

ยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย, ค่าธรรมเนียมการยึดหรือการบังคับคดี, อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • ยึดทรัพย์แล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย • คำพิพากษาศาลฎีกา 541/2567 • หลักประกันทรัพย์สินในการบังคับคดี • การรื้อถอนอาคารตามกฎหมาย • ค่าธรรมเนียมการยึดหรือการบังคับคดี • ป.วิ.แพ่ง มาตรา 292 • อำนาจเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นให้รื้อถอนอาคาร • พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลาย พ.ศ. 2542 สรุปย่อ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2567 ย่อความได้ว่า: ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รับโอนสิทธิจากโจทก์และเข้าสวมสิทธิในฐานะเจ้าหนี้รายที่ 5 โดยมีทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 คือที่ดินพร้อมอาคารตึกแถว 3 ชั้นเป็นหลักประกันที่ถูกยึดไว้ สำนักงานเขตคันนายาวแจ้งให้ผู้คัดค้านรื้อถอนอาคารดังกล่าวเพราะอาจเป็นอันตราย การรื้อถอนนี้เกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายโดยชอบ ไม่ใช่เพราะความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์หรือผู้ร้อง การรื้อถอนไม่ใช่กรณีถอนการบังคับคดีตามกฎหมายที่เจ้าหนี้ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมการยึดโดยไม่มีการขายหรือจำหน่าย ผู้ร้องขอให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมการยึด ผู้คัดค้านแย้งและแจ้งการประชุมเจ้าหนี้โดยไม่มีผู้เข้าร่วม จึงถือว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้รื้อถอนและให้ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียม ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ผู้ร้องรับผิดชอบ ผู้ร้องอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษากลับให้ผู้คัดค้านเป็นผู้รับผิดชอบ ศาลฎีกาพิจารณาว่า การรื้อถอนอาคารเป็นการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นโดยชอบ ไม่ใช่ความผิดของโจทก์หรือผู้ร้อง คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษจึงชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทความคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2567 ประกอบด้วย: 1.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292: มาตรานี้กำหนดเงื่อนไขและกรณีการถอนการบังคับคดี โดยระบุว่าการถอนการบังคับคดีอาจทำได้ในกรณีที่มีคำสั่งของศาลให้เพิกถอนการยึดหรือเมื่อทรัพย์สินไม่สามารถนำไปขายทอดตลาดได้ในเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด ซึ่งในกรณีนี้ การรื้อถอนอาคารไม่ได้เป็นการถอนการบังคับคดีตามที่กำหนดในมาตรา 292 เนื่องจากเกิดจากคำสั่งเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย 2.ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 169/2: มาตรานี้กล่าวถึงการกำหนดค่าฤชาธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการบังคับคดี หากการบังคับคดีไม่ได้ผลหรือมีเหตุทำให้การบังคับคดีถูกเพิกถอน โดยเจ้าหนี้ผู้ขอยึดหรืออายัดอาจต้องรับผิดชอบค่าฤชาธรรมเนียมที่เกิดขึ้น กรณีนี้ศาลวินิจฉัยว่าผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมดังกล่าว เพราะการรื้อถอนอาคารเกิดจากการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่เพราะความผิดหรือความประมาทเลินเล่อของโจทก์หรือผู้ร้อง 3.พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14: มาตรานี้ระบุถึงอำนาจหน้าที่ของศาลล้มละลายในการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการล้มละลายและการบริหารจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งศาลสามารถมีคำสั่งที่จำเป็นในการคุ้มครองสิทธิของเจ้าหนี้และลูกหนี้ กรณีนี้เกี่ยวข้องกับการพิจารณาว่าใครควรเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการบังคับคดีหลังจากการรื้อถอนอาคาร การอธิบายหลักกฎหมายเหล่านี้ช่วยให้เข้าใจว่าเหตุผลที่ผู้ร้องไม่ต้องรับผิดชอบค่าธรรมเนียมในการบังคับคดี เกิดจากการใช้อำนาจโดยชอบของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่การกระทำที่เกิดจากการประมาทเลินเล่อหรือความผิดพลาดของผู้ร้องหรือโจทก์
