

ได้สิทธิทำประโยชน์ที่ดินก่อนจดทะเบียนสมรส ได้สิทธิทำประโยชน์ที่ดินก่อนจดทะเบียนสมรส สามีได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินสองแปลง ขณะนั้นอยู่กินฉันสามีภรรยายังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย ถือได้ว่าสิทธิทำประโยชน์เป็นทรัพย์สินที่สามีภริยาได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมและมีสิทธิในที่ดินคนละครึ่งหนึ่ง แม้มีข้อกำหนดว่าที่ดินได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี คดีนี้ฟ้องให้จดทะเบียนใส่ชื่อภริยาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินครึ่งหนึ่งไม่ใช่กรณีเป็นการบังคับให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมจึงไม่ต้องห้าม คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9577/2552 ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยอยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์ โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียวก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกัน โจทก์ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง แม้ตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคสอง จะบัญญัติว่าที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ศาลก็พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งได้มิใช่เป็นการบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูล มอบให้จำเลยครอบครองทำประโยชน์เพื่อการเลี้ยงชีพ มิได้มอบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย ทั้งที่ดินดังกล่าวยังมิได้มีการออกโฉนด จึงไม่ใช่สินสมรส โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้กึ่งหนึ่งตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นพิพากษาให้แบ่งสินสมรสคือโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล พร้อมส่วนควบให้โจทก์ จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง ถ้าการแบ่งเช่นนี้ไม่อาจกระทำได้หรือจะเสียหายมากนักก็ให้ขายโดยการประมูลราคาระหว่างโจทก์จำเลย ให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,500 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ศาลอุทธรณ์ภาค 9 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์กึ่งหนึ่งในโฉนดที่ดินเลขที่ 4208 และเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล หากจำเลยไม่ปฏิบัติให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัว “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่คู่ความต่างมิได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า ตั้งแต่ปี 2508 โจทก์กับจำเลยมีบุตรด้วยกัน 1 คนแล้ว ครั้นเมื่อวันที่ 20มีนาคม 2510 จำเลยสมัครเข้าเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดสตูลและได้รับการจัดสรรที่ดินพิพาทจากนิคมดังกล่าวในวันเดียวกัน โดยที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินมือเปล่ายังมิได้มีการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์อย่างใด หลังจากนั้นวันที่ 6 กรกฎาคม 2510 โจทก์จำเลยจึงเพิ่งจดทะเบียนสมรสกัน ต่อมาปี 2548 โจทก์มายื่นฟ้องหย่าจำเลยเป็นคดีนี้และขอแบ่งสินสมรสซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาท ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์จำเลยได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน และจำเลยเพิ่งได้รับโฉนดที่ดิน ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นที่ดินปลูกบ้านอาศัยและที่ดินทำสวนยางพารา ตามโฉนดที่ดินดังกล่าวระบุข้อห้ามโอนตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 คือ ห้ามโอนให้แก่ผู้อื่นภายใน 5 ปี นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2548 และวันที่ 20 กรกฎาคม 2548 ตามลำดับ สำหรับบ้านไม้สองชั้นเลขที่ 70/4 และต้นยางพาราในที่ดินโฉนดเลขที่ 4212 ตำบลอุใดเจริญ อำเภอควนกาหลง จังหวัดสตูล ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ทรัพย์ดังกล่าวเป็นสินสมรส คดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทสองแปลงในนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้หรือไม่ และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้บังคับคดีโดยให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่งนั้นถูกต้องชอบแล้วหรือไม่ เห็นว่า แม้ขณะจำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลง จำเลยเพียงแต่อยู่กินฉันสามีภริยากับโจทก์โดยยังไม่ได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย แต่สิทธิดังกล่าวก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกันแล้ว จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และข้อเท็จจริงคดีนี้ฟังได้ว่าจำเลยสมัครเป็นสมาชิกนิคมสร้างตนเองเพียงผู้เดียว ก็เป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับนิคม เมื่อโจทก์กับจำเลยมีสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทร่วมกันโจทก์ก็ย่อมมีสิทธิในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกึ่งหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมเป็นข้อที่มิได้ว่ากล่าวมาในศาลชั้นต้นนั้น เห็นว่า หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง เมื่อตามคำฟ้องของโจทก์ขอให้แบ่งทรัพย์สินให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ เพียงใด ก็ครอบคลุมถึงประเด็นว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ด้วยแล้ว เพราะเป็นผลโดยตรงต่อการวินิจฉัยชี้ขาดตามข้อต่อสู้ของจำเลย ปัญหาที่ว่าที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นกรรมสิทธิ์รวมของโจทก์และจำเลยหรือไม่ จึงเป็นข้อที่ได้ว่ากล่าวมาแล้วในศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยข้อนี้จึงฟังไม่ขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคสอง บัญญัติว่า ที่ดินในนิคมซึ่งได้รับการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีภายในห้าปี ดังนี้ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ซึ่งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมมีสิทธิกระทำได้ ทั้งมิใช่การบังคับให้จำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์รวมให้โจทก์แต่อย่างใด กรณีจึงไม่ขัดกับบทบัญญัติดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 วินิจฉัยว่า จำเลยได้รับสิทธิในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่จำเลยอยู่กินกับโจทก์โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และพิพากษาให้ใส่ชื่อโจทก์ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินพิพาทนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นที่ดินที่จำเลยได้รับการจัดสรรจากรัฐให้เข้าไปทำกินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 ซึ่งข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยได้รับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวหลังจากที่ได้อยู่กินฉันสามีภรรยากับโจทก์แล้วประมาณ 2 ปี โดยโจทก์กับจำเลยเพิ่งมาจดทะเบียนสมรสกันเมื่อปี 2548 ขณะที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยหย่ากับโจทก์และแบ่งที่ดินให้โจทก์กึ่งหนึ่งนั้น ที่ดินพิพาทก็ยังเป็นที่ดินมือเปล่า แต่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยก็ได้ไปจดทะเบียนหย่ากัน และจำเลยเพิ่งได้รับโฉนดที่ดินแปลงพิพาท กรณีจึงมีปัญหาว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ เพราะโจทก์ฟ้องขอให้แบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่ง จำเลยให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส ซึ่งศาลชั้นต้นได้กำหนดประเด็นข้อพิพาทว่าทรัพย์สินตามฟ้องเป็นสินสมรสหรือไม่ และต่อมาได้พิพากษาให้แบ่งที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้โจทก์จำเลยฝ่ายละกึ่งหนึ่ง แต่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย และพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง ในประเด็นปัญหาที่ว่า ที่ดินที่รัฐจัดสรรให้ราษฎรตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพเป็นสินสมรสหรือไม่ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ คำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2540 ที่ดินมือเปล่าที่พิพาท ที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่งในฐานะเป็นสินสมรส เมื่อปรากฏว่าที่ดินแปลงดังกล่าวนิคมสร้างตนเองยังมิได้มีการออกโฉนดหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้แก่จำเลยและยังอยู่ในระหว่างที่กำลังปฏิบัติตามเงื่อนไขของการจะได้กรรมสิทธิ์ แต่ยังปฏิบัติไม่สำเร็จตามเงื่อนไข และตกอยู่ในบังคับแห่งพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 ที่บัญญัติว่า ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี และภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าวที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และถึงแม้หากจะได้มีหลักฐานกรรมสิทธิ์อยู่ ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้กรรมสิทธิ์เกินกว่าห้าปีแล้ว ดังนี้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทแก่โจทก์ครึ่งหนึ่งในฐานะเป็นสินสมรสได้ คำพิพากษาฎีกาที่ 2800/2543 และ 7034/2540 นี้ วินิจฉัยยืนยันในหลักการที่ว่า ที่ดินที่รัฐให้ราษฎรเข้าทำกินตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพยังเป็นที่ดินของรัฐอยู่ รัฐเพียงแต่จัดสรรให้ราษฎรเข้าไปทำกินเท่านั้น ไม่ได้มอบสิทธิครอบครองหรือมอบกรรมสิทธิ์ให้เด็ดขาดจนกว่ารัฐจะได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือออกโฉนดที่ดินให้และได้พ้นกำหนดห้ามโอนห้าปีแล้ว ซึ่งก็เดินตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 704/2508 ที่วินิจฉัยว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดเป็นที่ดินซึ่งกรมประชาสงเคราะห์จัดสรรให้สมาชิกนิคมสร้างตนเองเข้าทำกินตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2485 แต่ก็ยังไม่ได้ออกหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่สมาชิกรายใดเลย จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เมื่อที่ดินเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จึงไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 285 (2) เช่นเดียวกับคดีที่หมายเหตุนี้ ระหว่างพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น โจทก์กับจำเลยได้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว หลังจากนั้นจำเลยก็ได้รับโฉนดที่ดินแปลงที่พิพาทมา กรณีก็ยังถือไม่ได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา เมื่อไม่ใช่สินสมรสโจทก์ก็ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยแบ่งที่ดินพิพาทแก่โจทก์กึ่งหนึ่งได้ แต่เหตุที่คดีนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมและพิพากษาให้จำเลยจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง อันต่างจากคำขอท้ายฟ้องของโจทก์นั้น ผู้หมายเหตุเห็นว่าคำวินิจฉัยตามคำพิพากษาฎีกานี้ไม่ได้กลับหลักเดิมข้างต้น แต่เป็นเพราะคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้หย่าและแบ่งทรัพย์สินกึ่งหนึ่งโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างอยู่กินฉันสามีภรรยา แม้จำเลยจะให้การต่อสู้ว่าที่ดินพิพาทมิใช่สินสมรสก็ตาม ศาลฎีกาได้ปรับใช้ข้อกฎหมายให้เกิดความเป็นธรรมแก่คู่ความ โดยเฉพาะโจทก์ผู้ต้องเสียเปรียบในมูลหนี้เพราะหากแปลความและวินิจฉัยตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 3034/2540 และ 2800/2543 โดยเคร่งครัดแล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้รับสิทธิใดๆ ในที่ดินพิพาทเลยซึ่งผู้หมายเหตุเห็นพ้องด้วยกับผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลฎีกาดังกล่าว แม้ว่าในแง่ทางวิชาการแล้วเหตุแห่งผลนั้นออกจะขัดกันในตัวก็ตาม ด้วยความเคารพต่อคำพิพากษาฎีกาดังกล่าว ข้อที่ผู้หมายเหตุเห็นว่าจะขัดกันในตัวนั้น เป็นประเด็นที่ศาลฎีกาได้ปรับข้อเท็จจริงเข้ากับข้อกฎหมายที่ว่า สิทธิที่จำเลยได้รับในการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าว ถือว่าเป็นทรัพย์สินที่จำเลยกับโจทก์ได้มาขณะอยู่กินด้วยกัน จึงเป็นกรรมสิทธิ์รวมระหว่างโจทก์กับจำเลย กรณีจึงมีปัญหาว่า เมื่อถือว่าสิทธิดังกล่าวเป็นทรัพย์สิน แต่ทรัพย์สินประเภทนี้จะนำบทบัญญัติว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ตาม ป.พ.พ. บรรพ 4 หมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวม ตามมาตรา 1356 ถึง 1366 มาใช้บังคับได้หรือไม่ เพราะเมื่อดูเจตนารมณ์แล้วหมวด 3 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์รวมอยู่ใต้ลักษณะ 2 ว่าด้วยกรรมสิทธิ์ ดังนั้นคำว่าทรัพย์สินตามมาตรา 1356 น่าจะใช้เฉพาะกับทรัพย์สินที่เป็นวัตถุมีรูปร่างเท่านั้น เพราะลักษณะสำคัญประการหนึ่งของกรรมสิทธิ์คือต้องมีทรัพย์เป็นวัตถุแห่งสิทธิ แต่สิทธิที่จำเลยได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทนี้ มิใช่ทรัพย์สินประเภทที่เป็นวัตถุมีรูปร่าง ทั้งข้อเท็จจริงในคดีนี้ก็ได้ความว่าขณะฟ้องจำเลยยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทเลย คำพิพากษาฎีกาที่หมายเหตุนี้ได้แปลความขยายความคำว่าทรัพย์สินตามมาตรา 1356 รวมไปถึงทรัพย์สินอันเป็นทรัพย์สินประเภทสิทธิเหนือพื้นที่ดินซึ่งเป็นวัตถุไม่มีรูปร่างด้วย นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ คำพิพากษาศาลฎีกาที่หมายเหตุนี้ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ แต่ที่วินิจฉัยว่า "หากข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรส โจทก์และจำเลยย่อมมีกรรมสิทธิ์คนละกึ่งหนึ่ง..." นั้น ก็เพื่อนำไปเป็นเหตุในการปรับและกำหนดประเด็นข้อพิพาทใหม่ว่าที่ดินพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์รวมหรือไม่ เพราะหากวินิจฉัยตามประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้เดิมว่า ที่พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ ผลแห่งคำวินิจฉัยก็คงจะต้องเป็นไปตามแนวคำพิพากษาฎีกาที่ 7034/2540 และ 2800/2543 ข้างต้น แต่หากปรับเปลี่ยนประเด็นข้อพิพาทใหม่ แนวคำวินิจฉัยนี้ก็จะทำให้เกิดความเป็นธรรมแก่โจทก์และเป็นบรรทัดฐานในคดีอื่นๆ ที่มีข้อเท็จจริงทำนองนี้ได้เช่นกัน จึงนับว่าเป็นความชาญฉลาดและมองการณ์ไกลของศาลฎีกาในการแก้ไขปัญหาของประชาชนและธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรม แม้ผลที่ตามมาหลังจากนี้ การให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของโจทก์หลังจากที่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมและถือครองร่วมกับจำเลยจนพ้นกำหนดเงื่อนไขห้ามโอนห้าปีแล้ว โจทก์จะต้องฟ้องร้องบังคับคดีเอากับจำเลยเป็นคดีเรื่องใหม่หากจำเลยไม่ยอมแบ่งให้ก็ตาม ก็ไม่เป็นเรื่องยากสำหรับโจทก์ในการนำสืบ เพราะประเด็นต่างๆ ได้ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาฎีกานี้ ซึ่งต่างจากแนวคำวินิจฉัยเดิมที่ถือว่า ที่ดินพิพาทไม่ใช่สินสมรส โจทก์ย่อมไม่อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้อีก เพราะเป็นฟ้องซ้ำ |