-ปรึกษากฎหมาย ทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258
-ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th
-ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ (5) ID line :
(1) @leenont หรือ (2) @leenont1 หรือ (3) @peesirilaw หรือ (4) peesirilaw (5) leenont
-Line Official Account : เพิ่มเพื่อนด้วย QR CODE
เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลย
ที่ดินและตึกเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ โอนขายที่ดินและตึกให้แก่จำเลยในขณะที่เป็นเลขานุการและเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์ มีผู้ปลอมลายมือชื่อของมารดาโจทก์ลงในหนังสือให้ความยินยอม นิติกรรมการซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฟ้องโจทก์ไม่ระบุการกระทำของจำเลยว่าได้รับโอนมาไม่สุจริตและเป็นผู้ปลอมหรือร่วมรู้เห็นในการปลอมลายมือชื่อมารดาด้วยจึงฟังเป็นยุติว่าทำนิติกรรมการซื้อขายจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 946/2536
คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติได้แล้วไม่จำเป็นต้องสืบพยาน แล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้ โจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่า ที่ดินและตึกพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่จำเลยเป็นเลขานุการและเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์ และมีผู้ปลอมลายมือชื่อของมารดาโจทก์ลงในหนังสือให้ความยินยอม นิติกรรมการซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่าได้รับโอนมาไม่สุจริต ที่บรรยายว่าจำเลยเป็นเลขานุการและภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์นั้น หาใช่ว่าจำเลยจะได้กระทำโดยไม่สุจริตไม่ และที่บรรยายว่าลายมือชื่อของมารดาโจทก์ปลอมนั้นก็มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือร่วมรู้เห็นในการปลอมด้วย ดังนี้เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทมาโดยสุจริต ตามคำฟ้องและคำให้การจึงฟังเป็นยุติได้แล้วว่า ขณะที่ทำนิติกรรมการซื้อขายนั้นจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1480 คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลย ให้จำเลยแบ่งทรัพย์มรดก 3 ใน 8 ส่วนของที่ดินและตึกแถวให้แก่นายวีกิจ โจทก์และนางบุษบา คิดเป็นเงิน 750,000 บาท ถ้าตกลงแบ่งกันไม่ได้ ให้ประมูลกันเองหรือขายทอดตลาดเอาเงินมาแบ่งให้ตามส่วน
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดตามฟ้องพร้อมบ้านจากบิดาโจทก์โดยสุจริต ได้ชำระค่าตอบแทนและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอน ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาประการแรกว่า คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลยโดยเห็นว่า ตามคำฟ้องและคำให้การข้อเท็จจริงพอฟังเป็นยุติได้แล้ว ไม่จำเป็นต้องสืบพยานโจทก์จำเลยต่อไป แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 24 ไม่ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณาตามมาตรา 227 โจทก์จึงมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งให้งดสืบพยานดังกล่าวได้ โดยไม่จำเป็นต้องโต้แย้งคำสั่งนั้นไว้
ปัญหาต่อไปมีว่า ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องชอบหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินและตึกพิพาทแต่เพียงว่าที่ดินและตึกพิพาทเป็นสินสมรสของบิดามารดาโจทก์ ระหว่างบิดามารดาโจทก์อยู่กินร่วมกัน บิดาโจทก์ได้จดทะเบียนโอนขายที่ดินและตึกพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่จำเลยเป็นเลขานุการและเป็นภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์ และมีผู้ปลอมลายมือชื่อของมารดาโจทก์ลงในหนังสือให้ความยินยอม นิติกรรมการซื้อขายจึงไม่สมบูรณ์และไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยมิได้บรรยายถึงการกระทำของจำเลยว่าได้รับโอนที่ดินและตึกพิพาทมาไม่สุจริต ที่บรรยายว่าจำเลยเป็นเลขานุการและภริยาไม่ชอบด้วยกฎหมายของบิดาโจทก์นั้นเป็นการบรรยายเกี่ยวกับสภาพสถานะของจำเลย หาใช่ว่าจำเลยจะได้กระทำโดยไม่สุจริตไม่ และที่บรรยายว่าลายมือชื่อของมารดาโจทก์ในหนังสือให้ความยินยอมปลอมนั้นก็มิได้กล่าวอ้างว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมหรือร่วมรู้เห็นในการปลอมด้วย ดังนี้ เมื่อจำเลยให้การว่าจำเลยซื้อที่ดินและตึกพิพาทมาโดยสุจริตตามคำฟ้องและคำให้การจึงฟังเป็นยุติได้แล้วว่า ขณะที่ทำนิติกรรมการซื้อขายนั้นจำเลยซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้กระทำการโดยสุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 คดีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาต่อไป ที่ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องนั้นชอบแล้ว
พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
( บุญธรรม อยู่พุก - เจริญ นิลเอสงฆ์ - เพ็ง เพ็งนิติ )
ป.พ.พ.
มาตรา 6 ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บุคคลทุกคนกระทำการโดยสุจริต
มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตามมาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียวหรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น
ป.วิ.พ.
มาตรา 24 เมื่อคู่ความฝ่ายใดยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นอ้าง ซึ่งถ้าหากได้วินิจฉัยให้เป็นคุณแก่ฝ่ายนั้นแล้ว จะไม่ต้องมีการพิจารณาคดีต่อไปอีก หรือไม่ต้องพิจารณาประเด็นสำคัญแห่งคดีบางข้อ หรือถึงแม้จะดำเนินการพิจารณาประเด็นข้อสำคัญแห่งคดีไป ก็ไม่ทำให้ได้ความชัดขึ้นอีกแล้ว เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอ ให้ศาลมีอำนาจที่จะมีคำสั่งให้มีผลว่าก่อนดำเนินการพิจารณาต่อไป ศาลจะได้พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายเช่นว่านี้แล้ววินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้น
ถ้าศาลเห็นว่าคำวินิจฉัยชี้ขาดเช่นว่านี้จะทำให้คดีเสร็จไปได้ทั้งเรื่องหรือเฉพาะแต่ประเด็นแห่งคดีบางข้อ ศาลจะวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาที่กล่าวแล้วและพิพากษาคดีเรื่องนั้นหรือเฉพาะแต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องไปโดยคำพิพากษาหรือคำสั่งฉบับเดียวกันก็ได้
คำสั่งใด ๆ ของศาลที่ได้ออกตามมาตรานี้ ให้อุทธรณ์และฎีกาได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 227, 228 และ 247
มาตรา 25 ถ้าคู่ความฝ่ายใดยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้องให้ศาลสั่งกำหนดวิธีการอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในภาค 4 เพื่อคุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างการพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตหรือยกคำขอนั้นเสียโดยไม่ชักช้า
ถ้าในเวลาที่ยื่นคำขอนั้นศาลจะชี้ขาดคดีได้อยู่แล้ว ศาลจะวินิจฉัยคำขอนั้นในคำพิพากษา หรือในคำสั่งชี้ขาดคดีก็ได้
มาตรา 26 ถ้าศาลได้ตั้งข้อถาม หรือออกคำสั่งหรือชี้ขาดเกี่ยวด้วยการดำเนินคดีเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีเรื่องนั้นคัดค้านข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดนั้นว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย ก่อนที่ศาลจะดำเนินคดีต่อไป ให้ศาลจดข้อถามหรือคำสั่งหรือคำชี้ขาดที่ถูกคัดค้านและสภาพแห่งการคัดค้านลงไว้ในรายงาน แต่ส่วนเหตุผลที่ผู้คัดค้านยกขึ้นอ้างอิงนั้นให้ศาลใช้ดุลพินิจจดลงไว้ในรายงาน หรือกำหนดให้คู่ความฝ่ายที่คัดค้านยื่นคำแถลงเป็นหนังสือเพื่อรวมไว้ในสำนวน
มาตรา 226 ก่อนศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลนั้นได้มีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228
(1) ห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นในระหว่างพิจารณา
(2) ถ้าคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งคำสั่งใด ให้ศาลจดข้อโต้แย้งนั้นลงไว้ในรายงานคู่ความที่โต้แย้งชอบที่จะอุทธรณ์คำสั่งนั้นได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ศาลได้มีคำพิพากษา หรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้นเป็นต้นไป
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ไม่ว่าศาลจะได้มีคำสั่งให้รับคำฟ้องไว้แล้วหรือไม่ ให้ถือว่าคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งของศาลนับตั้งแต่มีการยื่นคำฟ้องต่อศาลนอกจากที่ระบุไว้ในมาตรา 227 และ 228 เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
มาตรา 227 คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ไม่รับหรือให้คืนคำคู่ความตามมาตรา 18หรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา 24 ซึ่งทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่องนั้น มิให้ถือว่าเป็นคำสั่งในระหว่างพิจารณา และให้อยู่ภายในข้อบังคับของการอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดี
ปรึกษากฎหมาย กับ ทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร. 0859604258