ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




สัญญาค้ำประกันไม่ต้องได้รับความยินยอมคู่สมรส

ทนายความ ฟ้องหย่า lawyer

สัญญาค้ำประกันไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1476 ไม่ต้องได้รับความยินยอมคู่สมรส

จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินนายเสริมศักดิ์ทำสัญญาค้ำประกันส่วนจำเลยที่ 2 เป็นคู่สมรสของนายเสริมศักดิ์ทำหนังสือให้ความยินยอมทำนิติกรรมทุกประเภท ก่อนฟ้องคดีนายเสริมศักดิ์ถึงแก่ความตาย ตามมาตรา 1490 (4) ได้แก่หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแต่การให้ความยินยอมของคู่สมรสในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสตามมาตรา 1476 ที่กำหนดให้เฉพาะการจัดการสินสมรสที่มีความสำคัญตามมาตรา 1476 (1) ถึง (8) คดีนี้การที่นายเสริมศักดิ์ผู้ตายทำสัญญาค้ำประกันให้จำเลยที่ 1 ไม่อยู่ในบังคับมาตรา 1476 และ ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส แต่ที่จำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่นายเสริมศักดิ์สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติมาตรา 1490 (4) ไม่ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม การที่นายเสริมศักดิ์ ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ภาระการค้ำประกันยังไม่ระงับสิ้นไป เมื่อยังมีภาระการค้ำประกันอยู่เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8820/2561

การที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมของ ส. สามี ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ส. ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่ ส. สามีไปทำนิติกรรม จึงมิใช่เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตาม ป.พ.พ. มาตรา 1490 (4)

(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 25/2561)

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระหนี้ 49,189,983.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี ของต้นเงิน 27,653,937.59 บาท นับจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งห้าไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองรวมตลอดทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งห้าออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ

จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 49,189,983.64 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,653,937.59 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้ยึดทรัพย์จำนองรวมตลอดทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดทรัพย์จำนองรวมตลอดทั้งยึดหรืออายัดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 กับทรัพย์มรดกของนายเสริมศักดิ์หรือพชรออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ฎีกา

ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ศาลฎีกาให้ศาลชั้นต้นสอบถามเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 ว่าประสงค์จะเข้าว่าคดีแทนจำเลยที่ 1 และที่ 4 หรือไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 4 แถลงว่าไม่ประสงค์จะเข้าว่าคดีแทน ศาลฎีกาจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 4 จากสารบบความศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และเดิมบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีกับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร จำนวนเงิน 20,000,000 บาท และ 10,000,000 บาท ตามลำดับ มีนายเสริมศักดิ์หรือพชร และจำเลยที่ 3 เข้าค้ำประกันการชำระหนี้โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ในการนี้จำเลยที่ 1 นายเสริมศักดิ์หรือพชรและจำเลยที่ 3 จำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันการชำระหนี้ไว้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) หลังจากกู้เงินไปแล้วจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระหนี้ให้เป็นไปตามสัญญาและขอทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ 2 ครั้ง ครั้งแรกวันที่ 21 มกราคม 2543 จำเลยที่ 1 นายเสริมศักดิ์หรือพชรและจำเลยที่ 3 ทำสัญญาตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) โดยยอมรับว่า มีภาระหนี้เงินกู้ 17,383,636.42 บาท ดอกเบี้ยคงค้าง 3,067,140.22 บาท และหนี้เบิกเงินเกินบัญชี 10,518,523.49 บาท ครั้งที่สองวันที่ 30 สิงหาคม 2545 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยยอมรับว่าเป็นหนี้ตามมูลหนี้เงินกู้ ต้นเงิน 17,383,636.42 บาท ดอกเบี้ย 8,141,440.74 บาท และมูลหนี้เบิกเงินเกินบัญชี ต้นเงิน 10,570,301.17 บาท ดอกเบี้ย 1,928,891.67 บาท แต่จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผ่อนชำระหนี้ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ต่อมาโจทก์ได้รับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพรวมทั้งสิทธิเรียกร้องในหนี้คดีนี้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยทั้งห้า โดยมีการตรวจสอบรายการทะเบียนราษฎร ปรากฏว่า นายเสริมศักดิ์หรือพชร ผู้ค้ำประกัน ถึงแก่ความตายไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 2 ทั้งในฐานะส่วนตัวและในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ทำให้นายเสริมศักดิ์หรือพชร ผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยเพิ่มจำนวนต้นเงินที่ต้องชำระและเปลี่ยนแปลงวิธีการชำระหนี้ รวมทั้งขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ออกไป เมื่อนายเสริมศักดิ์หรือพชรมิได้ลงชื่อเป็นผู้ค้ำประกันในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้จึงหลุดพ้นจากความรับผิด นั้น เห็นว่า การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำเลยที่ 1 ยอมรับว่ามีภาระหนี้ตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี ฉบับลงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 โดยมีภาระหนี้ในส่วนของต้นเงิน 27,953,937.59 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับต้นเงิน 27,902,159.91 บาท ที่ทำสัญญาตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ครั้งแรก กับมีดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่หนี้ค้างชำระ การที่บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ยินยอมผ่อนปรนเงื่อนไขการชำระหนี้ โดยลดอัตราดอกเบี้ยและขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ เป็นการให้โอกาสและวิธีการชำระหนี้ที่เป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนแปลงในสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ มูลหนี้เดิมตามสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีจึงมิได้ระงับสิ้นไป ส่วนกรณีการผ่อนเวลาหรือการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการชำระหนี้ สัญญาค้ำประกัน ข้อ 3 ระบุว่า ถ้าธนาคารผ่อนเวลาการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งหนี้ไม่ว่ากรณีใด ๆ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยตามวิธีของธนาคารโดยแจ้งหรือมิได้แจ้งให้ผู้ค้ำประกันทราบก็ตาม ให้ถือว่าผู้ค้ำประกันตกลงยินยอมด้วยทุกครั้ง และจะไม่ยกเอาการให้ผ่อนเวลาหรือการเปลี่ยนแปลงเช่นว่านั้นเป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกันเป็นอันขาด ดังนั้น การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้หาทำให้นายเสริมศักดิ์หรือพชร ผู้ค้ำประกัน หลุดพ้นจากความรับผิดไม่ แม้ต่อมานายเสริมศักดิ์หรือพชรถึงแก่ความตาย แต่สัญญาค้ำประกันก็ยังคงมีผลผูกพันบังคับได้ เมื่อหนี้ของจำเลยที่ 1 ตามมูลหนี้ที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรเข้าค้ำประกันมิได้ระงับสิ้นไป เพียงแต่มีข้อผ่อนปรนในการชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร ย่อมไม่อาจยกเอาการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งหนี้มาเป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกันได้ ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชรไม่หลุดพ้นจากการชำระหนี้ จึงชอบด้วยเหตุผลแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสซึ่งได้ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือไม่ ในข้อนี้จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 2 ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเสริมศักดิ์หรือพชร ให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมทุกประเภทก็ตาม แต่เมื่อนายเสริมศักดิ์หรือพชรไม่ได้ลงชื่อในฐานะผู้ค้ำประกันในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเป็นผลให้นายเสริมศักดิ์หรือพชรพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 2 ย่อมพ้นความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย นั้น เห็นว่า แม้ตามฎีกาของจำเลยที่ 2 คงโต้แย้งแต่เพียงนายเสริมศักดิ์หรือพชรไม่ได้ลงชื่อในการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เท่านั้น ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ในฐานะคู่สมรสโดยชอบด้วยกฎหมายของนายเสริมศักดิ์หรือพชรให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม ถือว่าหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรเป็นผู้ก่อขึ้นในระหว่างสมรส จำเลยที่ 2 ร่วมรับรู้และให้สัตยาบันแล้วจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรส ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (4) จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 2 มิได้โต้แย้งคำวินิจฉัยดังกล่าวก็ตาม แต่การวินิจฉัยว่าหนี้สินใดเป็นหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรสหรือไม่ มีผลกระทบกระเทือนต่อทรัพย์สินของคู่สมรสที่จะถูกบังคับชำระหนี้ ซึ่งหากคู่สมรสอีกฝ่ายไม่ได้มีความรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ก็ไม่ชอบที่จะถูกบังคับชำระหนี้เกินไปกว่าความรับผิดตามกฎหมาย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยในเรื่องหนี้ร่วมระหว่างคู่สมรสตามบทบัญญัติมาตรา 1490 จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ฎีกาเกี่ยวกับข้อนี้ก็ตาม แต่ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2540 ซึ่งจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินและสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี นายเสริมศักดิ์หรือพชรทำสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนองเพื่อเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ทำหนังสือให้ความยินยอมทำนิติกรรมทุกประเภท การที่โจทก์กล่าวอ้างว่าการให้ความยินยอมดังกล่าวเป็นผลให้จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดในหนี้อันคู่สมรสได้ก่อขึ้นเกี่ยวกับการจัดการสินสมรส เท่ากับถือว่า กรณีเช่นนี้อยู่ในบังคับมาตรา 1490 ที่บัญญัติว่า หนี้ที่สามีภริยาเป็นลูกหนี้ร่วมกันนั้นให้รวมถึงหนี้ที่สามีหรือภริยาก่อให้เกิดขึ้นในระหว่างสมรสดังต่อไปนี้...(4) หนี้ที่สามีหรือภริยาก่อขึ้นเพื่อประโยชน์ตนฝ่ายเดียว แต่อีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบัน ในข้อนี้เมื่อพิจารณาว่า การให้ความยินยอมของคู่สมรสในการทำนิติกรรมเกี่ยวกับการจัดการสินสมรสอยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 1476 ที่กำหนดให้เฉพาะการจัดการสินสมรสที่มีความสำคัญตามมาตรา 1476 (1) ถึง (8) ต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสอีกฝ่าย สำหรับการทำนิติกรรมคดีนี้ในส่วนที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรทำสัญญาจำนองต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 1476 (1) แต่การที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 หาได้อยู่ในบังคับมาตรา 1476 หรือเป็นการจัดการสินสมรสโดยตรงไม่ กรณีจะเป็นหนี้ร่วมต่อเมื่อจำเลยที่ 2 คู่สมรสได้ให้สัตยาบันตามมาตรา 1490 (4) ซึ่งการที่จำเลยที่ 2 คู่สมรสให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม เป็นการให้สัตยาบันของคู่สมรสตามมาตรา 1490 (4) หรือไม่ นั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า ในส่วนที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไม่ใช่นิติกรรมที่จำต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรส เมื่อจำเลยที่ 2 ให้ความยินยอมไว้เป็นการทั่วไป จึงเป็นการแสดงเจตนารับรู้และไม่คัดค้านที่นายเสริมศักดิ์หรือพชร สามีไปทำนิติกรรม หาใช่เป็นการให้สัตยาบันตามนัยของบทบัญญัติมาตรา 1490 (4) ไม่ เนื่องจากไม่มีข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์แต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 รับรองการที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรก่อหนี้ขึ้นแล้วตามมูลหนี้ที่มีการทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 คงปรากฏเฉพาะการที่จำเลยที่ 2 รับรู้ถึงการเข้าทำสัญญาค้ำประกันของนายเสริมศักดิ์หรือพชรเท่านั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้สัตยาบันการก่อหนี้ตามสัญญาค้ำประกันที่คู่สมรสได้กระทำไป จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามที่โจทก์กล่าวอ้าง ส่วนการที่จำเลยที่ 2 มีฐานะเป็นทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร การที่นายเสริมศักดิ์หรือพชร ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตาย ภาระการค้ำประกันที่นายเสริมศักดิ์หรือพชรผูกพันตนเพื่อชำระหนี้เมื่อจำเลยที่ 1 ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ยังไม่ระงับสิ้นไป และถึงแม้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด โดยผู้ค้ำประกันหรือทายาทของผู้ค้ำประกันไม่ได้ร่วมลงชื่อในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ก็ตาม แต่การทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นเพียงข้อตกลงผ่อนปรนในการชำระหนี้ หาใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่อันเป็นผลให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปไม่ อีกทั้งตามสัญญาค้ำประกันไม่ให้ผู้ค้ำประกันยกเอาการที่เจ้าหนี้ผ่อนเวลาหรือให้เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการชำระหนี้ เป็นเหตุปลดเปลื้องความรับผิดของผู้ค้ำประกัน เมื่อยังมีภาระการค้ำประกันอยู่เช่นนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร ผู้ค้ำประกัน ดังที่ได้วินิจฉัยไว้ก่อนหน้านี้แล้ว แต่จำเลยที่ 2 คู่สมรสซึ่งให้ความยินยอมในการทำนิติกรรม ไม่ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในฐานะส่วนตัวแต่อย่างใด ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ตามบทบัญญัติมาตรา 1490 (4) มานั้น เป็นการไม่ชอบ จึงต้องแก้ไขความรับผิดของจำเลยที่ 2 ในส่วนนี้

ปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาในข้อนี้ว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร มอบให้พนักงานเป็นตัวแทนธนาคารเข้าร่วมพิธีศพนายเสริมศักดิ์หรือพชร ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รู้ถึงความตายของนายเสริมศักดิ์หรือพชรแล้ว โจทก์ผู้รับโอนหนี้จึงควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดกเช่นกัน เมื่อโจทก์รับโอนมาทั้งสิทธิและหน้าที่ การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อล่วงพ้นหนึ่งปีนับแต่วันที่โจทก์ควรรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ นั้น เห็นว่า การฟ้องคดีของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้ของนายเสริมศักดิ์หรือพชร เจ้ามรดก อยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม ซึ่งบัญญัติว่า มิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้าหนี้ได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก และวรรคสี่ซึ่งบัญญัติว่า สิทธิเรียกร้องที่ว่ามาในวรรคก่อน ๆ นั้น มิให้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนดสิบปีนับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 โดยโจทก์นำสืบว่า โจทก์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องในหนี้คดีนี้จากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2547 ครั้นวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์ตรวจสอบรายการทะเบียนราษฎร พบว่า นายเสริมศักดิ์หรือนายพชร ถึงแก่ความตาย และจำเลยที่ 2 เป็นคู่สมรสของนายเสริมศักดิ์หรือพชร ส่วนจำเลยที่ 2 อ้างตนเองเบิกความว่านายเสริมศักดิ์หรือพชรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2543 ก่อนมีการโอนขายมูลหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และโจทก์ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) รู้ถึงความตายโดยนำพวงหรีดมาร่วมงานศพ แต่ธนาคารไม่ได้ฟ้องทายาทภายใน 1 ปี นับแต่นายเสริมศักดิ์หรือพชรถึงแก่ความตาย เมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยที่ 2 ดังกล่าว คงได้ความเพียงว่า ในงานศพของนายเสริมศักดิ์หรือพชรมีพวงหรีดจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร เท่านั้น ไม่มีข้อเท็จจริงที่จำเลยที่ 2 เบิกความให้ปรากฏว่า บุคคลใดเป็นตัวแทนของธนาคารมาร่วมงานศพ ทั้งไม่ได้ความว่าธนาคารให้พนักงานผู้ปฏิบัติงานด้านสินเชื่อดำเนินการสอบถามหรือตรวจสอบหรือให้มีการยืนยันเรื่องนายเสริมศักดิ์หรือพชรถึงแก่ความตาย โดยเฉพาะไม่มีเอกสารหลักฐานใดที่แสดงว่าทายาทแจ้งเรื่องความตายของนายเสริมศักดิ์หรือพชรแก่ธนาคาร ประกอบกับในการทำสัญญาตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2543 นายเสริมศักดิ์หรือพชรมาร่วมลงลายมือชื่อไว้ในสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แสดงให้เห็นว่า ในช่วงเวลานั้นธนาคารกับนายเสริมศักดิ์หรือพชรยังติดต่อกันเป็นปกติ เมื่อปรากฏว่าต่อมานายเสริมศักดิ์หรือพชรถึงแก่ความตาย ลำพังแต่การกล่าวอ้างว่า มีพวงหรีดของธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาสมุทรสาคร ส่งมาในงานศพของนายเสริมศักดิ์หรือพชร แต่ไม่มีรายละเอียดของผู้ที่มาร่วมงานศพและไม่มีพฤติการณ์อื่นใดสนับสนุนอีก ย่อมขาดน้ำหนักที่จะยืนยันให้เชื่อได้ว่า ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าหนี้เดิม รู้หรือควรรู้ถึงความตายของนายเสริมศักดิ์หรือพชร เจ้ามรดก ส่วนฝ่ายโจทก์นั้น บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด ซึ่งรับโอนสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) และโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับโอนกิจการและสินทรัพย์ด้อยคุณภาพจากบริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด อีกทอดหนึ่ง ไม่ได้มีการติดต่อทวงถามหนี้จากนายเสริมศักดิ์หรือนายพชรหรือตรวจสอบรายการทะเบียนราษฎรมาก่อนการตรวจสอบข้อมูลในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 บริษัทบริหารสินทรัพย์เพชรบุรี จำกัด และโจทก์เป็นเพียงบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่เข้ามารับโอนสิทธิเรียกร้องจากเจ้าหนี้เดิม ไม่มีเหตุอันใดที่จะแสดงว่า มีการรับรู้หรือควรรู้ถึงความตายของนายเสริมศักดิ์หรือนายพชรมาก่อน จนเมื่อโจทก์ขอคัดแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรของนายเสริมศักดิ์หรือนายพชรเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2549 โจทก์จึงเพิ่งรู้ถึงความตายของเจ้ามรดก หลังจากนั้นโจทก์นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2549 ซึ่งยังไม่ล่วงพ้นกำหนดระยะเวลาตามบทบัญญัติมาตรา 1754 ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดชำระหนี้ให้แก่โจทก์นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น เมื่อวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าจำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดในฐานะส่วนตัว หากแต่ต้องร่วมรับผิดในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชรเพียงฐานะเดียว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงฟังขึ้นเป็นบางส่วน สำหรับจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 3 ผู้ค้ำประกันอีกราย ได้ทำหนังสือให้ความยินยอมในการทำนิติกรรมเช่นเดียวกับจำเลยที่ 2 เมื่อเป็นดังที่วินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 2 ไว้แล้ว กรณีของจำเลยที่ 5 ก็ต้องเป็นเช่นเดียวกัน แม้จำเลยที่ 5 ไม่ได้ฎีกา แต่หากให้จำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นคู่สมรสของจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมย่อมเป็นผลให้จำเลยที่ 5 รับผิดโดยไม่ชอบ อันเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงต้องแก้ไขคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 โดยให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 5 เสียด้วย

อนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองให้จำเลยทั้งห้าชำระดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องตามยอดหนี้ที่โจทก์ขอมา นั้น เห็นว่า จำนวนดอกเบี้ยก่อนวันฟ้องรวม 21,536,046.05 บาท เป็นดอกเบี้ยค้างเดิมก่อนมีการทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ จำนวน 10,070,332.41 บาท รวมกับดอกเบี้ยหลังจากทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2545 จนถึงวันที่ 20 เมษายน 2549 (วันก่อนวันฟ้อง) ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นหลังจากวันทำสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้มีจำนวนสูงถึง 11,465,713.64 บาท ในช่วงเวลา 3 ปีเศษ ขณะที่ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ มีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยปกติในอัตราเอ็ม แอล อาร์ เท่านั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว อัตราดอกเบี้ยเอ็ม แอล อาร์ ไม่สูงนัก และบางช่วงต่ำกว่าอัตราร้อยละ 7 ต่อปี แต่ยอดดอกเบี้ยที่โจทก์ขอมาสูงถึง 11,465,713.64 บาท แสดงว่ามีการปรับอัตราดอกเบี้ยจากอัตราเอ็ม แอล อาร์ เป็นอัตราผิดนัด ซึ่งได้ความว่าอัตราดอกเบี้ยผิดนัดในบางช่วงกำหนดไว้สูงถึงร้อยละ 20 ต่อปี หรือร้อยละ 25 ต่อปี การคิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดเช่นนี้ ถือเป็นค่าเสียหายเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ ย่อมมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ หากเบี้ยปรับนั้นกำหนดไว้สูงเกินส่วน ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง แม้ฝ่ายจำเลยไม่ได้ฎีกาในข้อนี้มา แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของโจทก์ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยปกติในช่วงเวลานั้น ศาลย่อมมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเป็นจำนวนพอสมควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 383 วรรคหนึ่ง ในส่วนดอกเบี้ย 11,465,713.64 บาท ที่คิดนับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2545 ถึงก่อนวันฟ้อง จึงเห็นสมควรให้ลดจำนวนลงหนึ่งในสี่ คิดเป็นดอกเบี้ยที่ลดลง 2,866,428.41 บาท ดอกเบี้ยคงค้างที่เรียกมา 21,536,046.05 บาท เมื่อปรับลดแล้วจึงคงเหลือ 18,669,617.64 บาท ดังนั้น ยอดหนี้ 49,189,983.64 บาท จึงคงเหลือ 46,323,555.23 บาท เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชรและจำเลยที่ 3 การชำระหนี้ดังกล่าวจึงเป็นกรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ สมควรให้คำพิพากษามีผลถึงจำเลยที่ 3 ซึ่งมิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247 (เดิม) สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 เมื่อได้ความว่า จำเลยที่ 1 และที่ 4 ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด และหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระได้ในคดีล้มละลาย โจทก์จะขอรับชำระหนี้ได้ก็แต่โดยปฏิบัติตามวิธีการที่กล่าวไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 จึงไม่เป็นประโยชน์ที่จะพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 1 และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4 เช่นกรณีของจำเลยที่ 5

