

ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ออกหมายบังคับคดีได้
ผิดสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์ออกหมายบังคับคดีได้ สัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองพร้อมบุตรและหลาน มีสิทธิอาศัยบนที่ดินของโจทก์ซึ่งจำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 277 จนกว่าจะถึงแก่ความตายโดยจำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานดังกล่าวจะไม่ก่อความเดือนร้อนรำคาญและไม่ดูหมิ่นโจทก์ก่อความวุ่นวายต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของโจทก์ รวมทั้งไม่ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์หากจำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าผิดนัด ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านเลขที่ 277 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ ต่อมาโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขอจำเลยทั้งสองอุทธรณ์**ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้เพิกถอนหมายบังคับคดี**โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่าหลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความแล้วต่อมาโจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์ แม้บริเวณที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงจะอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองและทำเพื่อเป็นทางเข้าออกบริเวณบ้านของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกำแพงดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงดังกล่าวจึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของโจทก์ แม้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความระบุให้ จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้านก็มีความหมายแต่เพียงว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองตามที่สร้างไว้เดิมเท่านั้น มิได้หมายความถึงขนาดให้จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่จำเลยทั้งสองมีทางเข้าออกเดิมอยู่แล้ว จำเลยทั้งสองทำลายทรัพย์สินของโจทก์ภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมจึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหมายบังคับคดีมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5094/2565 โจทก์บรรยายคำขอออกหมายบังคับคดีไว้โดยละเอียดถึงข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าได้มีการตกลงกันอย่างไร หากมีการผิดสัญญาจะต้องบังคับคดีกันอย่างไร ทั้งได้ระบุไว้ด้วยว่า “จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว” อันเป็นการกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ รวมถึงวิธีการที่โจทก์จะขอให้บังคับคดีแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างไร โจทก์บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 และโจทก์ประสงค์ให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมดังกล่าว ประกอบกับศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งยกคำขอออกคำบังคับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 เพียงให้เพิกถอนคำสั่งในการออกคำบังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เนื่องจากได้มีการออกคำบังคับไว้ที่หน้าปกสำนวนในวันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมแล้วเท่านั้น ซึ่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้าย ให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มาประกอบการพิจารณาทำคำสั่งในการออกหมายบังคับคดีจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 275 และมาตรา 276แม้บริเวณที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงจะอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองและทำเพื่อเป็นทางเข้าออกบริเวณบ้านของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกำแพงดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงดังกล่าวจึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของโจทก์ สัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 5 ระบุให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้าน มีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองตามที่สร้างไว้เดิมเท่านั้น มิได้หมายความถึงขนาดให้จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่มีทางเข้าออกเดิมอยู่แล้วแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ทำลายทรัพย์สินของโจทก์ดังกล่าว จึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความว่า โจทก์ยินยอมให้จำเลยทั้งสองพร้อมบุตรและหลาน คือนายชาคริต นายวิชิตพงษ์ เด็กชายกันต์ธีร์ เด็กหญิงวรลักษณ์ และเด็กชายกันตภณ มีสิทธิอาศัยบนที่ดินโฉนดเลขที่ 37985 เนื้อที่ 47 ตารางวา ซึ่งจำเลยทั้งสองปลูกบ้านเลขที่ 277 จนกว่าจะถึงแก่ความตายโดยความยินยอมของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานดังกล่าวจะไม่ก่อความเดือนร้อนรำคาญและไม่ดูหมิ่นโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกับโจทก์ ก่อความวุ่นวายต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของโจทก์ รวมทั้งไม่ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความหากจำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความถือว่าผิดนัด ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานยินยอมรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง คือบ้านเลขที่ 277 ออกไปจากที่ดินของโจทก์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไปโดยค่าใช้จ่ายของจำเลยทั้งสองเองทั้งสิ้น ในระหว่างสัญญาประนีประนอมยอมความโจทก์หรือทายาทจะไม่ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 37985 ให้แก่บุคคลอื่นและจำเลยทั้งสองยอมถอนฟ้องแย้งในคดีนี้ให้ออกจากสารบบความ รวมทั้งให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิสร้างทางเข้าออกบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้าน คดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดีโดยอ้างว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดีตามที่โจทก์ขอ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งงดการตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้เพิกถอนหมายบังคับคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกมีว่า คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ออกหมายบังคับคดีชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะขอให้มีการบังคับคดีให้ยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลให้บังคับคดีโดยระบุให้ชัดแจ้งซึ่ง (1) หนี้ที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษายังมิได้ปฏิบัติตามคำบังคับ (2) วิธีการที่ขอให้ศาลบังคับคดีนั้น เมื่อพิจารณาคำขอออกหมายบังคับคดีของโจทก์ปรากฏว่า โจทก์ได้บรรยายคำขอไว้โดยละเอียดถึงข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองว่าได้มีการตกลงกันอย่างไร หากมีการผิดสัญญาจะต้องบังคับคดีกันอย่างไร อันเป็นการกล่าวถึงคำพิพากษาที่จะขอให้มีการบังคับคดี หนี้ที่จำเลยทั้งสองจะต้องปฏิบัติตามคำบังคับ รวมถึงวิธีการที่โจทก์จะขอให้บังคับคดีแล้ว ทั้งโจทก์ได้ระบุไว้ในคำขอออกหมายบังคับคดีด้วยว่า "จำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว” ส่วนข้อเท็จจริงว่าจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างไร ก็ปรากฏตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งโจทก์บรรยายไว้โดยละเอียดแล้วว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความอย่างไร และโจทก์ประสงค์ให้มีการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมและสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว อันเป็นข้อเท็จจริงในสำนวนที่ศาลชั้นต้นสามารถนำมาประกอบการพิจารณาทำคำสั่งในการออกหมายบังคับคดีได้ ประกอบกับศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งยกคำขอออกคำบังคับลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 คงมีคำสั่งเพียงให้เพิกถอนคำสั่งในการออกคำบังคับเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 เนื่องจากได้มีการออกคำบังคับไว้ที่หน้าปกสำนวนในวันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมแล้วเท่านั้น ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคหนึ่งตอนท้าย ให้อำนาจศาลในการมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรได้ การที่ศาลชั้นต้นนำข้อเท็จจริงตามคำขอออกคำบังคับของโจทก์ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2563 มาประกอบการพิจารณาทำคำสั่งในการออกหมายบังคับคดีจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 275 และมาตรา 276 ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาประนีประนอมยอมความหรือไม่ เห็นว่า สัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 2 ระบุว่า จำเลยทั้งสองพร้อมบุตรหลานตามข้อ 1 จะไม่ก่อความเดือดร้อนรำคาญและไม่ดูหมิ่นโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ร่วมกับโจทก์ ก่อความวุ่นวายต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของโจทก์ รวมทั้งไม่ทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของโจทก์นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ ซึ่งได้ความตามคำเบิกความของจำเลยที่ 1 ที่ตอบทนายจำเลยทั้งสองซักถามว่า เดิมจำเลยที่ 1 ใช้ทางเข้าออกบริเวณข้างบ้าน แต่การใช้ทางดังกล่าวไม่สะดวกเนื่องจากต้องผ่านหญ้ารก จำเลยที่ 1 จึงทุบรั้วกำแพงเพื่อทำทางเข้าออกบ้านของจำเลยทั้งสอง ซึ่งแต่เดิมมีการทุบกำแพงเพื่อทำทางเข้าออกอยู่แล้ว แต่เนื่องจากที่บ้านของจำเลยทั้งสองมีผู้ป่วย จึงต้องทุบรั้วกำแพงเพื่อทำทางเข้าออกบ้านของจำเลยทั้งสองให้กว้างขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับที่จำเลยที่ 2 เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองซักถามว่า เดิมจำเลยที่ 2 เข้าออกทางป่าบริเวณข้างบ้าน ต่อมาได้เจาะกำแพงบริเวณหลังห้องครัวเพื่อทำทางเข้าออกหลังบ้าน โดยแต่เดิมเจาะเพียง 1 ช่อง ต่อมาที่บ้านของจำเลยทั้งสองมีผู้ป่วยอัมพาตจึงเจาะกำแพงให้กว้างขึ้นเป็นประตูที่ 2 โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านยืนยันว่า จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติม หลังจากทำสัญญาประนีประนอมยอมความคดีนี้แล้ว และโจทก์แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้เป็นหลักฐานเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2563 ซึ่งหากมิใช่เรื่องที่เกิดขึ้นจริง ย่อมไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะต้องไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายหลังที่มีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ถึง 2 ปี เชื่อว่าจำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์ในวันที่ 24 กันยายน 2563 แม้บริเวณที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงจะอยู่ในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองและทำเพื่อเป็นทางเข้าออกบริเวณบ้านของตนก็ตาม แต่เมื่อรั้วกำแพงดังกล่าวเป็นของโจทก์ การที่จำเลยทั้งสองทุบรั้วกำแพงดังกล่าวจึงเป็นการทำลายทรัพย์สินของโจทก์ และแม้ว่าสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ 5 ระบุให้ จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณที่ดินของโจทก์ได้โดยโจทก์ไม่คัดค้านก็มีความหมายแต่เพียงว่า โจทก์อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสร้างทางเข้าออกในบริเวณบ้านของจำเลยทั้งสองตามที่สร้างไว้เดิมเท่านั้น มิได้หมายความถึงขนาดให้จำเลยทั้งสองทุบกำแพงรั้วของโจทก์เพื่อสร้างทางเข้าออกเพิ่มเติมไปเรื่อย ๆ ในขณะที่จำเลยทั้งสองมีทางเข้าออกเดิมอยู่แล้วแต่อย่างใด พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองที่ทำลายทรัพย์สินของโจทก์ภายหลังทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีนี้ จึงเป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ข้อ 2 โจทก์มีสิทธิขอให้ออกหมายบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสองได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหมายบังคับคดีมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้นเช่นกัน พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำสั่งศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
|