เพิกถอนนิติกรรมโฉนดห้ามโอน 10 ปี เพิกถอนนิติกรรมโฉนดห้ามโอน 10 ปี สามีเป็นพยาน ให้สัตยาบัน สามี-ภริยามีสินสมรสเป็นที่ดิน 1 แปลง ภริยามีชื่อในโฉนดเพียงผู้เดียว และเป็นโฉนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ภริยานำที่ดินไปขายให้จำเลยที่ 2 สามีลงชื่อเป็นพยานในการซื้อขายด้วยและส่งมอบการครองครองให้จำเลยที่ 2 ทำประโยชน์แล้วต่อมาขายที่ดินให้จำเลยที่ 3 สามีมาฟ้องให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย อ้างว่าทำนิติกรรมไปโดยไม่ได้รับความยินยอมของสามี และอยู่ระหว่างห้ามโอนตามกฎหมายศาลชั้นต้นยกฟ้อง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สามีลงชื่อเป็นพยานในการซื้อขายที่ดินถือได้ว่าสามีรู้เห็นยินยอมและให้สัตยาบันการทำสัญญาการซื้อขายด้วย จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 การกระทำไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้รับยกเว้น สามีจึงไม่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6977/2551 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน ระหว่างอยู่กินด้วยกันมีสินสมรสคือที่ดินโฉนดเลขที่ 25783 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 จำเลยที่ 1 นำที่ดินดังกล่าวไปทำนิติกรรมขายแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 100,000 บาท ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาประเมินโดยปราศจากความยินยอมของโจทก์ จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมซื้อขายที่ดินโดยไม่สุจริต เนื่องจากจำเลยที่ 2 ทราบว่าโจทก์ไม่ให้ความยินยอมและจำเลยที่ 2 ไม่ได้เสียค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยที่ 2 โอนที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 3 โดยไม่สุจริตและไม่เสียค่าตอบแทน ขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนจำเลยทั้งสาม 1,000 บาท ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า “...ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยากัน ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 25783 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 1 งาน 85 ตารางวา เป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ 1 แต่มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์เพียงลำพัง โดยที่ดินพิพาทมีข้อกำหนดของทางราชการห้ามโอนภายใน 10 ปี นับแต่วันออกโฉนดปี 2530 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับที่ 2 และระหว่างจำเลยที่ 2 กับที่ 3 ได้หรือไม่ เห็นว่า ฝ่ายจำเลยมีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับสิบตำรวจตรีไกรศรสามีของจำเลยที่ 2 มาเบิกความยืนยันว่า ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2531 จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทให้แก่สิบตำรวจตรีไกรศร ในราคา 20,000 บาท มีโจทก์เองลงลายมือชื่อเป็นพยานไว้ด้วย แต่ยังไม่สามารถโอนแก่กันได้เพราะอยู่ในระหว่างห้ามโอนภายใน 10 ปี โดยมีหนังสือสัญญาการซื้อขายดังกล่าวมาแสดง กับทั้งยังมีนายคำมูลและนายศรีเนียม มาเบิกความรับรองด้วยว่า นายคำมูลและนายศรีเนียมเป็นพยานรู้เห็นและต่างลงลายมือชื่อเป็นพยานในหนังสือสัญญาการซื้อขายดังกล่าวไว้จริง โจทก์เพียงนำสืบโต้เถียงว่า โจทก์ไม่เคยขายที่ดินแก่ผู้ใดแต่โจทก์กลับเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามยอมรับว่า สามีของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากโจทก์ จึงเจือสมด้วยข้อนำสืบของฝ่ายจำเลยตามคำเบิกความของสิบตำรวจตรีไกรศรที่ว่า ได้ชำระค่าที่ดินแก่โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 20,000 บาท ในวันทำสัญญา โจทก์และจำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดิน และสิบตำรวจตรีไกรศรสามีของจำเลยที่ 2 เข้าไปครอบครองทำประโยชน์ตัดฟันต้นมะม่วงที่โจทก์ปลูกออกไปทั้งหมดแล้วจ้างรถไถมาปรับที่ปลูกไม้สักในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่ปี 2531 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 และโจทก์ได้ขายที่ดินพิพาทแก่สิบตำรวจตรีไกรศรสามีของจำเลยที่ 2 แล้วตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2531 แต่ยังมิได้จดทะเบียนโอนแก่กัน เพราะอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ซึ่งเป็นอุปสรรคในขณะนั้นดังเห็นได้จากสัญญาข้อ 3 ที่ว่า ถ้าผู้ขาย (จำเลยที่ 1) ผิดสัญญาตามที่ตกลงกัน ผู้ขายยินยอมคืนเงินให้แก่ผู้ซื้อ (สิบตำรวจตรีไกรศร) พร้อมดอกเบี้ย และยินยอมให้ยึดถือโฉนดดังกล่าวเป็นประกันด้วย ดังนั้น การทำนิติกรรมโอนขายที่ดินระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ตามเจตจำนงของสิบตำรวจตรีไกรศรเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2547 จึงสืบเนื่องมาจากจำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินให้แก่สิบตำรวจตรีไกรศร โดยโจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาและโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าที่ดินไปแล้ว แม้โจทก์จะอ้างว่าสัญญาดังกล่าวทำขึ้นภายในกำหนดเวลาห้ามโอน จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย แต่ก็เป็นคนละส่วนกับการที่โจทก์ลงชื่อเป็นพยานในสัญญาซึ่งถือได้ว่าโจทก์รู้เห็นยินยอมและให้สัตยาบันการทำสัญญาการซื้อขายในปี 2531 อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 เข้าใจโดยสุจริต เมื่อมีการจดทะเบียนโอนในครั้งหลังว่าโจทก์เคยยินยอมในการขายมาตั้งแต่แรกแล้วประกอบกับขณะเวลานั้นโจทก์เองก็ประสบอุบัติเหตุรถชนไม่ค่อยสบาย กรณีจึงถือได้ว่าเป็นการกระทำไปโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ย่อมได้รับยกเว้นให้โจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนในกรณีนี้เสียแล้ว โจทก์ก็ไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 ด้วย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริตหรือไม่ ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น” พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ
|