สำนักงานกฎหมายพีศิริ ทนายความ ตั้งอยู่เลขที่ 34/159 หมู่ 8 ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี 11120 ติดต่อทนายความ 085-9604258 สำนักงาน โทร. 02 -984 4258 สำหรับแผนที่การเดินทาง กรุณาคลิ๊กที่ "ที่ตั้งสำนักงาน" ด้านบนสุด ทนายความ ทนาย สำนักงานกฎหมาย สำนักงานทนายความ ปรึกษากฎหมายกับทนายความลีนนท์ โทรเลย ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ รับสมัครผู้ช่วยทนายความ เสมียนทนายความ ฝึกงาน

|
สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้สินสมรสและติดตามเอาคืน -ปรึกษากฎหมาย ติดต่อทนายความลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ โทร.085-9604258 -ติดต่อทางอีเมล : leenont0859604258@yahoo.co.th -ปรึกษากฎหมายผ่านทางไลน์ ไอดีไลน์ ID line : leenont สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้สินสมรสและติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ สามีทำพินัยกรรมยกสินสมรสให้บุตรไม่ใช่การจัดการสินสมรสที่ต้องฟ้องเพิกถอนภายในอายุความ 1 ปี สินสมรสเป็นที่ดิน 2 แปลง มีชื่อสามีเป็นเจ้าของที่ดิน ในระหว่างเป็นสามีภริยากัน สามีได้จดทะเบียนการให้ที่ดิน 2 แปลงโดยเสน่หาแก่บุตรคนที่ 1 ซึ่งเกิดจากภริยาเดิมโดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา ในปีต่อมา ได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ในปีต่อมาสามีถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายสามีทำพินัยกรรมยกบ้านอันเป็นสินสมรสให้บุตรคนที่ 2 การยกให้ที่ดินสองแปลงโดยเสน่หาเป็นการจัดการสินสมรสที่ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส แต่สามีทำนิติกรรมไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากคู่สมรส ทำให้ภริยาเกิดสิทธิที่จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ดังกล่าวได้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่รู้ แต่ไม่เกิน 10 ปี นับแต่ทำนิติกรรม ถ้าไม่ได้ฟ้องภายในกำหนดดังกล่าวที่ดินจึงยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้รับโอนเพราะเป็นการครอบครองในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ สำหรับการทำพินัยกรรมนั้น ผู้ทำพินัยกรรมไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินซึ่งเป็นสินสมรสในส่วนของคู่สมรสให้แก่บุคคลอื่นได้ เมื่อสามีทำพินัยกรรมยกสินสมรสส่วนที่เป็นของภริยาจึงไม่มีผลผูกพัน ภริยาในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์มีสิทธิติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้โดยไม่มีกำหนดเวลาโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3544/2542 โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเรียน โจทก์กับนายเรียนได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา ต่อมานายเรียนได้ถึงแก่ความตายโดยยังมิได้ทำการแบ่งสินสมรส จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุตรและเป็นทายาทของนายเรียนเป็นผู้ครอบครองทรัพย์สินดังกล่าวไว้ทั้งหมด จำเลยทั้งสองจึงมีหน้าที่แบ่งปันสินสมรสให้โจทก์ครึ่งหนึ่ง โจทก์ได้ทวงถามแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันนำสินสมรสตามฟ้องมาแบ่งให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งหากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงแทนเจตนาของจำเลยทั้งสองหากไม่สามารถแบ่งปันทรัพย์สินได้ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง และหากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองคนละครึ่ง หากไม่สามารถนำสินสมรสมาแบ่งให้แก่โจทก์ได้ดังกล่าวข้างต้นให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระราคาทรัพย์ให้แก่โจทก์เป็นเงิน 2,061,275 บาท จำเลยทั้งสองให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงตามฟ้อง นายเรียนได้ยกให้จำเลยทั้งสองแล้วในระหว่างโจทก์กับนายเรียนยังเป็นสามีภริยากัน โดยโจทก์ทราบดีแล้ว ถือว่าได้ให้สัตยาบันแล้ว สำหรับบ้านเลขที่ 889 นั้น นายเรียนได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2536 โจทก์ทราบดีและเคยคัดค้านแต่ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนดอายุความ ถือว่าโจทก์ไม่ติดใจคัดค้านและให้สัตยาบันแล้วราคาทรัพย์สินคิดตามเป็นจริง ที่ดินทั้งสองแปลงซึ่งปัจจุบันออกเป็นโฉนดที่ดินแล้วทั้งสองแปลงหักส่วนที่จำเลยที่ 2 โอนขายให้แก่บุคคลภายนอกไป 14 ไร่ คงเหลือเพียง 107 ไร่ 3 งาน 42 ตารางวา มีราคารวม 1,073,420 บาท บ้านมีราคา 500,000 บาท จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียง 786,710 บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 แบ่งบ้านเลขที่ 889 หมู่ 1 ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมเฟอร์นิเจอร์ประเภทตู้ โต๊ะรับแขก อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบ้านให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งและให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 2680 และ 2681 ตำบลเข้าไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรีให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่ง หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 หากไม่สามารถแบ่งทรัพย์สินดังกล่าวได้ ให้เอาทรัพย์สินดังกล่าวออกประมูลระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และกับจำเลยที่ 2 หากไม่สามารถประมูลกันระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองได้ให้เอาทรัพย์ดังกล่าวออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งปันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 