

การปล่อยทรัพย์ที่ยึด, ร้องขัดทรัพย์, สินส่วนตัวและสินสมรส, การแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ ร้องขัดทรัพย์ ขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ดินที่โจทก์นำยึดเนื่องจากไม่ใช่สินสมรสตามที่โจทก์อ้างนำยึดทรัพย์ เดิมที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 เป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวมก่อนแบ่งแยก ได้ตกลงกันระหว่างเจ้าของรวมอื่นในการแบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นสัดส่วนแล้ว ต่อมาผู้ร้องได้ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาเรื่องแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นที่ดินแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอื่นก็ยอมรับการแบ่งแยกตามสัดส่วนครอบครองซึ่งผู้ร้องและเจ้าของรวมอื่นได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดแล้ว เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว ทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์จะนำยึดออกขายทอดตลาดได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567 แม้ที่ดินพิพาทโฉนดที่ดินเลขที่ 20948 จะเคยเป็นที่ดินแปลงเดียวกันกับที่ดินกรรมสิทธิ์รวมโฉนดเลขที่ 2996 โดยที่ดินพิพาท 2,000 ส่วน ผู้ร้องรับโอนมาจาก จ. มารดาจากการยกให้โดยเสน่หาจึงเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง ส่วนที่ดินอีก 492 ส่วน ที่ผู้ร้องซื้อมาจาก น. ระหว่างสมรสจึงเป็นสินสมรส แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ก่อนที่โจทก์จะนำยึดที่ดินพิพาท ผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 492 ส่วน ให้แก่ ว. น้องสาวของผู้ร้องไปแล้ว ผู้ร้องจึงไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 492 ส่วนนั้นแล้ว คงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เฉพาะในที่ดิน 2,000 ส่วนเท่านั้น กรณีจึงไม่มีสินสมรสระคนปนอยู่ในที่ดินแปลงพิพาทอันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรส ทั้งพยานหลักฐานที่ผู้ร้องนำสืบมาสนับสนุนให้เห็นว่าผู้ร้องและเจ้าของรวมอื่นได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดแล้ว กรณีจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์จะยึดนำออกขายทอดตลาดได้ จึงต้องปล่อยทรัพย์พิพาทนั้น คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระหนี้เงินกู้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญาค้ำประกัน ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 6,730,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันที่ 25 กรกฎาคม 2557 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งสองไม่ชำระ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เนื้อที่ 5 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้าง ประเมินราคา 14,667,125 บาท ซึ่งมีชื่อผู้ร้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ โดยอ้างว่าเป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับขายทอดตลาดนำเงินครึ่งหนึ่งซึ่งเป็นส่วนของจำเลยที่ 2 มาชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอและแก้ไขคำร้องขอขอให้ศาลสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เนื้อที่ 5 ไร่ พร้อมสิ่งปลูกสร้างคืนแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับโจทก์ให้เป็นพับ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 8,000 บาท ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า ผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 2996 เนื้อที่ 44 ไร่ 8 ตารางวา มีนายน้อมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม 11,292 ส่วนจากทั้งหมด 17,692 ส่วน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2515 นายน้อมจดทะเบียนยกกรรมสิทธิ์รวมให้แก่นายสวงค์ 8,000 ส่วน นายธนิส บิดาผู้ร้อง 2,000 ส่วน นายเล็ก 400 ส่วน และนางมาลัย 400 ส่วน คงเหลือส่วนของนายน้อม 492 ส่วน หลังจากนายธนิสถึงแก่ความตาย เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2524 ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธนิสได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินทรัพย์มรดกในส่วนที่นายธนิสมีกรรมสิทธิ์รวม 2,000 ส่วน ให้แก่นางจำเรือง มารดาผู้ร้อง วันที่ 8 กันยายน 2525 นางจำเรืองได้จดทะเบียนโอนที่ดิน 2,000 ส่วน เนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่ผู้ร้องโดยเสน่หา เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2526 นายน้อมได้ขายและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในส่วนที่ตนมีกรรมสิทธิ์รวม 492 ส่วนที่เหลือให้แก่ผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องเป็นโจทก์ฟ้องนางมาลัย กับพวกรวม 5 คน เป็นจำเลยขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินกรรมสิทธิ์รวม 5 ไร่ ต่อศาลชั้นต้น วันที่ 12 เมษายน 2532 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้แบ่งแยกโฉนดที่ดินเลขที่ 2996 เนื้อที่ 5 ไร่ ให้แก่ผู้ร้อง และเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 ผู้ร้องได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ผู้ร้องซื้อมาจากนายน้อม 492 ส่วน ให้แก่นางวันเพ็ญ น้องสาวผู้ร้อง ต่อมาผู้ร้องได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมที่ดิน 5 ไร่ ที่ศาลมีคำพิพากษา เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์นำยึดออกขายทอดตลาดได้หรือไม่ เห็นว่า แม้เดิมทรัพย์พิพาทที่ดิน 2,000 ส่วน ที่ผู้ร้องรับโอนมาจากนางจำเรืองมารดาจากการยกให้โดยเสน่หา อันถือว่าเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง กับที่ดิน 492 ส่วน ที่ผู้ร้องซื้อมาจากนายน้อมระหว่างสมรสอันถือว่าเป็นสินสมรส จะเป็นที่ดินแปลงเดียวกัน มีกรรมสิทธิ์รวมกันอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2996 แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2532 อันเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะนำยึดทรัพย์พิพาทในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 ผู้ร้องได้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน 492 ส่วน ให้แก่นางวันเพ็ญน้องสาวของผู้ร้องไปแล้ว ดังนั้นเมื่อในขณะยึดทรัพย์พิพาท ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดิน 492 ส่วนนั้นแล้ว โดยผู้ร้องคงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เฉพาะในที่ดิน 2,000 ส่วน เท่านั้น กรณีจึงไม่มีสินสมรสระคนปนอยู่ในที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 2996 อันจะเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่าเป็นสินสมรสดังโจทก์อ้างในฎีกา นอกจากนี้ทรัพย์สินเป็นที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์รวม เจ้าของรวมอาจมีข้อตกลงแบ่งแยกการครอบครองได้ ซึ่งตามสำเนาสารบัญจดทะเบียนที่ดินโฉนดเลขที่ 2996 ระบุชัดเจนว่า เจ้าของรวมแต่ละคนเป็นเจ้าของที่ดินในอัตราส่วนคนละเท่าใด เมื่อผู้ร้องนำสืบถึงการได้มาซึ่งที่ดินพิพาท ตลอดจนการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดด้วยแล้ว โดยมีตัวผู้ร้อง ผู้รับมอบอำนาจผู้ร้องซึ่งเป็นบุตรของผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 และนางอำนวย อดีตผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในท้องที่ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ เป็นพยานเบิกความยืนยันตรงกันว่า หลังจากบิดาผู้ร้องรับโอนที่ดินมาจากนายน้อมเจ้าของเดิม ก็ได้เข้ายึดถือครอบครองที่ดินโดยปลูกโรงสีข้าวประกอบกิจการค้าขายเรื่อยมาจนถึงแก่กรรมในปี 2524 และเมื่อผู้ร้องรับโอนที่ดินดังกล่าวมาจากมารดาซึ่งรับโอนมาโดยผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของนายธนิสโอนขายให้ ผู้ร้องก็ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินโดยประกอบกิจการโรงสีต่อจากบิดา มีการครอบครองเป็นส่วนสัดและอาณาเขตชัดเจน ส่วนเจ้าของรวมอื่นก็มีการแบ่งแยกการครอบครองเป็นส่วนสัดเช่นเดียวกัน สำหรับที่ดินที่ผู้ร้องโอนให้แก่นางวันเพ็ญอยู่คนละส่วนกับที่ดินพิพาทโดยอยู่ทางด้านทิศใต้ของถนนสายคอวัง – หนองผักชี ส่วนที่ดินพิพาทอยู่ทางด้านทิศเหนือของถนนสายดังกล่าว อีกทั้งได้ความจากทางนำสืบของผู้ร้องต่อไปอีกว่า ภายหลังจากผู้ร้องเป็นโจทก์ยื่นฟ้องเจ้าของรวมอื่นขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินและศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้เจ้าของรวมอื่นนั้นแบ่งแยกที่ดินเฉพาะส่วนของผู้ร้องเนื้อที่ 5 ไร่ หรือ 2,000 ส่วน ออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2996 ผู้ร้องได้ดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาเป็นที่ดินแปลงพิพาทโฉนดเลขที่ 20948 โดยเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมอื่นก็ไม่ได้คัดค้านการรังวัดแต่อย่างใด ย่อมเป็นการสนับสนุนว่าผู้ร้องและเจ้าของรวมอื่นได้แบ่งแยกการครอบครองที่ดินเป็นส่วนสัดแล้ว กรณีจึงไม่เป็นที่สงสัยว่าที่ดินพิพาทเป็นสินรสหรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินดังกล่าวย่อมเป็นส่วนควบของที่ดิน ผู้ร้องจึงมีกรรมสิทธิ์ในสิ่งปลูกสร้างในฐานะที่เป็นสินส่วนตัว ทรัพย์พิพาทที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจึงมิใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 กับผู้ร้อง ซึ่งโจทก์จะนำยึดออกขายทอดตลาดได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ปล่อยทรัพย์พิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นของโจทก์อีกเนื่องจากไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลงไป พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
• สินส่วนตัวและสินสมรส • การแบ่งแยกกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินสมรส • โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินก่อนการยึดทรัพย์ • หลักเกณฑ์การปล่อยทรัพย์ที่ยึด, ร้องขัดทรัพย์ • ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาคดีสินสมรส • ข้อสันนิษฐานของกฎหมายเกี่ยวกับสินสมรส • ที่ดินพิพาทระหว่างคู่สมรสในชั้นบังคับคดี • การพิสูจน์ทรัพย์สินส่วนตัวในคดีแพ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567 (สรุปย่อ) ข้อเท็จจริง ที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เดิมเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่แบ่งออกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2996 โดยที่ดิน 2,000 ส่วน ผู้ร้องได้รับจากมารดาโดยเสน่หา ถือเป็นสินส่วนตัว ส่วนที่ดิน 492 ส่วน ผู้ร้องซื้อมาจากนายน้อมในระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรส อย่างไรก็ตาม ก่อนการยึดทรัพย์ในปี 2560 ผู้ร้องได้โอนที่ดิน 492 ส่วน ให้แก่นางวันเพ็ญ น้องสาวของผู้ร้องแล้ว ทำให้ผู้ร้องเป็นเจ้าของเฉพาะที่ดิน 2,000 ส่วนเท่านั้น ประเด็นข้อกฎหมาย โจทก์อ้างว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เป็นสินสมรสระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 2 เพื่อขอแบ่งขายทอดตลาดชำระหนี้ตามคำพิพากษา ข้อวินิจฉัยของศาล 1.ที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 ไม่ใช่สินสมรส oส่วนที่ดิน 2,000 ส่วน ผู้ร้องได้รับจากมารดาโดยเสน่หา ถือเป็นสินส่วนตัว oส่วนที่ดิน 492 ส่วน ที่ถือเป็นสินสมรสนั้น ผู้ร้องได้โอนให้ผู้อื่นก่อนการยึดทรัพย์ จึงไม่เหลือส่วนที่เป็นสินสมรสในทรัพย์พิพาท 2.แบ่งแยกการครอบครองชัดเจน ผู้ร้องและเจ้าของรวมได้แบ่งการครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินเป็นส่วนสัด อีกทั้งได้จดทะเบียนแบ่งแยกตามคำพิพากษาของศาล ทำให้ทรัพย์พิพาทเป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง สิ่งปลูกสร้างที่ตั้งอยู่จึงถือเป็นส่วนควบของสินส่วนตัว ไม่ใช่สินสมรสที่โจทก์จะยึดนำขายทอดตลาดได้ คำพิพากษา ศาลฎีกาเห็นพ้องกับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลชั้นต้น ให้ปล่อยทรัพย์พิพาทคืนแก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ *การอธิบายหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567 1. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 (3) •เนื้อหา: สินส่วนตัว คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับโดยเสน่หา หรือโดยพินัยกรรมหรือโดยทางอื่นอันมิใช่เพื่อประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย •การประยุกต์ใช้: ทรัพย์สินส่วนที่ผู้ร้องได้รับจากมารดาโดยเสน่หา (ที่ดิน 2,000 ส่วน) เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง เพราะไม่ได้มุ่งประโยชน์ร่วมกันในชีวิตสมรส ทำให้ไม่มีข้อสงสัยว่าที่ดินดังกล่าวจะถือเป็นสินสมรส 2. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1) •เนื้อหา: สินสมรส คือ ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้มาในระหว่างสมรส เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว •การประยุกต์ใช้: ส่วนที่ดิน 492 ส่วน ที่ผู้ร้องซื้อมาจากนายน้อมในช่วงเวลาสมรส จึงถือเป็นสินสมรสตามบทบัญญัติของกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การโอนที่ดินนี้ให้แก่น้องสาวของผู้ร้องก่อนการยึดทรัพย์ ทำให้ไม่มีสินสมรสหลงเหลือในทรัพย์พิพาท 3. ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 วรรคสอง •เนื้อหา: การสันนิษฐานตามกฎหมายว่าทรัพย์สินใดที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ในระหว่างสมรส ให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นสินส่วนตัว •การประยุกต์ใช้: ผู้ร้องสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนที่ดิน 2,000 ส่วน ได้มาจากมารดาโดยเสน่หา และส่วน 492 ส่วน ได้โอนออกไปก่อนการยึดทรัพย์ จึงไม่อาจสันนิษฐานตามกฎหมายว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสินสมรส 4. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 323 •เนื้อหา: การขอปล่อยทรัพย์ที่ยึด(ร้องขัดทรัพย์) ให้ศาลพิจารณาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานของผู้ร้อง เพื่อแสดงว่าทรัพย์ที่ถูกยึดนั้นมิใช่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือไม่อาจถูกยึดได้ •การประยุกต์ใช้: ผู้ร้องยื่นคำร้องขอปล่อยทรัพย์ที่ยึดโดยแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 20948 เป็นสินส่วนตัวของผู้ร้อง และไม่ใช่สินสมรสของจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา ศาลจึงพิจารณาปล่อยทรัพย์ดังกล่าว *การเชื่อมโยงบทบัญญัติทางกฎหมายกับคำพิพากษา คำพิพากษาศาลฎีกานี้แสดงถึงความสำคัญของการพิสูจน์ว่า ทรัพย์สินใดเป็นสินส่วนตัวหรือสินสมรส โดยหลักเกณฑ์ตามมาตรา 1471 และ 1474 ใช้ในการจำแนกทรัพย์สิน ขณะที่มาตรา 323 เป็นกลไกทางกฎหมายในการขอปล่อยทรัพย์ที่ยึดออกจากการบังคับคดี ทั้งนี้ การยกพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ศาลเชื่อถือคำร้องและตัดสินให้ปล่อยทรัพย์คืนแก่ผู้ร้อง **บทความ: สินส่วนตัวและสินสมรสในมุมมองทางกฎหมาย การแยกแยะ สินส่วนตัว และ สินสมรส ถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายครอบครัวในประเทศไทย เพราะส่งผลต่อการจัดการทรัพย์สินระหว่างสมรสและเมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้น เช่น การหย่าร้างหรือการจัดการมรดกของคู่สมรส ในบทความนี้ เราจะวิเคราะห์แหล่งที่มาของสินส่วนตัว ความหมายของสินสมรส รวมถึงการพิจารณาว่าทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสถือเป็นสินสมรสเสมอไปหรือไม่ พร้อมทั้งยกตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกาเพื่อการศึกษา 1. สินส่วนตัว: ความหมายและที่มาของทรัพย์สิน สินส่วนตัว หมายถึงทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส หรือทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสจากแหล่งที่มาที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ได้มาโดยการรับมรดก หรือได้รับโดยเสน่หา ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง •ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471 ระบุว่าสินส่วนตัวได้แก่: 1.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส 2.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับมาในระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้โดยเสน่หา 3.ทรัพย์สินที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องมือประกอบอาชีพ ตัวอย่าง: หากฝ่ายหนึ่งได้รับที่ดินจากพ่อแม่โดยการให้โดยเสน่หาระหว่างสมรส ทรัพย์สินนั้นจะถือเป็น สินส่วนตัว 2. สินสมรส: ทรัพย์สินที่ได้มาในระหว่างสมรส สินสมรส คือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้มาในระหว่างสมรส เว้นแต่ทรัพย์สินที่เป็นสินส่วนตัว ตัวบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง •ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 ระบุว่าสินสมรสได้แก่: 1.ทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายได้มาระหว่างสมรส 2.ดอกผลของสินส่วนตัวที่เกิดขึ้นระหว่างสมรส อย่างไรก็ตาม ทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรสบางประเภทไม่ถือเป็นสินสมรส เช่น สินส่วนตัวตามมาตรา 1471 3. การสันนิษฐานของกฎหมาย มาตรา 1474 วรรคสอง ระบุว่า ทรัพย์สินใดที่คู่สมรสมีอยู่ในระหว่างสมรส ให้ถือว่าทรัพย์สินนั้นเป็นสินสมรส เว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าเป็นสินส่วนตัว ตัวอย่าง: ในกรณีที่มีการโต้แย้งว่าทรัพย์สินหนึ่งเป็นสินสมรสหรือไม่ คู่สมรสที่อ้างว่าเป็นสินส่วนตัวต้องแสดงหลักฐานพิสูจน์ เช่น เอกสารที่แสดงการรับมรดกหรือการให้โดยเสน่หา 4. ตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกา ตัวอย่างที่ 1: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 372/2567 •ข้อเท็จจริง: ผู้ร้องได้รับที่ดินบางส่วนจากมารดาโดยเสน่หา ถือเป็นสินส่วนตัว และที่ดินอีกส่วนซื้อมาระหว่างสมรส ถือเป็นสินสมรส แต่ได้โอนที่ดินสินสมรสให้ผู้อื่นก่อนการยึดทรัพย์ ศาลวินิจฉัยว่าไม่มีสินสมรสหลงเหลือในทรัพย์พิพาท ตัวอย่างที่ 2: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 483/2535 •ข้อเท็จจริง: ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้รับจากการรับมรดกระหว่างสมรส อีกฝ่ายอ้างว่าเป็นสินสมรส •คำวินิจฉัย: ศาลชี้ว่าการรับมรดกระหว่างสมรสถือเป็นสินส่วนตัวตามมาตรา 1471 (2) แม้ว่าจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาสมรส ตัวอย่างที่ 3: คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1422/2533 •ข้อเท็จจริง: สามีได้รับที่ดินเป็นมรดกก่อนสมรส แต่ได้ใช้ที่ดินนั้นปลูกบ้านและประกอบกิจการค้าร่วมกับภรรยา •คำวินิจฉัย: แม้ที่ดินเป็นสินส่วนตัว แต่รายได้จากการใช้ที่ดินประกอบกิจการถือเป็นสินสมรส เพราะเป็นดอกผลของสินส่วนตัว 5. สรุปและข้อควรระวัง การจัดการทรัพย์สินระหว่างสมรสและการพิสูจน์สถานะของทรัพย์สินในกรณีพิพาทจำเป็นต้องพิจารณาแหล่งที่มาของทรัพย์สินและหลักฐานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องใช้ มาตรา 1474 วรรคสอง เพื่อโต้แย้งข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ทั้งนี้ คู่สมรสควรจัดทำเอกสารการได้มาของทรัพย์สินอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันความยุ่งยากในการพิสูจน์ในกรณีพิพาทในอนาคต
|