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทโดยธรรมของนายเสริมศักดิ์หรือพชร และจำเลยที่ 3 ร่วมกันชำระเงิน 46,323,555.23 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 27,653,937.59 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 เมษายน 2549) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ให้จำเลยที่ 2 รับผิดไม่เกินกว่าทรัพย์มรดกของนายเสริมศักดิ์หรือพชรที่ตกทอดได้แก่จำเลยที่ 2 ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 5 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ




ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา

เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแม้ไม่ได้จดทะเบียนก็มีผลสมบูรณ์
เพิกถอนนิติกรรมโฉนดห้ามโอน 10 ปี
การขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียว
การเปลี่ยนแปลงสัญญาก่อนสมรส
ขอเป็นผู้จัดการสินสมรสฝ่ายเดียว แยกสินสมรส
ได้สิทธิทำประโยชน์ที่ดินก่อนจดทะเบียนสมรส
เจ้าหนี้ยึดสินสมรสได้ทั้งหมดยกคำร้องขอกันส่วน
หญิงมีสามีมีอำนาจฟ้องปราศจากความยินยอมหรือไม่
สามีนำเงินสินสมรสออกให้กู้โดยไม่ได้รับความยินยอม
ไม่มีสิทธิทำพินัยกรรมยกสินสมรสเกินส่วนของตน
ที่ดินและรถยนต์ภริยากู้ยืมเงินมาซื้อและผ่อนด้วยเงินเดือน
หย่ากันให้แบ่งสินสมรส-ยังไม่ได้จดทะเบียนหย่าแบ่งสินสมรสไม่ได้
กรณีเป็นที่สงสัยให้สันนิษฐานว่าเป็นสินสมรส
บันทึกข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สิน
ทรัพย์สินที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยลำพังเป็นสินสมรส
ข้อตกลงให้ชำระดอกเบี้ยในระหว่างอายุสัญญาขายฝาก
การแบ่งทรัพย์สิน กรรมสิทธิ์รวม ทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้
สินส่วนตัวและสินสมรส ของขวัญเนื่องในการสมรสจึงถือว่าเป็นสินสมรส
ข้อตกลงหลังทะเบียนหย่าเรื่องยกทรัพย์สินให้ฝ่ายหญิง(ภรรยา)
กฎหมายคุ้มครองผู้รับโอนโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน (ม.1480)
ปลอมลายมือชื่อคู่สมรสในหนังสือให้ความยินยอมไปทำขายฝากที่ดิน
ตกลงให้สินส่วนตัวของฝ่ายหนึ่งตกเป็นสินสมรส
รางวัลที่ 1 สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัว
สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการให้สินสมรส อายุความ
ความยินยอมในการจัดการสินสมรสไม่ต้องทำต่อหน้าเจ้าพนักงาน
การจัดการสินสมรสเรื่องกู้ยืมเงินและให้กู้ยืมเงิน-ความยินยอมจากคู่สมรส
เหตุสมควรขอให้แยกสินสมรส สามีไม่นำเงินสินสมรสมาอุปการะเลี้ยงดูภริยา
สัญญาแบ่งทรัพย์สินในการหย่า-ตกลงให้ที่ดินแก่กันไม่ต้องจดทะเบียนบังคับได้
เพิกถอนนิติกรรมขายฝาก ซึ่งรับซื้อฝากโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน
รับซื้อฝากที่ดินสินสมรสโดยไม่สุจริต- เพิกถอนนิติกรรมขายฝากได้ทั้งแปลง
หนังสือหย่าและตกลงแบ่งทรัพย์สินเมื่อยังไม่มีการหย่าใช้บังคับไม่ได้
เพิกถอนนิติกรรมสัญญาซื้อขายที่ดินมีโฉนดระหว่างบิดาโจทก์กับจำเลย
ฟ้องขอให้บังคับจำเลยลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในโฉนดที่ดิน