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 541/2567 ผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องจากโจทก์และเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 โดยมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถว 3 ชั้น ของจำเลยที่ 2 เป็นหลักประกันซึ่งโจทก์ได้ยึดเพื่อดำเนินการบังคับคดีไว้แล้ว ต่อมาสำนักงานเขตคันนายาวแจ้งผู้คัดค้านให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวเนื่องจากมีสภาพหรือมีการใช้งานที่อาจเป็นอันตราย เมื่อการที่อาคารต้องถูกรื้อถอนไปในระหว่างการบังคับคดีและไม่อาจนำมาขายทอดตลาดได้เกิดจากการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยไม่ใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือความไม่สุจริตของโจทก์หรือผู้ร้องซึ่งรับโอนสิทธิและหน้าที่จากโจทก์ ทั้งมิใช่การถอนการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ผู้ร้องต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย *คดีสืบเนื่องมาจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 *ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งยกคำสั่งผู้คัดค้านและมีคำสั่งให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดทรัพย์สินซึ่งมิใช่ตัวเงินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย *ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ได้รับแจ้งจากสำนักงานเขตคันนายาวให้รื้อถอนอาคารเลขที่ 53/38, 53/39 (ปัจจุบันเลขที่ 94, 96) ซึ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 120261 และ 12959 ของจำเลยที่ 2 ผู้คัดค้านเห็นว่าการรื้อถอนจะทำให้กองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ด้อยค่าลงเข้าลักษณะการกระทำตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 145 (3) ประกอบมาตรา 41 ซึ่งผู้คัดค้านต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้ก่อนดำเนินการ ทั้งยังมีเรื่องค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมถอนการยึด ผู้คัดค้านจึงเรียกประชุมเจ้าหนี้ครั้งอื่นโดยแจ้งว่าหากไม่มีเจ้าหนี้มาร่วมประชุมตามกำหนดนัดจะถือว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวได้โดยให้สำนักงานเขตคันนายาวเป็นผู้ดำเนินการหรือจัดหา ผู้รื้อถอนและไม่ติดใจรวบรวมวัสดุอุปกรณ์หรือเศษซากจากการรื้อถอนเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป เมื่อถึงวันนัดไม่มีเจ้าหนี้รายใดมาร่วมประชุม ผู้คัดค้านจึงถือว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้รื้อถอนอาคารตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา ซึ่งเป็นทรัพย์หลักประกันของผู้ร้องดังกล่าว โดยให้ผู้ร้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่ง และเนื่องจากรายงานการยึดอาคารดังกล่าวระบุว่า โจทก์ในคดีแพ่งได้แถลงว่าสิ่งปลูกสร้างที่นำยึดมีสภาพทรุดโทรมมาก แสดงว่าขณะยึดโจทก์ในคดีแพ่งได้ตรวจสอบและทราบถึงสภาพของอาคารที่จะทำการยึดแล้ว เมื่อผู้ร้องรับโอนสิทธิเรียกร้องมาจากโจทก์ในคดีแพ่ง จึงต้องรับโอนไปทั้งสิทธิและหน้าที่ด้วย และถือว่าผู้ร้องทราบถึงสภาพของทรัพย์ที่ยึดแล้วเช่นกัน การที่ต่อมาอาคารที่ถูกยึดไว้ถูกรื้อถอนตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จึงไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 169/3 ดังที่ผู้ร้องกล่าวอ้าง ผู้ร้องต้องเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมยึดแล้วไม่มีการขายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 294 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 *ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ส่วนค่าทนายความเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินคดีเองจึงไม่กำหนดให้ *ผู้ร้องอุทธรณ์ *ศาลอุทธรณ์คดีชํานัญพิเศษพิพากษากลับ ให้เพิกถอนคำสั่งของผู้คัดค้านที่ให้ผู้ร้องชำระค่าธรรมเนียมในการรวบรวมทรัพย์สินที่ไม่มีการขายหรือจำหน่าย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ *ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา *ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ ย.1490/2547 ของศาลจังหวัดนนทบุรี ที่ดินโฉนดเลขที่ 120261 และ 12959 พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหา เลขที่ 94 และ 96 (เดิม 53/38 และ 53/39 ตามลำดับ) เป็นส่วนหนึ่งของทรัพย์ที่จำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ต่อธนาคาร