

ฟ้องขับไล่และกรรมสิทธิ์ที่ดิน, การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ, ปรึกษากฎหมายทางแชทไลน์ • คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567 • ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 • ฟ้องขับไล่และกรรมสิทธิ์ที่ดิน • ข้อผูกพันตามคำพิพากษาศาล • คดีแพ่งเกี่ยวกับที่ดิน • การดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ • สิทธิฟ้องขับไล่ตามคำพิพากษาศาล สรุปย่อ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567 สรุปได้ว่า โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 5 รวมทั้งชดใช้ค่าเสียหาย 3,000 บาทต่อเดือนจนกว่าจะย้ายออกไป โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามคำฟ้อง จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้ศาลชั้นต้นสืบพยานใหม่ในประเด็นการขับไล่และค่าเสียหาย โจทก์และจำเลยที่ 1 ยื่นฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาว่า คดีเดิมที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยถือว่าผูกพันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 โดยไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้สืบพยานใหม่โดยเกินไปจากคำฟ้อง ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนคำขอของโจทก์เกี่ยวกับการคืนค่าขึ้นศาล ศาลฎีกาเห็นว่าถูกต้องแล้วที่ไม่คืนเพราะเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ศาลฎีกาพิพากษากลับให้ยึดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 และ มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มีความสำคัญดังนี้: 1.มาตรา 144 ระบุว่าศาลจะวินิจฉัยคำฟ้องหรือข้อกล่าวหาเฉพาะเรื่องที่คู่ความได้อ้างไว้เท่านั้น ซึ่งหมายความว่าศาลไม่สามารถพิพากษาหรือออกคำสั่งในประเด็นอื่นที่ไม่ได้ระบุในคำฟ้องหรือคำให้การจำเลย หากมีการพิจารณาเกินจากประเด็นที่ระบุไว้ จะถือว่าผิดจากกระบวนการที่ถูกต้องตามกฎหมาย 2.มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ระบุถึงการผูกพันคำพิพากษาที่ถึงที่สุดว่า คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่มีผลถึงที่สุดจะผูกพันคู่ความและบุคคลที่เกี่ยวข้อง มิให้มีการโต้แย้งหรือนำเรื่องเดียวกันมาฟ้องอีกในประเด็นเดียวกัน กล่าวคือ หากศาลได้ตัดสินชี้ขาดถึงที่สุดแล้วในเรื่องหนึ่ง คู่ความจะไม่สามารถนำประเด็นดังกล่าวมาถกเถียงหรือฟ้องร้องซ้ำได้อีก ในกรณีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567 การใช้มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ทำให้โจทก์สามารถฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 5 ได้โดยไม่ถือเป็นการฟ้องซ้ำ เนื่องจากคำพิพากษาศาลฎีกาที่ผ่านมากำหนดไว้ว่า ที่ดินและบ้านเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ และจำเลยไม่สามารถโต้แย้งกรรมสิทธิ์ได้อีก คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 637/2567 คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 เนื้อที่ 138 ตารางวา ที่พิพาท และบ้านเลขที่ 5 ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ซึ่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 เป็นของโจทก์ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในคดีนี้อีก แต่คดีนี้มิได้เสร็จไปเพียงประเด็นข้างต้น หากยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 กับเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพียงใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิดโดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกไป ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์พิพาท
****โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบบ้านในสภาพเรียบร้อยคืนแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป *จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง *ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย โจทก์ยื่นคำร้องขอให้หมายเรียกนาวาโทเสน่ห์ ทายาทของจำเลยที่ 1 เข้าเป็นคู่ความแทน กับยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งนาวาโทเสน่ห์เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 และอนุญาตให้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2 จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกจากสารบบความ และโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ส่วนเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่ได้ให้การต่อสู้ โจทก์ไม่ประสงค์สืบพยาน ขอให้ศาลวินิจฉัยตามสมควร *จำเลยที่ 1 ยื่นคำคัดค้านขอให้พิจารณาสืบพยานต่อไปแล้วพิพากษาตามรูปคดี แต่หากศาลชั้นต้นเห็นว่า คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ผูกพันโจทก์ คดีของโจทก์ก็เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น *ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 *ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 และให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 3,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 21 สิงหาคม 2558) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไป กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 15,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ *จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ *ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 เฉพาะประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไม้ชั้นเดียวหลังที่มีการปลูกสร้างต่อเติมติดกับบ้านเลขที่ 5 หลังเดิม และเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้หรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ *โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา *ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า นางเพ็ชรอารี มารดาของโจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2518 เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินเลขที่ 4570 เนื้อที่ 2 งาน 20.2 ตารางวา ให้แก่นางเพ็ชรอารีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2538 นางเพ็ชรอารีให้ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ โดยสัญญาให้ระบุว่าสิ่งปลูกสร้างในที่ดินคือ บ้านตึกสองชั้น 1 หลัง ขนาด 8 x 10 เมตร ปลูกสร้างมา 10 ปี บ้านไม้สองชั้น ขนาด 8 x 10 เมตร ปลูกสร้างมา 20 ปี ส่วนบ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลัง เป็นของจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2557 จำเลยที่ 1 ฟ้องโจทก์กับพวกผู้รับจำนองที่ดินว่า จำเลยที่ 1 และนายน้อย สามีของจำเลยที่ 1 ปลูกสร้างและต่อเติมบ้านเลขที่ 5 เป็นบ้านไม้ยกพื้นสูงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 อาศัยอยู่กับครอบครัว หลังจากนางเพ็ชรอารีนำที่ดินไปขอออกโฉนดที่ดินจำเลยที่ 1 ขอให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์รวม แต่นางเพ็ชรอารีเพิกเฉย จำเลยที่ 1 ครอบครองที่ดินเนื้อที่ 138 ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ 5 ด้วยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของจนได้กรรมสิทธิ์ เมื่อปี 2557 จำเลยที่ 1 ต้องการปรับปรุงบ้านเลขที่ 5 แต่โจทก์ห้ามและติดป้ายประกาศว่าที่ดินเป็นของโจทก์ ใช้ประตูเหล็กปิดกั้นทางเข้าออกบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 5/1 ที่ปลูกสร้างบนที่ดินแปลงอื่นของจำเลยที่ 1 สร้างโรงเรือนเก็บของและสร้างโรงรถกั้นหน้าบ้านของจำเลยที่ 1 ด้านติดทะเล ทำให้จำเลยที่ 1 เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 เนื้อที่ 138 ตารางวา ที่พิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 กับให้โจทก์รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไป ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 7 และศาลฎีกาพิพากษายืน โดยศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 ที่ปลูกอยู่บนที่ดินเป็นของโจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ระหว่างพิจารณาเจ้าพนักงานที่ดินจัดทำแผนที่ที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 และสิ่งปลูกสร้าง *มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อแรกตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า คดีของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยคดี โดยไม่จำต้องนำสำนวนมาผูกรวม จึงให้ยกคำร้องเสีย ส่วนที่คดีนี้กับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น มีประเด็นข้อพิพาทอย่างเดียวกันว่า โจทก์หรือจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 เนื้อที่ 138 ตารางวา ที่พิพาท และบ้านเลขที่ 5 ที่ปลูกอยู่บนที่ดิน ซึ่งคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยวินิจฉัยชี้ขาดว่า ที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 เป็นของโจทก์ ผลของคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับดังกล่าวย่อมผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง มิให้โต้เถียงกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทในคดีนี้อีก แต่คดีนี้มิได้เสร็จไปเพียงประเด็นข้างต้น หากยังมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 กับเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่ เพียงใด การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องอ้างว่าจำเลยที่ 1 ทำละเมิด โดยมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 กับให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการฟ้องเพื่อขอให้บังคับตามสิทธิของโจทก์ที่เกิดจากผลของคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีก่อน โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นคดีนี้ได้ ไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น *มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในข้อต่อไปตามฎีกาของโจทก์ว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ชอบหรือไม่ เห็นว่า สภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์และคำขอบังคับ เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ไม่ยินยอมให้จำเลยที่ 1 อาศัยอยู่ในบ้านเลขที่ 5 ของโจทก์อีกต่อไป ขอให้ศาลบังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านเลขที่ 5 โดยจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้คดีว่า ที่ดินส่วนที่เป็นที่ตั้งของบ้านเลขที่ 5 และบ้านเลขที่ 5 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 กับนายน้อยที่ปลูกสร้างขึ้นเพื่ออยู่อาศัยตั้งแต่ก่อนที่จำเลยที่ 1 คลอดบุตรสาวคนโต โดยไม่เคยขออนุญาตหรือได้รับความยินยอมจากโจทก์และมารดาของโจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะให้การอีกว่า จำเลยที่ 1 และนายน้อยได้ซ่อมแซมต่อเติมบ้านเลขที่ 5 เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้น 2 หลัง ติดกัน ปัจจุบันซ่อมแซมปรับสภาพเป็นบ้านชั้นเดียว 1 หลัง ติดชายทะเล และคงสภาพเดิมเป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นอีก 1 หลัง ก็มิใช่เป็นการปฏิเสธข้ออ้างของโจทก์ เนื่องจากโจทก์กล่าวอ้างเฉพาะบ้านเลขที่ 5 มิได้กล่าวถึงบ้านไม้ชั้นเดียวหลังที่มีการต่อเติมติดกับบ้านเลขที่ 5 และมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากบ้านหลังดังกล่าวด้วย คดีจึงไม่มีประเด็นที่เกี่ยวกับบ้านไม้ชั้นเดียวหลังที่มีการต่อเติมติดกับบ้านเลขที่ 5 ศาลย่อมไม่อาจที่จะมีคำวินิจฉัยและพิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 ในส่วนของบ้านหลังดังกล่าวได้ เพราะเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง ส่วนที่คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาวินิจฉัยถึงหนังสือสัญญาให้ที่ดิน ฉบับวันที่ 14 สิงหาคม 2538 ที่มีข้อความว่า บ้านไม้ชั้นเดียว 1 หลัง เป็นของจำเลยที่ 1 น่าจะเป็นการระบุไว้เพื่อกันมิให้บ้านหลังดังกล่าวซึ่งน่าจะเป็นคนละหลังกับบ้านเลขที่ 5 ที่มีมาแต่เดิมตกเป็นส่วนควบของที่ดินโฉนดเลขที่ 4570 มิได้มีผลก่อให้เกิดเป็นประเด็นข้อพิพาทที่ศาลจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในคดีนี้ด้วย เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสืบพยานโจทก์และจำเลยที่ 1 เฉพาะประเด็นว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยที่ 1 ออกจากบ้านไม้ชั้นเดียวหลังที่มีการปลูกสร้างต่อเติมติดกับบ้านเลขที่ 5 หลังเดิม และเรียกค่าเสียหายในส่วนนี้ได้หรือไม่ แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จึงไม่ชอบ ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น *ส่วนที่โจทก์ฎีกาขอให้คืนค่าขึ้นศาลที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บเกินคืนแก่โจทก์ โดยอ้างว่า คดีนี้เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์และโจทก์ได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นกล่าวอ้างแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยนั้น เห็นว่า โจทก์ได้ยกประเด็นปัญหาดังกล่าวไว้ในคำแก้อุทธรณ์ของโจทก์แล้ว ย่อมมีประเด็นตามคำแก้อุทธรณ์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้วินิจฉัยให้ ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว คดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยทั้งสองออกไปที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทซึ่งจำเลยที่ 1 ให้การต่อสู้เรื่องกรรมสิทธิ์ จึงเป็นคดีพิพาทกันเกี่ยวด้วยกรรมสิทธิ์ในทรัพย์อันถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์พิพาท แม้ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดสืบพยานแล้ววินิจฉัยว่า คำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 502/2560 ของศาลชั้นต้น มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 วรรคหนึ่ง ว่าที่ดินพิพาทและบ้านเลขที่ 5 ซึ่งปลูกในที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวซึ่งคือโจทก์ในคดีนี้ จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิอยู่ในบ้านพิพาท ก็หาทำให้คดีที่มีทุนทรัพย์กลายเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ไม่ ที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บค่าขึ้นศาลโจทก์อย่างคดีมีทุนทรัพย์จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยถูกต้อง ชอบด้วยกฎหมายแล้ว มิใช่การเรียกค่าขึ้นศาลโดยไม่ถูกต้องที่ศาลฎีกาจะต้องคืนให้แต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น *พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ
ตัวอย่างร่างคำฟ้องคดีแพ่งขับไล่ให้ออกจากที่ดินและคำขอท้ายคำฟ้อง มีดังนี้: คำฟ้อง คดีหมายเลข ___________ โจทก์: [ชื่อโจทก์] ที่อยู่ ___________ จำเลย: [ชื่อจำเลย] ที่อยู่ ___________ คำฟ้อง 1.โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ [ระบุหมายเลขโฉนด] เนื้อที่ [ระบุเนื้อที่] ตารางวา พร้อมบ้านเลขที่ [ระบุบ้านเลขที่] ที่ปลูกสร้างอยู่บนที่ดินดังกล่าว โดยโจทก์ได้รับกรรมสิทธิ์โดยชอบด้วยกฎหมายจาก [ระบุวิธีที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ เช่น การโอนกรรมสิทธิ์หรือมรดก] 2.จำเลย [ระบุชื่อจำเลย] เข้าครอบครองและอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านเลขที่ดังกล่าวโดยไม่มีสิทธิหรืออำนาจจากโจทก์ 3.โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยยังคงครอบครองและอาศัยอยู่ต่อไป ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 4. การกระทำของจำเลยดังกล่าวถือเป็นการละเมิดกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์จึงมีความจำเป็นต้องนำคดีนี้มาฟ้องเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งขับไล่จำเลยออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว รวมทั้งให้ชดใช้ค่าเสียหาย
คำขอท้ายคำฟ้อง 1.ขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ [ระบุหมายเลขโฉนด] และบ้านเลขที่ [ระบุบ้านเลขที่] พร้อมคืนที่ดินและบ้านในสภาพเรียบร้อยแก่โจทก์ 2.ขอให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน [ระบุจำนวนเงิน] บาท ตั้งแต่วันที่ [ระบุวันที่] จนถึงวันที่จำเลยขนย้ายออกจากที่ดินและบ้านดังกล่าว 3.ขอให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมศาลและค่าทนายความแทนโจทก์ ลงชื่อ ______________ (โจทก์/ทนายความ) หมายเหตุ: การร่างคำฟ้องจริงควรปรึกษาทนายความหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเพื่อความถูกต้องและครบถ้วน |