข้อตกลงการหย่าโดยความยินยอมแล้ว บันทึกดังกล่าวจึงเป็นการหย่าโดยความยินยอมของโจทก์จำเลยโดยทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง.
ขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ปรากฎว่าหนังสือที่โจทก์จำเลยสมัครใจจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาโดยจะไปจดทะเบียนหย่าที่สำนักงานเขตต่อไปนั้นมีพยานลงลายมือชื่อเพียงคนเดียวจึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1514วรรคสองโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้หย่าขาดจากโจทก์ตามหนังสือดังกล่าวไม่ได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ จำเลยจดทะเบียนและเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยได้กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยา กับโจทก์อย่างร้ายแรง ใช้กำลังทำร้ายโจทก์ และบุตรเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บแก่ร่างกายหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนได้สอบสวน และลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี แสดงเจตนาของโจทก์ และจำเลยที่จะ หย่าขาดจากการเป็นสามีภริยาต่อกัน โดยจำเลยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา กับโจทก์ตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 3 ต่อมาโจทก์มอบหมายให้ทนายโจทก์มีหนังสือนัดหมายให้จำเลยไปทำการจดทะเบียนหย่า จำเลยไม่ยอมไป และท้าทายให้โจทก์ฟ้องขอให้ บังคับจำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์หากจำเลยขัดขืนไม่ไป ให้ถือเอาคำพิพากษา แสดงเจตนาของจำเลยให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 106916 พร้อมบ้าน เลขที่ 160/46 ให้แก่โจทก์ ครึ่งหนึ่ง ถ้าสภาพไม่เปิดช่องให้แบ่งได้ ให้ขายทอดตลาดหักค่าใช้จ่ายแล้ว เหลือเงินสุทธิเท่าไร ให้ โจทก์มีสิทธิได้รับครึ่งหนึ่ง ให้โจทก์เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคนแต่เพียงฝ่ายเดียว ให้จำเลยใช้เงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท แก่โจทก์ นับแต่วันฟ้องจนกว่าบุตร ผู้เยาว์ทั้งสองจะบรรลุนิติภาวะ จำเลยให้การ และแก้ไขคำให้การว่า จำเลยไม่เคยใช้กำลังทำร้ายโจทก์ และบุตร ให้ได้รับบาดเจ็บแก่กาย ดังฟ้อง รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 3 ซึ่งโจทก์รับรองว่า เป็นเอกสารที่ถูกต้องนั้นไม่สมบูรณ์ เป็นหนังสือยินยอมการหย่า เพราะพยานไม่ได้ลงลายมือชื่ออย่างน้อย 2 คน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 จำเลยไม่ประสงค์จะหย่าขาดกับ โจทก์เพื่อเห็นแก่ความสุขของบุตร ธิดาทั้งสอง จำเลยขอใช้อำนาจปกครองบุตรทั้งสองแต่ฝ่ายเดียว ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรทั้งสอง ไม่ถึงจำนวน เดือนละ 10,000 บาท อย่างมากไม่เกิน เดือนละ 3,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่า รายงานประจำวันเกี่ยวกับคดี เอกสารท้ายฟ้อง หมายเลข 3 (เอกสาร หมาย ล. 1) ไม่สมบูรณ์เป็นหนังสือยินยอมการหย่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง พิพากษายกฟ้อง โจทก์ อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าให้โจทก์ ต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่ในกรุงเทพมหานคร ภายในเวลาอันสมควรให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 106916 และบ้านเลขที่ 106/46 ตามฟ้องให้โจทก์กึ่งหนึ่ง หากไม่อาจจะแบ่งได้ด้วยเหตุใด ก็ให้ประมูลราคาระหว่างกันเอง และ หากยังตกลงกันไม่ได้อีก ก็ให้นำที่ดิน และบ้านพิพาทดังกล่าวออกขายทอดตลาด ได้เงินสุทธิเท่าใดนำมา แบ่งให้โจทก์กึ่งหนึ่ง โดยให้นำหนี้สินที่ค้างชำระเกี่ยวกับที่ดินและบ้านพิพาท และค่าใช้จ่ายในการนี้ มาหักออกก่อน ให้ โจทก์เป็นผู้ปกครองดูแลบุตรผู้เยาว์ทั้งสองคน โดยให้ จำเลยเป็นผู้จ่ายค่าอุปการะ เลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ ให้โจทก์เป็นรายเดือน เดือน ละ4,000 บาท นับแต่วันฟ้อง ไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์ แต่ละคนจะบรรลุนิติภาวะแต่ ค่าอุปการะเลี้ยงดู เด็กชาย อาศักดิ์ จำนวน กึ่งหนึ่ง ให้จ่าย ตั้งแต่ วันฟัง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นต้น ไป หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลย ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่ารายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีตามเอกสารหมาย จ. 8 และ ล. 1(เอกสาร ท้ายฟ้อง หมายเลข 3) ที่มีข้อความว่าทั้งสองฝ่ายแจ้งว่ามี ความสมัครใจจะหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากัน โดยจะพากันไปจดทะเบียนหย่าที่ สำนักงานเขตต่อไปนั้นสมบูรณ์เป็นการหย่าโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายหรือไม่ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสอง บัญญัติว่า "การหย่าโดยความยินยอม ต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่ออย่างน้อยสองคน " ในขณะที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ เอกสาร หมาย จ. 8 และ ล. 1 (เอกสาร ท้ายฟ้อง หมายเลข 3) มีพยานลงลายมือชื่อ เพียง 1 คน ไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยให้หย่าขาดจากโจทก์ตาม หนังสือ ดังกล่าวได้ พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อได้จดทะะเบียนหย่าแล้ว ซึ่งตาม มาตรา 1515 บัญญัติว่า "เมื่อได้จดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายนี้ การหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีและภริยาได้จดทะเบียนการหย่านั้นแล้ว" การที่สามีภริยาได้ทำสัญญาหย่า หรือหนังสือหย่ากันแล้ว มีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนแล้วก็ตาม สามีภริยาจะต้องนำหนังสือหย่าดังกล่าวไปจดทะเบียนหย่าที่ สำนักทะเบียน, สำนักงานเขต/อำเภอเพื่อบันทึกลบล้างข้อมูลเดิมว่าไปจดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีมีข้อสงสัยว่าหากได้ทำหนังสือหย่ากันแล้วแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไปจดทะเบียนการหย่าที่สำนักทะเบียนจะดำเนินการอย่างไรจึงจะสมบูรณ์ตามกฎหมาย ในเรื่องนี้หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ให้ความร่วมมือไปจดทะเบียนหย่า อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องให้ศาลบังคับให้ไปจดทะเบียนการหย่าได้ แต่หากไม่ไปก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยได้ การฟ้องคดีตามหนังสือหย่าที่ได้ทำร่วมกันไว้จะต้องฟ้องภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ได้ ทำสัญญาหรือหนังสือกัน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1291/2500
โจทก์จำเลยจดทะเบียนสมรสกันภายหลังใช้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ต่อมาได้ตกลงทำหนังสือหย่ากันไว้โดยความยินยอมทั้ง 2 ฝ่าย และมีพยานลงลายมือชื่อ 2 คนถูกต้องตาม มาตรา 1498 วรรคสอง แต่จำเลยบิดพริ้วไม่ยอมไปจดทะเบียนการหย่าตามมาตรา 1499 โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการหย่าเพื่อความสมบูรณ์ตาม มาตรา 1499 ได้ และถ้าจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 213 โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์จำเลยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมายจดทะเบียนสมรสเมื่อ พ.ศ.2486 ระหว่างอยู่กิน จำเลยประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงหลายประการ และแล้วได้ทิ้งร้างโจทก์ไปอยู่กับภรรยาใหม่ไม่ให้ความอุปการะเลี้ยงดู โจทก์ได้เลี้ยงบุตร (5 คน) ฝ่ายเดียวตลอดมา โจทก์จำเลยจึงได้ทำหนังสือหย่าขาดจากกันและนัดวันไปจดทะเบียนการหย่า แบ่งสินสมรสและแบ่งการปกครองบุตรครั้นถึงกำหนดวันไปจดทะเบียนการหย่า จำเลยแกล้งบิดพริ้วไม่ไป ขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากกัน หรือบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าขาดกับโจทก์ กับให้จำเลยชำระเงินค่าทรัพย์ตามฟ้อง 34,000 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย
ทำที่....... วันที่……เดือน…………พ.ศ……… หนังสือฉบับนี้ทำขึ้นระหว่างนาย…………อายุ…………ปีอยู่บ้านเลขที่………ตรอก/ซอย……ถนน………ตำบล……อำเภอ…จังหวัด… ซึ่งต่อไปในหนังสือนี้รียกว่า “คู่หย่าฝ่ายชาย” กับนาง………………………อายุ…………ปีอยู่บ้านเลขที่………………ตรอก/ซอย……………ถนน…………………ตำบล……………………อำเภอ…………………จังหวัด…………………ซึ่งต่อไปในหนังสือนี้รียกว่า “คู่หย่าฝ่ายหญิง” ทั้งสองฝ่ายได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันดังต่อไปนี้ ข้อ 1. โดยที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โดยจดทะเบียนสมรสกัน ณ ที่ว่าการอำเภอ/หรือที่ว่าการเขต……………เมื่อวันที่…………เดือน…………พ.ศ…………… ข้อ 2. โดยเหตุที่คู่สมรสทั้งสองฝ่ายไม่ประสงค์ที่จะอยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาอีกต่อไป จึงได้ตกลงอย่าขาดกันโดยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายในการนี้คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงจะไปดำเนินการจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอ / หรือที่ว่าการเขต ……… ภายในวันที่…………………….เดือน………………………พ.ศ………………… ในกรณีที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ไปจดทะเบียนหย่าภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ยอมให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งนำคดีฟ้องร้องต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้หย่าได้ ข้อ 3. ความปกครองบุตรผู้เยาว์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันปกครองบุตรผู้เยาว์ดังนี้ 3.1 ด.ช……………อายุ………ปี ให้…………เป็นผู้ปกครอง 3.2 ด.ญ………อายุ………ปี ให้……………เป็นผู้ปกครอง ข้อ 4. ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงกันให้คู่หย่าฝ่าย…………มีหน้าที่ในการจ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาเล่าเรียนของบุตรผู้เยาว์เป็นเดือนละ……………บาท โดยจ่ายให้แก่คู่หย่าฝ่าย……………ภายในวันที่…………………ของทุก ๆ เดือน ไปจนกว่าบุตรผู้เยาว์จะบรรลุนิติภาวะหรือศึกษาเล่าเรียนจนสำเร็จชั้น………… ข้อ 5. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะทำการแบ่งทรัพย์สินกันดังนี้ 5.1 บ้านเลขที่……………………ให้แบ่งโดย……………………………… 5.2 ที่ดินโฉนดเลขที่……………………ให้แบ่งโดย……………………… 5.3 รถยนต์หมายเลขทะเบียน…………………ให้แบ่งโดย………………… 5.4 ……………………………………………………………… ข้อ 6. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงแบ่งความรับผิดในหนี้สินดังนี้ 6.1 ……… 6.2 …… ข้อ 7. คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงว่านอกจากที่ตกลงไว้ดังกล่าวข้างต้น คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะไม่ติดใจ หรือเรียกร้องใด ๆ กันอีก คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายได้เข้าใจข้อความในสัญญานี้โดยตลอดแล้ว เห็นว่าถูกต้องตรงตามเจตนา จึงได้ลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน สัญญานี้ทำขึ้นเป็นสองฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกัน คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายเก็บไว้ฝ่ายละหนึ่งฉบับ ลงชื่อ………………คู่หย่าฝ่ายชาย ( ) ลงชื่อ………………คู่หย่าฝ่ายหญิง ( ) ลงชื่อ………………พยาน ( ) ลงชื่อ…………………พยาน ( )
|