เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแม้ไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์ สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก บันทึกท้ายทะเบียนหย่า ในเรื่องการให้โดยเสน่หาที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์นั้นกฎหมายบังคับไว้ว่าต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานที่ดินซึ่งการให้โดยเสน่หานั้นประกอบด้วยคู่สัญญาสองฝ่ายก็คือผู้ให้และผู้รับ แต่สำหรับกรณีที่คู่สัญญาตกลงกันเพื่อให้ทรัพย์สินสิ่งใดแก่บุคคลภายนอกนั้นย่อมมีผลทันทีที่บุคคลภายนอกแสดงเจตนารับเอาประโยชน์จากสัญญานั้น และการให้ในกรณีหลังนี้ไม่อยู่ในบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ดังเช่นกรณีการให้ที่มีคู่สัญญาสองฝ่ายข้างต้น ซึ่งกฎหมายเรียกว่า สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก การให้มีผลสมบูรณ์ ถ้าคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตามอีกฝ่ายหนึ่งมีอำนาจฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาได้ ในคดีนี้สามีภริยาทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าว่าสามีภริยายอมยกที่ดินให้บุตร ต่อมาสามีไม่ปฏิบัติตามอ้างว่าข้อตกลงการให้ไม่สมบูรณ์เพราะไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกแม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 38/2537 การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 521 จะต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่ง หรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินหลังทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์และจำเลย นอกจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย คือ แทนที่โจทก์และจำเลยจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกันเอง โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ตกเป็นของผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากัน สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์ระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 525 แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย เมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญา โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์และจำเลยเป็นสามีภรรยากัน มีบุตรด้วยกัน 2 คน คือเด็กหญิงผกามาศและเด็กชายประธาน ต่อมาเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2530 โจทก์จำเลยได้จดทะเบียนหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากัน ในการตกลงหย่าขาดจากกันดังกล่าว โจทก์และจำเลยทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าตกลงมอบทรัพย์สินให้แก่บุตรทั้งสองคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เลขที่ 6457 ตำบลกังแอน อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 80 ตารางวา บ้านเลขที่ 299 หมู่ที่ 8 ซึ่งปลูกอยู่บนที่ดินดังกล่าวและที่ดินสวนตั้งอยู่หมู่ที่ 5 ตำบลนาบัว อำเภอเมืองสุรินทร์จังหวัดสุรินทร์ หลังจากตกลงกันแล้ว จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงโจทก์บอกกล่าวแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนโอนบ้านและที่ดินตามฟ้องให้แก่เด็กหญิงผกามาศ และเด็กชายประธาน ภายใน 7 วัน หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาและให้ขับไล่จำเลยออกจากบ้านและที่ดินดังกล่าว จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยได้จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกหลังทะเบียนการหย่าจริง ในเรื่องทรัพย์สินที่หามาได้ร่วมกันก็ได้แบ่งกันตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 2 แล้วส่วนบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 เป็น ทรัพย์สินของจำเลย จำเลยได้อาศัยทำกินตลอดมาเพื่อหาเงินส่งไปอุปการะบุตรของจำเลย การที่โจทก์ในฐานะผู้ปกครองหรือผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตรผู้เยาว์หรือในฐานะผู้จัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ให้จำเลยส่งมอบทรัพย์สินของจำเลยให้บุตรตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 เป็นการไม่ชอบและไม่เป็นธรรมแก่จำเลย การให้ตามบันทึกหลังทะเบียนการหย่าข้อ 3 ไม่ได้จดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การให้ไม่สมบูรณ์ ไม่มีผลผูกพันจำเลย อนึ่ง บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่ได้ระบุเวลาไว้ โจทก์ไม่บอกกล่าวก่อน จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และคดีโจทก์ขาดอายุความ เพราะเป็นการฟ้องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทตามฟ้องให้แก่เด็กหญิงผกามาศ และเด็กชายประธาน และให้จำเลยออกไปจากบ้านและที่ดินตามฟ้อง หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การยกให้โดยเสน่หาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ที่จะตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่จะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 521 จะต้องมีคู่สัญญา 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งคือผู้ให้โอนทรัพย์สินของตนให้โดยเสน่หาแก่บุคคลอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้รับ แต่บันทึกข้อตกลงแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์และจำเลยตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 หรือเอกสารหมาย จ.3 นอกจากโจทก์และจำเลยเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้ว