ReadyPlanet.com


สินสมรส เรียนถามคุณลีนนท์กังวลมากๆค่ะ


ดิฉันเคยจดทะเบียนสมรสกับสามีเก่า แอบจดทะเบียนกันรู้กันแค่ 2 คนไม่ว่าทีทำงาน หรือ ที่บ้านทั้ง 2 ฝ่ายก็ไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้   อยู่กันได้แค่ 2เดือน ก็เลิกกัน แต่ยังไม่ได้ไปจดทะเบียนหย่าเพราะดิฉันไม่อยากให้ทางบ้านรู้ว่าแอบจดสมรสมาซึ่งตอนนั้นต้องเปลี่ยนคำนำหน้านามเป็นนาง ยังไม่มีกฎหมายให้เปลี่ยนกลับได้เป็นนางสาวเหมือนปัจจุบัน   ระหว่างจดสมรส แต่ได้แยกกันอยู่แล้ว ดิฉันได้ซื้อบ้าน หลังโ ฉนดเป็นชื่อดิฉันคนเดียว สามีเก่าไม่ทราบว่าดิฉันมีทรัพย์สินตรงนี้อยู่   ปัจจุบันนี้ดิฉันจดทะเบียนหย่ากับสามีเก่ามาได้ 3 ปี แล้วค่ะ แต่ก็ยังกังวลเรื่องทรัพย์สินอยู่มีทางออกอย่างไรบ้างค่ะ
ขอถามคุณลีนนท์นะคะ
1.ถ้ามีการฟ้องขอแบ่งสินสมรสจะมีอายุความไหมค่ะ คือต้องขอแบ่งสินสมรส ภายในระยะเวลากี่ปีหลังจากหย่าแล้ว
2.ดิฉันไม่เคยทราบฐานะทางการเงินของสามีเก่า สมมติว่าเค้ามีหนี้สินแบบไหนบ้างที่ดิฉันอาจถูกยึดที่ดิน-บ้าน หลังนี้ไปด้วย สามีเก่าเป็นข้าราชการทหารค่ะ
3.ทางกฎหมายถือเป็นสินสมรส แต่เรื่องจริงคือดิฉันส่งคนเดียวหมด ถ้ามีการฟ้องร้องจริงๆ ดิฉันมีโอกาสสู้คดีชนะไหมค่ะ




ผู้ตั้งกระทู้ นีน่า :: วันที่ลงประกาศ 2009-04-26 09:37:58


[1]

ความคิดเห็นที่ 1 (1929946)

1.ถ้ามีการฟ้องขอแบ่งสินสมรสจะมีอายุความไหมค่ะ คือต้องขอแบ่งสินสมรส ภายในระยะเวลากี่ปีหลังจากหย่าแล้ว

---------- ทรัพย์สินใด ๆ ที่บุคคลเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ถ้ายังมิได้จำหน่ายจ่ายโอนไปด้วยประการใด ไม่ว่าจะเป็นสินสมรส หรือสินส่วนตัว บุคคลนั้นมีสิทธิติดตามเอาคืนได้เสมอ ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 เว้นแต่จะได้บันทึกหลังทะเบียนหย่าเป็นอย่างอื่นประการใด

มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย

2.ดิฉันไม่เคยทราบฐานะทางการเงินของสามีเก่า สมมติว่าเค้ามีหนี้สินแบบไหนบ้างที่ดิฉันอาจถูกยึดที่ดิน-บ้าน หลังนี้ไปด้วย สามีเก่าเป็นข้าราชการทหารค่ะ

------------ เมื่อสามีคุณไม่รู้ ไม่ทราบ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับ บ้านหลังนี้ เมื่อคุณถูกเจ้าหนี้มายึดส่วนของสินสมรส คุณก็มีสิทธิต่อสู้ว่าสามีของคุณไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับทรัพย์นี้ ตามมาตรา 1474 เกี่ยวกับสินสมรส แม้กฎหมายจะบัญญัติไว้ว่า ทรัพย์สินใดหากมีข้อสงสัยว่าจะเป็นสินสมรสหรือไม่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นสินสมรส ก็ตาม แต่ไม่ใช่ข้อสันนิษฐานเด็ดขาด ผู้ที่ต้องเสียหายมีสิทธิพิสูจน์ได้ ดังนั้นคุณก็มีสิทธิ์พิสูจน์ว่า ทรัพย์สินดังกล่าวไม่ใช่สินสมรส (ก็ได้)

มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

 

3.ทางกฎหมายถือเป็นสินสมรส แต่เรื่องจริงคือดิฉันส่งคนเดียวหมด ถ้ามีการฟ้องร้องจริงๆ ดิฉันมีโอกาสสู้คดีชนะไหมค่ะ

-------- ก็มีโอกาส อยู่มากครับ

 

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-26 10:58:47


ความคิดเห็นที่ 2 (1929952)

เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิติดตามเอาคืนทรัพย์สินของตนตามมาตรา 1336

 

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3683/2535

 

ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทรัพย์มาจากกองมรดกของนายทาและนางแปน จำเลยที่ ๒ ย่อมใช้สิทธิของกองมรดกยกเอาอายุความ ๑ ปี ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ นั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดก ยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๕ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของนางแปน ๑ ส่วนนั้น ดังวินิจฉัยมาแล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธินางแปนเจ้าของหรือโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของนายทา ๒ ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายทานั้น การที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทจำเลยที่ ๑ จะยกอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยกอายุความมรดก ๑ ปี ขึ้นตัดฟ้องโจทก์ จึงรับฟังไม่ขึ้น

 

 

การแบ่งสินสมรสระหว่างสามีภริยาที่อยู่กินกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บรรพ 5 ต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมีย เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิม ฝ่ายชายได้ 2 ส่วนฝ่ายหญิงได้ 1 ส่วน

การยกให้ที่ดินที่ไม่ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สมบูรณ์ สำหรับปัญหาการครอบครองปรปักษ์นั้น มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัย

สินสมรสในส่วนของ ป. นั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นผู้จัดการมรดกของ ท. สามีของป. จำเลยที่ 1 ก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนได้เพราะมิใช่มรดกของ ท. การที่จำเลยที่ 1โอนทรัพย์สินส่วนนี้ของ ป.ให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 โอนให้จำเลยที่ 3 ต่อมา จึงไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่

สำหรับสินสมรสส่วนของ ท.นั้น เป็นมรดกของ ท. ซึ่ง ป.ภริยาของ ท. กับจำเลยที่ 1 น้องของ ท.มีสิทธิได้รับคนละกึ่งหนึ่ง ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1635 (2) จำเลยที่ 1ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ท.มีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของ ท.โดยทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจตามป.พ.พ. มาตรา 1724 การขายทรัพย์มรดกเป็นเรื่องอยู่ภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งดังที่ ป.พ.พ. มาตรา 1736 และมาตรา 1740 บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือโดยสมยอมกัน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบ ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 237

จำเลยที่ 3 รับโอนที่ดิน น.ส.3 ก. ซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป.จากจำเลยที่ 2 โดยไม่ปรากฏว่าได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือรับโอนโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งเป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน แม้การโอนก่อนหน้านี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จะไม่สุจริต ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ในส่วนที่เป็นมรดกของ ท.ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 238 คงต้องเพิกถอนเฉพาะการโอนในส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วน เท่านั้น

จำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินมีโฉนดซึ่งเป็นสินสมรสของ ท.และ ป. จากจำเลยที่ 1 โดยทราบว่ายังมีผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ 1 ที่มีสิทธิรับมรดกของ ท. และจำเลยที่ 1ยังมิได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์ผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนได้ แต่อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้โอนในฐานะผู้จัดการมรดกมีส่วนได้ทรัพย์มรดกรายนี้ในฐานะทายาทด้วยครึ่งหนึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะในส่วนที่เกินสิทธิของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ 2 รับโอนที่ดินโฉนดนี้ไม่เต็มทั้งแปลงโดยรับโอนเพียง 16 ไร่เศษ ในจำนวน 22 ไร่เศษ กล่าวคือต้องเพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่เกิน 1 ใน 3 ส่วน ของที่ดิน และเมื่อนำส่วนที่เพิกถอนไปรวมกับส่วนที่จำเลยที่ 1รับโอนไว้เองจำนวน 6 ไร่แล้ว ได้จำนวน 2 ใน 3 ส่วน ครบจำนวนตามสิทธิของโจทก์

จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกจึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดกยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ ตาม ป.พ.พ.มาตรา 1755 แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของ ป. 1 ส่วนนั้น ไม่ใช่ทรัพย์มรดกของ ท.จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธิ ป.เจ้าของหรือโจทก์ซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1336 เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของ ท. 2 ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของ ท.นั้น การที่จำเลยที่ 1 ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการ ถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาท จำเลยที่ 1 จะยกอายุความ 1 ปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 1754 ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่

 

โจทก์ฟ้องว่า นายทาและนางแปน โพธิ์ศรี แต่งงานกันก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ ไม่มีบุตรด้วยกัน ระหว่างอยู่กินกันมีทรัพย์สินที่ร่วมกันทำมาหาได้เป็นที่ดิน ๓ แปลงคือที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และเลขที่ ๒๔๙๖ และที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ก่อนแต่งงานนายทาไม่มีสินเดิม ส่วนนางแปนมีสินเดิม นางแปนมีพี่อีก ๒ คน คือนายสุนีหรือนี กับนางแพง แต่ถึงแก่กรรมก่อนนางแปนแล้วทั้งสองคน โจทก์ที่ ๑ และที่ ๒ เป็นบุตรของนายสุนี โจทก์ที่ ๓ เป็นบุตรของนางแพง นายทาถึงแก่กรรมวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๒๘ ส่วนนางแปนถึงแก่กรรมวันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๘ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นน้องชายของนายทา เป็นผู้จัดการมรดกของนายทา เมื่อนายทาถึงแก่กรรมก่อนนางแปน สินสมรสของนายทาครึ่งหนึ่งย่อมตกได้แก่นางแปน เมื่อรวมกับสินสมรสส่วนของนางแปนแล้วเป็นทรัพย์มรดกของนางแปน ๒ ใน ๓ ส่วน ย่อมตกทอดแก่ทายาทคือโจทก์ทั้งสาม ส่วนที่เหลืออีก ๑ ใน ๓ ส่วนจึงตกแก่จำเลยที่ ๑ แต่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทากลับขายที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ให้จำเลยที่ ๒ และขายที่ดินตาม น.ส.๓ ก. ให้จำเลยที่ ๒ แล้วจำเลยที่ ๒ ขายต่อให้จำเลยที่ ๓ โดยจำเลยทั้งสามทราบดีว่าจำเลยที่ ๑ ไม่มีอำนาจ ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาว่าที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๒ ใน ๓ ส่วน ตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และโฉนดเลขที่๒๔๙๖ กับที่ดินจำนวนเนื้อที่ ๒ ใน ๓ ส่วน ตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ เป็นมรดกของนางแปนโพธิ์ศรี ซึ่งตกแก่โจทก์ทั้งสาม และให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินดังกล่าว

จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การ

จำเลยที่ ๒ ให้การว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะนายทาและนางแปนถึงแก่กรรมเกิน ๑ ปีแล้ว จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทาได้แบ่งที่ดินตามโฉนดเลขที่๒๙๓๒ จำนวน ๑๐ ไร่ ให้นางตุ๊ ต่อมานางตุ๊โอนให้จำเลยที่ ๒ โดยเรียกค่าตอบแทน และจำเลยที่ ๑ขายที่ดินตามโฉนดดังกล่าวอีก ๖ ไร่ ให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงรับโอนที่ดินแปลงนี้เป็นเนื้อที่๑๖ ไร่ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน จำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินตาม น.ส.๓ ก.เลขที่ ๑๓๙๐ มาจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ต่อมาจำเลยที่ ๒ ได้โอนขายที่ดินแปลงนี้ให้จำเลยที่ ๓โดยจำเลยที่ ๓ เสียค่าตอบแทนและโดยสุจริต นายทามีสินเดิม ส่วนนางแปนไม่มีทรัพย์สินใด ๆ หากฟังว่าที่ดินทั้งสามแปลงเป็นสินสมรสจะต้องแบ่งให้กับนายทาก่อน ๒ ใน ๓ ส่วน อีก ๑ ส่วน จึงตกแก่นางแปน จำเลยที่ ๑ ในฐานะทายาทของนายทาและผู้จัดการมรดกโอนขายที่ดินให้จำเลยที่ ๒ ยังไม่เกินส่วนที่จำเลยที่ ๑ จะได้รับ ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ ๓ ให้การว่า จำเลยที่ ๓ รับโอนที่ดินมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทนและจดทะเบียนโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีมรดกเมื่อเกิน ๑ ปีแล้ว จึงขาดอายุความมรดก พิพากษายกฟ้อง

โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับว่า ที่ดินตามโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒, ๒๔๙๖ และที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จำนวน ๒ ใน ๓ ส่วน เป็นมรดกของนางแปนตกแก่โจทก์ทั้งสามให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน แล้วให้จำเลยที่ ๑ จัดการโอนที่ดินทั้งสามแปลงดังกล่าว จำนวน ๒ ใน๓ ส่วน แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน

จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ฎีกา

ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ที่ ๓ ได้ถึงแก่กรรม ศาลฎีกามีคำสั่งอนุญาตให้นายสมบูรณ์ โพธิ์ศรี เข้าเป็นคู่ความแทน

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า นายทามีสินเดิมมาก่อนสมรส การแบ่งสินสมรสจึงไม่เป็นไปตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยไว้ เห็นว่า พยานหลักฐานที่จำเลยที่ ๒ นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าขณะนายทาได้นางแปนเป็นภริยานายทามีสินเดิม ดังนั้น การแบ่งสินสมรสระหว่างนายทาและนางแปนในกรณีที่นายทาถึงแก่กรรมต้องแบ่งกันตามกฎหมายลักษณะผัวเมียโดยคำนวณอย่างต่างฝ่ายต่างไม่มีสินเดิม นายทาได้ ๒ ส่วน นางแปนได้ ๑ ส่วน ดังศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยมานั้นชอบแล้ว

จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ส่วนหนึ่งจำนวน ๑๐ ไร่ ไม่ใช่ทรัพย์ในกองมรดกของนายทาและนางแปน เพราะนายทาและนางแปนได้ยกให้นางตุ๊ก่อนที่นายทาและนางแปนถึงแก่กรรม นางตุ๊ได้แสดงเจตนารับเอาและเข้าครอบครองทำกินจนได้สิทธิครอบครองปรปักษ์แล้ว และนางตุ๊ได้ขายให้จำเลยที่ ๒ โจทก์ทั้งสามจะขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ เห็นว่าจำเลยที่ ๒ กล่าวอ้างว่านางตุ๊เป็นผู้ครอบครองที่ดินพิพาทบางส่วนจำนวน๑๐ ไร่ ซึ่งนายทาและนางแปนยกให้ แต่จำเลยที่ ๒ ไม่มีหลักฐานมาแสดงว่าการยกให้ดังกล่าวได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เป็นการไม่ปฏิบัติตามแบบที่กฎหมายกำหนด จึงไม่สมบูรณ์ ที่ดินดังกล่าวยังเป็นสินสมรสระหว่างนายทาและนางแปนที่จะต้องแบ่งกันตามส่วนในกรณีที่นายทาถึงแก่กรรม สำหรับปัญหาการครอบครองปรปักษ์นั้น มิใช่เป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาในศาลล่าง ต้องห้ามมิให้ฎีกา จึงไม่รับวินิจฉัย

จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ เป็นบุคคลภายนอก จำเลยที่ ๒ ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยที่ ๑ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ส่วนจำเลยที่ ๓ได้ซื้อที่ดินตาม น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จากจำเลยที่ ๒ โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ทั้งได้มีการจดทะเบียนการซื้อขายแล้ว โจทก์ทั้งสามจึงไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าว เห็นว่าสินสมรสในส่วนของนางแปน ๑ ส่วนนั้น แม้จำเลยที่ ๑ จะเป็นผู้จัดการมรดกของนายทาก็ไม่มีสิทธิที่จะจัดการจำหน่ายจ่ายโอนได้เพราะมิใช่มรดกของนายทา การที่จำเลยที่ ๑ โอนทรัพย์สินส่วนนี้ของนางแปนให้แก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๒ โอนให้จำเลยที่ ๓ ต่อมาจึงไม่มีผลให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนหรือไม่

สำหรับสินสมรสส่วนของนายทา ๒ ส่วนนั้น เป็นมรดกของนายทา ซึ่งนางแปนภริยาของนายทากับจำเลยที่ ๑ น้องของนายทามีสิทธิได้รับคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๓๕ (๒) จำเลยที่ ๑ ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายทามีสิทธิและหน้าที่ในการจัดการทรัพย์มรดกของนายทาโดยทายาทย่อมมีความผูกพันต่อบุคคลภายนอกในกิจการทั้งหลายอันผู้จัดการมรดกได้ทำไปภายในขอบอำนาจตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๔ การขายทรัพย์มรดกเป็นเรื่องอยู่ภายในขอบอำนาจของผู้จัดการมรดกอย่างหนึ่งดังที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๖และมาตรา ๑๗๔๐ บัญญัติให้อำนาจไว้ แต่ถ้าผู้จัดการมรดกโอนขายทรัพย์มรดกให้แก่ผู้อื่นโดยไม่สุจริตหรือโดยสมยอมกัน ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกซึ่งอยู่ในฐานะเจ้าหนี้และเป็นฝ่ายต้องเสียเปรียบย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗

ในกรณีของจำเลยที่ ๓ ผู้รับโอนที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ จากจำเลยที่ ๒นั้น ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๓ ได้สมรู้หรือคบคิดกับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ หรือรับโอนที่ดินดังกล่าวโดยไม่สุจริตอย่างไร ทั้งเป็นการรับโอนโดยมีค่าตอบแทน แม้การโอนก่อนหน้านี้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จะไม่สุจริต ก็ไม่อาจเพิกถอนการโอนระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ในส่วนที่เป็นมรดกของนายทาได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๘ คงต้องเพิกถอนเฉพาะการโอนในส่วนที่เป็นสินสมรสส่วนของนางแปน ๑ ส่วนเท่านั้น

ส่วนจำเลยที่ ๒ ผู้รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ นั้น จำเลยที่ ๒ ทราบว่ายังมีผู้อื่นนอกจากจำเลยที่ ๑ ที่มีสิทธิรับมรดกของนายทา ฉะนั้น การที่จำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒จากจำเลยที่ ๑ โดยทราบว่าจำเลยที่ ๑ ยังมิได้จัดการแบ่งปันให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิ จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งสามผู้รับมรดกแทนที่ของทายาทจึงมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนดังกล่าวได้แต่อย่างไรก็ตาม จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้โอนในฐานะผู้จัดการมรดกมีส่วนได้ทรัพย์มรดกรายนี้ในฐานะทายาทด้วยครึ่งหนึ่ง จึงให้เพิกถอนการโอนเฉพาะในส่วนที่เกินสิทธิของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น ซึ่งจำเลยที่ ๒ รับโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ไม่เต็มทั้งแปลง โดยรับโอนเพียง ๑๖ ไร่เศษ ในจำนวน ๒๒ ไร่เศษ กล่าวคือ ต้องเพิกถอนการโอนเฉพาะส่วนที่เกิน ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ และเมื่อนำส่วนที่เพิกถอนไปรวมกับส่วนที่จำเลยที่ ๑ รับโอนไว้เองจำนวน ๖ ไร่แล้ว ได้จำนวน ๒ ใน๓ ส่วน ครบจำนวนตามสิทธิของโจทก์ทั้งสาม

ที่จำเลยที่ ๒ ฎีกาว่า จำเลยที่ ๒ ได้ทรัพย์มาจากกองมรดกของนายทาและนางแปน จำเลยที่ ๒ ย่อมใช้สิทธิของกองมรดกยกเอาอายุความ ๑ ปี ขึ้นต่อสู้กับโจทก์ได้ นั้น เห็นว่าจำเลยที่ ๒ เป็นผู้รับโอนทรัพย์มรดกมาจากจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดก จึงเป็นบุคคลซึ่งชอบที่จะใช้สิทธิของผู้จัดการมรดก ยกอายุความมรดกขึ้นต่อสู้โจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๗๕๕ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับสินสมรสส่วนของนางแปน ๑ ส่วนนั้น ดังวินิจฉัยมาแล้วว่าไม่ใช่ทรัพย์มรดกของนายทา จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ จึงไม่อาจอ้างอายุความมรดกมาตัดสิทธินางแปนเจ้าของหรือโจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นทายาทของเจ้าของในการติดตามเอาทรัพย์สินคืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ เกี่ยวกับสินสมรสส่วนของนายทา ๒ ส่วน ซึ่งเป็นทรัพย์มรดกของนายทานั้น การที่จำเลยที่ ๑ ครอบครองทรัพย์มรดกในระหว่างจัดการถือได้ว่าเป็นการครอบครองแทนทายาทจำเลยที่ ๑ จะยกอายุความ ๑ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ขึ้นต่อสู้ทายาทไม่ได้ ที่จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ยกอายุความมรดก ๑ ปี ขึ้นตัดฟ้องโจทก์ จึงรับฟังไม่ขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ เฉพาะส่วนที่เกิน ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดิน และเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดิน น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และระหว่างจำเลยที่ ๒ กับจำเลยที่ ๓ เพียง ๑ ใน ๓ ส่วน ของที่ดิน แล้วให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒และ น.ส.๓ ก. เลขที่ ๑๓๙๐ ยกเว้นส่วนที่เป็นของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ซึ่งมิได้ถูกเพิกถอนดังกล่าวข้างต้นให้แก่โจทก์ทั้งสาม โดยโฉนดเลขที่ ๒๙๓๒ ให้จำเลยที่ ๑ โอนให้โจทก์ทั้งสาม ๒ ใน ๓ ส่วนตามสิทธิของโจทก์ กับให้จำเลยที่ ๑ จดทะเบียนโอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๒๔๙๖ จำนวน ๒ ใน ๓ ส่วนให้แก่โจทก์ทั้งสาม หากจำเลยที่ ๑ ไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑

( ดำรุพงศ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา - อากาศ บำรุงชีพ - ชลิต ประไพศาล )

http://www.deka2007.supremecourt.or.th/deka/web/docdetail.jsp

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-26 11:16:57


ความคิดเห็นที่ 3 (1930041)

บันทึกหลังทะเบียนหย่าสามารถทำเพิ่มเติม ภายหลังหย่าแล้วได้ไหมค่ะ และถ้าต้องการให้ทนายไปด้วยเสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ค่ะ

ผู้แสดงความคิดเห็น นีน่า วันที่ตอบ 2009-04-26 16:45:43


ความคิดเห็นที่ 4 (1930050)

ไม่ต้องใช้ทนายความให้เสียเงินหรอกครับ ลองไปถามสำนักงานเขตดูก่อน ถ้าเขาบอกว่าทำได้คุณก็นัดอดีตสามีไปดำเนินการได้เลย

ผู้แสดงความคิดเห็น ลีนนท์ วันที่ตอบ 2009-04-26 17:36:54



[1]


แสดงความคิดเห็น
ความคิดเห็น *
ผู้แสดงความคิดเห็น  *
อีเมล 
ไม่ต้องการให้แสดงอีเมล