คำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่ได้กำหนดระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเพราะโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว แต่อย่างไรก็ตามการฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว มีผลทำให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยตามกฎหมายในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไป คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 757/2567 เงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 204 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว” โดยคำเตือนในกรณีนี้คือการทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับและการทวงถามนั้นโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เสียก่อนจึงจะถือว่าเป็นคำเตือนโดยชอบ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามที่โจทก์ทวงถามแล้วจึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 เรื่อง คำสั่งประโยชน์ทดแทน ลงวันที่ 6 มกราคม 2554 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ อีกทั้งไม่ได้ความว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวโดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเพราะโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1766/2563 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ 127,629.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง ศาลแรงงานภาค 5 พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1766/2563 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ของจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 1 จ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ 127,629.15 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 6 มกราคม 2554 เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์มีคำขอท้ายคำฟ้อง จำเลยทั้งสองฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานภาค 5 ฟังเป็นยุติได้ความว่า โจทก์เป็นผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 โรงพยาบาลตามสิทธิของโจทก์คือโรงพยาบาล ร. โจทก์มีประวัติเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ร. สี่ครั้ง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาด้วยอาการปวดศีรษะ ไอแห้ง ปวดเมื่อยตามตัวมาเป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ รับประทานยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น ไม่เจ็บคอ ไม่มีน้ำมูก แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่าหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) ให้การรักษาโดยการให้ยา หากอาการไม่ดีขึ้น ให้มาพบแพทย์ใหม่ วันที่ 13 สิงหาคม 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาด้วยอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียนก่อนมาโรงพยาบาลประมาณ 2 ครั้ง ภายหลังพบแพทย์เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2553 แล้วอาการไม่ดีขึ้น แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่าหลอดลมอักเสบ (Bronchitis) โดยแพทย์เปลี่ยนยาตัวใหม่ให้รับประทาน และออกใบรับรองแพทย์ให้โจทก์ลางานเป็นเวลา 2 วัน วันที่ 27 กันยายน 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาด้วยอาการปวดศีรษะมาเป็นระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ให้ประวัติว่าปวดกลางศีรษะ หลับพักผ่อนน้อย ให้การรักษาโดยการให้ยา วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาด้วยอาการไข้ เจ็บคอ ปวดศีรษะ 2 วัน ไม่ไอ ไม่มีน้ำมูก แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่า ทอนซิลอักเสบ (Acute Tonsillistis) ให้การรักษาโดยการให้ยา ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ช. ด้วยอาการไข้หวัด เจ็บคอ ปวดตามเนื้อตัว มีอาการในเวลากลางคืนก่อนวันดังกล่าว แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่า คออักเสบ (Pharyngitis) ให้การรักษาโดยการให้ยา และนัดพบแพทย์ระบบประสาทในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2553 โจทก์เข้ารับการตรวจรักษาที่คลินิกตา หู คอ จมูก และใบหน้า ด้วยปัญหาตาสองข้างมัวมา เป็นเวลา 1 เดือน ตรวจลานสายตาพบ Bitemporal Visual Field Defect และทำ MRI พบว่ามีหย่อมเลือดออกในก้อนเนื้องอกของต่อมใต้สมอง (Suprasellar mass) จึงส่งตัวโจทก์ไปให้ศัลยแพทย์ประสาททำการรักษาต่อ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. ด้วยอาการตามองเห็นภาพขาดช่วงมาเป็นเวลา 2 เดือน แพทย์ตรวจด้วยการทำ Brain MRI แล้ววินิจฉัยว่า มีหย่อมเลือดออกในก้อนเนื้องอกของต่อมใต้สมอง (Suprasellar mass) พักรักษาที่ศูนย์ ศ. เป็นเวลา 1 วัน จนถึงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 โจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. เนื่องจากแพทย์นัด Admit เพื่อผ่าตัด แพทย์ตรวจแล้ววินิจฉัยว่า มีถุงน้ำในสมอง (Arachnoid Cyst) และเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (Cranopharyngioma) ให้รับการรักษาโดยการผ่าตัดในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 หลังผ่าตัดโจทก์พักรักษาตัวที่ศูนย์ ศ. ต่อจนถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2553 เสียค่าใช้จ่าย เป็นเงิน 127,629.15 บาท วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553 โรงพยาบาล ร. ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. ด้วยเหตุพบก้อนเนื้อในสมองและผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออก และได้ติดต่อให้เคลื่อนย้ายโจทก์มารักษาที่โรงพยาบาล ร. แต่สามีของโจทก์แจ้งว่าจะรับการรักษาพยาบาลต่อที่ศูนย์ ศ. ไม่ประสงค์จะย้ายกลับเนื่องจากขาดความไว้วางใจในการรักษาของโรงพยาบาล ร. และเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย โจทก์ได้ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนต่อจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 เรื่อง คำสั่งประโยชน์ทดแทน ลงวันที่ 6 มกราคม 2554 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ เนื่องจากไม่ประสงค์เข้าโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิและไม่ฉุกเฉินตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 มีคำวินิจฉัยที่ 1766/2563 โดยเห็นว่า การที่โจทก์เข้ารับบริการทางการแพทย์ที่ศูนย์ ศ. เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2553 และพักรักษาตัวถึงวันที่ 3 ธันวาคม 2553 เป็นเวลา 13 วัน นั้น มิใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกรณีไม่มีเหตุสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ร.ได้ โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางแพทย์ แล้วมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ แล้วศาลแรงงานภาค 5 วินิจฉัยว่า อาการของโจทก์มิได้เจ็บป่วยฉุกเฉินด้วยโรคหรืออาการของโรคซึ่งเกิดขึ้นโดยเฉียบพลันที่มีลักษณะรุนแรงอันอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเร่งด่วน ทำให้ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลที่จำเลยที่ 1 กำหนด ที่โจทก์อ้างว่าไม่มั่นใจในการรักษาของแพทย์โรงพยาบาล ร. เป็นการคาดคิดของโจทก์เองโดยปราศจากพยานหลักฐานว่าแพทย์วินิจฉัยผิดพลาด คำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า กรณีมีเหตุผลสมควรที่โจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1766/2563 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ของจำเลยที่ 2 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากจำเลยที่ 1 ตามจำนวนค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายให้แก่สถานพยาบาลอื่น ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 59 พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์เป็นต้นไป คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์หรือไม่ และคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า เมื่อพิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์แล้ว มีข้อความว่า โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ร. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลตามสิทธิถึงสี่ครั้ง แต่ยังไม่สามารถหาสาเหตุของโรคได้ และแต่ละครั้งได้รับยาแก้ปวดกลับมารับประทานเท่านั้น การที่โจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. เนื่องจากขณะนั้นอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินของโจทก์มีลักษณะรุนแรงและจำเป็นต้องได้รับการรักษาเป็นการด่วนตามคำวินิจฉัยของแพทย์ ซึ่งเป็นไปตามนิยามคำว่า เจ็บป่วยฉุกเฉิน ตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน และการที่โรงพยาบาล ร. มีหนังสือถึงผู้อำนวยการศูนย์ ศ. เพื่อขอรับรองค่ารักษาพยาบาลของโจทก์สำหรับการรักษาผ่าตัดถุงน้ำใต้สมองครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ถึงวันที่จำหน่ายออก เป็นข้อบ่งชี้ว่าโรงพยาบาล ร. ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะทำการผ่าตัดสมองของโจทก์ซึ่งมีอาการทรุดหนักลงอย่างมากได้ เห็นได้ว่า อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวเป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงที่ยุติโดยคู่ความไม่ได้โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังเป็นยุติมาอุทธรณ์โต้แย้งขอให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าอาการเจ็บป่วยของโจทก์เป็นการเจ็บป่วยฉุกเฉินตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์และจำนวนเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน ลงวันที่ 11 เมษายน 2548 หรือโจทก์มีเหตุผลสมควรที่ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2533 มาตรา 59 วรรคสอง อันจะทำให้โจทก์มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์หรือไม่ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อกฎหมาย มิใช่เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงอันต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ดังที่จำเลยทั้งสองฎีกา ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์มานั้นชอบแล้ว สำหรับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษนั้น จะต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานได้วินิจฉัยมาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง เมื่อศาลแรงงานภาค 5 ฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล ร. สี่ครั้ง โจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. แพทย์ตรวจด้วยการทำ Brain MRI แล้ววินิจฉัยว่ามีถุงน้ำในสมอง (Arachnoid Cyst) และเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง (Cranopharyngioma) ให้รับการรักษาโดยการผ่าตัด ระหว่างที่โจทก์พักรักษาตัวที่ศูนย์ ศ. โรงพยาบาล ร. ได้รับแจ้งจากจำเลยที่ 1 ว่าโจทก์เข้ารับการรักษาที่ศูนย์ ศ. และได้ติดต่อให้เคลื่อนย้ายโจทก์มารักษาที่โรงพยาบาล ร. แต่สามีของโจทก์แจ้งว่าจะรับการรักษาพยาบาลต่อที่ศูนย์ ศ. ไม่ประสงค์จะย้ายกลับเนื่องจากขาดความไว้วางใจในการรักษาของโรงพยาบาล ร. และเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่าโรงพยาบาล ร.