ยังมีบุตรผู้เยาว์ทั้งสองเข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาระหว่างโจทก์และจำเลยด้วย คือแทนที่โจทก์และจำเลยจะแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาด้วยกันเอง โจทก์และจำเลยกลับยอมให้ที่ดินจำนวน 2 แปลง และบ้านอีก 1 หลัง ตกเป็นของบุตรผู้เยาว์ทั้งสองหลังจากโจทก์และจำเลยจดทะเบียนหย่ากันสัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภรรยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 มิใช่สัญญาให้จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 525 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่จำเลยฎีกากล่าวคือ แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย ดังนั้นเมื่อจำเลยผิดสัญญา โจทก์ในฐานะคู่สัญญาย่อมมีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกันได้ มาตรา 525 การให้ทรัพย์สินซึ่งถ้าจะซื้อขายกันจะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่นั้น ท่านว่าย่อมสมบูรณ์ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ในกรณีเช่นนี้การให้ย่อมเป็นอันสมบูรณ์โดยมิพักต้องส่งมอบ มาตรา 374 ถ้าคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกไซร้ ท่านว่าบุคคลภายนอกมีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ในกรณีดั่งกล่าวมาในวรรคต้นนั้นสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น มาตรา 1532 เมื่อหย่ากันแล้วให้จัดการแบ่งทรัพย์สินของสามีภริยา ข้อตกลงก่อตั้งภาระจำยอม สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ผู้ตายมีเจตนาให้ที่ดินเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง จำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่าผู้ตายกับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินให้จำเลยว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินอีกแปลงและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5791/2556 ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรม ท. มีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรมทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของ ท. แล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ โจทก์ฟ้องขอให้มีคำพิพากษาว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 147 เลขที่ดิน 285 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของจำเลย และให้จำเลยจดทะเบียนเป็นภาระจำยอมให้แก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ดำเนินการ ขอถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและรั้วกำแพงเปิดทางภาระจำยอมกว้าง 3 เมตร ยาวตลอดแนวเขตที่ดินโฉนดเลขที่ 60975, 60976 และ 60977 ในที่ดินแปลงดังกล่าวภายใน 30 วัน นับแต่วันมีคำพิพากษา โดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่ายเอง หากจำเลยเพิกเฉย ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 147 เลขที่ดิน 285 ตำบลราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นทางภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 เลขที่ดิน 739 ตำบลราษฎร์บูรณะ อำเภอราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ และให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 147 ของจำเลย ซึ่งเป็นทางตกอยู่ในภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ จำเลยฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์ได้ภาระจำยอมในที่ดินพิพาทเนื่องจากมีข้อตกลงระหว่างนางสาวทองปลิวกับจำเลยอันมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกก่อนจะยกที่ดินพิพาทให้จำเลยหรือไม่ เห็นว่า การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง ดังนั้น การที่นางสาวทองปลิวขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินแปลงใหญ่โฉนดเลขที่ 147 เป็นแปลงย่อย 3 แปลง และคงเหลือที่ดินพิพาทไว้เป็นแปลงคงในโฉนดเลขที่ 147 โดยในการรังวัดแบ่งแยกนางสาวทองปลิวยอมขยายความกว้างของทางจาก 1.5 เมตร เป็น 3 เมตร ตามที่นายทองหล่อขอขยาย และปรากฏว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 60976 ไม่มีทางออกต้องใช้ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นแปลงคงในโฉนดเลขที่ 147 ดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างที่นางสาวทองปลิวยังมีชีวิตอยู่ได้สร้างตึกสามชั้น ซึ่งไม่สามารถออกสู่ถนนประชาอุทิศได้โดยตรง แต่ต้องผ่านที่ดินพิพาท ประกอบกับจำเลยและนางสุมาลี พยานจำเลยได้เบิกความยอมรับว่า พยานทั้งสองอยู่ร่วมกับนางสาวทองปลิวในการรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรมดังกล่าว ขณะที่มีการรังวัดแบ่งแยกที่ดินนั้นนางสาวทองปลิวมีเจตนาให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นถนนเพื่อประโยชน์ของเจ้าของที่ดินที่เหลืออีก 3 แปลง จึงเจือสมกับนางนำสืบของโจทก์ให้มีน้ำหนักรับฟังได้ว่า ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินและทำพินัยกรรมดังกล่าว นางสาวทองปลิวมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และตามพฤติการณ์ที่นางสาวทองปลิวพักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตายและจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งได้รับทราบเจตนาดังกล่าวของนางสาวทองปลิวแล้ว ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่านางสาวทองปลิวกับจำเลยได้มีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 60977 ตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาทอันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้น อันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมนั้นไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ได้ทำให้ข้อตกลงดังกล่าวเป็นโมฆะหรือเสียเปล่าแต่อย่างใด ยังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ สัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก-บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2553 ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับ ว. ที่ยกบ้านพิพาทให้แก่ผู้ร้องและบุตรของจำเลยและ ว. อีก 3 คน เป็นผู้รับประโยชน์ จึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภารยนอกตามาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์ แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาไม่บริบูรณ์ตามมาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามมาตรา 1300 แม้จำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทแต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ มิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องสิ้นไป การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตามมาตรา 1359 ผู้ร้องจึงร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 158,437 บาท พร้อมดอกเบี้ยและค่าฤชาธรรมเนียมแก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา ต่อมาโจทก์ขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดบ้านเลขที่ 16/4 ซึ่งเป็นบ้านพิพาทเพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 จำเลยกับนายวัง ซึ่งเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย ได้จดทะเบียนหย่าและทำบันทึกยกบ้านเลขที่ 16/4 ให้แก่ผู้ร้อง นางสาวเทพีหรือพีชานิกาหรือมาริสา นางสาวเทพา และนายสมชาย ซึ่งเป็นบุตร ผู้ร้องกับพวกมิได้รู้เห็นหรือเกี่ยวข้องกับหนี้ตามคำพิพากษา ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด โจทก์ให้การว่า บ้านพิพาทที่โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดเป็นของจำเลย บันทึกท้ายทะเบียนการหย่ามิได้ระบุรายละเอียดของบ้านที่ยกให้ และมิได้ระบุชื่อนายสมชายเป็นผู้รับการให้ ทั้งการยกให้มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตกเป็นโมฆะ นางสาวเทพีหรือพีชานิกาหรือมาริสา นางสาวเทพา และนายสมชายมิได้ร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด หากฟังว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของบ้านพิพาทก็ต้องปล่อยทรัพย์ที่ยึดเพียงหนึ่งในสี่ส่วนเท่านั้น ขอให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ปล่อยบ้านพิพาท และคืนเงินประกันการชำระค่าสินไหมทดแทน จำนวน 3,000 บาท แก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้องโดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องขัดทรัพย์ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 3,000 บาท ผู้ร้องฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าจำเลยกับนายวังเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ ผู้ร้อง นางสาวเทพีหรือพีชานิกาหรือมาริสา นางสาวเทพาและนายสมชายเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 จำเลยกับนายวังจดทะเบียนหย่าและทำบันทึกยกบ้านพิพาทที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ในคดีนี้ให้แก่บุตรทั้ง 4 คน ตามทะเบียนการหย่าและบันทึกเอกสารหมาย ร.5 และ ร.6 แต่การยกให้ซึ่งบ้านพิพาทมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2545 โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยนำพนักงานบังคับคดีไปยึดบ้านพิพาทเพื่อนำออกขายทอดตลาด คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องว่ามีเหตุที่จะสั่งเพิกถอนการยึดบ้านพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับนายวัง นอกจากจำเลยกับนายวังจะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและนายวังอีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 การที่ผู้ร้องเข้าถือเอาประโยชน์ตามข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์อย่างหนึ่ง แม้จะมิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ทำให้การได้มาดังกล่าวย่อมไม่บริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่บ้านพิพาทตั้งอยู่บนที่สาธารณประโยชน์และผู้ร้องได้เข้าครอบครองบ้านพิพาทแล้วเพียงแต่ผู้ร้องยังมิได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถือได้ว่าผู้ร้องเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1300 แม้จะได้ความว่าจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านพิพาทขณะที่เจ้าพนักงานบังคับคดีทำการยึดทรัพย์ก็ตาม แต่จำเลยเป็นมารดาของผู้ร้องจึงย่อมอยู่อาศัยกับบุตรของตนได้ ข้อเท็จจริงดังกล่าวมิได้ทำให้สิทธิของผู้ร้องดังกล่าวสิ้นไปแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านพิพาทตกเป็นสิทธิของผู้ร้องร่วมกับบุตรของจำเลยอีก 3 คน และในคำร้องขัดทรัพย์ผู้ร้องได้ระบุข้อเท็จจริงดังกล่าวไว้ด้วย การยื่นคำร้องขัดทรัพย์ในกรณีนี้จึงถือได้ว่าเป็นกรณีที่ผู้ร้องซึ่งเป็นเจ้าของรวมคนหนึ่งใช้สิทธิอันเกิดแต่กรรมสิทธิ์ครอบไปถึงทรัพย์สินทั้งหมดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1359 ในกรณีเช่นนี้ผู้ร้องจึงสามารถร้องขอให้เพิกถอนการยึดได้ โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาจะบังคับคดีให้กระทบถึงสิทธิของผู้ร้องดังกล่าวไม่ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาให้ยกคำร้องนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้ร้องฟังขึ้น" พิพากษากลับโดยให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ
|