ก. เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในคดีดังกล่าวและถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดออกขายทอดตลาด สำนักงานเขตคันนายาวเคยมีคำสั่งลงวันที่ 29 กรกฎาคม 2542 ให้จำเลยที่ 2 ดำเนินการแก้ไขอาคารพิพาทเนื่องจากมีสภาพหรือมีการใช้งานที่อาจเป็นอันตราย แต่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามภายในเวลาที่กำหนด สำนักงานเขตคันนายาวจึงมีคำสั่งลงวันที่ 19 ธันวาคม 2543 ให้จำเลยที่ 2 รื้อถอนอาคารตึกแถว 3 ชั้น 3 คูหาดังกล่าวภายใน 30 วัน ต่อมาจำเลยที่ 2 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 หลังจากนั้นสำนักงานเขตคันนายาวมีหนังสือลงวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 แจ้งแก่ผู้คัดค้านในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว เนื่องจากโครงสร้างเสาของอาคารทรุดตัวยิ่งขึ้น คาน พื้น และผนังแตกร้าวเป็นแนว ประกอบกับด้านหน้าอาคารติดถนนสาธารณะ ด้านขวาโครงสร้างยึดติดกับอาคารข้างเคียง ด้านซ้ายมีร้านค้า หากพังถล่มลงจะเกิดความเสียหายยิ่งขึ้น ผู้คัดค้านจึงนัดประชุมเจ้าหนี้โดยแจ้งไปในประกาศนัดประชุมว่า หากไม่มีเจ้าหนี้มาร่วมประชุมจะถือว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้รื้อถอนอาคารดังกล่าวได้ โดยให้ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้รายที่ 5 เป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์ในคดีแพ่ง และให้สำนักงานเขตคันนายาวเป็นผู้ดำเนินการหรือจัดหาผู้รื้อถอน อีกทั้งไม่ติดใจที่จะรวบรวมเงินที่ได้จากการขายหรือตีราคาวัสดุอุปกรณ์และเศษซากที่ได้จากการรื้อถอนเข้ากองทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 อีกต่อไป เมื่อถึงวันนัดปรากฏว่าไม่มีเจ้าหนี้มาร่วมประชุม ผู้คัดค้านจึงถือว่าเจ้าหนี้ยินยอมให้รื้อถอนอาคารดังกล่าว และแจ้งให้ผู้ร้องถอนการยึดอาคารดังกล่าวในคดีแพ่งพร้อมชำระค่าธรรมเนียม *มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านว่า ผู้ร้องต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่ายหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ในคดีแพ่งนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 120261 และ 12959 พร้อมสิ่งปลูกสร้างอาคารตึกแถวดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิบังคับคดีไปตามคำพิพากษาโดยชอบ แต่เหตุที่อาคารดังกล่าวต้องถูกรื้อถอนไปเนื่องจากสำนักงานเขตคันนายาวมีหนังสือถึงผู้คัดค้านในฐานะผู้มีอำนาจจัดการทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 ให้รื้อถอนอาคาร ด้วยเหตุที่โครงสร้างเสาของอาคารทรุดตัวมากขึ้น คาน พื้น และผนังแตกร้าว ซึ่งเป็นการใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 แม้ขณะนำยึดโจทก์ในคดีแพ่งได้แถลงต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีว่า สิ่งปลูกสร้างสภาพทรุดโทรมมาก แต่ก็ไม่ปรากฏว่า โจทก์ในคดีแพ่งรู้อยู่แล้วว่า อาคารดังกล่าวมีสภาพเป็นอันตรายและสำนักงานเขตมีคำสั่งให้จำเลยที่ 2 รื้ออาคารดังกล่าวมาก่อนอันจะถือว่าเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของโจทก์ในคดีแพ่ง เมื่อการที่อาคารดังกล่าวต้องถูกรื้อถอนไปในระหว่างการบังคับคดีและไม่อาจนำมาขายทอดตลาดได้เกิดจากการใช้อำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่ใช่ความผิดหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือความไม่สุจริตของโจทก์ในคดีแพ่งหรือผู้ร้องซึ่งรับโอนสิทธิและหน้าที่จากโจทก์ในคดีแพ่ง ทั้งมิใช่การถอนการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 292 (2) (3) (4) (6) และ (7) ที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาผู้ขอยึดหรืออายัดทรัพย์สินต้องรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับคดี ตามมาตรา 169/2 วรรคสี่ ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ. 2542 มาตรา 14 กรณีจึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ผู้ร้องต้องรับผิดชำระค่าธรรมเนียมกรณียึดทรัพย์สินแล้วไม่มีการขายหรือจำหน่าย ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษมีคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของผู้คัดค้านฟังไม่ขึ้น *พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ |