

สิทธิเรียกค่าเสียหาย,ค่าทดแทน,โดยไม่มีการหมั้น, แบบของสัญญาหมั้น แบบของสัญญาหมั้น มาตรา 1437 การหมั้นจะสมบูรณ์เมื่อฝ่ายชายได้ส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินอันเป็นของหมั้นให้แก่หญิงเพื่อเป็นหลักฐานว่าจะสมรสกับหญิงนั้น กฎหมายได้กำหนดแบบเพื่อความสมบูรณ์ของการหมั้นไว้โดยกำหนดให้การหมั้นต้องมีของหมั้น มิฉะนั้นการหมั้นนั้นไม่สมบูรณ์ เพราะสัญญาหมั้นเป็นสัญญาพิเศษผิดกับสัญญาธรรมดา ฉะนั้น หากมีการหมั้นแต่ฝ่ายชายไม่มีของหมั้นมามอบให้หญิงแล้ว แม้จะมีการผิดสัญญาก็จะฟ้องเรียกค่าทดแทนฐานผิดสัญญาหมั้นไม่ได้ หลักการที่กำหนดให้การหมั้นต้องมีของหมั้นจึงจะสมบูรณ์นี้เป็นหลักการเดิมของกฎหมายครอบครัวก่อนปี 2519 ซึ่งกฎหมายปัจจุบันได้นำกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง แบบของสัญญาหมั้นในด้านอื่นนอกเหนือจากการทีของหมั้นแล้วกฎหมายมิได้กำหนดไว้อีก ฉะนั้นสัญญาหมั้นจึงอาจจะกระทำด้วยวาจา หรือโดยลายลักษณ์อักษรก็ได้ แต่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในเรื่องอายุคือ คู่หมั้นชายและคู่หมั้นหญิงต้องมีอายุตั้งแต่ 17 ปีขึ้นไป และหากคู่หมั้นยังเป็นผู้เยาว์อยู่จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองอีกด้วย นอกจากนี้สัญญาหมั้นยังต้องอยู่ในบังคับตามหลักทั่วไปในเรื่องการแสดงเจตนาในการทำนิติกรรม เช่น การทำสัญญาหมั้นเพราะถูกข่มขู่ สัญญาหมั้นดังกล่าวเป็นโมฆียะ ตาม มาตรา 164 หรือ สัญญาหมั้นที่มีวัตถุประสงค์ อันขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สัญญาหมั้นนั้นเป็นโมฆะตาม มาตรา 150 ด้วย เช่น พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันมาทำการหมั้นกัน สัญญาหมั้นดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เป็นสิ่งไม่ดีงาม ทั้งกฎหมายก็ห้ามมิให้บุคคลทั้งสองสมรสกันด้วย หรือชายหญิงทำสัญญาหมั้นกันโดยมีข้อสัญญาโดยชัดแจ้งว่าคู่สัญญาจะต้องร่วมประเวณีกันก่อนทำการสมรส เช่นนี้ สัญญาหมั้นดังกล่าวขัดต่อความสงบเรียบร้อย และศีลธรรมอันดีของประชาชนจึงเป็นโมฆะเช่นเดียวกัน นอกจากนี้สัญญาหมั้นจะใช้บังคับได้ก็แต่เฉพาะกรณีที่ชายไปทำการหมั้นหญิงเท่านั้น หากหญิงไปทำการหมั้นชาย หรือหญิงไปทำการหมั้นหญิง หรือ ชายหมั้นกับชาย สัญญาหมั้นดังกล่าวเป็นโมฆะตาม มาตรา 150 เพราะเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนด้วย การที่ชายและหญิงตกลงจะทำการสมรสกัน แต่ไม่มีการมอบของหมั้นให้แก่กัน ไม่ถือว่าเป็นการหมั้น หากมีการผิดสัญญาขึ้นจะเรียกค่าทดแทนจากกันไม่ได้ แม้ไม่มีประเพณีท้องถิ่นว่าจะต้องมีของหมั้นแก่กัน ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่ต้องมอบของหมั้นให้แก่หญิงการไม่มีประเพณีท้องถิ่นว่าจะต้องมีของหมั้นไม่ใช่เหตุอันพึงจะยกขึ้นลบล้างบทบัญญัติกฎหมายได้ ฉะนั้น การที่ชายเพียงแต่ตกลงว่าจะสมรสโดยไม่มีการหมั้นจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง ของหมั้นอาจมีราคาเพียงเล็กน้อยก็เป็นของหมั้นได้ เช่นฝ่ายชายมีหมากพลูกับผ้าขาวไปเป็นของหมั้นตามประเพณีท้องถิ่นก็เป็นการหมั้นที่สมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว เมื่อชายผิดสัญญาหมั้น ก็ต้องรับผิดใช้ค่าทดแทน สิทธิเรียกค่าเสียหาย,ค่าทดแทน,โดยไม่มีการหมั้น เมื่อไม่มีการหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในการเตรียมการสมรสซึ่งไม่มาทำพิธีสมรสในวันที่นัด โจทก์ฟ้องเรื่องว่าฝ่ายจำเลยสู่ขอโจทก์เพื่อสมรสโดยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรสแล้วไม่มาทำพิธีสมรสตามที่ตกลงไว้ มีค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสหรือค่าเสียหายทางจิตใจเนื่องจากถูกชาวบ้านดูถูกให้อับอายขายหน้าก็เกิดจากจำเลยไม่มาตามนัดตามข้อตกลงเกี่ยวกันสมรสเมื่อไม่มีการหมั้นจึงเรียกค่าทดแทนความเสียหายไม่ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1092/2539 เมื่อไม่มีการหมั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนความเสียหายในการเตรียมการสมรสจากจำเลยทั้งสามซึ่งไม่มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนด ตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฝ่ายจำเลยสู่ขอโจทก์เพื่อสมรสกับจำเลยที่ 3 โดยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรสแล้วจำเลยที่ 