

การบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ การบังคับคดีอายัดเงินค่าหุ้นของสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ เจ้าพนักงานบังคับคดีขออายัดเงินของจำเลยต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ในขณะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตาย แต่ขณะอายัดเงินจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ต่อมาเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายทำให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แต่ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง ที่แก้ไขใหม่ขณะจำเลยถึงแก่ความตายบัญญัติให้อำนาจสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ใช้สิทธินำเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินค่าหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัดไว้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14281/2557 แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือขออายัดเงินของจำเลยต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ในขณะจำเลยยังไม่ถึงแก่ความตาย สมาชิกภาพของจำเลยจึงยังไม่สิ้นสุด ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำได้ก็ตาม แต่ขณะอายัดเงินจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดี ครั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายทำให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินต่าง ๆ จากสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ แต่ตาม พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสอง บัญญัติให้อำนาจสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ใช้สิทธินำเงินค่าหุ้นของจำเลยที่มีอยู่ต่อสหกรณ์ออมทรัพย์ฯ มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยต้องชำระแก่สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ ได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินค่าหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ สหกรณ์ออมทรัพย์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัดไว้ คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยชำระเงิน 202,137 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเดือนละไม่ต่ำกว่า 4,000 บาท เริ่มงวดแรกไม่เกินวันที่ 5 พฤศจิกายน 2549 งวดต่อไปทุกวันที่ 5 ของเดือนถัดไป และจะชำระให้เสร็จสิ้นภายใน 64 งวด หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีในส่วนที่เหลือได้ทันที ต่อมาจำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอมให้แก่โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ถึงผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จำกัด ขออายัดเงินปันผลเงินเฉลี่ยคืนประจำปี และเงินค่าหุ้นเมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกของจำเลย รวมจำนวน184,174.95 บาท ตามที่โจทก์แถลง โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกประธานและผู้จัดการสหกรณ์ฯ มาไต่สวน ศาลชั้นต้นออกหมายเรียกผู้จัดการหรือผู้แทนสหกรณ์ฯ มาสอบถามผู้แทนสหกรณ์ฯ แถลงว่า ขณะจำเลยถึงแก่ความตายซึ่งทำให้จำเลยพ้นจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ นั้น จำเลยมีหนี้ค้างชำระสหกรณ์ฯ เป็นหนี้เงินกู้สามัญ 296,579 บาท หนี้เงินกู้ฉุกเฉิน 6,998 บาท ดอกเบี้ยนับถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 จำนวน 15,676 บาท แต่จำเลยมีทุนเรือนหุ้น 251,500 บาท เมื่อนำหนี้ที่จำเลยค้างชำระมาหักกับทุนเรือนหุ้นดังกล่าว จึงไม่มีเงินเหลือที่จะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัด โจทก์แถลงว่า สหกรณ์ฯ ไม่มีสิทธินำหนี้ที่จำเลยมีอยู่ต่อสหกรณ์มาหักกับทุนเรือนหุ้น เพราะกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจสหกรณ์ฯ นำหนี้ที่จำเลยค้างชำระมาหักกับทุนเรือนหุ้นก่อน สหกรณ์ฯ จึงต้องส่งเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดไปนั้นจำเลยยังไม่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกของสหกรณ์ฯ แต่ต่อมาเดือนกันยายน 2555 จำเลยถึงแก่ความตาย ทำให้จำเลยสิ้นสมาชิกภาพของสหกรณ์ฯ ซึ่งขณะนั้นมีพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 มาตรา 42 วรรคสอง ให้อำนาจสหกรณ์ฯ ที่จะนำเงินตามมูลค่าหุ้นของสหกรณ์ฯ ที่มีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยผูกพันต้องชำระแก่สหกรณ์ฯ ได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยมีจำนวนหนี้มากกว่ามูลค่าหุ้นที่จำเลยมีอยู่กับสหกรณ์ฯสหกรณ์ฯ จึงมีสิทธินำเงินจำนวนดังกล่าวมาหักกับมูลค่าหุ้นได้ เมื่อหักกลบลบหนี้แล้วไม่มีเงินคงเหลือที่จะส่งให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี สหกรณ์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินแก่เจ้าพนักงานบังคับคดีให้ยกคำร้องของโจทก์ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จำกัด ต้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยตามจำนวนที่ค้างชำระแก่โจทก์ให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีหรือไม่ เห็นว่า ขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2550 ถึงผู้จัดการสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 จำกัด ขออายัดเงินปันผล เงินเฉลี่ยคืนรายปีและเงินค่าหุ้นเมื่อพ้นจากการเป็นสมาชิกสหกรณ์ฯ ของจำเลยนั้น จำเลยยังไม่ถึงแก่ความตายสมาชิกภาพของจำเลยไม่สิ้นสุด จำเลยจึงยังไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นคืน แม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะมีหนังสือขออายัดเงินค่าหุ้นดังกล่าวไว้ก่อนจำเลยถึงแก่ความตาย ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีมีอำนาจกระทำได้ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยยังไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าหุ้นคืน สหกรณ์ฯจึงไม่ต้องส่งเงินค่าหุ้นของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดี ครั้นเมื่อจำเลยถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2555 อันทำให้สมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลง ทำให้เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินค่าหุ้นคืนนั้น เงินค่าหุ้นนี้จะต้องส่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัดหรือไม่ ต้องพิจารณาจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่เกิดสิทธิที่จำเลยจะได้รับเงินค่าหุ้นดังกล่าวคืน ในขณะนั้นพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 42 วรรคสองซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2553 มีผลใช้บังคับแล้ว โดยบัญญัติไว้ว่า "ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลงห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้และให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น" จากบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวซึ่งมีผลใช้บังคับขณะสมาชิกภาพของจำเลยสิ้นสุดลง สหกรณ์ฯ ย่อมใช้สิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่จำเลยมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่จำเลยผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ฯ ได้ เมื่อหักกลบลบหนี้กันแล้วไม่มีเงินค่าหุ้นของจำเลยเหลืออยู่ สหกรณ์ฯ จึงไม่ต้องส่งเงินให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามที่อายัด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์มานั้น ชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น อนึ่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์โดยไม่ได้สั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาเห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและศาลฎีกาให้เป็นพับ
|