

ค่าทดแทน | ผิดสัญญาหมั้น ค่าทดแทนหรือค่าเสียหายจากการผิดสัญญาหมั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2626/2518 โจทก์ฟ้องให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยเหตุว่าเพราะจำเลยผิดสัญญาหมั้นจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439(1) ที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยที่ผิดไปจากคำฟ้องของโจทก์กรณีเช่นนี้ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประเด็นแห่งคดีได้ การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 โดยฝ่ายชายมีอายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์นั้น หาตกเป็นโมฆะไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือ การสมรสที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(1) ในเรื่องอายุทำนองเดียวกัน มาตรา 1489 ก็มิได้บัญญัติให้เป็นโมฆะแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับบัญญัติว่าให้ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นมีอำนาจร้องขอต่อศาลได้ และไม่ได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งให้เพิกถอนโดยเด็ดขาดด้วย แต่ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนเสียก็ได้เท่านั้น คงมีแต่เฉพาะในเรื่องการผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(2)(3)(4)และ (5) เท่านั้นที่ให้ถือว่าเป็นโมฆะ การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 เป็นโมฆะหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับอำนาจฟ้องหรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด ฉะนั้น การที่ศาลล่างยกประเด็นนข้อนี้ขึ้นวินิจฉํยเสียเองโดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้จึงไม่ชอบ จำเลยได้ร่วมประเวณีกับ ร.และเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ร. ย่อมต้องได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียง และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) โจทก์ในฐานะมารดาผู้แทนโดยชอบธรรมของนางสาวเรณู อายุ 18 ปี ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 ได้หมั้นนางสาวเรณู ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 17 ปี ให้กับจำเลยที่ 2 ของหมั้นคือแหวนเพชร 1 วง ราคา 10,000 บาท โดยกำหนดจะสมรสกันในเมื่อจำเลยที่ 2 และนางสาวเรณูสำเร็จการศึกษาแล้ว ในวันหมั้นจำเลยที่ 1 ขอรับนางสาวเรณูไปอยู่ที่บ้านของจำเลย โดยรับรองว่าจะอุปการะเลี้ยงดูให้การศึกษาแก่นางสาวเรณูเช่นเดียวกับบุตรจำเลย และจะไม่ให้เกิดความเสียหายใด ๆ แก่นางสาวเรณู ถ้าเกิดความเสียหายแก่นางสาวเรณูไม่ว่าในทางเกียรติยศชื่อเสียงหรือทางใด ๆ ขึ้น จำเลยยินยอมชดใช้ค่าทดแทนเป็นเงิน 100,000 บาท หลังจากนางสาวเรณูไปอยู่ร่วมเรือนกับจำเลย จำเลยที่ 2 ได้ปลุกปล้ำขืนใจล่วงเกินทางประเวณีต่อนางสาวเรณูจนตั้งครรภ์ จำเลยที่ 1 ได้แนะนำให้นางสาวเรณูรักษาด้วยการฉีดยาจนแท้งบุตรแล้วขับไล่ออกจากบ้าน กับห้ามมิให้จำเลยที่ 2 สมรส และเรียกแหวนหมั้นคืน จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นของหมั้นชอบที่จะตกเป็นสิทธิของนางสาวเรณู การที่นางสาวเรณูต้องสูญเสียความเป็นสาวให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นความเสียหายต่อกายและต่อเกียรติยศชื่อเสียง ขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสองให้ร่วมกันรับผิดใช้ค่าทดแทนเป็นจำนวน 40,000 บาท กับให้จำเลยคืนแหวนหมั้นหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 10,000 บาทแก่นางสาวเรณู ลีลาภัทร จำเลยทั้งสองให้การร่วมกันว่า จำเลยที่ 1 เป็นบิดาผู้ปกครองของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีอายุ 16 ปีจริง จำเลยที่ 1 จัดการหมั้นนางสาวเรณูให้แก่จำเลยที่ 2 ด้วยแหวนราคา 3,400 บาท จำเลยได้รับนางสาวเรณูมาอยู่ด้วยโดยจัดให้นางสาวเรณูนอนห้องเดียวกับบุตรสาว ส่วนจำเลยที่ 2 อยู่อีกห้องหนึ่งต่างหาก จำเลยที่ 2 ไม่เคยปลุกปล้ำขืนใจนางสาวเรณู นางสาวเรณูไม่เคยตั้งครรภ์ จำเลยที่ 1 ไม่เคยแนะนำให้นางสาวเรณูไปฉีดยาทำแท้ง ไม่เคยขับไล่ไม่เคยห้ามจำเลยที่ 2 สมรสกับนางสาวเรณูและไม่เคยเรียกแหวนหมั้นคืน นางสาวเรณูไปอยู่กับจำเลยก็มักจะทะเลาะกับจำเลยที่ 2 อยู่เสมอ และชอบเที่ยวเตร่กลับบ้านค่ำคืน ตักเตือนไม่เชื่อฟัง เมื่อจำเลยที่ 1 กับบุตรภรรยาออกไปจากบ้านกลับมาก็ทราบว่านางสาวเรณูขนของกลับไปอยู่กับมารดาเลี้ยงเสียแล้ว ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว เห็นว่า ขณะที่มีการหมั้น จำเลยที่ 2 มีอายุยังไม่ครบ 17 ปี การหมั้นจึงขัดต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1435 สัญญาหมั้นเป็นโมฆะ แม้ไม่มีฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลหยิบยกขึ้นได้ และเป็นปัญหาเกี่ยวไปถึงเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้วย โจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานผิดสัญญาหมั้นได้ ประเด็นเดียวกับแหวนหมั้นจึงไม่ต้องวินิจฉัยถึง ส่วนประเด็นเรื่องละเมิดนั้นเห็นว่า เป็นเรื่องยินยอมด้วยกัน ไม่เชื่อว่าจำเลยที่ 2 จะได้ปลุกปล้ำขืนใจ ร่วมประเวณีนางสาวเรณู ไม่เป็นการละเมิด พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่า การหมั้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เป็นโมฆะไม่ต้องวินิจฉํยถึงเรื่องของหมั้น ปัญหาว่า จำเลยที่ 2 ได้ปลุกปล้ำขืนใจร่วมประเวณีนางสาวเรณูหรือไม่ เชื่อว่า จำเลยที่ 2 ได้ใช้กำลังปลุกปล้ำขืนใจร่วมประเวณีนางสาวเรณูจริง แม้ต่อมาภายหลังจะยินยอม แต่ครั้งแรกก็เป็นการละเมิดจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในการละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 429 ด้วยและกำหนดค่าสินไหมทดแทน 20,000 บาท พิพากษาแก้ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประเด็นเรื่องเรียกคืนแหวนหมั้นได้ยุติไปแล้วเพราะโจทก์มิได้ฎีกา คงมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยแต่เฉพาะเรื่องค่าสินไหมทดแทนความเสียหายซึ่ง ศาลฎีกาเห็นว่า โจทก์อ้างให้จำเลยรับผิดโดยอาศัยเหตุว่าจำเลยผิดสัญญาหมั้น จึงเป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) การที่ศาลล่างวินิจฉัยว่าโจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนฐานละเมิดจากจำเลย จึงเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจที่จะวินิจฉัยคดีเสียใหม่ให้ถูกต้องตามประเด็นแห่งคดีได้ และศาลฎีกาเห็นว่า การหมั้นที่ฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1435 โดยฝ่ายชายมีอายุไม่ถึง 17 ปีบริบูรณ์ หาตกเป็นโมฆะไม่ ทั้งนี้ โดยอาศัยกฎหมายที่ใกล้เคียงเปรียบเทียบ คือ การสมรสที่ฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 1445(1) ในเรื่องอายุทำนองเดียวกันนี้ มาตรา 1489 ก็มิได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ ตรงกันข้าม กลับบัญญัติว่า ให้ผู้มีส่วนได้เสียเท่านั้นมีอำนาจร้องขอต่อศาลได้ และไม่ได้บังคับให้ศาลจำต้องสั่งให้เพิกถอนโดยเด็ดขาดด้วย แต่ให้อำนาจศาลที่จะเพิกถอนเสียก็ได้เท่านั้น คงมีแต่เฉพาะในเรื่องการผิดต่อบทบัญญัติแห่งมาตรา 1445(2),(3), (4) และ (5) เท่านั้น ที่ให้ถือว่าเป็นโมฆะ (มาตรา 1490 และมาตรา 1491) และประเด็นข้อนี้ไม่ได้เกี่ยวกับอำนาจฟ้อง หรือเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนแต่อย่างใด การที่ศาลล่างทั้งสองยกปัญหาข้อนี้ขึ้นวินิจฉัยเสียเองโดยคู่ความมิได้ยกขึ้นต่อสู้ จึงไม่ชอบศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาหมั้นหรือไม่ประเด็นหนึ่ง และเรื่องค่าเสียหายอีกประเด็นหนึ่งในประเด็นแรกศาลฎีกาฟังว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ในประเด็นหลังเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมประเวณีกับนางสาวเรณูจริงและนางสาวเรณูได้รับความเสียหายต่อกายและชื่อเสียง และมีสิทธิเรียกค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439(1) พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในผลแห่งคดี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3366/2525 จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1439,1440 การกำหนดค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์นั้นต้องพิเคราะห์ถึงการศึกษาอาชีพและรายได้ของโจทก์ฐานะของครอบครัวของโจทก์และการที่โจทก์เป็นหญิงมาอยู่กินกับจำเลยจน มีบุตรแต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสทำให้โจทก์ได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงทั้งเป็นการยากที่จะทำการสมรสใหม่ ก่อนรับหมั้นจำเลย โจทก์ทำงานอยู่บริษัทฯ เมื่อแต่งงานแล้วโจทก์ได้ลาออกจากงานเพื่อมาช่วยงานบ้านจำเลยถือได้ว่าโจทก์ได้จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเมื่อจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายส่วนนี้ได้แต่ต่อมาโจทก์ได้เข้าทำงานใหม่แม้จะลาออกจากงานอีกครั้งหนึ่งก็มิใช่ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสเพราะในระยะนั้นทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่อาจจะจดทะเบียนสมรสกันได้แน่นอน โจทก์จึงเรียกไม่ได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยได้หมั้นกันโดยสัญญาว่าจะไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย ต่อมาโจทก์จำเลยได้แต่งงานและอยู่กินร่วมกันตลอดระยะเวลาที่อยู่ร่วมกัน โจทก์ได้ขอร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยอ้างว่ายังไม่มีเวลาและขอผัดผ่อนเรื่อยมา ต่อมาโจทก์คลอดบุตรซึ่งเกิดจากจำเลย โจทก์ขอร้องให้จำเลยไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์อีก แต่จำเลยก็เพิกเฉย การกระทำของจำเลยเป็นการผิดสัญญาหมั้นทำให้โจทก์ต้องอับอายได้รับความเสียหายทั้งทางกายและจิตใจ และเสียหายต่อชื่อเสียงของโจทก์และครอบครัว โจทก์ขอเรียกค่าเสียหายในข้อนี้ 300,000บาท ขณะจำเลยไปสู่ขอและหมั้นกับโจทก์ โจทก์ทำงานอยู่ที่บริษัทแฟร์เท็กซ์การ์เมนท์ จำกัด ต่อมาโจทก์ได้ลาออกจากงานโดยมุ่งหวังจะช่วยจำเลยทำมาค้าขายและเพื่อความอบอุ่นในครอบครัว ทำให้โจทก์ขาดผลประโยชน์รายได้ ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 54,000 บาท จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในค่าเลี้ยงดูบุตร ขอคิดเดือนละ 3,000 บาท จนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ โจทก์ได้ซื้อทรัพย์สินต่าง ๆ เพื่อใช้ในการสมรสเป็นเงิน34,000 บาท ทรัพย์ดังกล่าวขณะนี้อยู่ที่บ้านจำเลย จำเลยไม่ยอมคืนให้และจำเลยขอยืมเงินส่วนตัวโจทก์ไป 40,000 บาท