3 ไม่มาทำพิธีสมรสตามที่ตกลงไว้ อีกทั้งค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสหรือค่าเสียหายทางจิตใจเนื่องจากถูกชาวบ้านดูถูกให้อับอายขายหน้าก็ตามล้วนสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่นำจำเลยที่ 3 มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนด มูลคดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรส มิใช่มูลละเมิดตามที่โจทก์อุทธรณ์เพราะคำฟ้องหาได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 420 แต่ประการใดไม่ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นบิดามารดาของจำเลยที่ 3 จำเลยทั้งสามได้เจรจาเพื่อสู่ขอโจทก์นายวิรัชและนางละออ ผู้เป็นบิดาและมารดาเพื่อทำการสมรสกับจำเลยที่ 3 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 โจทก์ นายวิรัชและนางละออยินยอมให้มีการสมรส โดยจำเลยทั้งสามให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรสที่บ้านของโจทก์ ครั้นถึงวันกำหนดทำพิธีสมรสจำเลยทั้งสามไม่มาในงานพิธีสมรส เป็นเหตุให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 ไม่ได้สมรสกัน การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นเหตุให้โจทก์และนายวิรัชได้รับความเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสเป็นเงิน 85,000 บาท และทำให้โจทก์นายวิรัชและนางละออได้รับความอับอายขายหน้าและถูกดูถูกจากชาวบ้านในหมู่บ้านโจทก์ขอคิดค่าเสียหายส่วนนี้เป็นเงิน 35,000 บาท โจทก์ติดตามทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหายเนื่องจากการเตรียมการสมรสแก่โจทก์จำนวน 85,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 85,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับชำระค่าเสียหายต่อจิตใจจำนวน35,000 บาท ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ตามฟ้องไม่ปรากฏว่ามีการหมั้น กรณีจึงอยู่นอกขอบเขตที่กฎหมายรับรอง แม้จำเลยไม่ปฎิบัติตามที่ตกลงไว้ โจทก์ก็ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์เฉพาะข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำบรรยายฟ้องโจทก์เป็นเรื่องผิดข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรสหรือเป็นเรื่องละเมิด โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสามได้เจรจาสู่ขอโจทก์เพื่อทำการสมรสกับจำเลยที่ 3 ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2538 โจทก์ยินยอมให้มีการสมรส โดยจำเลยทั้งสามให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดการและพิธีสมรสที่บ้านของโจทก์ ครั้นถึงวันกำหนดทำพิธีสมรส จำเลยทั้งสามไม่มาในงานพิธีสมรส เป็นเหตุให้โจทก์ไม่ได้สมรส ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายเสียค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เพื่อเตรียมการสมรส และได้รับความอับอายขายหน้า และถูกดูถูกจากชาวบ้านในหมู่บ้าน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายในการเตรียมการสมรสและค่าเสียหายต่อจิตใจ เห็นว่าตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องฝ่ายจำเลยสู่ขอโจทก์เพื่อทำการสมรสกับจำเลยที่ 3 โดยตกลงให้ฝ่ายโจทก์เป็นผู้จัดงานและพิธีสมรส แล้วจำเลยที่ 3 ไม่มาทำพิธีสมรสตามที่ตกลงไว้ กับค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้อง ทั้งค่าใช้จ่ายในการเตรียมพิธีสมรสก็ดี ค่าเสียหายทางจิตใจ เนื่องจากถูกชาวบ้านดูถูกให้อับอายขายหน้าก็ดี ล้วนสืบเนื่องมาจากการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่นำจำเลยที่ 3 มาทำพิธีสมรสในวันที่กำหนด มูลคดีตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามผิดสัญญาหรือข้อตกลงเกี่ยวกับการสมรส มิใช่มูลละเมิดตามที่โจทก์อุทธรณ์ เพราะคำฟ้องโจทก์หาได้บรรยายว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำการโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมาย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 แต่ประการใดไม่ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าตามคำฟ้องไม่ปรากฎว่ามีการหมั้น โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าทดแทนจากจำเลย จึงชอบแล้ว อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ |