ReadyPlanet.com
bulletรับฟ้องคดีแพ่ง/อาญา
bulletพระราชบัญญัติ
bulletป.แพ่งและพาณิชย์
bulletป.อาญา ฎีกา
bulletป.วิอาญา
bulletป.วิแพ่ง
bulletป.กฎหมายที่ดิน
bulletป.รัษฎากร
bulletฟ้องหย่า
bulletอำนาจปกครอง
bulletนิติกรรม
bulletคดีมรดก
bulletอายุความฟ้องร้องคดี
bulletครอบครองปรปักษ์
bulletเอกเทศสัญญา
bulletเกี่ยวกับแรงงาน
bulletเกี่ยวกับคดีอาญา
bulletคดียาเสพติดให้โทษ
bulletตั๋วเงินและเช็ค
bulletห้างหุ้นส่วน-บริษัท
bulletคำพิพากษาและคำสั่ง
bulletทรัพย์สิน/กรรมสิทธิ์
bulletอุทธรณ์ฎีกา
bulletเกี่ยวกับคดีล้มละลาย
bulletเกี่ยวกับวิแพ่ง
bulletเกี่ยวกับวิอาญา
bulletการบังคับคดี
bulletคดีจราจรทางบก
bulletการเล่นแชร์ แชร์ล้ม
bulletอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล
bulletมรรยาททนายความ
bulletถอนคืนการให้,เสน่หา
bulletข้อสอบเนติบัณฑิต
bulletคำพิพากษา 2550
bulletทรัพย์สินทางปัญญา
bulletสัญญาขายฝาก
bulletสำนักทนายความ
bulletป-อาญา มาตรา1- 398
bulletภาษาอังกฤษ
bulletการสมรสและการหมั้น
bulletแบบฟอร์มสัญญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2551-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-แพ่ง
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-วิ-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-อาญา
bulletข้อสอบเนติ-ปี2550-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2549-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2548-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2547-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2546-แพ่งพาณิชย์
bulletข้อสอบเนติ-ปี2545-แพ่งพาณิชย์
bulletนิติกรรมสัญญา
bulletพระธรรมนูญศาล
bulletทรัพย์สิน-สามีภริยา
bulletบิดามารดา-รับรองบุตร
bulletคดีครอบครัว
bulletสัญญาระหว่างสมรส
bulletสิทธิครอบครองที่ดิน
bulletสัญญาซื้อขาย
bulletแปลงหนี้ใหม่
bulletการได้กรรมสิทธิ์
bulletคดีเรื่องบุตร
bulletเช่าซื้อรถยนต์
bulletถอนผู้จัดการมรดก
bulletฟ้องค่าทดแทน
bulletฟ้องหย่า-ฟ้องหย่า
bulletสินสมรส-สินสมรส
bulletบันดาลโทสะ
bulletเบิกความเท็จ
bulletสิทธิ-สัญญาเช่า
bulletค้ำประกัน
bulletเจ้าของรวม
bulletจำนอง
bulletลูกหนี้ร่วม
bulletคำพิพากษาฎีกาทั่วไป
bulletกระดานถาม-ตอบ
bulletป-กฎหมายยาเสพติด2564
bulletขนส่งทางทะเล
bulletสมรสเป็นโมฆะ
bulletสามีภริยา
bulletตัวการไม่เปิดเผยชื่อ
bulletทนายความของสภาจัดให้
bulletอาวุธปืน
bulletรับช่วงสิทธิ
bulletแพ่งมาตรา1-1755




ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

ข้อ 5. นางแก้ว กู้เงินนายธนาคม จำนวน 500,000 บาท เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละสิบห้าต่อปี มีนายเพชร เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งระบุในสัญญาค้ำประกันว่ายอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในวงเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท และมีนางมณี นำที่ดินแปลงหนึ่งของตนมาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ ได้เงินจำนวนสุทธิไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินส่วนที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนด้วย ต่อมานางแก้ว ผิดนัดไม่ชำระหนี้และไม่มีทรัพย์สินใดที่จะนำมาชำระหนี้แก่นายธนาคมได้ นายธนาคม จึงทวงถามให้นายเพชร ในฐานะที่เป็นผู้ค้ำประกันซึ่งยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกันกับนางแก้ว ชำระต้นเงินและดอกเบี้ย ก่อนการทวงถามซึ่งนายธนาคมขอคิดดอกเบี้ยเพียง 5 ปี รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 875,000 บาท แต่นายเพชร ขอชำระหนี้ให้เพียง 500,000 บาท นายธนาคมไม่ยอมรับชำระหนี้จากนายเพชร และบอกกล่าวบังคับจำนองที่ดินของนางมณี

ให้วินิจฉัยว่า นายเพชรและนางมณี จะต้องรับผิดต่อนายธนาคม หรือไม่เพียงใด

 ธงคำตอบ

การที่นายเพชร ทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดจำกัดวงเงินสำหรับต้นเงินและดอกเบี้ยรวม 500,000 บาท แม้นายเพชร ตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 แต่ก็มีความหมายเพียงว่านายเพชรซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดร่วมกับนางแก้วในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาภายในวงเงินที่จำกัดจำนวนไว้ กล่าวคือ ในต้นเงินพร้อมด้วยดอกเบี้ยรวมเป็นเงิน 500,000 บาท เท่านั้น มิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับนางแก้ว ผู้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นแต่อย่างใด ดังนั้น เมื่อหนี้ถึงกำหนด นายเพชร ขอชำระหนี้แก่นายธนาคมโดยชอบแล้วตามมาตรา 701 วรรคหนึ่ง แต่นายธนาคมไม่ยอมรับชำระหนี้จากนายเพชร โดยจะให้นายเพชร ชำระหนี้ในยอดหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของนายเพชร ย่อมทำให้นายเพชร ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามมาตรา 701 วรรคสอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 382/2537)

ส่วนการที่นางมณี ทำสัญญาจำนองเป็นประกันหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยมีข้อกำหนดในสัญญาจำนองว่า ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระ ขาดจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวน ข้อตกลงนี้แม้จะแตกต่างกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ก็ไม่เป็นโมฆะ เพราะบทบัญญัติดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นางมณี ผู้จำนองอาจตกลงกับ ผู้รับจำนองเป็นประการอื่นได้ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1507/2538 และที่ 168/2518) นางมณี จึงต้องรับผิดเต็มจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว โดยในการบังคับจำนองขายทอดตลาดที่ดินตามสัญญาจำนอง ถ้าได้เงินไม่พอจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้ว ขาดจำนวนอยู่เท่าใด นายธนาคม ย่อมบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นของนางมณี ได้จนครบจำนวนหนี้ทั้งหมดของนางแก้วด้วย

 กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 691 ถ้าผู้ค้ำประกันต้องรับผิดร่วมกันกับลูกหนี้ ท่านว่าผู้ค้ำประกันย่อมไม่มีสิทธิดั่งกล่าวไว้ใน มาตรา 688, มาตรา 689 และ มาตรา 690

--มาตรา 688 เมื่อเจ้าหนี้ทวงให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะขอให้เรียกลูกหนี้ชำระก่อนก็ได้ เว้นแต่ลูกหนี้จะถูกศาลพิพากษาให้เป็นคนล้มละลายเสียแล้วหรือไม่ปรากฏว่าลูกหนี้ไปอยู่แห่งใดในพระราชอาณาเขต

มาตรา 689 ถึงแม้จะได้เรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ดั่งกล่าวมาในมาตราก่อนนั้นแล้วก็ตาม ถ้าผู้ค้ำประกันพิสูจน์ได้ว่าลูกหนี้นั้นมีทางที่จะชำระหนี้ได้และการที่จะบังคับให้ลูกหนี้ชำระหนี้นั้นจะไม่เป็นการยากไซร้ ท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องบังคับการชำระหนี้รายนั้นเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน

มาตรา 690 ถ้าเจ้าหนี้มีทรัพย์ของลูกหนี้ยึดไว้เป็นประกันไซร้ เมื่อผู้ค้ำประกันร้องขอท่านว่าเจ้าหนี้จะต้องให้ชำระหนี้เอาจากทรัพย์ซึ่งเป็นประกันนั้นก่อน

มาตรา 701 ค้ำประกันจะขอชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตั้งแต่เมื่อถึงกำหนดชำระก็ได้

ถ้าเจ้าหนี้ไม่ยอมรับชำระหนี้ผู้ค้ำประกันก็เป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิด

มาตรา 733 ถ้าเอาทรัพย์จำนองหลุดและราคาทรัพย์สินนั้นมีประมาณต่ำกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่ก็ดี หรือถ้าเอาทรัพย์สินซึ่งจำนองออกขายทอดตลาดใช้หนี้ได้เงินจำนวนสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระกันอยู่นั้นก็ดีเงินยังขาดจำนวนอยู่เท่าใดลูกหนี้ไม่ต้องรับผิดในเงินนั้น

 คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 382/2537

ตามการ์ดบัญชีกระแสรายวันของจำเลยที่ 1 ลูกค้าโจทก์ ไม่ปรากฏรายการเดินสะพัดในบัญชีอันจะเป็นหลักฐานแสดงว่า นับแต่วันสิ้นสุดของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1 ขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกแม้ภายหลังครบกำหนดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้นำเงินเข้าบัญชีกระแสรายวัน 2 ครั้งก็ตาม แต่ก็เป็นการนำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไปเพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดย่อมเลิกกันนับแต่วันครบกำหนดตามสัญญาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 856 ฉะนั้น โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นได้จนถึงวันสิ้นสุดของสัญญาดังกล่าว และโจทก์ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยโดยไม่ทบต้นตลอดไปจนกว่าจะมีการชำระหนี้รายนี้เสร็จแก่โจทก์ จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาท แสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน 400,000 บาทเท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ ดังนั้น เมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน400,000 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ย จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701 วรรคแรก แล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3 ดังกล่าว ย่อมทำให้จำเลยที่ 3ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701,727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3)

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้ต่อโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำเงินเข้าและจ่ายออกเพื่อหักทอนบัญชีหลายครั้งต่อมาวันที่ 20 กันยายน 2528 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีต่อโจทก์เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 400,000 บาท ยอมเสียดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17.5 ต่อปี ของยอดหนี้ที่เบิกเกินบัญชีจำเลยที่ 1จะชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากไม่ชำระยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนได้ และกำหนดชำระหนี้ให้หมดสิ้นภายในวันที่20 กันยายน 2529 จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1โดยยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง นอกจากนี้จำเลยที่ 3 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้ต่อโจทก์เพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3ทุกประเภททั้งที่มีอยู่แล้วในขณะทำสัญญาจำนองหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าในวงเงิน 400,000 บาท ให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปีตกลงจะชำระดอกเบี้ยเดือนละครั้ง หากค้างชำระให้นำดอกเบี้ยทบกับเงินต้นได้ และหากบังคับจำนองขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ จำเลยที่ 3 ยอมใช้เงินส่วนที่ขาดอยู่จนครบถ้วนนับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยที่ 1ได้เดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา เมื่อครบกำหนดตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1ยังคงเดินสะพัดทางบัญชีเรื่อยมา ต่อมาจำเลยที่ 1 ไม่นำเงินเข้าบัญชีเพื่อลดยอดหนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 โจทก์จึงมีหนังสือทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้ บอกเลิกสัญญาและบอกกล่าวบังคับจำนองแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอบังคับให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้จำนวน641,230.62 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 607,998.95 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ให้นำทรัพย์สินที่จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ และหากได้เงินไม่พอชำระหนี้ ให้จำเลยที่ 3ชดใช้ในส่วนที่ขาดอยู่จนครบ

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 3 ให้การและฟ้องแย้งว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะใบมอบอำนาจไม่มีตราสำคัญของโจทก์ประทับ จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดเต็มจำนวนที่โจทก์ฟ้องเพราะตามสัญญากู้ ข้อ 1 สัญญาค้ำประกันข้อ 1และข้อ 2 สัญญาจำนอง และสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนอง จำเลยที่ 3มีเจตนาค้ำประกัน การชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ในการเบิกเงินเกินบัญชีเพียงไม่เกินจำนวน 400,000 บาท เท่านั้น จำเลยที่ 3 ผู้จำนองต้องรับผิดชำระเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จำกัดจำนวนเงินเพียงไม่เกิน400,000 บาท และโจทก์คิดดอกเบี้ยได้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ต่อปีจำเลยที่ 3 ยอมรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองตามกฎหมายเท่านั้นมิใช่อย่างลูกหนี้ร่วม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3ได้ขอชำระหนี้แก่โจทก์แล้วแต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ จำเลยที่ 3จึงหลุดพ้นจากความรับผิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่จดทะเบียนไถ่ถอนจำนองที่ดินให้จำเลยที่ 3 ทำให้จำเลยที่ 3 เสียหายขาดประโยชน์จากการใช้ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเงิน 100,000 บาท เพราะที่ดินของจำเลยที่ 3ตั้งอยู่ทำเลที่ดี ขอฟ้องแย้งให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 78890, 78891 แขวงลาดยาว เขตบางเขน (บางซื่อ)กรุงเทพมหานคร ต่อเจ้าพนักงานที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยให้โจทก์เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเองทั้งสิ้น หากโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองให้แก่จำเลยที่ 3 ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา และให้โจทก์ชำระค่าเสียหายจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเกี่ยวกับฟ้องแย้งของจำเลยที่ 3 ว่าฟ้องแย้งจำเลยขอให้โจทก์จดทะเบียนปลดจำนองจึงต้องถือว่ามีทุนทรัพย์เท่ากับที่ทำสัญญาจำนองด้วย ดังนั้นให้จำเลยนำค่าขึ้นศาลมาชำระให้ครบถ้วน ภายใน 7 วัน มิฉะนั้นไม่รับฟ้องแย้ง

จำเลยที่ 3 เสียค่าขึ้นศาลเพิ่ม แต่คัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นไว้

โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี และจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 อย่างลูกหนี้ร่วมโดยไม่จำกัดจำนวน จำเลยที่ 3 ต้องรับผิดตามสัญญาจำนองที่โจทก์ฟ้อง การที่จำเลยที่ 3 ขอชำระหนี้เป็นจำนวน400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529ซึ่งเป็นเงิน 400,000 บาทเศษ ไม่ครบถ้วนตามมูลหนี้ที่จำเลยที่ 3ต้องรับผิดจึงเป็นการชำระหนี้ไม่ชอบ โจทก์มีสิทธิเลิกสัญญาและไม่จำต้องปลดภาระค้ำประกันและไถ่ถอนจำนองที่ดินอันเป็นหลักประกันจำเลยที่ 3 ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ยังคงใช้ประโยชน์ในที่ดินประกอบกิจการค้าขายตลอดมา ขอให้ยกฟ้องแย้ง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 566,708.53 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 พฤษภาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ถ้าไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองขายทอดตลาดชำระหนี้โจทก์ก่อน ในวงเงิน 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวจนกว่าจะชำระเสร็จ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์อื่นชำระหนี้จนกว่าจะครบ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 3

โจทก์และจำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,029.59 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 ชำระโจทก์2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 และให้โจทก์ไปจดทะเบียนปลดจำนองที่ดินของจำเลยที่ 3 ซึ่งจำนองไว้ต่อโจทก์ ถ้าโจทก์ไม่ไปจดทะเบียนปลดจำนองดังกล่าว ก็ให้ถือเอาคำพิพากษานี้แทนการแสดงเจตนาของโจทก์ตามฟ้องแย้ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลชั้นต้น

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่าโจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ดังคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์หรือวันที่ 20 พฤษภาคม 2531 ดังฎีกาโจทก์ เห็นว่าตามบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.17 ปรากฏว่า ตั้งแต่ถัดจากวันที่ 3 กรกฎาคม 2529 จนถึงวันที่ 20 กันยายน 2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีให้แก่โจทก์ และต่อจากนั้นไปจนถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2531ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีไปยังจำเลยที่ 1 ไม่มีรายการระบุว่าจำเลยที่ 1 ได้เบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวเลย คงมีแต่รายการโจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเป็นรายเดือนตลอดมาและจำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อหักทอนหนี้ตามยอดเงินที่ค้างชำระในระหว่างนั้นเพียง 2 ครั้ง กล่าวคือ เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2530เป็นเงิน 700.09 บาท และวันที่ 17 ธันวาคม 2530 เป็นเงิน 5,117.84บาท รวมกันเป็นเงิน 5,817.93 บาท ทางพิจารณาก็ไม่ปรากฏว่าในช่วงระยะเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 เคยขอเบิกเงินจากบัญชีดังกล่าวหรือโจทก์ยอมให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินเกินบัญชีต่อไปอีกจึงเป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 นำเงินเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้ ไม่ใช่เพื่อให้มีการเดินสะพัดทางบัญชีต่อไป เพราะไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชีหักกลบลบกันในระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ประสงค์จะต่ออายุสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกต่อไป ถือว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอันเป็นสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันนับแต่วันที่ 20 กันยายน2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์แล้วตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 856 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันที่ 20 กันยายน2529 จำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้โจทก์ต้องรับผิดชำระหนี้จำนวน479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยจำเลยที่ 2 ในฐานะเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ก็ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 479,029.59 บาท

สำหรับจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันและจำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.11 ระบุจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 กู้ไว้ไม่เกิน400,000 บาท โดยผู้กู้จะผ่อนชำระให้หมดสิ้นภายในวันที่ 20 กันยายน2529 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดที่จำเลยที่ 1 จะต้องชำระหนี้ตามสัญญาดังกล่าวให้แก่โจทก์ดังวินิจฉัยข้างต้นแล้ว สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ก็ดี หนังสือสัญญาจำนองที่ดินและหนังสือสัญญาต่อท้ายสัญญาจำนองกรรมสิทธิ์ที่ดินเอกสารหมาย จ.13และ จ.14 ก็ดี ต่างระบุไว้ในข้อ 1 ของสัญญาทั้งสามฉบับดังกล่าวเป็นข้อความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 3 ค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1ที่ทำไว้แก่โจทก์เป็นจำนวนเงิน 400,000 บาท หรือไม่เกิน 400,000 บาทแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 มีเจตนาค้ำประกันและจำนองที่ดินเพื่อประกันหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ในวงเงิน400,000 บาท เท่านั้น แม้จะปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยที่ 1กู้เบิกเงินเกินบัญชีเกินวงเงิน 400,000 บาท ก็เป็นการผูกพันกันระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1กับโจทก์เท่านั้น หามีผลผูกพันจำเลยที่ 3 ด้วยไม่ จำเลยที่ 3คงต้องรับผิดแก่โจทก์ในต้นเงิน 400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้น และแม้สัญญาค้ำประกันเงินกู้หรือเบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย จ.12 ข้อ 1 มีข้อความตอนท้ายว่า"ผู้ค้ำประกันยอมเข้าค้ำประกันการชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วจนกว่าธนาคารจะได้รับ รับชำระหนี้โดยสิ้นเชิง" และข้อ 2 มีข้อความว่า "ถ้าแม้ว่าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และหรือไม่สามารถชำระหนี้ตามสัญญาที่กล่าวแล้วไม่ว่าด้วยเหตุใด ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานั้นทันที" ก็มีความหมายแต่เพียงว่า ผู้ค้ำประกันยอมเข้ารับผิดร่วมกับลูกหนี้ (จำเลยที่ 1)ในอันที่จะต้องชำระหนี้ตามสัญญานี้ทันทีและโดยสิ้นเชิงภายในต้นเงิน400,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในต้นเงินดังกล่าวเท่านั้นมิได้หมายความว่าจะต้องรับผิดในจำนวนหนี้เท่ากับลูกหนี้แต่อย่างใดดังนั้นกรณีที่เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2530 จำเลยที่ 3 มีหนังสือขอชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปตามหนังสือขอชำระหนี้เอกสารหมาย ล.3 จึงเป็นการขอชำระหนี้แก่โจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เมื่อหนี้นั้นถึงกำหนดโดยชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 701 วรรคแรกแล้ว เมื่อโจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้จากจำเลยที่ 3ดังกล่าว โดยจะให้จำเลยที่ 3 ชำระหนี้ในจำนวนยอดหนี้ของสิ้นเดือนกันยายน 2530 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 558,776.16 บาท ตามหนังสือของโจทก์ตอบปฏิเสธการรับชำระหนี้เอกสารหมาย ล.4 ซึ่งเป็นจำนวนหนี้ที่เกินกว่าความรับผิดของจำเลยที่ 3 ย่อมทำให้จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในการชำระหนี้รายนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 701, 727 ประกอบด้วยมาตรา 744(3)

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 479,159.58 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 21 กันยายน 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้หักเงินที่จำเลยที่ 1 นำเข้าบัญชีเพื่อชำระหนี้โจทก์ 2 ครั้ง รวมจำนวน 5,817.93 บาท จากหนี้ดังกล่าวด้วยนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1507/2538

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่ มาตรา 733 บัญญัติไว้ได้เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมายไม่ตกเป็นโมฆะ สัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์ ระบุว่าถ้าในการบังคับจำนองได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใดผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนแต่หนี้ ที่ น. ลูกหนี้ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาโจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์ที่จำเลยจำนอง

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2518 นางนิตยาอัศศิระกุล ได้กู้เงินโจทก์จำนวน 40,000 บาท กำหนดชำระเงินคืนภายในวันที่ 10 กันยายน 2519 และเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2518นางนิตยาได้กู้เงินโจทก์เพิ่มอีกจำนวน 25,000 บาท มีกำหนดระยะเวลา 24 เดือน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี จำเลยได้เข้าทำสัญญาค้ำประกันหนี้ดังกล่าวและจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30290ตำบลในคลองบางปลากด อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการพร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกันหนี้นั้นด้วย ต่อมาโจทก์ได้ฟ้องนางนิตยาและศาลแพ่งมีคำพิพากษาเป็นคดีหมายเลขแดงที่ 13955/2521ให้นางนิตยาชำระเงินจำนวน 92,139.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 65,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่นางนิตยาไม่ชำระเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 113223 แขวงประเวศเขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร ของนางนิตยาและนำออกขายทอดตลาดได้เงิน 101,000 บาท หักค่าใช้จ่ายชั้นบังคับคดีแล้วคงเหลือเงินจำนวน 91,929 บาท ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ซึ่งโจทก์หักชำระดอกเบี้ย78,149.35 บาท คงค้างชำระต้นเงิน 51,220.35 บาท หลังจากนั้นนางนิตยาและจำเลยไม่ชำระหนี้ดังกล่าวอีกเลย โจทก์บอกกล่าวทวงถามบังคับจำนองไปยังจำเลยแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินและดอกเบี้ยก่อนฟ้องจำนวน 43,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้ยึดทรัพย์จำนองและทรัพย์สินอื่นของจำเลยออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ

จำเลยให้การว่า โจทก์ฟ้องขอบังคับตามสิทธิเรียกร้องเกิน10 ปี และโจทก์มิได้บังคับในคดีหมายเลขแดงที่ 13955/2521ให้เสร็จสิ้นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษา สิทธิการขอบังคับคดีหนี้เงินกู้อันเป็นหนี้ประธานย่อมระงับไป จำเลยผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดไปด้วย ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 43,750 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 25,000 บาท นับตั้งแต่วันที่9 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ถ้าจำเลยไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 30290 ตำบลในคลองบางปลากดอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้จำเลยไม่ต้องรับผิดชำระหนี้ส่วนที่ยังขาดจำนวนแก่โจทก์โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า สัญญาข้อ 5ในข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองเอกสารหมาย จ.7 อันเป็นการตกลงกันอย่างอื่นนอกเหนือจากบทบัญญัติตามมาตรา 733 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ใช้บังคับได้ ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแต่ประการใด ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ศาลฎีกาต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 238 ประกอบมาตรา 247 ซึ่งศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงมาว่า จำเลยได้นำที่ดินโฉนดเลขที่ 30290 ตำบลในคลองบางปลากดอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ มาประกันหนี้ของนางนิตยา อัศศิระกุล จำนวน 25,000 บาท โดยยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตามหนังสือสัญญาจำนองและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองตามเอกสารหมาย จ.7 มีนายพิสันต์ บุญญกาศลงลายมือชื่อแทนจำเลยในฐานะผู้รับมอบอำนาจตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.19 นางนิตยาถูกโจทก์ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้แล้วยังคงค้างโจทก์อยู่จำนวน 51,220.35 บาท เมื่อคิดถึงวันที่ 30เมษายน 2533 ตามบัญชีและรายการโอนชำระหนี้เอกสารหมาย จ.11,จ.12 ซึ่งจำเลยต้องรับผิดชำระเงินจำนวน 25,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยค้างชำระก่อนฟ้องในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี เป็นเวลา 5 ปี เป็นเงิน18,750 บาท และนับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2533 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ เช่น ในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้นข้อตกลงนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะอย่างใดไม่ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 168/2518 ระหว่างร้านสหกรณ์ร้อยเอ็ดจำกัด สินใช้ โจทก์ นายเสรี อิทธิสมบัติ กับพวก จำเลยนายเถียร นาครวาจา จำเลยร่วม แม้ปรากฎตามข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองที่จำเลยทำไว้กับโจทก์มีระบุไว้ในข้อ 5 ความว่าถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนเงินที่ค้างชำระจำนวนอยู่เท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดชอบใช้เงินที่ขาดจำนวนนั้นให้แก่ผู้รับจำนองจนครบจำนวนซึ่งหมายความว่า ถึงจะยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้หนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบก็ตาม แต่หนี้ที่นางนิตยา อัศศิระกุล ลูกหนี้ ค้างโจทก์หลังจากบังคับคดีแล้วไม่พอชำระนั้นเป็นเวลากว่า 10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษา โจทก์จึงหมดสิทธิที่จะบังคับเอาแก่ลูกหนี้อีกต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 จำเลยในผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 698 แต่ยังคงรับผิดตามทรัพย์จำนองซึ่งยุติตามที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล"

พิพากษายืน

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 168/2518

จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านสหกรณ์โจทก์ตามสัญญาจ้างปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคากรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการบกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายนั้นได้

ร้านสหกรณ์โจทก์ได้จ่ายเงินค่าสินค้าไปแล้ว แต่หาได้มีการลงบัญชีรับสินค้าไว้ไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการอาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สินค้าบางรายการลงบัญชีจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความเป็นจริงร้านสหกรณ์โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญ ซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินไปโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกันจำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้นเพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ ก็ย่อมกระทำได้

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการร้านค้าของโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้นำโรงเรือนมาจำนองเป็นประกันค่าเสียหาย จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยนำที่ดินโฉนดเลขที่ 374 พร้อมสิ่งปลูกสร้างมาจำนองเป็นประกัน หากจำเลยที่ 1 ก่อความเสียหายแก่โจทก์เป็นเงินไม่เกิน 100,000 บาท จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 เป็นกรรมการดำเนินการสหกรณ์ โดยมติที่ประชุมใหญ่ โดยจำเลยที่ 3 เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 4 เป็นเลขานุการ จำเลยที่ 5 เป็นเหรัญญิก

จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติการอันไม่ชอบ ฝ่าฝืนข้อบังคับของโจทก์ที่วางไว้ และปฏิบัติผิดสัญญาจ้างและค้ำประกันที่ทำไว้ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวมเป็นเงิน 281,787.75 บาท ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 ชำระหนี้แทนจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 100,000 บาท ถ้าไม่ชำระให้บังคับจำนองที่ดินของจำเลยที่ 2 และโรงเรือนของจำเลยที่ 1 นำเงินมาชำระแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 281,787.75 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย 21,134.08 บาท ถ้าบังคับจำนองขาดอยู่อีกเท่าใด ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ชดใช้จนครบ และให้ชำระดอกเบี้ยในต้นเงิน 281,787.75 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ทุจริตประมาทเลินเล่อหรือปฏิบัติผิดสัญญาจ้างแต่ประการใด

จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ให้การมีใจความว่า จำเลยทั้งสามไม่ได้ประมาทเลินเล่อ

จำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 ร้องขอให้ศาลเรียกบุคคล 33 คนที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับกิจการของโจทก์เข้ามาเป็นจำเลยร่วมศาลชั้นต้นอนุญาตให้เรียกบุคคลตามคำร้องเลขที่ 5 ถึงเลขที่ 33 รวม 29 คนเข้ามาเป็นจำเลยร่วม

จำเลยร่วมทุกคนให้การทำนองเดียวกันว่าไม่ต้องรับผิด มิได้ประมาทเลินเล่ออย่างใด

ระหว่างการพิจารณา นายสนอง ดีสมบัติ จำเลยที่ 5 ตาย โจทก์ขอถอนฟ้องศาลอนุญาตแล้ว สำหรับนายฉลอม มกรครรภ์ และนายสิงห์ ปกาสิทธิ์ จำเลยร่วมตาย ศาลสั่งจำหน่ายคดีแล้ว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 279,856.25 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 9 กันยายน 2503 จนกว่าชำระเสร็จ โดยบังคับเอาจากทรัพย์ที่จำเลยที่ 1 จำนองไว้กับโจทก์ หากได้ไม่ครบก็บังคับเอาแก่ทรัพย์อื่นของจำเลยที่ 1 จนครบ ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระขาดอยู่เท่าใดให้จำเลยที่ 2 รับผิดแทนในวงเงิน 100,000 บาท โดยบังคับจากทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ที่จำนองไว้กับโจทก์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยอื่นและจำเลยร่วมทุกคน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยโดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1773/2512 ว่า ฟ้องไม่เคลือบคลุม ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานจำเลยที่ 1 เสียทั้งหมด รวมทั้งไม่ให้ถามติงจำเลยที่ 1 ไม่ชอบด้วยวิธีพิจารณา จำเป็นต้องให้จำเลยที่ 1 ดำเนินการสืบพยานจนสิ้นกระแสความ จึงจะชี้ขาดข้อเท็จจริงได้ ส่วนปัญหาคดีขาดอายุความหรือไม่ ก็ยังวินิจฉัยไม่ได้ พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลชั้นต้นสืบพยานในส่วนที่เกี่ยวกับเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อไปแล้วพิพากษาใหม่

ศาลชั้นต้นดำเนินการสืบพยานของจำเลยที่ 1 คงพิพากษาให้จำเลยที่ 1รับผิดชำระเงินและบังคับจำนองจากทรัพย์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เช่นเดียวกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นครั้งแรก

จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 1 เข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการร้านสหกรณ์ตามสัญญาจ้าง ลงวันที่ 20 มิถุนายน 2501 จำเลยที่ 1 กลับปล่อยปละละเลยให้มีการขายบุหรี่โดยไม่ได้รับชำระราคา รวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 276,726.25 บาท กรณีดังนี้ต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการร้านสหกรณ์บกพร่องอย่างร้ายแรงจนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว จึงเป็นการประพฤติผิดสัญญาจ้าง โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะบังคับจำนองจากทรัพย์จำนองอันเป็นประกันค่าเสียหายของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้สำหรับความสูญเสียเกี่ยวกับหนี้ค่าขายบุหรี่เป็นเงิน 276,726.25 บาท

ส่วนการซื้อน้ำมันก๊าดจากโรงสีธัญญาผลตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 5 มกราคม 2503 ปรากฏว่าร้านสหกรณ์ได้จ่ายเงินค่าน้ำมันก๊าดไปรวม 1,400 บาทตามบัญชีสินค้าของร้านสหกรณ์ หาได้ลงรับไว้เป็นหลักฐานอย่างใดไม่ แสดงว่าจำเลยที่ 1 อาจไม่ได้นำสินค้าเข้าร้านสหกรณ์ก็ได้ สำหรับการซื้อน้ำมันก๊าดจากร้านบรรจงวานิชย์รวมเงิน 1,720 บาท ตามใบเสร็จรับเงินลงวันที่ 3, 6, 11, 21 พฤศจิกายน 2502 รวม 5 ฉบับ ปรากฏว่าลงบัญชีรายจ่ายเงินซ้ำสองครั้ง แทนที่จะลงบัญชีชำระในปี 2502 หนเดียว กลับลงบัญชีชำระรายการเดียวกันในปี 2503 อีก เงินสดคงเหลือตามบัญชีจึงผิดไปจากความจริง โจทก์ย่อมได้รับความเสียหายจากการจัดทำบัญชีขัดกับใบสำคัญซึ่งทำให้มีการจ่ายเงินของร้านสหกรณ์ไป โดยไม่มีความจำเป็นจะต้องจ่าย จึงต้องถือว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้อย่างบกพร่องอันจะต้องชดใช้ค่าเสียหายด้วยดุจกัน จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าเป็นความผิดพลาดของสมุหบัญชีที่ไม่ลงบัญชีให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่ความผิดของตนนั้น ย่อมเถียงไม่ขึ้น เพราะเป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะต้องควบคุมสอดส่องการทำบัญชีของร้านสหกรณ์ให้เป็นไปตามข้อบังคับโดยใกล้ชิด เมื่อจำเลยที่ 1 ละเลยต่อหน้าที่เสียเอง จะมาปฏิเสธความรับผิดหาได้ไม่ฉะนั้น จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำต้องยอมให้โจทก์บังคับจำนองเพื่อชดใช้ความเสียหายดังกล่าวสำหรับเงิน 3,130 บาท ด้วยอีกโสดหนึ่งจึงรวมเป็นการบังคับจำนองเพื่อความเสียหายทั้งสิ้น279,856.25 บาท

อนึ่ง จำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งประเด็นมาในคำแก้ฎีกาว่า หากจำเลยจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ถ้าโจทก์บังคับจำนองแล้ว ได้เงินสุทธิน้อยกว่าจำนวนเงินที่ค้างชำระ แล้วยังขาดอยู่เท่าใด จำเลยก็ไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 733 ข้อสัญญาที่ให้จำเลยรับผิดมากกว่าทรัพย์จำนองเป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 จึงตกเป็นโมฆะในข้อนี้เห็นว่า มาตรา 733 ไม่ใช่บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ผู้จำนองอาจตกลงกับผู้รับจำนองเป็นประการอื่นพิเศษนอกเหนือจากที่มาตรา 733 บัญญัติไว้ก็ย่อมกระทำได้ เช่นในกรณีที่ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดแล้วยังได้เงินไม่พอใช้หนี้ ผู้จำนองยอมรับผิดให้ผู้รับจำนองยึดทรัพย์อื่นของตนมาใช้หนี้จนครบเป็นต้น ข้อตกลงอันนี้ย่อมมีผลบังคับกันได้ตามกฎหมาย หาตกเป็นโมฆะอย่างใดไม่ ปรากฏตามสัญญาจำนองที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ทำไว้กับโจทก์มีระบุไว้ในข้อ 2 ตรงกันว่า "ถ้าในการบังคับจำนองตามสัญญานี้ได้เงินไม่พอจำนวนที่ค้างชำระเท่าใด ผู้จำนองยอมรับผิดใช้จำนวนเงินที่ยังขาดอยู่นั้นจนครบ" หมายความว่า ถึงจะยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดแล้วได้เงินไม่พอใช้หนี้แก่โจทก์ โจทก์ก็ยังมีสิทธิที่จะยึดทรัพย์อื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้โดยตรงและของจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้จำนองเป็นประกันมาใช้หนี้จนครบอีกได้ข้อโต้แย้งในปัญหาข้อกฎหมายของจำเลยฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นทุกประการ




การสอบเนติบัณฑิต ภาคหนึ่ง สมัยที่ 56(วิชากฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

ออกเช็คโดยมิได้ลงวันออกเช็คไว้
หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างฯ
ลำดับส่วนแบ่งมรดกระหว่างคู่สมรสกับพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
ผู้ว่าจ้างเป็นผู้มีลิขสิทธิ์ในงานที่สร้างสรรค์ การละเมิดลิขสิทธิ์
สิทธิและหน้าที่ของผู้ส่งของ ผู้ขนส่ง และผู้ขนส่งอื่น
ที่งอกริมตลิ่ง สาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด
ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ สิทธิไล่เบี้ย
สัญญาต่างตอบแทนพิเศษยิ่งกว่าการเช่าธรรมดา