จำเลยยังไม่ยอมใช้คืนขอให้บังคับจำเลยชดใช้เงินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยได้หมั้นและสมรสตามประเพณีกับโจทก์จนกระทั่งมีบุตร 1 คน เหตุที่โจทก์จำเลยอยู่กินด้วยกันไม่ได้ก็เพราะหลังจากโจทก์คลอดบุตรแล้วพี่สาวโจทก์กับมารดาโจทก์ได้ยุแหย่ให้เกิดความแตกร้าวในครอบครัวโจทก์ได้หลบหนีออกจากบ้าน จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ จำเลยไม่เคยยืมเงินโจทก์เงิน 40,000 บาท คือค่าสินสอดที่ทั้งสองฝ่ายได้ออกสมทบเป็นทุนตามประเพณี ในระยะที่โจทก์ตั้งท้องและคลอดบุตรก็ได้ใช้สอยร่วมกันไปบ้าง เหลืออยู่ประมาณ 8,000 บาท โจทก์ได้นำติดตัวไปเมื่อครั้งออกจากบ้าน โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจปกครองบุตร การกระทำของโจทก์ทำให้จำเลยได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงขอคิดจากโจทก์ 100,000 บาท จำเลยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเตรียมงานสมรส335,000 บาท ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ส่งบุตรมาอยู่ในอำนาจปกครองของจำเลยกับให้โจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ก่อนออกจากบ้านจำเลย โจทก์ไม่ได้เอาทรัพย์สินของจำเลยติดตัวไปแต่อย่างใด คำขอของจำเลยที่ขอให้บุตรอยู่ในความปกครองของจำเลยขัดกับพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. 2494 จำเลยไม่ได้เสียชื่อเสียงค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสสูงกว่าความเป็นจริงหลายเท่าตัว โจทก์ไม่ต้องรับผิดเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น ฟ้องแย้งของจำเลยเคลือบคลุม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าทดแทนฐานผิดสัญญาหมั้นเป็นเงิน 231,700 บาท ให้จำเลยคืนทรัพย์อันดับ 1-6 ตามฟ้องให้โจทก์หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคารวม 29,300 บาท แก่โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกให้จำเลยรับผิดใช้ค่าทดแทนได้ตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1439, 1440 ค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์นั้น ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์โดยพิเคราะห์ถึงการศึกษา อาชีพและรายได้ของโจทก์ ฐานะของครอบครัวของโจทก์และการที่โจทก์เป็นหญิงมาอยู่กินกับจำเลยจนมีบุตร แต่จำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสด้วยโจทก์ต้องได้รับความอับอายเสียชื่อเสียงทั้งเป็นการยากที่จะสมรสใหม่และตามประเพณีจีนหญิงที่แต่งงาน 2 ครั้ง ถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอายมากจึงกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 200,000 บาท นับว่าเหมาะสมแล้ว ส่วนค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์ได้จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยคาดหมายว่าจะได้มีการสมรสนั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าก่อนรับหมั้นจำเลย โจทก์ทำงานอยู่ที่บริษัทแฟร์เท็กซ์การ์เมนท์ จำกัด เมื่อแต่งงานกับจำเลยแล้วประมาณ 1 เดือนเศษ โจทก์ได้ลาออกจากงานเพื่อมาช่วยงานบ้านจำเลย ถือได้ว่าโจทก์ได้จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยสมควรด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เมื่อจำเลยไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าทดแทนความเสียหายในส่วนนี้ได้ ส่วนระยะเวลาหลังจากโจทก์ได้เข้าทำงานใหม่แล้วย่อมไม่มีเหตุที่จะกำหนดค่าทดแทนให้อีก แม้โจทก์จะลาออกจากงานอีกครั้งหนึ่งก็มิใช่ด้วยการคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส เพราะในระยะนั้นทั้งสองฝ่ายขัดแย้งกันอย่างรุนแรงจนเป็นที่เห็นได้ว่าไม่อาจจะจดทะเบียนสมรสกันได้อย่างแน่นอน สรุปแล้ว จำเลยจะต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนให้โจทก์คือค่าทดแทนความเสียหายต่อกายและชื่อเสียงของโจทก์ 200,000 บาท ค่าทดแทนเนื่องจากการเตรียมการสมรส 4,700 บาท และค่าทดแทนความเสียหายเนื่องจากการที่โจทก์จัดการเกี่ยวกับอาชีพโดยคาดหมายว่าจะได้มีการสมรส14,567 บาท คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 90/2512 ค่าเลี้ยงดูในวันทำพิธีแต่งงานไม่ใช่เป็นค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนกันได้ (เทียบฎีกาที่1166/2487). โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดฐานผิดสัญญาหมั้น โดยจำเลยที่ 2กับญาติผู้ใหญ่ได้มาสู่ขอโจทก์ที่ 2 ต่อโจทก์ที่ 1 เพื่อให้เป็นภริยาจำเลยที่ 1 เมื่อเป็นที่ตกลงกันแล้วได้ทำพิธีหมั้นด้วยแหวน1 วง แต่ครั้นแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ไปสมรสตามกำหนด จำเลยที่ 2ในฐานะเจ้าภาพฝ่ายชายยอมรับผิดและขอร้องให้กำหนดวันแต่งงานใหม่อีกครั้ง แต่แล้วจำเลยที่ 1 ก็ไม่ไปสมรสตามกำหนดอีก ทำให้โจทก์เสียหายเพราะได้เสียค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงแขกในวันสมรสรวม 2 ครั้งเป็นเงิน 2,498.75 บาท ค่าเสื้อผ้าแต่งตัวของโจทก์ที่ 2 และการผิดสัญญานี้ทำให้โจทก์ที่ 2 ได้รับความอับอายเสียชื่อเสียง ขอเรียกค่าทดแทนในส่วนนี้ 3,000 บาท ขอให้จำเลยร่วมกันชำระค่าเสียหายทั้งหมดนี้ จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา จำเลยที่ 2 ต่อสู้ว่าไม่เคยเกี่ยวข้องสู่ขอโจทก์หรือนัดแต่งงานไม่เคยทราบความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ที่ 2 และจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดใช้ค่าเสียหายเกี่ยวกับการจัดอาหารเตรียมการสมรสสองครั้งเป็นเงิน2,498.75 บาท ค่าเสียชื่อเสียง 3,000 บาท และค่าเสื้อผ้าชุดแต่งงาน 100 บาทแก่โจทก์ จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้ช่วยเหลือจำเลยที่ 1ในการสู่ขอและหมั้นไม่ต้องรับผิดในการที่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาหมั้นไม่มาแต่งงานนัดแรก ส่วนครั้งหลังจำเลยที่ 2 ได้ยินยอมจะชดใช้ให้จึงต้องรับผิด พิพากษาแก้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายในจำนวนเงิน 300 บาทแก่โจทก์ที่ 1 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น โจทก์ทั้งสองฎีกา ศาลฎีกาฟังพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 2 เป็นผู้สู่ขอโจทก์ที่ 2ให้จำเลยที่ 1 ว่ามีผลเท่ากับจำเลยที่ 2 สัญญาจะจัดการให้จำเลยที่ 1 ทำการสมรสอันจัดว่าเป็นคู่สัญญาหมั้นในการนี้จึงต้องร่วมรับผิดในการผิดสัญญา และได้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าเสียหายเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายซื้อเครื่องบริโภคเลี้ยงแขกในวันสมรสซึ่งคงมีมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะในวันแต่งงานครั้งแรกเท่านั้น สำหรับค่าเสียหายในรายการนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าค่าเลี้ยงดูในวันทำพิธีแต่งงานไม่ใช่ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการสมรสอันจะเรียกค่าทดแทนกันได้ ดังคำพิพากษาฎีกาที่ 1166/2487 ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าเสียชื่อเสียงและค่าเครื่องแต่งตัวโจทก์ที่ 2 ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจกำหนดมาแล้วนั้นเห็นว่าชอบแล้ว พิพากษาแก้ว่านอกจากค่าเลี้ยงดูแขก 300 บาทแล้ว ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสื้อผ้าชุดแต่งงาน 100 บาทแก่โจทก์และค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ 2 ที่ต้องเสียชื่อเสียง 3,000 บาทนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามศาลอุทธรณ์. คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1392/2542 ภายหลังจากโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำสัญญาหมั้น และแต่งงานตามประเพณีแล้ว ได้อยู่กินร่วมหลับนอนกันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นมารดาจำเลยที่ 1 นานถึง 8 เดือนโดยโจทก์มิได้ประกอบอาชีพใด เอาแต่เที่ยวเตร่และเล่นการพนัน แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้รังเกียจในตัวโจทก์นอกจาก ความประพฤติ การที่ทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจอยู่กิน ด้วยกันเป็นเวลานาน โดยมิได้ไปจดทะเบียนสมรส จึงเกิด จากการละเลยของทั้งสองฝ่ายที่มิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรส เป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณี เท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่าการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรส เกิดจากความผิดของฝ่ายใด แม้ต่อมามีการทำบันทึกตกลงกัน ว่าทั้งสองฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป แต่เมื่อโจทก์ยังมิได้ปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 2 ตาม ข้อตกลงการที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรส กับโจทก์ จึงยังไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้น โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงินค่าสินสอดจำนวน 35,020 บาท กับคืนทองหมั้นหรือใช้ราคา 10,000 บาทให้แก่โจทก์ และให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ7.5 ต่อปีของต้นเงิน 45,020 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดและของหมั้นคืนเพราะเหตุที่ไม่มีการจดทะเบียนสมรสเป็นความผิดของโจทก์เอง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน39,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก จำเลยอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ว่า เมื่อวันที่6 มีนาคม 2538 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 2ทำสัญญาหมั้นและแต่งงานกันตามประเพณีที่บ้านของจำเลยที่ 2ในพิธีแต่งงานดังกล่าวโจทก์นำเงินสินสอดจำนวน 22,000 บาททองหมั้นหนัก 2 บาท และเงินค่าสุกร 2 ตัว ราคา 7,000 บาทมอบให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นสินสอดและของหมั้นหลังจากแต่งงานแล้วโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินเป็นสามีภริยากันที่บ้านของจำเลยที่ 2 ต่อมาวันที่ 21 พฤศจิกายน 2538 โจทก์และจำเลยที่ 1และญาติทั้งสองฝ่ายไปเจรจาตกลงกันในเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่บ้านของกำนันในท้องที่ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า จำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นและจะต้องคืนสินสอดของหมั้นให้แก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่าพยานโจทก์คงมีลำพังตัวโจทก์และบิดาโจทก์ที่เบิกความว่าโจทก์ไม่ได้มีความประพฤติเสียหาย จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์จนถึงกับต้องไปทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ที่บ้านกำนันแห่งท้องที่แต่ตามคำเบิกความของบิดาโจทก์ระบุว่าบิดาโจทก์ไม่ทราบสาเหตุที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสว่าเป็นความผิดของฝ่ายใด จึงเป็นพิรุธ ผิดวิสัยผู้ที่เป็นบิดาและเป็นบุคคลใกล้ชิดกับโจทก์ ที่จะต้องรู้สาเหตุความเป็นมาต่าง ๆ ได้ดีกว่าบุคคลภายนอก นอกจากนี้ปรากฏจากคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า โจทก์ยังไม่ได้ประกอบอาชีพรับจ้างที่อื่น แต่เบิกความต่อมาขัดแย้งกันเองว่า ไปทำงานรับจ้างที่กรุงเทพมหานครบ้าง รับจ้างเป็นกรรมกรในหมู่บ้านบ้าง คำเบิกความของโจทก์จึงสับสนฟังไม่ได้แน่นอนว่าโจทก์ประกอบสัมมาชีพเป็นกิจจะลักษณะเยี่ยงสามีหรือผู้นำครอบครัวทั้งหลายได้ปฏิบัติกันหรือไม่ พยานจำเลยนอกจากตัวจำเลยทั้งสองแล้วยังมีนายสมโภชน์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องที่และเป็นบุคคลภายนอกไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีผลประโยชน์ได้เสียร่วมกับฝ่ายใด จึงไม่มีเหตุระแวงว่านายสมโภชน์จะเบิกความเข้าข้างช่วยเหลือฝ่ายจำเลยทั้งสอง คำเบิกความของนายสมโภชน์ที่เบิกความสอดคล้องถึงความประพฤติของโจทก์อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสด้วย พยานจำเลยทั้งสองจึงมีน้ำหนักให้รับฟังได้มากกว่าพยานโจทก์ และเมื่อพิเคราะห์ถึงว่าโจทก์และจำเลยที่ 1 อยู่กินกันฉันสามีภริยานานถึง 8 เดือน โดยอยู่ร่วมกันตลอดเวลา จึงมีเหตุน่าเชื่อตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1ว่าโจทก์ร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ 1 เกินกว่า 20 ครั้ง และหากจำเลยที่ 1 ไม่เต็มใจให้โจทก์ร่วมหลับนอนด้วยดังอ้างแล้วโจทก์คงไม่มีโอกาสร่วมหลับนอนกับจำเลยที่ 1 ได้ดังกล่าวข้อเท็จจริงจึงแสดงอยู่ในตัวว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีความรังเกียจตัวโจทก์นอกจากความประพฤติของโจทก์ดังกล่าวข้างต้น โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า โจทก์เรียกร้องที่จะจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 เพียงครั้งเดียวก่อนที่จะออกจากบ้าน แสดงว่าทั้งโจทก์และจำเลยที่ 1 สมัครใจอยู่กินด้วยกันเป็นระยะเวลานานโดยมิได้มีฝ่ายใดกล่าวอ้างหรือเรียกร้องให้ไปจดทะเบียนสมรสด้วยกันมาก่อน เหตุแห่งการที่มิได้ไปจดทะเบียนสมรสจึงเกิดจากการละเลยของทั้งสองฝ่ายที่มิได้ยึดถือเอาการจดทะเบียนสมรสเป็นเรื่องสำคัญมากกว่าการที่จะได้อยู่กินด้วยกันตามประเพณีเท่านั้น จึงมิอาจกล่าวโทษได้ว่า การที่ไม่ได้ไปจดทะเบียนสมรสเกิดจากความผิดของฝ่ายใด โจทก์เพิ่งจะมาเรียกร้องให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนสมรส เมื่อโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 ต่อว่าที่เอารถจักรยานยนต์ไปเที่ยวไม่กลับบ้าน และโจทก์ออกจากบ้านที่อยู่อาศัยไปในวันที่21 พฤศจิกายน 2538 จึงได้ไปตกลงกันที่บ้านกำนันและทำบันทึกไว้ว่าทั้งสองฝ่ายจะไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไปและตามบันทึกดังกล่าวจำเลยทั้งสองนำสืบว่าได้ตกลงกันให้โจทก์ปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 2 ก่อนที่จะไปจดทะเบียนสมรส แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะไม่ได้มีการบันทึกไว้ในเอกสารหมาย จ.1 ก็ตามแต่จำเลยก็มีนายสมโภชน์เป็นพยานบุคคลยืนยันว่าได้มีการตกลงกันดังกล่าวจริง ประกอบกับโจทก์เบิกความกลับไปกลับมา ยอมรับแล้วปฏิเสธในเรื่องข้อตกลงดังกล่าว ทำให้เชื่อว่าได้มีการตกลงดังที่จำเลยทั้งสองนำสืบ พฤติการณ์ของโจทก์จึงเจือสมกับพยานหลักฐานของจำเลยทั้งสอง เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาโดยปลูกบ้านในที่ดินของจำเลยที่ 2 ให้เรียบร้อยก่อน การที่จำเลยที่ 1 ปฏิเสธไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จึงยังไม่อาจถือว่าจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกสินสอดและของหมั้นคืนคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ชอบแล้วฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" การที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและ ค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรส โดยเป็น ความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1437 วรรคสาม,1439 และ 1440(2) เมื่อปรากฏว่า โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทน ค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคือจากจำเลยได้เพราะมิใช่กรณี จำเลยผิดสัญญาหมั้น โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยทำพิธีแต่งงานตามประเพณี จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมอยู่กิน ด้วยกันแล้ว เมื่อสาเหตุที่โจทก์จำเลยทะเลาะกัน เป็นเรื่องเงินทองภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดา ทั่วไป มิใช่เป็นสาเหตุร้ายแรงและสามารถปรับความเข้าใจ ระหว่างกันได้ แต่กลับได้ความว่า โจทก์ไปอยู่ที่บ้านสวน ของโจทก์โดยไม่ยอมกลับไปหาจำเลย แม้โจทก์จะมีวันหยุด ในวันอาทิตย์ว่างอยู่ แต่ก็อ้างว่าจะต้องซักผ้าและ ทำธุระส่วนตัว หากโจทก์จะไปพบจำเลยบ้างในวันธรรมดา เป็นบางครั้ง โจทก์ก็อาจกระทำได้เพราะโจทก์เคยอยู่บ้านจำเลย และเคยไปทำงานโดยไปกลับมาแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ขวนขวาย ที่จะกระทำดังกล่าวหรือชักชวนให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งโจทก์โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะฟ้องหย่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจงใจละทิ้งร้างโจทก์ขอให้พิพากษาให้โจทก์หย่าขาดจากจำเลย ให้จำเลยส่งใบสำคัญการสมรสที่จำเลยถือไว้ 2 ฉบับ คืนโจทก์ 1 ฉบับ ให้จำเลยใช้เงินค่าสินสอดทองหมั้น 20,000 บาท และเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงาน 3,000 บาท แก่โจทก์ จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้ทิ้งร้างโจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยใช้ค่าสินสอดและเงินใช้จ่ายในงานแต่งงาน ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินสอดและค่าใช้จ่ายในการแต่งงานหรือไม่ จำเลย (ที่ถูกน่าจะเป็นโจทก์) ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าสินสอดทองหมั้นและเงินที่ใช้จ่ายไปในการแต่งงานนั้นไม่เป็นฟ้องเคลือบคลุม ศาลฎีกาเห็นว่าคดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2540 และได้บรรยายฟ้องไว้ในข้อ 3 ว่า โจทก์และจำเลยจดทะเบียนสมรสกัน เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2539 ณ ที่ว่าการอำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยโจทก์จ่ายเงินค่าสินสอดทองหมั้นเป็นเงิน 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการแต่งงานอีกเป็นเงิน 3,000 บาท รวมเป็นเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงาน 23,000 บาท ฯลฯ แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คดีนี้โจทก์เคยฟ้องหย่าจำเลยโดยอาศัยพฤติการณ์ตามฟ้องข้อ 1 ถึงข้อ 4 มาแล้ว ในคดีหมายเลขแดงที่ 91/2540 ของศาลนี้ ขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างระยะเวลาอุทธรณ์ โจทก์จึงจะมาฟ้องโดยอาศัยพฤติการณ์ดังกล่าวอีกไม่ได้เพราะเป็นฟ้องซ้อน จึงไม่รับฟ้องในข้อ 1 ถึงข้อ 4 ส่วนฟ้องโจทก์ตามข้อ 5 เป็นเหตุฟ้องหย่าที่เกิดขึ้นใหม่ โจทก์อ้างเหตุดังกล่าวฟ้องหย่าจำเลยได้ แต่เนื่องจากฟ้องโจทก์ฟุ่มเฟือยเกินไปอ่านไม่เข้าใจ ให้โจทก์ทำคำฟ้องโดยอ้างเหตุเฉพาะข้อ 5 มายื่นต่อศาลใหม่ภายใน 7 วัน นับแต่วันนี้ มิฉะนั้นถือว่าทิ้งคำฟ้อง โจทก์จึงทำคำฟ้องลงวันที่ 15 กรกฎาคม 2540ยื่นเข้ามาใหม่โดยนำเหตุฟ้องหย่าตามข้อ 5 มาขยายความและตัดฟ้องโจทก์ข้อ 3 ในส่วนการบรรยายเรื่องค่าสินสอดทองหมั้นและเงินที่ใช้จ่ายในการแต่งงานไปตามคำสั่งศาล แต่ยังคงคำขอให้จำเลยชดใช้เงินค่าสินสอดทองหมั้น 20,000 บาท และเงินที่ใช้จ่ายไปในการแต่งงาน 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 23,000 บาท ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ดังนั้น ในการแปลคำฟ้อง โจทก์จึงจำต้องอ่านคำฟ้องเดิมและคำฟ้องใหม่ของโจทก์ประกอบกัน เมื่อโจทก์ได้บรรยายโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาในเรื่องค่าสินสอดทองหมั้นและเงินค่าใช้จ่ายในการแต่งงานไว้ในฟ้องเดิมข้อ 3 แล้ว จึงเป็นฟ้องที่ไม่เคลือบคลุม ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าเป็นฟ้องเคลือบคลุมไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่โจทก์จะมีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้นั้น ต้องเป็นกรณีที่มีการหมั้นแล้ว แต่ไม่มีการสมรสโดยเป็นความผิดของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1437 วรรคสาม, 1439 และ 1440(2) เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของโจทก์และจำเลยว่า โจทก์จำเลยได้แต่งงานกันตามประเพณีและจดทะเบียนสมรสกันแล้ว ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกค่าสินสอดทองหมั้นและค่าทดแทนค่าใช้จ่ายในการแต่งงานคืนจากจำเลยได้เพราะมิใช่กรณีจำเลยผิดสัญญาหมั้นตามบทกฎหมายดังกล่าว ปัญหาวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยละทิ้งร้างโจทก์ไปเกิน 1 ปีอันจะเป็นเหตุให้โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่นั้น โจทก์และจำเลยเบิกความยันกันอยู่ฟังไม่ได้ข้อยุติว่าการที่โจทก์ออกจากบ้านของจำเลยที่อาศัยอยู่กินร่วมกันนั้นเกิดจากการที่จำเลยขับไล่โจทก์ออกจากบ้านหรือเกิดจากการที่โจทก์ไปพักอาศัยที่บ้านสวนเพื่อความสะดวกในการไปทำงานของโจทก์กันแน่ แต่เมื่อพิเคราะห์คำเบิกความของโจทก์โดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภรรยาโดยทำพิธีแต่งงานตามประเพณี จดทะเบียนสมรสโดยชอบด้วยกฎหมาย และร่วมอยู่กินด้วยกันแล้ว โดยเหตุผลแม้จะมีเรื่องทะเลาะกันรุนแรงเพียงใด หากมิใช่เป็นเรื่องร้ายแรงถึงขนาดแล้วย่อมที่จะให้อภัยโดยต่างฝ่ายต่างผ่อนปรนให้แก่กันได้ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของโจทก์ว่า สาเหตุที่ทะเลาะกันเป็นสาเหตุเรื่องเงินทองภายในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องปกติธรรมดาทั่วไปจึงมิใช่เป็นสาเหตุร้ายแรงและสามารถปรับความเข้าใจระหว่างกันได้ แต่กลับได้ความว่า โจทก์ไปอยู่ที่บ้านสวนของโจทก์โดยไม่ยอมกลับไปหาจำเลย แม้โจทก์จะมีวันหยุด ในวันอาทิตย์ว่างอยู่ก็ตาม โดยอ้างเหตุผลว่าจะต้องซักผ้าและทำธุระส่วนตัวเท่านั้น และหากโจทก์จะไปพบจำเลยบ้างในวันธรรมดาเป็นบางครั้ง ซึ่งโจทก์อาจกระทำได้เพราะโจทก์เคยอยู่บ้านจำเลยและเคยไปทำงานโดยไปกลับมาแล้ว แต่โจทก์ก็มิได้ขวนขวายที่จะกระทำดังกล่าวหรือชักชวนให้จำเลยไปอยู่กับโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยจงใจละทิ้งโจทก์ดังอ้าง โจทก์จึงไม่มีเหตุที่จะฟ้องหย่าคำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น" พิพากษายืน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 449/2531 โจทก์ผู้เยาว์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโดยความสมัครใจซึ่งแม้ไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อบิดาโจทก์ทราบเรื่องได้ไปร้องเรียนต่อกำนันท้องที่ จำเลยที่ 1 ก็ได้ทำสัญญากับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาท และจำเลยที่ 2ได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ด้วยต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แม้มิใช่เป็นกรณีผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็มีสิทธิฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้เยาว์อายุ 17 ปี ถูกจำเลยที่ 1กระทำชำเราหลายครั้งและต่อมา จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความไว้กับโจทก์ว่า ได้กระทำชำเราโจทก์และสัญญาจะแต่งงานจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 หากผิดสัญญา ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นเงิน 50,000 บาทโดยมีจำเลยที่ 2 ทำหนังสือค้ำประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จึงฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 50,000 บาท แก่โจทก์และโอนที่ดินที่จำเลยที่ 2นำมาประกันให้แก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยไม่ได้ผิดสัญญา โจทก์เป็นผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเป็นโมฆียะ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ตามฟ้องให้โจทก์ จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่านางสาวสุพรพรรณ มูลตรีศรี โจทก์เป็นบุตรของนายสมรัตน์และนางเกตุ มูลตรีศรี นายสมรัตน์รับราชการเป็นครูใหญ่โรงเรียนบ้านหนองขาม อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น ขณะเกิดเหตุโจทก์เป็นนักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 1 รับราชการเป็นพนักงานเกษตรตำบลชำยาง อำเภอสีชมพู จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2526 โจทก์กับจำเลยที่ 1 ไปเที่ยวงานบ้านโคกจั๊กจั่น แล้วโจทก์ถูกจำเลยที่ 1 กระทำชำเรา นายสมรัตน์บิดาโจทก์ทราบเรื่องจึงไปแจ้งความต่อนายอรุณ ทองนาค กำนันตำบลชำยาง นายอรุณใช้ให้คนไปตามจำเลยที่ 1 มาที่บ้านของนายสมรัตน์ จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และบิดามารดาของจำเลยที่ 1 มาที่บ้านของนายสมรัตน์ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้กระทำชำเราโจทก์จริง นายสมรัตน์บอกให้จำเลยที่ 1 แต่งงานและจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมรับจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ในวันที่1 กุมภาพันธ์ 2527 อ้างว่าจะต้องไปจดทะเบียนหย่ากับภริยาที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนเสียก่อน หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ จำเลยที่ 1 ยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 50,000บาท ในการตกลงกันนี้มีจำเลยที่ 2 นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 3 ไร่เศษมาค้ำประกันโดยสัญญาว่าหากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามสัญญา จำเลยที่ 2 จะยกที่ดินดังกล่าวให้โจทก์และชดใช้เงิน 50,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 ด้วย นายอรุณจึงได้เขียนสัญญามีข้อความดังกล่าวต่อหน้านายสมรัตน์บิดาโจทก์แล้ว ให้โจทก์กับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และพยานลงชื่อไว้ปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.1 และหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2527 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ได้ตกลงบันทึกเพิ่มเติมสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ว่า โจทก์ยอมลดค่าเสียหายลงเหลือ 35,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินมาชำระให้โจทก์ไม่เกินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ถ้าชำระเงินเรียบร้อยแล้ว โจทก์จะคืนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้จำเลย หากผิดนัดให้บันทึกเพิ่มเติมยกเลิกไป และใช้สัญญาเดิมบังคับ เมื่อถึงกำหนดนายสมรัตน์ บิดาโจทก์ไปถามจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 บอกว่าหย่ากับภริยาคนเดิมไม่ได้จึงจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ตามสัญญาไม่ได้และไม่ยอมให้ค่าเสียหายโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 อ้างว่าไม่มีเงินนายสมรัตน์ไปติดต่อกับจำเลยที่ 2 แล้วจำเลยที่ 2 บอกว่าไม่มีเงินเช่นเดียวกัน นายสมรัตน์ได้ไปพบเกษตรอำเภอสีชมพูผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 1 และได้ร้องเรียนทางวินัยต่อนายอำเภอทางราชการได้สอบสวนทางวินัยจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยทั้งสองนำสืบว่า จำเลยที่ 1 ยอมทำสัญญาเอกสารหมาย จ.1เพราะกลัวถูกออกจากราชการ สัญญาเอกสารหมาย จ.1 นั้นเป็นความจริงทุกประการ หลังจากทำสัญญากันแล้ว