ทำการตรวจรักษาโจทก์ถึงสี่ครั้ง แต่ไม่อาจให้บริการทางการแพทย์ในการหาสาเหตุของการเจ็บป่วยที่แท้จริงของโจทก์ได้ คงให้บริการทางการแพทย์ได้แต่เพียงรักษาไปตามอาการของโจทก์ที่ปรากฏก็ดี โจทก์มีอาการรุนแรงมากขึ้นต้องไปรับบริการทางการแพทย์จากศูนย์ ศ. ซึ่งเป็นสถานพยาบาลอื่น เป็นเหตุให้สถานพยาบาลดังกล่าวตรวจพบสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสนอให้บริการทางการแพทย์ในการรักษาโจทก์ด้วยการผ่าตัดสมองก็ดี การที่จะเคลื่อนย้ายโจทก์ซึ่งเจ็บป่วยบริเวณสมองต้องเข้ารับการผ่าตัดและอยู่ระหว่างรักษาตัวเปลี่ยนไปเข้ารับบริการทางการแพทย์ที่โรงพยาบาล ร.ก็ดี แล้วนำมาวินิจฉัยในข้อกฎหมายตามอุทธรณ์ของโจทก์ข้างต้นว่า เป็นการให้สถานพยาบาลตามสิทธิที่ไม่อาจรักษาโจทก์ตั้งแต่ต้นกลับมารักษาโจทก์อีกและยังอาจทำให้โจทก์ได้รับความกระทบกระเทือน กรณีมีเหตุสมควรที่โจทก์ไม่สามารถไปรับบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลตามสิทธิได้ โจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยที่ 1766/2563 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ของจำเลยที่ 2 และมีสิทธิได้รับเงินทดแทนจากจำเลยที่ 1 นั้น เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานภาค 5 รับฟังเป็นยุติมาใช้ในการพิจารณาคดี จึงเป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 56 วรรคสอง แล้วเช่นกัน ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยสำหรับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตั้งแต่เมื่อใด จำเลยทั้งสองฎีกาว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 เมื่อข้อเท็จจริงยังไม่ยุติจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้เงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์หาได้ไม่ จำเลยที่ 1 ยังไม่ตกเป็นผู้ผิดนัดอันจะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ การคำนวณดอกเบี้ยที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระให้แก่โจทก์ต้องนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดและมีคำบังคับแก่จำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า เงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ที่โจทก์เรียกร้องจากจำเลยที่ 1 เป็นหนี้เงินอย่างหนึ่ง จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์ ซึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 204 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ถ้าหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว และภายหลังแต่นั้นเจ้าหนี้ได้ให้คำเตือนลูกหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังไม่ชำระหนี้ไซร้ ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดเพราะเขาเตือนแล้ว” โดยคำเตือนในกรณีนี้คือการทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับและการทวงถามนั้นโจทก์จะต้องกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้เสียก่อนจึงจะถือว่าเป็นคำเตือนโดยชอบ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินตามที่โจทก์ทวงถามแล้วจึงจะถือว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ยื่นคำขอรับประโยชน์ทดแทนจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 เรื่อง คำสั่งประโยชน์ทดแทน ลงวันที่ 6 มกราคม 2554 แจ้งโจทก์ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อจำเลยที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 2 พิจารณาแล้วมีมติยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์จึงนำคดีนี้มาฟ้อง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่าโจทก์ได้กำหนดระยะเวลาพอสมควรให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ อีกทั้งไม่ได้ความว่าก่อนฟ้องคดีโจทก์ทวงถามให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวโดยทางอื่นอีก จึงเท่ากับว่ายังไม่มีคำเตือนให้ชำระหนี้โดยชอบตามมาตรา 204 วรรคหนึ่ง กรณีจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดเพราะโจทก์ได้ให้คำเตือนแล้ว แต่การฟ้องคดีย่อมเป็นการทวงถามอยู่ในตัว จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดให้แก่โจทก์นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไป ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 6 มกราคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือที่ ชม 0025/0144 ปฏิเสธการจ่ายเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ให้แก่โจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้นบางส่วน พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินเงินทดแทนค่าบริการทางการแพทย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 10 มีนาคม 2564) เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ
|