

บังคับจำนองเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา บังคับจำนองเมื่อพ้น 10 ปีนับแต่มีคำพิพากษา จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยย่อม สิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาอีกต่อไป แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าการจำนองที่ดินได้ระงับสิ้นไป การจำนองที่ดิน จึงยังคงมีอยู่ แม้จำเลย(เจ้าหนี้) สิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีเอาแต่หนี้จำนองตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมายกับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลา 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3442/2547 โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยส่งมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 90524 พร้อมจดทะเบียนถอนจำนอง ที่ดินคืนโจทก์และรับเงินที่สำนักงานวางทรัพย์กลาง หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินข้างต้นให้โจทก์ด้วย ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90524 และส่งมอบโฉนดที่ดิน ดังกล่าวแก่โจทก์ โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน 392,000 บาท จากสำนักงานวางทรัพย์กลาง ถ้าจำเลยไม่ถอนจำนองให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย และให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าเดิมโจทก์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 90524 เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ ต่อมาจำเลยฟ้องโจทก์ให้ชำระเงินกู้และบังคับจำนองต่อศาลแพ่ง ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชนะคดี ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13360/2525 เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2525 คดีถึงที่สุด แต่จำเลยไม่ได้ดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาภายในสิบปีนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยต้องจดทะเบียนถอนจำนองที่ดินพิพาทและส่งมอบโฉนดที่ดิน คืนแก่โจทก์โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน 392,000 บาท ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้ศาลแพ่งพิพากษาให้จำเลยชนะคดีโจทก์ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 13360/2525 และคดีถึงที่สุดแล้ว แต่จำเลยมิได้ร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาจนล่วงพ้นระยะเวลา 10 ปี ที่จำเลยจะร้องขอให้บังคับคดีแก่โจทก์ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 จำเลยย่อมสิ้นสิทธิที่จะบังคับคดีตามคำพิพากษาดังกล่าวอีกต่อไป อย่างไรก็ดี เมื่อไม่ปรากฏว่า การจำนองที่ดินพิพาทได้ระงับสิ้นไป การจำนองที่ดินพิพาทจึงยังคงมีอยู่ ฉะนั้น แม้จำเลยสิ้นสิทธิ ที่จะบังคับคดีเอาแก่หนี้จำนองตามคำพิพากษาแล้วก็ตาม แต่จำเลยยังคงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองตามกฎหมาย ซึ่ง ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า "ผู้รับจำนองจะบังคับจำนองแม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าไปไม่ได้" ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้จำนองจากต้นเงินจำนวน 245,000 บาท กับดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเป็นเวลา 5 ปี เท่านั้น เมื่อโจทก์เสนอขอชำระหนี้ ดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมรับชำระหนี้ การที่โจทก์นำเงินจำนวนดังกล่าวไปวาง ณ สำนักงานวางทรัพย์กลางเพื่อชำระหนี้จำนองแก่จำเลย จึงเป็นการขอปฏิบัติการชำระหนี้จำนองโดยชอบแล้ว จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องจดทะเบียนถอนจำนอง ที่ดินพิพาทและส่งมอบโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ โดยรับเงินค่าถอนจำนองจำนวน 392,000 บาท ที่โจทก์วางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์กลาง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น มาตรา 744 อันจำนองย่อมระงับสิ้นไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8437/2561 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 702 วรรคสอง ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ และตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 95 เจ้าหนี้มีประกันย่อมมีสิทธิเหนือทรัพย์สินอันเป็นหลักประกัน ซึ่งลูกหนี้ได้ให้ไว้ก่อนถูกพิทักษ์ทรัพย์โดยไม่ต้องขอรับชำระหนี้ หนี้จำนองจึงเป็นทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์จำนอง โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองย่อมเป็นผู้มีทรัพยสิทธิเหนือทรัพย์พิพาทชอบที่จะได้รับชำระหนี้จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะโอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือไม่ โดยไม่จำต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 94 เนื่องจากโจทก์มิใช่เจ้าหนี้ไม่มีประกันแต่ประการใด แม้มูลแห่งหนี้ได้เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ 1 และที่ 3 โดยภายหลังจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้รับการปลดจากการล้มละลาย และโจทก์เคยขอให้ทั้งจำเลยที่ 2 และที่ 4 ผู้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับบังคับจำนองนำทรัพย์พิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งให้ถอนการยึดทรัพย์พิพาท และจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้โจทก์ฟ้องบังคับจำนองเอง และโจทก์มิได้ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของจำเลยที่ 2 และที่ 4 ตามลำดับภายในกำหนดเวลา 14 วัน นับแต่วันทราบคำสั่งดังกล่าว การบังคับจำนองเอาแก่ทรัพย์พิพาทก็หาจบสิ้นลงตั้งแต่ในกระบวนพิจารณาคดีล้มละลายแล้วไม่ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำนองจากจำเลยที่ 3 ได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7397/2561 การที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองตามคำพิพากษาไม่บังคับคดีภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นที่สุดในคดีนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 (เดิม) มีผลเพียงทำให้ผู้ร้องหมดสิทธิบังคับคดีในคดีดังกล่าว แต่ไม่เป็นเหตุให้หนี้จำนองระงับสิ้นไป ทรัพยสิทธิจำนองยังคงมีอยู่และสามารถใช้ยันต่อลูกหนี้จำนองหรือต่อบุคคลภายนอกที่รับโอนทรัพย์สินจำนองนั้นต่อไปได้ แต่ผู้ร้องจะบังคับดอกเบี้ยเกินกว่าห้าปีไม่ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 745 การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่กระทบกระเทือนถึงบุริมสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับคดีเหนือทรัพย์ได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองทรัพย์ที่โจทก์นำยึดและขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง มีสิทธิขอกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองดังกล่าวแก่ผู้ร้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 287 (เดิม) ได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2730/2559 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะต้องดำเนินการบังคับคดีให้แล้วเสร็จภายในสิบปีนับแต่วันมีคำพิพากษาโดยอาศัยและตามคำบังคับที่ออกตามคำพิพากษานั้น มิใช่จะต้องเริ่มนับแต่คดีถึงที่สุด
|