และกับจำเลยที่ 2 คนละครึ่ง คำขออื่นให้ยก จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์กับนายเรียน อยู่กินเป็นสามีภริยากันมาก่อน ต่อมาจึงได้จดทะเบียนสมรสกันในวันที่ 27 พฤษภาคม 2526 แต่ได้จดทะเบียนหย่าเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 ที่ดินพิพาท 2 แปลง ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 6 และ 7 ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี และบ้านเลขที่ 889 หมู่ 1 ถนนพัฒนา ตำบลพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียน แต่มีชื่อนายเรียนเป็นเจ้าของที่ดินและเจ้าบ้านเพียงผู้เดียว ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2534 นายเรียนได้จดทะเบียนการให้ที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง โดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียนโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ แล้วจำเลยที่ 2 ได้แบ่งขายที่ดินบางส่วนของที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่นายพิศิษฐ์ ในวันที่ 9 เมษายน 2535 โดยให้ถือกรรมสิทธิ์รวม ต่อมาทางราชการได้ออกโฉนดที่ดินสำหรับที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 26080 และ 26081 ครั้นถึงวันที่ 11 ตุลาคม 2536 นายเรียนถึงแก่ความตาย ก่อนถึงแก่ความตายนายเรียนได้ทำพินัยกรรมฝ่ายเมืองยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรอันเกิดจากภริยาเดิมของนายเรียน และจำเลยที่ 1 ได้รับโอนมรดกมาเป็นของจำเลยที่ 1 แล้วที่โจทก์ฎีกาว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 2 แบ่งที่ดินพิพาททั้ง 2 แปลง ให้แก่โจทก์ครึ่งหนึ่งโดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ที่ดินระหว่างนายเรียนกับจำเลยที่ 2 ก่อนนั้น เห็นว่า การที่นายเรียนให้ที่ดินทั้ง 2 แปลงโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 เป็นกรณีที่นายเรียนจัดการสินสมรสโดยปกติต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476(5) และ 1479 เมื่อนายเรียนให้ที่ดินพพาททั้ง 2 แปลง แก่จำเลยที่ 2 โดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ดังกล่าวภายในกำหนดเวลา 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เรื่องที่นายเรียนจดทะเบียนการให้ที่ดินแก่จำเลยที่ 2 หรือภายใน 10 ปี นับแต่วันจดทะเบียนการให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนการให้ ที่ดินทั้ง 2 แปลง จึงยังเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 2 ครอบครองที่ดินทั้ง 2 แปลงมิใช่เป็นการครอบครองในฐานะทายาทของนายเรียนที่จะต้องมีหน้าที่แบ่งสินสมรสให้โจทก์แทนนายเรียน แต่จำเลยที่ 2 ครอบครองในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เนื่องจากได้รับยกให้จากนายเรียน จำเลยที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่แบ่งสินสมรสของนายเรียนให้โจทก์ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์มิได้ฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียนที่ยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 ภายใน 1 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้วนั้น เห็นว่า แม้บ้านเลขที่ 889 จะเป็นสินสมรสระหว่างนายเรียนกับโจทก์แต่ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ให้แก่จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการจัดการสินสมรสที่นายเรียนจะต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 วรรคหนึ่ง นายเรียนจึงมีสิทธิทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ที่นายเรียนมีกรรมสิทธิ์อยู่ครึ่งหนึ่งให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ตามมาตรา 1476 วรรคสองแต่นายเรียนไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกกรรมสิทธิ์ในบ้านเลขที่ 889 อีกครึ่งหนึ่งของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 ได้ เพราะบ้านพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ครึ่งหนึ่ง ที่นายเรียนทำพินัยกรรมยกบ้านเลขที่ 889 ทั้งหลังให้แก่จำเลยที่ 1 จึงไม่มีผลผูกพันส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์ส่วนที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ โดยไม่มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิเว้นแต่จะถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ถูกจำกัดด้วยอายุความได้สิทธิ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความโจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขอแบ่งบ้านเลขที่ 889 อันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับนายเรียนได้ โดยไม่ต้องฟ้องขอให้เพิกถอนพินัยกรรมของนายเรียน พิพากษายืน มาตรา 1479 การใดที่สามีหรือภริยากระทำ ซึ่งต้องรับความยินยอม ร่วมกัน และถ้าการนั้นมีกฎหมายบัญญัติให้ทำเป็นหนังสือหรือให้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ความยินยอมนั้นต้องทำเป็นหนังสือ มาตรา 1480 การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกัน หรือต้องได้รับ ความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งตาม มาตรา 1476 ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือ ในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่า ตอบแทน มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอยและจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และมีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย *** ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาทนายความ ลีนนท์ พงษ์ศิริสุวรรณ 085-9604258 ** http://www.lawyerleenont.com *** |