โจทก์หรือบิดามารดาของโจทก์ไม่เคยติดต่อกับจำเลยที่ 1 ให้ไปจดทะเบียนสมรสเลย จำเลยที่ 1เคยพบกับบิดาโจทก์ แต่ไม่เคยพูดกันถึงเรื่องแต่งงาน บิดาโจทก์เคยไปทวงเงินจากจำเลยทั้งสองและบิดาจำเลยที่ 1 บิดาจำเลยที่ 1เตรียมเงิน 10,000 บาทไปให้บิดาโจทก์ที่บ้านกำนัน แต่บิดาโจทก์ไม่ยอมรับ บอกว่าจะเอา 50,000 บาท บิดาโจทก์ไม่ได้บอกให้จำเลยที่ 1 แต่งงานกับโจทก์ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 เป็นวันนัดจ่ายเงิน ไม่ใช่วันนัดแต่งงาน จำเลยที่ 2 ยินดีรับผิดแทนจำเลยที่ 1ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินหรือไม่ยอมแต่งงานกับโจทก์ พิเคราะห์แล้ว ปัญหาแรกที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 ใช้บังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์จะยินยอมให้จำเลยที่ 1 กระทำชำเราโดยความสมัครใจ ซึ่งถือว่าไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ก็ตาม แต่เมื่อบิดาซึ่งเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของโจทก์ทราบเรื่อง ได้ไปร้องเรียนต่อกำนันท้องที่ จำเลยทั้งสองยอมทำสัญญาผูกพันตนกับโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ หากจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ตามจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในสัญญา โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามที่กำหนดไว้แน่นอนในสัญญาดังกล่าวมิได้ฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 1 ไปจดทะเบียนสมรสกับโจทก์แม้มิใช่เป็นกรณีผิดสัญญาหมั้น โจทก์ก็ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสัญญาได้ สัญญาเอกสารหมายจ.1 ในส่วนที่จำเลยทั้งสองยินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ใช้บังคับได้ตามกฎหมาย ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาหรือไม่ โจทก์มีพยานหลายปากเบิกความยืนยันว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ยอมจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ ซึ่งในข้อนี้นายมา ลาสอน พยานจำเลยเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 มีคนรักอยู่แล้วชื่อนางสาวปลา ทำงานที่สำนักงานเกษตรด้วยกันกับจำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 ไม่สามารถตกลงกับนางสาวปลาได้จึงไม่มาแต่งงานกับโจทก์ ขณะนั้นนางสาวปลาเป็นเพียงคนรักของจำเลยที่ 1 เท่านั้นยังไม่ได้แต่งงานกัน นอกจากนี้จำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบคำถามค้านของทนายโจทก์ว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ได้เสียกับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 มีคนรักอยู่แล้วชื่อนางสาวปลา จำเลยที่ 1 เคยนำนางสาวปลาไปเยี่ยมจำเลยที่ 2 และแนะนำให้รู้จัก จำเลยที่ 1 บอกว่าจะแต่งงานกับนางสาวปลา จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำสืบเลยว่าจำเลยที่ 1มีภริยาแล้วอยู่ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน การที่จำเลยที่ 1 อ้างเช่นนั้นน่าเชื่อว่าเพื่อหลีกเลี่ยงที่จะไม่จดทะเบียนสมรสกับโจทก์ทั้งเมื่อได้พิจารณาบันทึกต่อท้ายสัญญาเอกสารหมาย จ.1 ซึ่งบันทึกเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2527 มีข้อความว่า โจทก์และจำเลยที่ 1 ตกลงลดค่าเสียหายลงเหลือ 35,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 จะนำเงินดังกล่าวมาชำระให้ไม่เกินวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2527 ด้วยแล้วยิ่งแสดงให้เห็นได้ชัดว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีเจตนาจะจดทะเบียนสมรสกับโจทก์ แต่ประสงค์จะชำระค่าเสียหายให้โจทก์ ดังนั้นที่จำเลยทั้งสองอ้างว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดนัดไม่ยอมไปจดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 1 นั้นจึงฟังไม่ขึ้น ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าจำเลยที่ 1เป็นฝ่ายผิดนัด ดังนั้น จำเลยทั้งสองจึงต้องรับผิดชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญา ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมสามศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความให้เป็นเงิน 1,800 บาท" กฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องผิดสัญญาหมั้น,ค่าทดแทน มาตรา 1438 การหมั้นไม่เป็นเหตุที่จะร้องขอให้ศาลบังคับให้สมรสได้ ถ้าได้มีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้เบี้ยปรับในเมื่อผิดสัญญาหมั้น ข้อตกลงนั้นเป็นโมฆะ มาตรา 1439 เมื่อมีการหมั้นแล้ว ถ้าฝ่ายใดผิดสัญญาหมั้นอีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเรียกให้รับผิดใช้ค่าทดแทน ในกรณีที่ฝ่ายหญิงเป็นฝ่ายผิดสัญญาหมั้นให้คืนของหมั้นแก่ฝ่ายชายด้วย มาตรา 1444 ถ้าเหตุอันทำให้คู่หมั้นบอกเลิกสัญญาหมั้นเป็นเพราะการกระทำชั่วอย่างร้ายแรงของคู่หมั้นอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งได้กระทำภายหลังการหมั้น คู่หมั้นผู้กระทำชั่วอย่างร้ายแรงนั้นต้องรับผิดใช้ค่าทดแทนแก่คู่หมั้นผู้ใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาหมั้นเสมือนเป็นผู้ผิดสัญญาหมั้น มาตรา 1447/1 สิทธิเรียกร้องค่าทดแทนตามมาตรา 1439 ให้มีอายุความหกเดือนนับแต่วันที่ผิดสัญญาหมั้น
|